ชาวบ้านเครียดปัญหาศก. แนะ‘ธปท.’ชะลอขยับดบ.

ซูเปอร์โพลเผยคนไทยส่วนใหญ่ 80% กังวลปัญหาเงินขาดมือ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ซ้ำร้าย 43% รับห่วงอนาคต "นักวิชาการ" ชี้ปรับค่าแรงไร้ความหมาย เพราะเฉลี่ยต่ำกว่าเงินเฟ้อ แนะแบงก์ชาติอย่าเพิ่งขยับดอกเบี้ย

เมื่อวันอาทิตย์ ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้เผยผลสำรวจเรื่อง ข้อกังวลของประชาชน  กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,145 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 80.1% ระบุเงินขาดมือ ชักหน้าไม่ถึงหลัง เศรษฐกิจย่ำแย่ ปัญหาหนี้สิน รองลงมา 75.8% ระบุความไม่ปลอดภัยทั้งในโลกออนไลน์ นอกโลกออนไลน์ โจรเต็มบ้าน อันธพาลเต็มเมือง ไม่เกรงกลัวกฎหมาย, 75.2% ระบุยาเสพติด, 71.9% ระบุความไม่ปลอดภัยทางถนน อุบัติเหตุ และ 63.7% ระบุภัยพิบัติธรรมชาติ น้ำท่วม ดินโคลน ถล่ม

ที่น่าพิจารณาคือ แนวทางแก้ไขลดปัญหาข้อกังวลของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 94.5% ระบุขอคนดี คนเก่ง คนกล้า มีอำนาจปกครองบ้านเมือง รองลงมา 82.3% ระบุปฏิรูประบบราชการ การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ, 80.6% ระบุแก้ไขที่ตัวเอง, 78.4% ระบุบังคับใช้กฎหมายจริงจังต่อเนื่อง และ 72.4% ระบุ ใช้หลักปรัชญาชีวิตพอเพียง อย่างไรก็ตาม 56.9% ยังมีความหวังที่จะก้าวเดินต่อไป แต่จำนวนมากหรือ 43.1% ระบุ กลัวอนาคต

ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าประชาชนมีข้อกังวลใจเรื่องเงินในกระเป๋าขาดมือ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ปัญหาหนี้สินเพิ่มพูน และยังถูกซ้ำเติมด้วยความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทั้งในและนอกโลกออนไลน์ หรือโลกไซเบอร์ ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มคนจำนวนมากเกิดความกลัวต่ออนาคต ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ดีต่อการขับเคลื่อนประเทศ

ด้าน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ  ประธานกรรมการบริษัท บีบีจีไอ ไบโอเอทานอล จำกัด และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำต่ำกว่าเงินเฟ้อของคณะกรรมการไตรภาคีนั้น ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น เพราะการปรับขึ้นสูงสุด 354 บาท ต่ำสุด 328 บาท หรือคิดเป็นอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท เป็นการปรับเพิ่มขึ้นเพียง 5.02% แต่เงินเฟ้อในเดือน ก.ค.ยังทรงตัวในระดับสูง เพิ่มขึ้น 7.61% แม้ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยปัจจัยมาจากราคาพลังงานและอาหารอยู่ในระดับสูง คาดการณ์ว่าแรงกดดันเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มอีกในระยะต่อไป จากราคาน้ำมันที่อาจกลับมาทะลุระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

"การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 5% ถือว่าไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ และจะกลับมาซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กลับไปทะลุระดับ 90% ต่อจีดีพีอีกครั้งหนึ่ง จะทำให้ครอบครัวรายได้น้อยต้องก่อหนี้เพิ่ม การก่อหนี้เพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพในภาวะค่าครองชีพแพงเช่นนี้จะถูกซ้ำเติมโดยดอกเบี้ยขาขึ้น ธปท.จึงไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด ขอให้ดูการตัดสินใจของธนาคารกลางจีนและธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อมากเกินไป" รศ.ดร.อนุสรณ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง