เชิญถุงพระราชทานช่วยปชช. ‘ชัชชาติ’โบ้ยโลกร้อนกทม.จม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้องคมนตรีเชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบเหตุอุทกภัยในพื้นที่ จ.ปทุมธานี  "บิ๊กป้อม” การันตีน้ำไม่ท่วมเหมือนปี 54 แค่ฝนตกชุกน้ำเหนือไหลลงภาคกลาง จบข่าว! "ชัชชาติ" เผย กทม.จมเพราะสภาวะโลกร้อน เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นทั่วโลก เจ้าหน้าที่ กทม.มีน้อยเครื่องมือไม่พอ เตรียมรื้อชุมชนริมน้ำ คลองลาดพร้าวโดนย้ายแน่

เมื่อวันนี้ 12 กันยายน 2565 เวลา 13.05 น. พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ไปประชุมติดตาม                   การแก้ไขสถานการณ์การเกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ณ ห้องประชุมส่วนราชการ อาคารหอประชุม  100 ปี เมืองธัญญบุรี เทศบาลนครรังสิต อำเภอธัญบุรี  จังหวัดปทุมธานี โดยมีนายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรีเทศบาลนครรังสิต และส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ซึ่งองคมนตรีได้เชิญพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ในการป้องกันแก้ไขการเกิดอุทกภัย และการให้การช่วยเหลือไปกล่าวในที่ประชุม เพื่อให้แต่ละหน่วยงานน้อมนำไปปรับแผนในการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมต่อไป

ต่อจากนั้นเวลา 13.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนรวม 800 ถุง ไปมอบแก่รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายอำเภอธัญบุรี  และนายกเทศมนตรีเทศบาลนครรังสิต และราษฎรที่ประสบเหตุอุทกภัยในพื้นที่ จ.ปทุมธานี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และเป็นขวัญกำลังใจ

ในโอกาสนี้ องคมนตรีได้เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปกล่าวแก่ราษฎรที่ประสบเหตุอุทกภัยและเจ้าหน้าที่ได้รับทราบ ในการนี้ องคมนตรีได้ลงพื้นที่เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภคไปมอบแก่ครอบครัวนางยุพดี รัตนสุขสกุล ครอบครัวนางภาณิชา  สุวรรณกระจ่าง และครอบครัวนางประภา สุวรรณกระจ่าง  จำนวน 3 ครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ประสบอุทกภัยอาศัยอยู่บริเวณชุมชนริมเขื่อนสะพานแดง เทศบาลนครรังสิต  อำเภอธัญบุรี ซึ่งต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ   

ที่จังหวัดตาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สถานการณ์น้ำไม่ท่วมเหมือนปี 2554 เพียงแค่ฝนตกชุก น้ำเหนือไหลไปลงพื้นที่ภาคกลางและน้ำไม่ท่วมหนัก ทั้งนี้ได้กำชับกรุงเทพมหานครและแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลาในเรื่องน้ำ ว่าให้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดินแดง นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 20/2565 ถึงประเด็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดการน้ำท่วมของ  กทม.ว่ามีการตั้งรับมากกว่าเชิงรุก ทำให้การจัดการน้ำยังไม่มีประสิทธิภาพว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากปริมาณฝนมีมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่ง กทม.มีกำลังคนและเครื่องมือไม่เพียงพอที่จะรับมือกับปริมาณฝนที่สูงถึง 170-180 มิลลิเมตร ซึ่งปริมาณดังกล่าวส่งผลให้น้ำเต็มคลองหลักทุกคลอง

ประกอบกับเครื่องสูบน้ำที่ กทม.มีอยู่บางจุด อย่างคลองพระโขนงที่ค่อนข้างเก่าเพราะผ่านการใช้งานมานาน  เมื่อใช้สูบน้ำได้ไม่นานก็ทำให้เครื่องร้อน อีกส่วนหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ สภาวะโลกร้อนส่งผลให้มีปริมาณฝนมากขึ้นกว่าปกติซึ่งก็เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการด้านเทคนิค ด้านบริหารเชิงสังคมควบคู่กันไปในระยะยาว  ทั้งนี้จะต้องทำคลองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

"เราต้องยอมรับว่าฝนตกหนักขึ้นจากสภาวะโลกร้อน  และกำลังของท่อระบายน้ำที่มีอยู่อาจไม่พอ ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นทั่วโลก ต้องวางแผนเพราะอุโมงค์อย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ เพราะฝนตกหลายที่ ไม่ได้ตกที่อุโมงค์ เพราะฉะนั้นการลำเลียงน้ำไปที่อุโมงค์ต้องมีระบบลำเลียงได้ ทั้งนี้อาจต้องแบ่งงบประมาณจากการทำอุโมงค์บางส่วนมาทำเรื่องเขื่อนคูคลองให้เข้มแข็งขึ้น รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งต้องใช้เวลาและต้องมีการวางแผน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังเตือนว่าโลกกำลังเปลี่ยน ฝนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ" นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า นอกจากนี้สิ่งที่ต้องทำแน่นอนคือเรื่องชุมชนที่อยู่ริมน้ำ เพราะทำให้ประสิทธิภาพคลองลดลง เพราะฉะนั้นต้องดูแลเขา อย่างเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ได้ไปที่คลองลาดพร้าว ชุมชนยังไม่ยอมขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องเทคนิคอย่างเดียว ต้องมีเรื่องการบริหารเข้ามาด้วย   

ขณะที่นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงถึงกรณีเรื่องงบประมาณ กทม.ว่า สำนักงานเขตจตุจักรได้ขอโครงการเกี่ยวกับการอบรมดูงานสัมมนามา 5 โครงการ  ได้แก่ 1.โครงการสัมมนาของข้าราชการพนักงานเขตจตุจักร 2.การศึกษาดูงานของกลุ่มงานพนักงานเขตจตุจักร  และอีก 3 โครงการเป็นโครงการที่เกี่ยวกับชุมชนไปศึกษาดูงาน ซึ่งสำนักงานเขตต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

ทั้งนี้ การขอจัดตั้งงบประมาณและมีการแปรญัตติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง แต่ขณะเดียวกันยอมรับว่าหากกรณีสำนักงานเขตพิจารณาแล้ว อาจจะมีการขอยกเลิกโครงการก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติ นอกจากนี้เขตอื่นๆ มีลักษณะโครงการคล้ายกัน แต่จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับจำนวนของราชการ บุคลากรแต่ละเขต

เมื่อถามว่า ถือเป็นเรื่องปกติหรือไม่และมีการตั้งข้อสังเกตอะไรหรือไม่ นายจักกพันธุ์กล่าวว่า ปกติที่ผ่านมาโครงการลักษณะเช่นนี้มีมาทุกปี แต่ในขณะเดียวกันเมื่อปี 61-62 มีปัญหาเรื่องโควิด-19 โครงการพวกนี้จึงหายไป และเรื่องดังกล่าวเป็นความประสงค์ของชุมชนที่ต้องการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและสำนักงานเขตในพื้นที่ ที่อาจจะเป็นการเสริมสร้างการทำงาน

ถามว่า ระดับบุคคลที่เข้าร่วมโครงการมีข่าวว่าเป็นหัวคะแนน นายจักกพันธุ์ชี้แจงว่า จำนวนคนขึ้นอยู่กับจำนวนงบประมาณที่สำนักงานเขตเป็นผู้ตั้ง และคนที่ไปขึ้นอยู่กับการคัดเลือกของสำนักงานเขต และการขอจัดสรรงบประมาณในแต่ละครั้งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ส.ก.ไม่มีอำนาจ โดยที่ฝ่ายบริหารไม่จัดสรรลงไป และขอยืนยันว่าการที่สำนักงานเขตจะนำหัวคะแนนไปเที่ยวทำไม่ได้เด็ดขาด เพราะฉะนั้นโครงการต่างๆ ไม่ได้นำคนไปเที่ยว แต่เป็นโครงการเพื่อพาบุคลากรไปศึกษาดูงาน และย้ำว่าโครงการไปเที่ยวไม่มีเด็ดขาด

ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า มีโครงการศึกษาดูงานจริง ซึ่งระบบราชการมักถูกมองว่าพาไปเที่ยว บางทีเราสามารถไปเรียนการบริหารจัดการ การพัฒนา จากพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดอื่นๆ  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆได้ โครงการจะถูกอนุมัติโดยพวกเรา เป็นผู้ที่ดูรายละเอียดของโครงการว่า ถ้าไป 2-3 วันไม่เห็นเนื้อหาอะไรเลยในการพัฒนาศักยภาพ ก็ไม่ต้องไป และผู้ว่าฯ ชัชชาติได้กำชับเรื่องนี้อย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตาม ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ยืนยันว่า สภากรุงเทพมหานครกลับนำงบประมาณที่ถูกตัดไปเพิ่มโครงการใหม่ อย่างเช่นจัดสัมมนาพาคนไปเที่ยวในเขตจตุจักร โดยมีงบประมาณสูงถึงเกือบ  10 ล้านบาท หรืออย่างงบในสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีค่าพิมพ์คู่มือ 69 ล้านบาท และยังมีโครงการย่อยอีกมากมาย ซึ่งเป็นโครงการใหม่นำมาใส่ภายหลัง  โดยพรุ่งนี้เวลา 14.00 น. ตนจะส่งให้ผู้ว่าฯ สตง.นำไปตรวจสอบและให้คำแนะนำ

 “จุดประสงค์ในการเปิดข้อมูลเอกสารนี้ ว่าต้องการช่วยเหลือผู้ว่าฯ ชัชชาติ เพื่อจะได้ใช้งบให้ช่วยเหลือคน  กทม.ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท่านผู้ว่าจะไปไหนจากนี้ จะมีงบกลางแล้วสามารถนำงบนั้นใช้ช่วยเหลือในเขตหรือพื้นที่นั้นในยามวิฤตได้ทันที ผมยืนยันว่างบประมาณมีพอแน่นอน” ดร.อรรถวิชช์กล่าว

เลขาธิการพรรคกล้ากล่าวว่า ตนจะไปยื่นเรื่องเอกสารงบประมาณฉบับนี้เป็นลายแทงให้ สตง.ตรวจสอบและให้ทำคำแนะนำ ลำพังตนแนะนำเพียงผู้เดียวอาจจะไม่ได้  แต่ถ้า สตง.แนะนำ เชื่อว่าจะมีผลผูกพันกับงบประมาณกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคตแน่นอน และมองว่าสิ่งนี้คือการปฏิรูประบบการใช้เงินของ กทม. จะทำให้ผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจได้อย่างเต็มที่ มีเงินแก้ปัญหาช่วงวิกฤตอย่างที่เกิดน้ำท่วมตอนนี้ และเชื่อว่าสิ่งที่ทำวันนี้จะเป็นผลดีต่อคน กทม.และผู้ว่าฯ กทม.ในการบริหารราชการแผ่นดินในอนาคตแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.หายห่วง! ชูเลือกตั้งอบจ. รู้สึก ‘ปลอดภัย’

"แสวง" ปลุกเจ้าหน้าที่ กกต.! ยันไม่ได้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยหลังจากที่ได้ลงตรวจเยี่ยมการสมัครรับเลือกตั้งที่ปราจีนบุรี ไม่คิดว่าผู้สมัครนายก อบจ.คนไหนจะสร้างความรุนแรง

ประเดิม 10 วันอตร. ตาย 52

ประเดิม 10 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุ 322 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 318 คน ผู้เสียชีวิตแล้ว 52 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ขับรถเร็ว

เปิดของขวัญปีใหม่ แพทองโพยแจกยับ

รัฐบาลคืนความสุขให้ประชาชน หลังเครียดกับเศรษฐกิจและการเมือง ขุดของเก่ารวมของใหม่ เหมารวมเป็นของขวัญปีใหม่แต่ละกระทรวง ลดแลกแจกแถมไม่อั้น

ไม่กลัวรัฐประหาร ‘ภูมิธรรม’ ลั่น! จัดการได้รัฐบาลอยู่ครบเทอมแน่

“ภูมิธรรม” โวยเอ็มโอยู 44 ถูกปลุกปั่นไปไกล แทบจะออกนอกอวกาศอยู่แล้ว ไม่กังวลใจกับคำถามที่ว่าในปี 2568 สถานการณ์การเมืองจะวุ่นวายและโดนรัฐประหาร