‘ขาดตอน’ไม่ครบ8ปี ‘บิ๊กตู่’แจงศาลวาระนายกฯเริ่ม60/8ก.ย.แค่ตรวจหลักฐาน

"เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ" แถลงยิบขั้นตอนการวินิจฉัย 8 ปีนายกฯ ย้ำชัด 8 ก.ย.ยังไม่ใช่ตัดสินคดี "ปธ.ศาลฯ" เสียใจเอกสาร "มีชัย" หลุด สั่งตรวจสอบข้อบกพร่อง "ฝ่ายค้าน" ผวา! รีบทำหนังสือแย้ง "อดีต ปธ.กรธ." ยกบันทึกประชุมสมัยร่าง รธน.ครั้งที่ 500-501 โต้กลับ "วิษณุ" เผยจุดอ่อนเอกสารประชุม กรธ.ไร้น้ำหนัก เหตุไม่ระบุวิธีนับอายุนายกฯ เริ่มปีไหนไว้ในหนังสือจุดมุ่งหมาย รธน. "เอกสารบิ๊กตู่" แจงคดีหลุดว่อนโซเชียล ยันเป็นนายกฯ ยังไม่ครบ 8 ปี การันตีไม่เคยใช้อำนาจผู้นำหาประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง "ลุงป้อม" ควง "อนุพงษ์" ฟังแถลงผลการศึกษา นศ.วปอ. รุ่นที่ 64 ไร้เงาประยุทธ์

ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 ก.ย. เวลา 14.30 น. นายเชาวนะ ไตรมาศ​ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวกรณีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดพิเศษ เพื่อกำหนดแนวทางพิจารณากรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่

นายเชาวนะกล่าวว่า นับตั้งแต่ศาลได้มีการรับคำร้องกรณีเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ศาลได้มีการพิจารณากระบวนพิจารณามาเป็นลำดับเป็นกระบวนการปกติ การที่ศาลนัดประชุมในวันที่ 8 ก.ย. ไม่ได้เป็นการเร่งเวลา หรือทำให้ช้าลง ยืนยันว่าเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ถามว่าคดีนี้มีความสำคัญหรือไม่ ก็เป็นคดีที่ศาลให้ความสำคัญ แต่ก็ดำเนินกระบวนพิจารณาตามปกติไม่ได้มีการลัดขั้นตอนแต่อย่างใด

“ที่มีข่าวว่าศาลจะประชุมแล้วจะมีการลงมติ และมีการระบุมีเสียงข้างมากข้างน้อยเท่านั้นเท่านี้ เรียนว่าตอนขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น พรุ่งนี้ (8 ก.ย.) เป็นเพียงการนำพยานหลักฐานที่ศาลได้รับมาพิจารณาว่าเพียงพอที่จะวินิจฉัยหรือไม่ ถ้าไม่พอจะต้องแสวงหาเพิ่มเติมหรือไม่ ตามวิธีที่กฎหมายกำหนด เช่น การให้บุคคลหรือหน่วยงานของรัฐชี้แจงก็ได้ หรือจะดำเนินกระบวนการไต่สวนก็ได้ ฉะนั้นที่มีข่าวทำนองว่าหลังจากการพิจารณาในวันพรุ่งนี้แล้ว ก็มีการนัดอ่านคำวินิจฉัยในอีก 15 วัน และมีการกำหนดว่าผลของการพิจารณาจะออกมาเป็นกี่เสียง ยืนยันว่ายังไม่มีเงื่อนไขของการกำหนดวัน และยังไม่ถึงขั้นลงมติ” นายเชาวนะกล่าว

เลขาฯ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ถึงกรณีหนังสือชี้แจงของนายมีชัย​ ฤชุพันธุ์​ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ​​หลุดในโลกโซเชียลว่า ยังไม่ยืนยันว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ แต่ยืนยันว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญ และกังวลใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเนื้อหากระทบผู้ให้ความเห็นและพาดพิงไปถึงคู่ความ จึงให้สำนักงานมีการติดตามว่าเอกสารมีที่มีที่ไปเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อมีเอกสารรั่วไหลในชั้นธุรการ ก็จะกำชับให้พึงระมัดระวัง แต่เมื่อมีการรั้วไหล เราก็ต้องเพิ่มความรัดกุมให้มากขึ้น

“ในทางปฏิบัติจะพิจารณาว่ามาตรการของเรามีข้อบกพร่องเช่นไร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในกระบวนการพิจารณา เพิ่มความระมัดระวังให้เกิดความรอบคอบและรัดกุม ยืนยันว่าประธานไม่ได้นิ่งนอนใจ ท่านห่วงใย และรู้สึกเสียใจ จึงให้สำนักงานระมัดระวัง และดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งจะเอาผิดใครได้หรือไม่ จะต้องรอดูผลการตรวจสอบก่อน” เลขาฯ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกล่าว

ศาลชี้ 8 ก.ย.ยังไม่ตัดสิน

ถามว่า หากคณะตุลาการเห็นว่าข้อเท็จจริงมีความเพียงพอให้วินิจฉัยแล้ว ตามข้อกฎหมายจะต้องมีการนัดวันวินิจฉัยภายในกี่วัน นายเชาวนะกล่าวว่า ตามกฎหมายกำหนดไว้ในบางคดีบางเรื่อง เช่น คดีที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะกำหนดเฉพาะเจาะจงว่าจะวินิจฉัยภายใน 15 วัน 30 วัน แต่คำร้อง ลักษณะกฎหมายไม่ได้กำหนด ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะพิจารณา ซึ่งการที่ศาลจะกำหนดวันวินิจฉัย ตามข้อหมายได้กำหนดไว้เพียงปัจจัยเดียวคือ เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอต่อการพิจารณาและให้ความยุติธรรมก็จะกำหนดประเด็นวินิจฉัย และจะนัดอ่านความเห็นของตุลาการแต่ละท่าน และนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ซึ่งปกติคำร้องที่มีกรณีศาลจะลงมติช่วงเช้าและอ่านช่วงบ่าย

“การที่ศาลจะนัดอ่าน ถ้าไม่ได้เป็นเรื่องที่มีการไต่สวน ก็จะนัดวินิจฉัยหลังพยานหลักฐานครบถ้วนแล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ถ้าอยู่ระหว่างการไต่สวนและเห็นว่าคดีมีข้อมูลเพียงต่อการวินิจฉัย ก็จะนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัย แต่คดีนี้ยังไม่ได้มีการไต่สวน ฉะนั้นในคดีนี้ก็จะอยู่ในกรอบนักวินิจฉัยไม่น้อยกว่า 7 วัน หลังจากศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอวินิจฉัย”นายเชาวนะกล่าว

ถามว่าคำชี้แจงของนายมีชัยหลุดออกมาจะมีผลหรือมาร นายเชาวนะกล่าวว่า ความเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งศาลก็รับฟัง แต่ไม่ได้เอามาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ศาลจะยึดสำนวนคดีเป็นหลัก ตุลาการทั้ง 9 คนล้วนเป็นอิสระ ไม่มีใครรู้ว่าใครจะวินิจฉัยอย่างไร และขณะนี้ยังไม่ได้เป็นที่ยุติว่าพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ การที่บอกว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างนั้นอย่างนี้ จึงเป็นการด่วนสรุปที่เร็วเกินไป

ที่รัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ ให้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ 

นพ.ชลน่านกล่าวว่า เนื่องจากมีเอกสารที่หลุดออกมาเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เนื้อหาสาระอ้างถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. เป็นผู้ทำหนังสือถึงศาล สรุปสาระ วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.60 และกรณีอ้างถึงบันทึกการประชุมของ กรธ. ครั้งที่ 500 นายมีชัยอ้างว่าเป็นการจดบันทึกไม่ครบถ้วน ไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้ ฝ่ายค้านเห็นว่าคำชี้แจงของนายมีชัยเข้าข่ายให้การเท็จต่อศาล

“ฝ่ายค้านมีความเห็นคัดค้านความเห็นของนายมีชัย จึงรวบรวมความเห็นในการคัดค้านหรือโต้แย้งเอกสารดังกล่าว เพื่อยืนยันว่าวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องนับวันที่ 24 ส.ค.57 จะอ้างวันที่ 6 เม.ย.60 ไม่ได้ เพราะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกฯ ในปี 57 และมีการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมา โดยได้แนบบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 ที่มีรายละเอียด 22 หน้า เพื่ออ้างอิงว่าเอกสารครั้งที่ 500 มีความครบถ้วนสมบูรณ์ จึงมีการส่งบันทึกการประชุมครั้งที่ 501 เมื่อวันที่ 11 ก.ย.51 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย มีเนื้อหารับรองการประชุมของ กรธ. ครั้งที่ 497-500 ว่ามีความถูกต้องโดยไม่มีการแก้ไข ดังนั้นบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 จึงมีความสมบูรณ์” นพ.ชลน่านกล่าว 

ถามว่ามองเจตนาที่เอกสารหลุดอย่างไร ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า มองได้หลายมุม ถ้าเอกสารนี้หลุดออกมาจากตรงไหนจะทำให้เราวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้นในเจตนา แต่สิ่งที่คาดการณ์ได้ คือเหมือนการโยนให้สังคมได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าคิดอย่างไร

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเผยแพร่คำชี้แจงต่อศาล รธน.ของนายมีชัยว่า ยังไม่เจอและไม่ได้คุยกับนายมีชัยมา 10 กว่าวันแล้ว รวมถึงไม่ได้คุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เพราะคนที่พบ พล.อ.ประยุทธ์บ่อยคือ พล.ต.วิระ โรจนวาศ ที่เป็นทีมกฎหมาย ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวตนเห็นทางไลน์ใครส่งมาก็ไม่ทราบ

ถามว่า เอกสารบันทึกการประชุมที่ 501 จะหักล้างคำชี้แจงที่อ้างว่าเป็นของนายมีชัยได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนมีคำตอบ แต่ไม่ขอตอบ

กรธ.ครั้ง 500-501 ไร้น้ำหนัก

ซักว่า บันทึกการประชุมครั้งที่ 501 กับคำชี้แจงของนายมีชัยอะไรมีน้ำหนักมากกว่ากัน นายวิษณุกล่าวว่า ทั้ง 500 และ 501 ไม่มีน้ำหนัก ตนเคยบอกไปแล้วว่าบันทึกที่ว่านั้นเป็นรายงานการประชุมที่เกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว 1 ปี เพื่อมานั่งทำหนังสือความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 60 เมื่อปี 2561 นี้ ถือเป็นจุดอ่อนข้อที่หนึ่งส่วนจุดอ่อนข้อที่สองก็เป็นคนสามคนพูดกันคือ นายมีชัย, นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ., นายศุภชัย ยาวะประภาษ กรธ. ส่วน กรธ.ที่เหลือไม่ได้พูดอะไร และไม่ได้ลงมติ ซึ่งนายมีชัยออกมาชี้แจงจริงหรือไม่ ตนไม่ทราบ อีกทั้งที่บอกว่าจดก็จดไม่ถูกนี้คือจุดอ่อนอีกจุด ที่สำคัญที่สุดการประชุมครั้งนี้เพื่อทำหนังสือ และในหนังสือที่พูดถึงมาตรา 158 ก็ไม่ได้พูดถึงการเริ่มนับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่าเริ่มตอนไหน ฉะนั้นต้องยึดหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นหลักในการตีความ

 “คุณนั่งประชุมกันเพื่อทำหนังสือ ฉะนั้นคุณจะพูดอย่างไรก็ช่างคุณ แต่หนังสือที่ออกมามันว่าอย่างไร เพราะหนังสือเล่มนั้นเจตนาจะเอาไว้ใช้เป็นคู่มือตีความรัฐธรรมนูญ และถ้าคุณตั้งใจอย่างนั้น ในเวลาพูดทำไมไม่เขียนใส่ไปไว้ในหนังสือ ซึ่งปรากฏว่าไม่มี แต่หนังสือนั้นบอกว่าการกำหนดวาระ 8 ปี เพื่อไม่ใช่ผูกขาดอำนาจถือเป็นหลักที่ถูกต้องที่ดีที่จริง แต่จะนับอย่างไร เหมือนการประชุมครั้งที่ 500 มันไม่มี และเรื่องนี้ไม่ได้มาคิดทำในตอนนี้เพื่อบิดเบือนมันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว” นายวิษณุกล่าว

รองนายกฯ กล่าวว่า น้ำหนักอยู่ที่หนังสือ จะไปอยู่ที่คนพูดระหว่างทำหนังสือได้อย่างไร แต่หากน้ำหนักจะอยู่ที่ผู้พูดก็ต่อเมื่อพูดขณะยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะนั้นคือเจตนาของการร่าง

ย้ำว่ามากกว่าคำชี้แจงของนายมีชัยด้วยใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ถูกต้อง และจะมีอะไรอื่นๆ ดีๆ อีกหน่อยเดี๋ยวสื่อก็จะรู้ เพราะเวลาฝ่ายกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงไปคงไม่ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องการประชุมครั้งที่ 500 หรือ 501 มันมีอย่างอื่น วันนี้เราไปชุลมุนในเรื่องการประชุมครั้งที่ 500 กับ 501 สุดท้ายแล้วอยู่ที่ศาลจะหยิบเรื่องไหนมาพิจารณา แต่การที่มีเอกสารต่างๆ ออกมาตอนนี้ ถือเป็นเรื่องธรรมดา คนเรามีรักมีชังมีชอบ  ฝ่ายไหนได้ประโยชน์ฝ่ายไหนเสียประโยชน์ก็ปล่อยออกมา ดีคนที่ไม่รู้จะได้รู้ แต่สุดท้ายแล้วรอฟังคำวินิจฉัยของศาลดีที่สุด

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการแชร์เอกสารที่อ้างว่าเป็นเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหาของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ส่งถึงศาล รธน. กรณีพิจารณาคำร้องวาระ 8 ปีนายกรัฐมนตรี โดยเอกสารดังกล่าวมีทั้งสิ้น 23 หน้า รายละเอียดเป็นข้อๆ ทั้งสิ้น 8 ข้อ (รายละเอียดอ่านหน้า 2)

ในส่วนสำคัญของแต่ละข้อ ระบุว่า 1.ยืนยันว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จากปี 2557 นั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากตนเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งแรก ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ตนก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จนมีการเลือกตั้ง และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ร้องไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ได้เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนตามพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557 เป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ด้วยเช่นกัน การสิ้นสุดดังกล่าวส่งผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนครั้งแรก จึง "ขาดตอน" จากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ (6 เม.ย.2560) จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลา การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก กับการเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้

ส่วนการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้นั้น เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังการเลือกตั้ง ในปี 2562 ดังนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ตามบทเฉพาะกาล และได้ขาดตอนจากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไปแล้ว

บิ๊กตู่ยันยังอยู่ไม่ครบ 8 ปี

2.การกำหนดระยะเวลา 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 เป็นการกำจัดสิทธิทางกฎหมาย ข้อ 3 ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยถึงสถานะความเป็นรัฐมนตรี เมื่อปี 2562 และ 2561 เกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีของว่า คณะรัฐมนตรี ที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ถือเป็นรัฐมนตรี นับจากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ และต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560  และ

4.ยืนยันว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตน ไม่ขัดกับหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ชี้แจงตอนหนึ่งว่า ไม่ว่าข้าพเจ้าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็นระยะเวลาเท่าใดก็ตาม แต่ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าไม่เคยใช้อำนาจการเป็นผู้นำประเทศหรืออำนาจทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของตัวข้าพเจ้าเอง หรือของวงศาคณาญาติ หรือของพวกพ้อง และไม่เคยแม้แต่จะคิดช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้ผู้ที่เคยเป็นผู้นำประเทศที่มีลักษณะเช่นที่ผู้ร้องยกขึ้นกล่าว หรือวงศาคณาญาติของผู้นั้นที่เคยทำความเสียหายให้ประเทศหรือประโยชน์สาธารณะของประชาชนชาวไทย กลับมามีอำนาจหรือกลับมาเป็นผู้นำประเทศเพื่อใช้อำนาจในการเป็นผู้นำประเทศซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในประเทศก่อผลเสียต่อประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประเทศชาติอย่างรุนแรงได้อีก

5.บันทึกการประชุมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 เมื่อปี 2561 ที่ระบุความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า สามารถนับรวมระยะเวลาก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ได้นั้น พบว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่บันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงบทสนทนาของนายมีชัยกับนายสุพจน์ ไข่มุกด์ เท่านั้น 6.ข้ออ้างที่ระบุว่า ข้าพเจ้าไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ว่า เป็นนายกรัฐมนตรีมาต่อเนื่องนั้น ไม่สามารถนำมาพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันได้

7.ศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความและใช้รัฐธรรมนูญวินิจฉัยลักษณะและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ใช่ตามข้อเท็จจริงรับรู้โดยทั่วไปของประชาชน เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญเพราะการรับฟังข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไป เป็นหลักที่ใช้ในการฟังพยานหลักฐานของศาลเท่านั้น ไม่ใช่หลักกฎหมายที่ใช้ในการตีความกฎหมาย

  1. 8. ขอกล่าวโดยสรุปว่า การกล่าวหาว่า ตนดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปี ในวันที่ 24 ส.ค.2565 เกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้ร้อง และขอย้ำว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่อาจนับ จากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2557 ได้ เพราะความเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของข้าพเจ้าได้สิ้นสุดลงแล้ว และขาดตอนไปแล้ว นับจากวันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้และการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกไม่เกิน 8 ปีนั้นหมายถึงการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่น ดังนั้น ข้อกล่าวหาของผู้ร้อง ยังไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและตามหลักนิติธรรม จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้ายังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 และตามข้อกล่าวหาของผู้ร้อง

ที่อาคารอเนกประสงค์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแถลงผลการศึกษาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 64 วิทยาลัยเสนาธิการทหาร รุ่นที่ 63 วิทยาลัยการทัพบก ชุดที่ 67 วิทยาลัยการทัพเรือ รุ่นที่ 54 และวิทยาลัยการทัพอากาศ รุ่นที่ 56 โดยมีปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมทั้งผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมรับฟัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแถลงปิดหลักสูตร วปอ.ก่อนหน้านี้ จะมีการเชิญรัฐมนตรีด้านความมั่นคงเข้าร่วมด้วย แต่ในปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม ไม่เข้าร่วมงานด้วย อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ พล.อ.ประวิตรเดินทางมาถึง ตัวแทนนักศึกษา วปอ.รุ่น 64 ร้องเพลงดุจบิดามารดรเป็นการต้อนรับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’

“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ