กทม.อ่วม!จ่าย1.2หมื่นล. จ่ออุทธรณ์หนี้สายสีเขียว

ศาลปกครองสั่ง "กทม.-กรุงเทพธนาคม" จ่ายหนี้บีทีเอส ตามสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 1-2 รวม 1.17 หมื่นล้านบาท “ชัชชาติ” เตรียมยื่นอุทธรณ์ ชี้เรื่องต่อสัมปทานยังค้างใน ครม. ยันต้องทำรอบคอบที่สุด บอร์ดเคทีนัดถกจ่ออุทธรณ์เช่นกัน

เมื่อวันที่ 7 กันยายน เวลา 11.00 น. ศาลปกครองกลางมีคำสั่งพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ร่วมกันจ่ายหนี้ค้างชำระในสัญญาการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้แก่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส รวมวงเงิน 11,754 ล้านบาท โดยให้ชำระภายใน 180 วัน นับตั้งแต่คดีเป็นที่สิ้นสุด

สำหรับรายละเอียดหนี้ค้างชำระดังกล่าว ประกอบด้วย ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งค้างชำระหนี้มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2562-พ.ค.2564 รวม 2,348 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้เงินต้น 2,199 ล้านบาท และดอกเบี้ย 149 ล้านบาท และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งค้างชำระหนี้มาตั้งแต่ เม.ย.2560-พ.ค.2564 รวม 9,406 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เงินต้น 8,786 ล้านบาท และดอกเบี้ย 619 ล้านบาท 

รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้เตรียมยื่นอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว โดยวันที่ 8 ก.ย.นี้ เวลาประมาณ 08.30 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) นำโดย รศ.ธงทอง จันทรางศุ ประธานบอร์ด หลังจากนั้นจะรายงานผลการพิพากษาของศาลปกครองกลาง และแนวทางดำเนินการต่างๆ ไปยังนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาต่อไป

สำหรับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้น สืบเนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กรุงเทพมหานครให้สัมปทานกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้มีการพัฒนาส่วนต่อขยายถึงปัจจุบันคือ ช่วงอ่อนนุช-เคหะสมุทรปราการ ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ซึ่งได้มีการจ้างบีทีเอสเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย รวมถึงการวางระบบรถไฟฟ้าและการซ่อมบำรุง

ทางด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หลังได้รับทราบคำวินิจฉัยของศาลแล้ว ต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป และ กทม.ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน จากนี้ต้องปรึกษากับฝ่ายกฎหมายและผู้บริหาร กทม.ถึงแนวทางดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ขอย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่า มีเงิน 2 ส่วนที่ต้องจัดการคือ 1.เงินค่าจ้างส่วนต่อขยายที่ 1 ประมาณ 2 พันล้านบาท 2.เงินค่าจ้างส่วนต่อขยายที่ 2 ประมาณ 6,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับดอกเบี้ยทั้งหมด ต้องจ่ายสูงถึง 11,754 ล้านบาท

นายชัชชาติกล่าวว่า เงินจำนวนดังกล่าวไม่มีการจ่ายมานานแล้ว ซึ่งมีการพยายามนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการต่อสัญญาสัมปทาน แต่ขณะนี้เรื่องยังค้างอยู่ใน ครม. ทั้งนี้ ประเด็นที่ กทม.จะพิจารณาต่อไปคือ ส่วนต่อขยายที่ 1 เพื่อหาแนวทางนำมูลหนี้มาเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทาน ซึ่งรอการพิจารณาจาก ครม.อยู่ในขณะนี้ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เรายังไม่แน่ใจ เพราะถ้าเราจ่ายไปก่อน แต่เรื่องยังค้างอยู่ใน ครม.แบบนี้ ก็ยังไม่จบ

ส่วนกรณีส่วนต่อขยายที่ 2 กทม.มีเพียงหนังสือมอบหมายงานกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ยังมีข้อกังวลว่า กทม.มีอำนาจจ่ายหนี้จริงหรือไม่ เพราะยังไม่มีการระบุตัวเลขที่ชัดเจน และไม่ใช่เป็นสัญญาเหมือนส่วนขยายที่ 1 อย่างไรก็ตาม กทม.จะนำประเด็นดังกล่าวเรื่องทั้งหมดนี้ชี้แจงในคำอุทธรณ์ต่อไป เพราะเข้าใจว่าการส่งเรื่องชี้แจงในครั้งแรกยังไม่มีประเด็นดังกล่าว จึงจะมีการทบทวนรายละเอียดใหม่

"ผมว่าไม่เป็นไร ต้องเรียนว่าเราไม่ได้ติดอะไร เพราะเป็นเรื่องในอดีตที่เราไม่ได้เป็นคนทำไว้ แต่เราอยากจะให้ยุติธรรมให้รอบคอบที่สุด เพราะสุดท้ายต้องเอาเงินประชาชนไปจ่าย ถ้ามีมุมที่เราอยากได้ความกระจ่างเพื่อความชัดเจน คงอยู่ในคำอุทธรณ์ต่อไป" ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง