โหมช่วยคนจน บัตรสวัสดิการเปิดลงทะเบียน

.vce-row-container .vcv-lozad {display: none}

โฆษกรัฐบาลเผย เปิดลงทะเบียนรอบใหม่ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เริ่ม 5 ก.ย.-19 ต.ค. ลุยเดินหน้าช่วยผู้มีรายได้น้อย-กลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง กรุงเทพโพลสำรวจ “คนละครึ่งเฟส 5" ประชาชนส่วนใหญ่เอาไปซื้อ ของแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ตุนไว้กิน

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเปิดลงทะเบียนโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565  ตั้งแต่ 5 กันยายน - 19 ตุลาคม 2565 ผ่าน 7 หน่วยงานรับลงทะเบียน ได้แก่ สาขาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, สำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ, ที่ว่าการอำเภอทั้ง 878 อำเภอทั่วประเทศ, สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต และศาลาว่าการเมืองพัทยา หรือลงทะเบียนผ่าน https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ  https://welfare.mof.go.th โดยผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่แล้ว รวมทั้งผู้ที่ไม่เคยมีบัตรจะต้องลงทะเบียนใหม่ทุกคน  ซึ่งกระทรวงการคลังจะประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนบัตรคนจนรอบใหม่ 2565 ภายในเดือนมกราคม 2566 ผ่านทั้ง 2 เว็บไซต์ดังกล่าวด้วย

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า แนวปฏิบัติสำหรับผู้ที่ต้องการจะลงทะเบียน มีดังนี้ 1.การลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th ดำเนินการได้ดังนี้ กรณีคนโสด กรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มในเว็บไซต์ เมื่อลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้ลงทะเบียนสามารถเข้ามาตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์อีกครั้ง โดยกดปุ่ม “ตรวจสอบสถานะการลงทะเบียน” ซึ่งจะทราบผลการลงทะเบียนในวันศุกร์ของสัปดาห์ถัดไป โดยเริ่มประกาศผลการลงทะเบียนวันที่ 16 กันยายน 2565 เป็นต้นไป กรณีผู้ที่มีครอบครัว สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ได้เช่นเดียวกัน และจะต้องพิมพ์แบบฟอร์มลงทะเบียนที่มีข้อมูลครบถ้วนแล้ว พร้อมทั้งลงลายมือชื่อในเอกสารให้ครบถ้วนทั้งผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัว เพื่อนำไปยื่น ณ หน่วยงานรับลงทะเบียน ซึ่งจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ลงทะเบียน รวมถึงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและบุตรพร้อมลงลายมือชื่อ ในกรณีที่คู่สมรสและบุตรไม่ได้เดินทางมาแสดงตัวที่หน่วยงานรับลงทะเบียน

นายอนุชากล่าวว่า 2.กรณีที่ผู้ลงทะเบียนสะดวกลงทะเบียนผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน ผู้ลงทะเบียนจะต้องกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียนให้ครบถ้วน  พร้อมทั้งลงลายมือชื่อในเอกสารให้ครบถ้วนทั้งผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัว เพื่อนำไปยื่น ณ หน่วยงานรับลงทะเบียน พร้อมบัตรประชาชนตัวจริงของผู้ลงทะเบียน รวมถึงสำเนาบัตรประชาชนของคู่สมรสและบุตร พร้อมลงลายมือชื่อในกรณีที่คู่สมรสและบุตรไม่ได้เดินทางมา และ 3.กรณีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาลงทะเบียนแทนได้ ทั้งนี้ แบบฟอร์มการลงทะเบียนและหนังสือมอบอำนาจสามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของโครงการ

เขาเผยว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อลดภาระค่าของชีพประชาชนผู้มีรายได้น้อย เช่น  ค่าซื้อสินค้า 200-300 บาท, ค่าเดินทางรถโดยสารสาธารณะ  500 บาท, ส่วนลดแก๊สหุงต้ม 45 บาท (ต่อรอบ 3 เดือน)  กรณีกลุ่มเปราะบางจะได้ส่วนลด 100 บาท (ต่อรอบ 3  เดือน), เงินช่วยค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 315 บาทต่อครอบครัว  (ตามที่จ่ายจริง), เงินช่วยค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาทต่อครอบครัว (ตามที่จ่ายจริง), เงินพิเศษผู้พิการ 200 บาท, ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า หาบเร่แผงลอย  ร้านค้าขนาดเล็ก จะได้ส่วนลดก๊าซหุงต้มพีที (ปตท.) 100  บาท ที่ร้านจำหน่ายที่ร่วมรายการ, เงินพิเศษผู้สูงอายุ 50 ถึง 100 บาท ขึ้นอยู่กับเกณฑ์รายได้

นายอนุชายังกล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรี 26 กรกฎาคม  2565 อนุมัติโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มี "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" หรือ "บัตรคนจน" วงเงิน 5,336.8304 ล้านบาท  เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ในภาวะเศรษฐกิจที่ราคาสินค้าและค่าครองชีพยังคงปรับสูงขึ้นนี้ โดยเป็นการกำหนดมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนตามกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด

กรุงเทพโพลโดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “คนละครึ่งเฟส 5 กับความเป็นอยู่คนไทยในวันนี้” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,187 คน พบว่า

ปัจจุบันประชาชนร้อยละ 41.7 มีสถานะทางการเงินพอดีกับค่าใช้จ่าย ไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม (ลดลงจากผลสำรวจเดือน ก.พ. 65 ร้อยละ 1.4) ขณะที่ร้อยละ 39.4 มีสถานะทางการเงินไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4) ส่วนร้อยละ 18.9 มีสถานะทางการเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บออม (เพิ่มขึ้นร้อยละ  1.0)

เมื่อถามว่า ได้ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งเฟส 5  หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.5 ได้ลงทะเบียน ขณะที่ร้อยละ  40.5 ไม่ได้ลงทะเบียน

ทั้งนี้ เมื่อถามผู้ลงทะเบียนว่าจะใช้เงินโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ไปกับการใช้จ่ายในเรื่องใด พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ  59.2 จะนำไปซื้อของแห้งมาตุนไว้ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  ปลากระป๋อง รองลงมาร้อยละ 50.9 จะนำไปซื้ออาหารสด  ของสดมาทำกินเองที่บ้าน และร้อยละ 49.2 จะนำไปซื้อของใช้ต่างๆ

เมื่อถามว่า โครงการคนละครึ่งเฟส 5 จะช่วยลดภาระค่าครองชีพ การใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวันได้มากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 69.5 เห็นว่าช่วยได้ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 30.5 เห็นว่าช่วยได้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

โครงการที่อยากขอแก่รัฐบาลให้มีต่อไป เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 60.3 อยากขอให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 6 รองลงมาคือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  คิดเป็นร้อยละ 35.9 และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน คิดเป็นร้อยละ 11.6.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง