รัฐบาลย้ำ ปชช.จำเป็นต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้นแม้สถานการณ์โควิด-19 โดยรวมดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 เพื่อลดโอกาสป่วยหนักเสียชีวิต สธ.เผยผู้ที่เคยได้รับวัคซีนฝีดาษเมื่อ 40 ปีที่แล้วไม่สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ ไทยสั่งซื้่อวัคซีนฝีดาษลิง 1 พันโดสใช้กับกลุ่มเสี่ยงมากๆ ยังไม่จำเป็นต้องใช้วงกว้าง ย้ำติดเชื้อไม่เร็ว อาการไม่รุนแรง เสียชีวิตต่ำ
เมื่อวันจันทร์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รักษาตัวในโรงพยาบาล 1,360 ราย ประกอบด้วยผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,360 ราย เสียชีวิต 22 ราย เพศชาย 11 ราย เพศหญิง 11 ราย สัญชาติไทย 21 ราย และเมียนมา 1 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 4,659,902 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 2,106 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 32,422 ราย
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศไทยจะทรงตัวและปรับตัวลดลง ขณะที่รัฐบาลทยอยประกาศผ่อนคลายมาตรการให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตเกือบเป็นปกติ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนต้องเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 ที่มีความเสี่ยงสูง ที่นอกจากรับวัคซีนครบตามเกณฑ์แล้ว จะต้องเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 ด้วย
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุถึงความจำเป็นที่ประชาชนต้องเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เนื่องจากไวรัสโควิด-19 ยังคงมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เช่นกรณีของสายพันธุ์โอมิครอน ที่ขณะนี้มีการจับตาสายพันธุ์ BA.2.75 ซึ่งมีการพบครั้งแรกในอินเดีย และขณะนี้ได้กระจายไปในหลายประเทศและคาดการณ์ว่าอาจมาแทนที่สายพันธุ์ BA.5 เนื่องจากการดื้อต่อภูมิต้านทานและแพร่ระบาดรวดเร็วทั้งในผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อนและผู้ไม่เคยติดเชื้อ จึงขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อที่ยังมีการกลายพันธุ์ต่อเนื่อง หรือหากติดเชื้อไวรัสก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ลดอัตราการนอนโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตได้ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อบริการประชาชนอย่างเพียงพอ โดยมีแผนบริหารการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นในเดือน ก.ย.65
ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวเรื่องภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่า กรมวิทย์ได้ทำการทดสอบภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษลิงในคนที่เคยได้รับวัคซีนฝีดาษมานานกว่า 40 ปี โดยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานสากล ด้วยการนำน้ำเลือดมาเจือจางลงเป็นเท่าๆ จนกระทั่งถึงจุดที่ฆ่าเชื้อได้ครึ่งหนึ่ง เรียกว่า PRNT 50% ผลออกมาเป็นไตเตอร์ โดยค่าที่จะจัดว่าสามารถลบล้างหรือป้องกันการติดเชื้อได้ ค่าไตเตอร์ต้องเท่ากับหรือมากกว่า 32 หากต่ำกว่านี้จะไม่สามารถจัดการเชื้อได้ ที่ผ่านมาได้หาอาสาสมัครมาดำเนินการแบ่งตามกลุ่มอายุ 3 กลุ่ม รวม 30 คน โดยแต่ละกลุ่มมี 10 คน
ในการศึกษาตรวจภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ทั้งสายพันธุ์ย่อย B.1 และ A.2 ผลพบว่ากลุ่มอายุ 45-54 ปี อาสาสมัครทั้งหมดมีค่าไตเตอร์ต่ำกว่า 32 ทั้งหมด ถือว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่สามารถป้องกันเชื้อได้ทั้งสายพันธุ์ย่อย B.1 และ A.2 กลุ่มอายุ 55-64 ปี อาสาสมัครทุกรายมีค่าไตเตอร์ต่ำกว่า 32 ทั้งหมด ถือว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่สามารถป้องกันเชื้อได้ทั้งสายพันธุ์ย่อย B.1 ส่วนสายพันธุ์ A.2 มี 2 รายที่มีค่าไตเตอร์เกิน 32 คือมีค่าไตเตอร์ 35 และ 39 และอายุ 65-74 ปี อาสาสมัครทั้งหมดมีค่าไตเตอร์ต่ำกว่า 32 ทั้งหมด ถือว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่สามารถป้องกันเชื้อได้ทั้งสายพันธุ์ย่อย B.1 และ A.2
นอกจากนี้ ได้ทำการตรวจระดับภูมิคุ้มกันในคนที่ติดฝีดาษลิงด้วย และกลุ่มคนที่ไม่ได้รับวัคซีน พบว่าไม่มีภูมิคุ้มกันในการป้องกันเชื้อทั้งต่อสายพันธุ์ย่อย B.1 และ A.2
นพ.ศุภกิจกล่าวเพิ่มเติมว่า การนำวัคซีนมาใช้นั้นมีผลทั้งการป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค เพราะฉะนั้นกรณีวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงที่ประเทศไทยสั่งซื้อมา 1,000 โดส จะใช้ใน 2 กลุ่มเสี่ยงมากๆ คือ 1.เจ้าหน้าที่ห้องแล็บ และ 2.บางอาชีพที่เสี่ยง หรือคนทั่วไปที่มีประวัติเสี่ยง ไปสัมผัสโรคก็อาจฉีดให้เพื่อลดความรุนแรง แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องนำมาฉีดทั่วไป เนื่องจากการติดเชื้อไม่ได้เร็ว ติดจากการสัมผัสใกล้ชิดแบบนัวเนียทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นโอกาสแพร่ในวงกว้างจึงยังไม่มี และสายพันธุ์ย่อย A.2 ที่ระบาดตอนนี้ ผู้ป่วยอาการไม่ค่อยรุนแรง และอัตราการเสียชีวิตไม่รุนแรง จากที่มีผู้ป่วยกว่า 50,000 ราย มีเสียชีวิต 15 ราย ต่ำกว่าโควิด-19 มาก ซึ่งทั่วโลกก็ระบุว่ายังไม่คุ้มค่าที่จะนำมาฉีดให้ทุกคน ส่วนการป้องกันการติดเชื้อยังสามารถใช้มาตรการแบบที่ป้องกันการติดโควิด-19 ได้ รวมถึงไม่ไปสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยหรือสัมผัสตุ่มแผลของผู้ป่วย
"สรุปคือคนไทยส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนฝีดาษมานานกว่า 40 ปี จำนวน 28 ราย ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสฝีดาษลิงทั้ง 2 สายพันธุ์ย่อย แต่มี 2 รายพบมีระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันได้" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันวัคซีนฝีดาษลิงโดยตรงยังไม่มีใครทำ แต่วัคซีนที่นำมาใช้คือวัคซีนฝีดาษคน แต่ฉีดแล้วกันฝีดาษวานรได้ เพราะเป็นตระกูลใกล้เคียงกัน ได้ผลประมาณ 85% ซึ่งถือว่าเพียงพอ และวัคซีนปลูกฝีก็ไม่มีแล้วเพราะมีความเสี่ยงพอสมควร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกายี้กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
จับตา ครม.ถกร่าง กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 13 ม.ค.นี้
กสม.ตบปากทักษิณ ซัดปราศรัยเหยียดเชื้อชาติ/‘พท.’ชง‘ลูกอิ๊งค์’คุยพ่อลดดีกรี
"ประธาน กกต." ลั่นพร้อมดูแลเลือกตั้งนายก อบจ. 1 ก.พ.แล้ว
ชทพ.ย้ำห้ามแตะสถาบัน สว.ค้านหั่นเสียง‘สภาสูง’
ชาติไทยพัฒนายันแก้รัฐธรรมนูญห้ามแตะต้องหมวด 1 และ 2 เด็ดขาด “สว.” ย้ำไม่เอาแน่หากเสนอตัดเสียงสภาสูงออก
นายกฯสั่งดูแล คนไทยในสหรัฐ เหตุไฟป่า‘L.A.’
“แพทองธาร” บอกเช็กแล้วไม่มีคนไทยในสหรัฐบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากไฟป่า
คึกคักจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
หลายจังหวัดคึกคัก จัดงานวันเด็กแห่งชาติ เหล่าทัพจัดเต็มแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์
‘ภรรยาลิม’โอด ช่วงสามีถูกยิง! ไร้‘ผู้ช่วยเหลือ’
ผกก.สน.ชนะสงครามยันออกหมายจับมือยิง “ลิม กิมยา” แค่ 2 คน “เมียอดีต สส.ฝ่ายค้าน”