ศาล รธน.ออกคำสั่งคุมเข้มอ่านคำวินิจฉัยคดี "อานนท์-รุ้ง-ไมค์" กับพวกรวม 8 คน ชุมนุม 10 ส.ค.63 ที่ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ "ณฐพร-ผู้ร้อง" เผยมีหมัดน็อกเป็นเอกสารตีตรา "ลับมาก" ของตำรวจสันติบาล พบแกนนำสามนิ้วรับเงินองค์กรต่างประเทศ-เอ็นจีโอต่างชาติมาเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์-เลิก ม.112 ขณะที่ศาลอาญาสั่งยกคำร้องขอประกันตัว "อานนท์ นำภา" อีก 2 สำนวน ชี้เกรงจะก่อเหตุร้ายอีก
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกคำสั่งกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยรองรับการอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ในคดีที่นายณฐพร โตประยูร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของนายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, น.ส.สิริพัชระ จึงธีรพานิช, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ น.ส.อาทิตยา พรพรม รวม 8 คน ชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
โดยคำสั่งดังกล่าวระบุเหตุผลว่า เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาล คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดบุคคลให้เฉพาะผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ผู้รับมอบอำนาจหรือผู้รับมอบฉันทะ หรือผู้ที่ศาลอนุญาต รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้นอยู่ในห้องพิจารณาคดีเพื่อรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลในวันดังกล่าว และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีช่องทางการรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและสื่อมวลชน และออกประกาศศาลรัฐธรรมนูญกำหนดอาณาบริเวณสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงพื้นที่อาคารเอ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ และบริเวณโดยรอบเป็นสถานที่ปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในวันที่ 10 พ.ย.64 เวลา 00.01 น.ถึงเวลา 23.59 น.
ด้านนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะผู้ร้องฯ เปิดเผยว่า จะเดินทางไปฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ 10 พ.ย.นี้แน่นอน โดยศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยเวลา 15.00 น. ซึ่งคำร้องคดีดังกล่าวพบว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลาในการไต่สวนถึงหนึ่งปีเต็ม เพราะได้ยื่นคำร้องไปตั้งแต่ พ.ย.ปี 2563 จนศาลมานัดอ่านคำวินิจฉัยในวันพุธนี้ อีกทั้งน่าสนใจว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งคุมเข้มการเข้า-ออกศาลรัฐธรรมนูญในวันอ่านคำตัดสิน แสดงว่าต้องเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ
นายณฐพรกล่าวว่า สำหรับคำร้องคดีนี้ ที่ใช้เวลาการไต่สวนถึงหนึ่งปีเต็ม แสดงว่าศาลคงใช้เวลาไต่สวนหาข้อมูลต่างๆ พอสมควร ถึงนัดอ่านคำตัดสิน ซึ่งส่วนตัวก็ยังมีความมั่นใจในการยื่นคำร้องคดีนี้ เพราะได้ยื่นคำร้องและเอกสารหลักฐานไปให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบคำวินิจฉัยหลายอย่างอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พฤติการณ์ของแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 63 ดังกล่าว น่าจะเข้าข่ายตามคำร้อง คือล้มล้างการปกครอง จากการจัดชุมนุมใหญ่ที่ลานพญนาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และมีการออกข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันออกมา
"หลักฐานสำคัญอันหนึ่งที่ผมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไป ก็คือหลักฐานเรื่องการรับเงิน การโอนเงินจากต่างประเทศ ที่ผมได้รับจากสำนักงานตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตอนแรกผมทำหนังสือขอไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ต่อมาผมก็ขอไปยังตำรวจสันติบาล ทางสันติบาลก็ส่งมาให้ผม และผมก็ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบคำร้อง อีกทั้งทราบมาว่าทางศาลรัฐธรรมนูญเองท่านก็ได้ทำเรื่องขอเอกสารหลักฐานลักษณะดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองด้วย เท่ากับว่าศาลท่านก็คงจะได้ข้อมูลจากสองทาง คือจากที่ผมส่งไปและที่ศาลขอไปเอง ผมถึงมั่นใจมากในคราวนี้เพราะผมมีหลักฐานสำคัญว่ามีการรับเงิน โอนเงินจากต่างประเทศเข้ามา ตรงนี้จึงเป็นหลักฐานสนับสนุนคำร้องผม โดยมีการรับเงินจากเช่นเอ็นจีโอของต่างประเทศ หลักฐานครบหมด โอนไปให้กลุ่มไหน ไปประชุมกันที่ไหน ใครเป็นตัวการ อย่างตอนที่ผมยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่ว่าล้มล้างการปกครอง ตอนนั้นผมยอมรับว่าที่ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญหลักฐานที่ส่งไปมีแค่ของสื่อมวลชนไปประกอบคำร้องเท่านั้น ตอนนั้นไม่มีหลักฐานละเอียดขนาดนี้ แต่คดีนี้มีหลักฐานจากสันติบาลและจากหน่วยงานที่เขาสืบสวนเรื่องนี้ ถึงใช้เวลาในการไต่สวนนานถึงหนึ่งปีเต็ม" นายณฐพรระบุ
เป็นบรรทัดฐานฟันก๊วนล้มเจ้า
ผู้ร้องคดีกล่าวอีกว่า หากคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ของแกนนำม็อบเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ คำตัดสินคดีดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐาน และเป็น "สารตั้งต้น" ที่จะเป็นบรรทัดฐานต่อไป ที่จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในลักษณะที่พาดพิงหรือเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมา คืออาจทำให้จะไม่สามารถเคลื่อนไหวแบบที่เคยทำมาได้ จะทำให้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินคดีกับแกนนำที่ถูกยื่นฟ้องดำเนินคดีเวลานี้ว่าศาลได้ตัดสินแล้วว่าพฤติการณ์เข้าข่าย ความผิดทางอาญาจริง ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็จะนำไปสู่การเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรืออาจจะเอาผิดตาม ป.อาญามาตรา 215 (ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) ได้ รวมถึงคนที่ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวก็อาจถูกขยายผลเอาผิดได้ เช่น กลุ่มนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนม็อบ หรือพรรคการเมือง นักการเมือง ที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวด้วย ที่อาจถูกเอาผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ) และมาตรา 245 ที่อาจนำไปสู่การยุบพรรคได้
"หากศาลตัดสินว่าคนที่เคลื่อนไหว เข้าข่ายใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดำเนินคดีอาญาไป โดยก็เอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น ข้อหากบฏ ส่วนพวกอาจารย์ก็อาจโดนอาญาหรือวินัย คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญคือ สารตั้งต้นที่จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปว่าการเคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าวคือการล้มล้าง ไม่ใช่การชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย แล้วพวกนี้ก็จะมาเคลื่อนไหวในลักษณะเกี่ยวกับสถาบัน การล้มล้างอีกไม่ได้แล้ว" นายณฐพรระบุ
นายณฐพรยืนยันว่า ไม่ได้มีอะไรกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวรวมถึงพรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกล แต่ถามว่าทำไมผู้เคลื่อนไหวไม่ออกมาชุมนุมในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เช่นเรื่องการเคลื่อนไหวในเรื่องค่าโทรศัพท์มือถือของประชาชนที่ทำให้ถูกลงได้หรือเรื่องสัมปทานน้ำมัน ที่จะทำให้ประชาชนใช้น้ำมันถูกลง ถ้าเคลื่อนไหวแบบนี้ผมจะออกไปร่วมด้วย แต่นี้มาเคลื่อนไหวเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้เลิก 112 ถามว่าหากไม่มี 112 หรือไม่มีสถาบัน ประเทศจะเจริญขึ้นหรือไม่ น้ำมันจะถูกลงหรือ
อนึ่ง นายณฐพรเคยยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่กรณีล้มล้างการปกครองมาแล้ว แต่สุดท้ายศาลมีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 แต่สุดท้าย พรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบพรรคในคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท
ที่ศาลอาญา ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาพิจารณาคำสั่งขอปล่อยชั่วคราวนายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎรจำเลยคดีดูหมิ่นสถาบันฯ ร่วมกันมั่วสุมชุมนุมหมายเลขดำ อ.1629/2564 และคดีหมายเลขดำ อ.2495/2564 แล้วเห็นว่าศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยตลอดมา จนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 พ.ย.64
โดยพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีตามที่ปรากฏแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม คงให้ขังจำเลยไว้โดยเหตุเกรงว่าจำเลยจะก่อเหตุร้ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1(3) เช่นเดิม
กลุ่มละเมิดอำนาจศาลป่วนอีก
ส่วนที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลจังหวัดธัญบุรี ศาลนัดไต่สวนคําร้องคดีละเมิดอํานาจศาลในคดีอาญาหมายเลขดําที่ ลศ.1/2564 ระหว่างผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลจังหวัดธัญบุรี ผู้กล่าวหานายพรหมศร วีระธรรมจารี ที่ 1 กับพวกรวม 9 คนผู้ถูกกล่าวหา วันนี้ นาย Sam Samart หรือ Samat หรือแซม สาแมท นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์, นายณัฐชนน ไพโรจน์, นายสิริชัย นาถึง, นายชาติชาย แกดํา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงที่ 7 และทนายความของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ามาศาล ส่วนนายพรหมศร วีระธรรมจารี ผู้กล่าวหาที่ 1 มีกําหนดฉีดวัคซีนวันนี้ นางสาวปนัดดา ศิริมาศกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 เป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่ต้องถูกกักตัว และนายธนพัฒน์ กาเพ็ง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 จะต้องเดินทางไปจังหวัดนราธิวาสเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาไม่มาศาล
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงที่ 7 ให้การรับสารภาพ ประกอบกับตรวจสํานวนคดีแล้ว ข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยคดีได้ จึงให้งดการไต่สวน คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวนของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงที่ 7 และให้เลื่อนไปนัดฟังคําสั่งในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 นาฬิกา พร้อมกับไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 ศาลมีคําสั่งให้เบิกผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 7 ให้มาศาลตามนัด กําชับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงที่ 7 ให้มาศาลตามกําหนดนัด และหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 มาศาลในวันเดียวกัน การส่งหากไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายได้ ให้ทนายของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 แจ้งกําหนดวันนัดให้กับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ 8 และที่ 9 ทราบอีกทางหนึ่ง
ภายหลังกระบวนการภายในศาลเสร็จสิ้น ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลจังหวัดธัญบุรีได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่า ผู้ต้องหาได้เขียนข้อความไม่เหมาะสมบริเวณผนังห้องผู้ต้องหา จากนั้นได้รับแจ้งเพิ่มเติมว่ามีกลุ่มคนประมาณ 15-20 คน มารวมตัวกันพร้อมส่งเสียงดังและร้องเพลง ใช้คําพูดที่ไม่สุภาพหรือกิริยาในทางที่ก่อให้เกิดความรําคาญนอกบริเวณศาลหน้าประตูทางเข้า พร้อมทั้งมีการทําลายทรัพย์สินของราชการได้รับความเสียหาย ซึ่งการกระทําของผู้ต้องหา เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาล และกระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของศาลจังหวัดธัญบุรี
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. โฆษก บช.น. เปิดถึงการชุมนุมทางการเมืองว่า วันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการชุมนุมจำนวน 4 จุด ทุกกลุ่มเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีกลุ่มทะลุแก๊สออกมาชุมนุมแต่อย่างใด ส่วนการดำเนินการทางด้านกฎหมายมีคดี 782 คดี สอบสวนสั่งฟ้อง 385 คดี คงเหลือ 397 คดี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ณฐพร' ลั่นจะใช้กฏหมาย-พยานหลักฐาน ดำเนินคดีกับก๊วนยึด 'ที่ดินเขากระโดง' จนถึงที่สุด
ดร.ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยแพร่ข้อความ หัวข้อ ยุคนักการเมืองชั่ว มีเนื้อหาดังนี้
ครม.ตั้ง‘โต้ง’19พ.ย. ดี๊ด๊าคุมธปท.ฝ่าเสียงต้าน สถิตย์การันตีล้วงลูกไม่ได้
"กิตติรัตน์" ดี๊ด๊า! แชร์ข่าวได้นั่ง "ปธ.บอร์ด ธปท." ระบุทุกเสียงสนับสนุนคือกำลังใจ
นัดถกบอร์ดศก. ปล่อยกู้7หมื่นล. สางหนี้-ซื้อบ้าน
นายกฯ นัดถก "บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ" ครั้งแรก 19 พ.ย.นี้
เรียก‘พื้นที่อ้างสิทธิ’เลิกใช้‘ทับซ้อน’
เลขาฯ กฤษฎีกาชี้ชัดยกเลิก "เอ็มโอยู" ฝ่ายเดียวได้แต่ไม่ควร
รบ.โต้ขัดแย้งเขากระโดง คลอดพรฎ.แก้พิพาทที่ดิน
แกนนำรัฐบาลประสานเสียงปมที่ดินเขากระโดง ไม่สร้างขัดแย้ง "เพื่อไทย-ภูมิใจไทย"
อิ๊งค์อยู่ครบเทอม พท.ชิ่งก๊วนมาม่า
“นายกฯ อิ๊งค์” ลั่นกลางวงประชุมทูตภาคพื้นอเมริกา บอกรัฐบาลมั่นใจอยู่ครบเทอม