บิ๊กตู่ไม่หลุดนายกฯ ‘มีชัย’แจงศาลวาระ8ปีเริ่มนับ6เม.ย.60/พท.ดักคอ

เปิดเอกสาร “มีชัย” อดีตประธาน กรธ. ชี้แจงศาล รธน.ปม 8 ปีนายกฯ ระบุชัดการนับวาระดำรงตำแหน่ง “บิ๊กตู่” เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 60 ตามมาตรา 158 วรรคสี่ เริ่มตั้งแต่ 6 เม.ย.2560 “วิษณุ” ยันรัฐบาลไม่มีแผนสำรองรับผล ศาล รธน.เป็นลบ “พท.” ฟันธง 8 ปีเริ่มนับปี 57 ขู่ตีความเป็นอื่นทำลายหลัก รธน.-ละเมิดพระราชอำนาจ “เอี่ยม” แนะประชาชนจับตา ศาลประชุมพิเศษ 8 ก.ย. “เต้” บอกหาก “บิ๊กตู่” รอด บรรยากาศอาจซ้ำรอยสมัยนายกฯ สมชาย “ลุงป้อม” โชว์ฟิตถก ครม.รวดเดียวอีกครั้ง

มีความเคลื่อนที่น่าสนใจหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยปม 8 ปี และให้ พล.อ.ประยุทธ์ส่งคำชี้แจงภายใน 15 วัน ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการขอคำชี้แจงจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์  อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)​ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับบันทึกการประชุม กรธ. ในช่วงที่ผ่านมา​นั้น

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ได้มีเอกสารของนายมีชัยที่ส่งคำชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญออกมาเผยแพร่ โดยมีเนื้อหาชี้แจงปมการนับวาระดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จำนวน 3 หน้ากระดาษ ซึ่งโดยสาระสำคัญอยู่ในหน้า 2-3 ดังนี้

1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ตามที่ปรากฏในพระบรมราชโองการในวรรคห้า และถูกต้องตรงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ผลบังคับใช้ จึงมีตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 เป็นต้นไป และไม่อาจมีผลไปถึงการใดๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ 

2.ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ (มาตรา 160 ) ที่มา (มาตรา 88) วิธีการได้มา (มาตรา 159 และมาตรา 272) กรอบในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 164) ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง (มาตรา 158 วรรคสี่) และผลจากการพ้นตำแหน่ง (มาตรา 168) ไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา และส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิและเพิ่มความรับผิดชอบ บทบัญญัติต่างๆ เหล่านั้น จึงไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใดๆ ที่ได้กระทำไปโดยชอบแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ โดยหลักทั่วไปกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดขึ้นย่อมต้องมุ่งหมายที่จะใช้กับคณะรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช  2560 

3.อย่างไรก็ตาม การที่จะได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก่อน แต่ประเทศไทยไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด จึงได้มีบทบัญญัติมาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ ... " โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติและการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้เป็นการเฉพาะ

มีชัยชี้ชัดปมวาระบิ๊กตู่

4.โดยผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับคือ วันที่ 6 เม.ย.2560 และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. เป็นต้นไป

อนึ่ง สำหรับรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้านั้น ขอเรียนว่า เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วนเป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 กันยายน 2561  ความไม่ครบถ้วนดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ ในรายงานการประชุมดังกล่าวมีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ ดังจะเห็นได้ว่าในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาความมุ่งหมายของมาตรา 183 ที่บันทึกไว้ว่า "ประธานกรรมการกล่าวว่า การตีความว่าหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาตรากฎหมาย โดยกำหนดให้ตนเองได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ ย่อมถือเป็นกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาดำเนินการไปโดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ประสงค์ให้บุคคลดังกล่าวได้รับเงินนั้น อาจเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากโดยหลักสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีอำนาจตราพระราชกฤษฎีกาได้ และการกำหนดค่าตอบแทนต่างๆ ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอาจตราพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับบำเหน็จบำนาญได้" ซึ่งเป็นความที่ฝืนต่อความเป็นจริง และข้าพเจ้าคงไม่พูดเช่นนั้น เพราะย่อมรู้อยู่เป็นพื้นฐานว่า การตราพระราชกฤษฎีกาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ (ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 175) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ หรือฝ่ายนิติบัญญัติมอบอำนาจให้ผ่านทางพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด รายงานการประชุมดังกล่าวจึงยังไม่อาจใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเป็นข้อยุติได้ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้พิมพ์ข้อความไว้ที่หน้าปกรายงานการประชุมทุกครั้งว่า "บันทึกการประชุมนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้หากเกิดความเสียหายใดๆ ผู้นั้นรับผิดชอบเอง"

ขณะที่ พล.ต.วิระ​ โรจนวาศ​ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและทีมกฎหมาย​ กล่าวถึงการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดพิเศษในวันที่ 8 ก.ย.นี้ ที่คาดว่าจะพิจารณาแนวทางการวินิจฉัยปมการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์​ว่า คงไม่เร็วขนาดนั้น

ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนในการประชุมนัดพิเศษของ ศาล รธน.วันที่ 8 ก.ย. จะมีคำวินิจฉัยออกมาเลยหรือไม่ว่า เมื่อผู้ถูกร้อง รวมถึงผู้ให้ความเห็นส่งความเห็นได้เร็ว ศาล รธน.ก็นัดประชุมได้เร็ว แต่วันที่ 8 ก.ย.จะเสร็จหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ สมมุติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ถกแถลงกันแล้วใครอยากได้อะไรเพิ่มเติมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถือเป็นการทำงานในชั้นของศาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่มีกรอบเวลากำหนดใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มี ปกติเขาไม่บอกให้รู้  

รบ.ไม่มีแผนสำรองปม 8 ปี

                    ซักว่ารัฐบาลมีแผนรองรับกรณีคำวินิจฉัยออกมาเป็นลบต่อ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่มี ไม่เคยมีเลย เชิงลบเชิงบวกอะไรก็ไม่มีทั้งนั้น

ถามว่า ในฐานะฝ่ายกฎหมายและได้อ่านคำชี้แจงแล้ว มองว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้กลับมาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องมันไปที่ศาลแล้ว ก็รอแล้วกัน

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงปมนายกฯ 8 ปีจะไม่มีปัญหาอะไรหรือไม่ว่า ไม่มีหรอก ตอนนี้ก็โค้งสุดท้ายแล้ว อีกแป๊บเดียวก็ถึงเวลาเลือกตั้งแล้ว ไม่ว่าจะดึง จะยื้อ หรืออะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็ต้องไปชนในวันที่ 22 มี.ค.66 ในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้อยู่ดี 

 “เราต้องไม่ไปก้าวล่วงอำนาจศาล รธน. ไม่มีศาลที่ไหนจะมาบอกว่าพิพากษาอย่างไรก่อนวันกำหนด ผมยังไม่เคยเห็นเลย ต่อให้สนิทกันขนาดไหน เรียนหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) มีศาลผู้ใหญ่ทั้งนั้นเลย ถึงเวลาจริงๆ ไม่มีใครกล้าถาม กรรมการหลายคนเวลาอยู่ในองค์คณะ เพื่อนเราทั้งนั้น ไม่เคยกล้าถามเลย และบุคคลเหล่านั้นไม่มีใครพูดด้วย 

วันเดียวกัน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีการวินิจฉัยวาระ 8 ปีนายกฯ ของศาล รธน. ตอนหนึ่งระบุว่า ศาล รธน.มิอาจวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น นอกจากวินิจฉัยชี้ขาดให้ความเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนด 8 ปี ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจากการดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นไปตามประกาศพระบรมราชโองการเพื่อให้มีหน้าที่ และอำนาจในการบริหารประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตามพระบรมราชโองการลงวันที่ 24 ส.ค.2557 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และพระบรมราชโองการลงวันที่ 9 มิ.ย.2562 อันเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตามมาตรา 2 และพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 ซึ่งสืบเนื่องจากมาตรา 3 ที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจในการใช้อำนาจบริหาร ผ่านคณะรัฐมนตรี และแต่งตั้งนายกฯ อันเป็นพระราชอำนาจโดยแท้ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ตามมาตรา 6

“เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งบุคคลใดเป็นนายกฯ แล้วบุคคลนั้นย่อมเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ  และบุคคลดังกล่าวมิอาจดำรงตำแหน่งเกินกว่าที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งภายใต้เงื่อนไขตามกำหนดระยะเวลาในมาตรา 158 ที่มิให้ดำรงตำแหน่งรวมกันเกินกว่า 8 ปีได้” นายสุทินระบุ

นอกจากนี้ ประกอบกับบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 ได้บัญญัติ ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นําความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม อันเป็นการบัญญัติในลักษณะให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นนายกฯ และรัฐมนตรีต่อเนื่องตลอดไม่ขาดช่วง

“กรณีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่มีข้อยกเว้นในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายใดที่จะมิให้นับระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นเมื่อนับถึงวันที่ 23 ส.ค.65 พล.อ.ประยุทธ์จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้ว เมื่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างชัดเจน จึงมิอาจอ้างเหตุใดเพื่อใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยไปในทางอื่นได้ แต่หากองค์กรใด บุคคลใด จะตีความหรือวินิจฉัยไปในทางที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ย่อมเป็นผู้ทำลายหลักความสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และล่วงละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์” รองหัวหน้าพรรค พท.ระบุ

ส่วนนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรค พท. กล่าวว่า ศาลรธน.ได้เรียกประชุมนัดพิเศษในวันที่ 8 ก.ย. สถานการณ์ขณะนี้เชื่อว่าประชาชนจับตาและเตรียมการรับมือกรณีศาล รธน.มีคำวินิจฉัยออกมา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องกดดันศาล และไม่มีใครปรารถนาเช่นนั้น 

 “น่าแปลกใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ชื่นชมสปิริตของนายนิพนธ์ บุญญามณี แต่อาจไม่ทันคิดว่ามีคนรอให้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงสปิริตลาออกด้วยเหมือนกัน”นายอนุสรณ์กล่าว

บิ๊กป้อมฟิตไม่หยุดถก ครม.

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจหากศาลวินิจฉัยให้พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ ประชาชนทั้งประเทศจะอยากให้อยู่ต่อด้วยหรือไม่ และพล.อ.ประยุทธ์เชื่อมั่นหรือไม่ว่าจะเข้าไปทำงานในทำเนียบรัฐบาลได้ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีพื้นที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์เข้าไปทำงานได้แน่นอน เพราะคงไม่สามารถข้ามบังเกอร์กับรั้วลวดหนามไปได้ บรรยากาศคงคล้ายสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ

“อยากฝากบอกไปถึงลูกหาบของพล.อ.ประยุทธ์และคนรอบข้างว่าให้ปลง และหาที่เกาะใหม่ได้แล้ว นายกฯ คนใหม่เป็นใครก็ไปขอสมัครงานกับคนนั้น จะไปสมัครกับ พล.อ.ประวิตรในฐานะรักษาการนายกฯ ก็ได้” นายมงคลกิตติ์กล่าว

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นครั้งที่ 2 ในเวลา 09.00 น. หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วครามตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรีที่ไม่ได้เข้าร่วมเนื่องจากติดภารกิจต่างประเทศคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีที่ลาออกจากตำแหน่งคือ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต รมช.มหาดไทย และรัฐมนตรีที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ คือนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากกระทรวงกลาโหม

พล.อ.ประวิตรเดินทางถึงทำเนียบรัฐบาลเวลา 08.50 น. มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ให้การต้อนรับ โดย พล.อ.ประวิตรยิ้มแย้มและรับไหว้สื่อมวลชน ก่อนเดินไปเข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ก่อนการประชุม ครม. ต่อจากนั้นพล.อ.ประวิตรได้เข้าไปยังห้องรับรองสีเหลือง เพื่อพูดคุยกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และเข้าร่วมประชุม ครม.

มีรายงานว่า บรรยากาศในการประชุมครม.ครั้งนี้ พล.อ.ประวิตรทำหน้าที่ประธานการประชุมอย่างตั้งใจ โดยพยายามสอบถามในทุกประเด็น โดยพล.อ.ประวิตรประชุมรวดเดียวจบไม่มีพักเหมือนครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ครม. ซึ่งจะมีการพักประชุมหลังจากวาระพิจารณาประมาณ 30 นาที โดยเป็นแบบนี้มา 2 สัปดาห์แล้ว  นอกจากนี้ ในช่วงท้ายในห้องประชุม ครม. ได้มีการเปิดเพลง “ใจบันดาลแรง...แรงบันดาลใจ” ของเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร ที่ตอบคำถามกรณีที่มีท่าทางกระฉับกระเฉงในการทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีว่า “ใช้ใจบันดาลแรง ไม่ใช่แรงบันดาลใจ” 

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าก่อนการประชุม ครม. พล.อ.ประวิตรปรารภกับคนใกล้ชิด กรณีที่มีการเผยแพร่ภาพนิ่งที่ พล.อ.ประวิตร ขณะปฏิบัติราชการที่ จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2565 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านั่งหลับในที่ประชุมนั้น ซึ่ง พล.อ.ประวิตรได้เปิดคลิปวิดีโอเพื่อยืนยันว่าลงพื้นที่ไปทำงานจริง และไม่ได้มีการนั่งหลับตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งัดกม.กดดันนายกฯ พปชร.อ้างข้อบังคับพรรค ทวงใบกรอกประวัติ‘ป๊อด’

"อุ๊งอิ๊ง" ยังเล่นบทเตมีย์ใบ้ "หมอมิ้ง" ขึงขังไม่ขีดเส้นตายรายชื่อ รมต. แต่ถ้าไม่ส่งก็ถือว่าไม่ส่ง พลิ้วไม่รู้หนังสือ