"อธิบดีกรมชลฯ-เลขาฯ สทนช." ประสานเสียงปีนี้ไม่ท่วมหนักซ้ำปี 54 เทียบพายุและปริมาณน้ำในเขื่อนต่างกันลิบ สบายใจได้น้ำไม่ทะลักเข้าพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ แน่ เร่งติดเครื่องสูบน้ำระบายน้ำทุกพื้นที่เสี่ยง "ชัชชาติ" รับยังวิกฤตอยู่ 3 คลอง ผุดศูนย์พักพิงชั่วคราว "อรรถวิชช์" แฉ กทม.โยกงบระบายน้ำเขตจตุจักร 10 ล้าน พาคนไปเที่ยว จ่อยื่น สตง.สอบด่วน "ปูเอาอยู่" กล้าสอนรัฐบาลแก้น้ำท่วม
เมื่อวันที่ 11 กันยายน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วม 14 จังหวัด รวม 39 อำเภอ 182 ตำบล 884 หมู่บ้าน แยกเป็นน้ำท่วมจากร่องมรสุมพาดผ่านและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน สุโขทัย หนองบัวลำภู ขอนแก่น บุรีรัมย์ ปทุมธานี สมุทรปราการ ระยอง และจันทบุรี น้ำท่วมจากผลกระทบพายุหมาอ๊อน 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และปทุมธานี ทั้งนี้ สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 18 จังหวัด ปภ.ได้ประสานทุกหน่วยงานเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในปีนี้แตกต่างจากปี 2554 อยากเรียนเปรียบเทียบให้หายกังวลว่า ก.ย.ช่วงเวลาเดียวกันในปี 2554 พายุได้เข้ามาแล้ว 5 ลูก ขณะนั้นน้ำในเขื่อน 4 เขื่อนหลัก คือ ภูมิพล, สิริกิติ์, แควน้อยบำรุงแดน, ป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณรวมกันกว่า 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) รับน้ำได้อีก 3 พันล้าน ลบ.ม. แต่ปี 2565 ยังไม่มีพายุเลย มีหย่อมความกดอากาศต่ำ 3 ครั้ง น้ำใน 4 เขื่อนหลัก มีรวมกัน 1.3 หมื่นล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีกหมื่นกว่า ลบ.ม. หลังจากนี้ถ้าไปดูปี 2554 มีพายุเข้ามาอีก 3 ลูก แต่หลังจากนี้ของปี 2565 ยังไม่มีพายุ จึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่น่าเกิดความกังวลมากมาย เพียงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทานอย่างใกช้ชิด
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้แทนกรุงเทพมหานคร ล่องเรือติดตามการระบายน้ำในพื้นที่ด้านในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่คลองมหานาค ไปจนถึงประตูระบายน้ำบางลำพู เพื่อติดตามปริมาณน้ำในเขตพื้นที่ด้านใน และบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากพื้นที่ด้านนอก ทั้งที่ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ แถวรังสิต ไปจนถึงบริเวณคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และอีกหลายพื้นที่ มีปริมาณน้ำมาก จนบางพื้นที่เกิดน้ำท่วมที่อยู่อาศัย ทำให้ประชาชนในเขตพื้นที่เหล่านี้ได้รับความเดือดร้อน จนทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีความเป็นห่วงอย่างมากต่อผู้ได้รับกระทบน้ำท่วมในหลายพื้นที่ขณะนี้ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือประชาชนเป็นการเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม หลังจากลงมาดูพื้นที่คลองด้านในกรุงเทพฯ แล้ว โดยแต่ละคลองปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่ทุกพื้นที่ในเขตด้านในจะไม่เกิดน้ำท่วมอย่างแน่นอน หากดูปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ปริมาณน้ำจะมากขึ้นกว่าปกติ แต่ยังสามารถรับน้ำจากพื้นที่ต่างๆ ได้ ดังนั้น สทนช.จะร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ทั้ง กทม. กรมชลประทาน และอีกหลายหน่วยงาน เร่งจัดหาเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำไปติดตั้งในพื้นที่ที่ยังมีปริมาณน้ำมาก ไม่ว่าจะเป็นบริเวณคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และอีกหลายพื้นที่ เพื่อช่วยกันเร่งระบายน้ำให้กับทุกพื้นที่โดยเร็ว
ไม่ท่วม กทม.ชั้นในแน่
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าตั้งแต่เดือน ส.ค. จนถึงขณะนี้ ปริมาณน้ำฝนค่อนข้างตกมามากกว่าปกติ จนทำให้พื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมระบายน้ำไม่ทัน โดยขณะนี้ทุกหน่วยงานได้ประสานและร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อเร่งระบายน้ำออกในจุดต่างๆ ให้เร็วขึ้น และมองว่าพื้นที่รอบนอก ได้แก่ คลองบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และแถวสมุทรปราการ ยังสามารถผลักดันรอบในไปออกในคลองดังกล่าวได้ ดังนั้น สทนช.จะนำเรื่องนี้ไปคุยกับทางจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อร่วมกันระบายน้ำออกในเขตพื้นที่ด้านในต่อไป จึงเชื่อว่าปีนี้พื้นที่ด้านในกรุงเทพฯ น้ำจะไม่ท่วมแน่นอน ดังนั้น ขอให้ประชาชนสบายใจ ทุกหน่วยงานจะดูแลเต็มที่
วันเดียวกัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะทำงานของ กทม. ลงพื้นที่สำนักงานเขตบางเขน และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมจากฝนตกต่อเนื่องทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ขณะที่ฝั่งรามอินทราเลขคี่ยังสามารถระบายน้ำออกที่คลองลาดพร้าวได้ ส่วนบริเวณแยกบางเขนยังมีน้ำท่วมขังอยู่ รวมถึงพหลโยธินช่วงต่อกับถนนตัดใหม่ที่มาจากทางถนนสุขาภิบาล 5 ดอนเมือง คลองเปรมประชากรน้ำยังสูงอยู่ ส่วนคลองที่ยังมีน้ำท่วมวิกฤตอยู่จะมี 3 คลอง คือ คลองเปรมประชากร, คลองลาดพร้าว และคลองประเวศบุรีรมย์ ต้องใช้เวลาในการสูบออก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีฝนตกหนักเกิน 100 มิลลิเมตรทุกวัน
อย่างไรก็ตาม บางส่วนที่สามารถระบายได้ เราก็ระบายได้เร็ว อย่างเมื่อเช้าวันนี้ ส่วนใหญ่ตามถนนหลักก็แห้งหมด ยกเว้นจุดพหลโยธินที่อยู่ติดคลอง ต้องเร่งทั้งในแง่ของการระบายน้ำออกและการดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ บรรดาเขตบางเขน หลักสี่ สายไหม ดอนเมือง ลาดกระบัง จะเร่งตั้งศูนย์ดูแลผู้อพยพให้ที่พักพิงชั่วคราว
นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนสิ่งที่กังวลที่สุดตอนนี้คือ น้ำที่เต็มคลอง ที่มาจากน้ำฝนในพื้นที่มากกว่า แต่ไม่ได้กังวลเรื่องน้ำทะเลหนุนหรือว่าน้ำเหนือที่ลงมา อย่างไรก็ตาม เราต้องปิดประตูแล้วสูบออก ปัญหาหลักก็คือเรื่องคลองที่ยังระบายน้ำได้ช้า ซึ่งที่ผ่านมามีคนแนะนำให้สูบน้ำออกทางคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต แต่ถ้าสูบออกไป ทางคลองพระองค์เจ้าฯ จะท่วม เพราะน้ำก็สูงเท่ากันแล้ว ซึ่งตรงนี้กรมชลประทานต้องเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะสูบออกมากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ ปัญหาหลักสำคัญก็คือปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมาก โดยปกติเเล้ว ที่เขตบางเขน เฉลี่ยแล้วทั้งเดือน ก.ย. ฝนจะตกประมาณ 320 มิลลิเมตร แต่ตอนนี้ไม่ถึงครึ่งเดือน ปริมาณน้ำฝนเกินแล้ว จึงเป็นข้อจำกัดของสภาพกายภาพ แต่เราไม่ยอมแพ้ พยายามลุยเต็มที่ พยายามเพิ่มปั๊มน้ำต่างๆ ในอนาคตจะลงทุนในเรื่องของเครื่องสูบน้ำมากขึ้น เเละต้องเปลี่ยนแนวคิดจากคิดจะทำอุโมงค์ใหญ่ระบายน้ำ ให้มาเน้นเรื่องการปรับปรุงคุณภาพคลอง นี่จะเป็นแผนในระยะยาว ส่วนในตอนนี้ยุทธศาสตร์คือการลอกท่อให้หมด ปรับปรุงประสิทธิภาพการสูบน้ำ อย่างในพื้นที่ย่อยๆ ตามชุมชน จะเร่งนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปให้มากขึ้น ยืนยันว่าจากเหตุการณ์น้ำท่วม ตนและคณะทำงานรับฟังความคิดเห็น คำแนะนำจากทุกคน
นายชัชชาติยังกล่าวถึงกรณีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ระบุพบความผิดปกติในงบประมาณกรุงเทพฯ ปี 2566 ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค.2565 จำนวน 79,719 ล้านบาท โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อ่อนไหวน้ำท่วม อย่างเขตจตุจักร ซึ่งมีจุดเสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม 11 จุด มีโครงการโยธาทางระบายน้ำถูกตัดงบประมาณทิ้ง แล้วเปลี่ยนเป็นโครงการพาคนไปเที่ยวสัมมนาสูงถึง 9,783,300 บาทนั้น ว่าไม่น่าจะเป็นการตัดงบการบริหารจัดการน้ำ เพราะงบประมาณได้เพิ่มขึ้นทุกเขต และผ่านสภา กทม.มาเรียบร้อยแล้ว การมีงบสัมมนา เป็นเรื่องปกติ ต้องมีการพัฒนาบุคลากรโดยใช้เงินอย่างคุ้มค่า ไม่ใช่การท่องเที่ยว และได้สั่งการ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช์ รองผู้ว่าฯ ดูแลแล้ว ขอบคุณที่ช่วยชี้แนะ
โยกงบระบายน้ำไปใช้เที่ยว
โดยก่อนหน้านี้ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. เขตจตุจักร เปิดเผยว่า เขตจตุจักรซึ่งมีจุดเสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม 11 จุด มีโครงการโยธาทางระบายน้ำถูกตัดงบประมาณทิ้ง แล้วเปลี่ยนเป็นโครงการพาคนไปเที่ยวสัมมนาสูงถึง 9,783,300 บาท ซึ่งมีเอกสารการแปรญัตติงบประมาณโยกงบโครงการที่ผิดเพี้ยนจากร่างข้อบัญญัติงบประมาณเดิมที่ฝ่ายบริหารเสนอมาถึง 4.8 พันล้านบาท ไม่อยากเชื่อว่าขณะที่กรุงเทพฯ จมน้ำ แต่การอนุมัติงบประมาณโดยสภา กทม. กลับโยกงบมาพาคนไปเที่ยว พาหัวคะแนนไปสัมมนา เฉพาะในเขตจตุจักรมีการแปรญัตติเปลี่ยนแปลงงบประมาณสูงถึง 16,232,300 บาท ขณะที่ย้ายหมวดเพิ่มเพื่อเหมาทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ค่าฝาท่อระบายน้ำ มีเพียง 3 ล้านบาทเท่านั้น
ทั้งนี้ กทม.ในภาพรวมยังมีความผิดปกติลักษณะเดียวกันอีกเป็นพันล้านบาท โดยจะรีบส่งเอกสารให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ ก่อนมีการประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างจริงในเดือน พ.ย.นี้ จึงขอให้ผู้ว่าฯ กทม.ระงับการจัดซื้อจัดจ้างในกรณีแบบนี้ด้วย ตนว่าเอาเงินไปช่วยน้ำท่วมดีกว่า
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กตอนหนึ่งว่า จากที่ได้ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศในประเทศไทย เห็นว่าปีนี้เป็นปีที่ฝนตกมาก ทำให้มีปริมาณน้ำมาก แม้อาจจะไม่เท่าปี 2554 แต่อดห่วงพี่น้องเกษตรกรไม่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง เพราะพบว่ามีการปล่อยให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่นา ทำให้ผลผลิตข้าวของชาวนาได้รับความเสียหาย ทั้งๆ ที่ควรระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังพร่องอยู่ ขณะที่น้ำจากทุ่งรังสิตกำลังเข้ามาใกล้กรุงเทพฯ
"รัฐบาลต้องวางแผนระบายน้ำออกไปยังแม่น้ำบางปะกงและเจ้าพระยาแต่เนิ่นๆ เพราะในสมัยรัฐบาลดิฉัน ได้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไว้แล้วทั้งฝั่งตะวันตก และทางตอนใต้ของคลองรังสิต รวมทั้งรัฐบาลต้องมีประสานความร่วมมือกับ กทม. ให้สามารถระบายน้ำตามคลองหลักได้อย่างสะดวก มาถึงวันนี้ ดิฉันยังอดเสียดายโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบที่เคยวางแผนมิได้ หากวันนั้นได้มีโอกาสเดินหน้านโยบาย วันนี้ปัญหาเช่นนี้คงไม่เกิด อย่างไรก็ตาม ดิฉันขอส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถเร่งจัดการน้ำได้ทันท่วงทีเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและชาว กทม.ด้วยค่ะ" น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ
ที่ จ.อุบลราชธานี ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศฉบับที่ 1/2565 เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำมูล โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือน้ำท่วมภาคอีสาน
ที่ จ.เลย ลำน้ำสวยได้ล้นทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน 5 หมู่บ้านใน ต.ท่าสวรรค์ อ.นาด้วง กว่า 300 หลังคาเรือนอย่างฉับพลัน ทั้งพืชไร่และนาข้าว เสียหายเป็นบริเวณกว้าง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน