แห่ร่วม‘คนละครึ่ง’เพียบ! หนี้ครัวเรือนพุ่ง15ล้านล.

รัฐบาลปลื้มผู้ประกอบการแห่ร่วม “คนละครึ่งเฟส 5” ทะลุ 3.7 แสนราย ประชาชนยืนยันสิทธิแล้ว 17.5 ล้านราย มั่นใจเศรษฐกิจโตได้ถึง 3.5% ม.หอการค้าไทยคาดสิ้นปีหนี้ครัวเรือนไทยแตะ 15 ล้านล้านบาท พุ่งสูงสุดรอบ 16 ปี ชี้ยังไม่น่ากังวล เหตุเพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพ ไม่ใช่ก่อหนี้ฟุ่มเฟือย แนะรัฐกระตุ้นผ่านการลงทุนสร้างรายได้ชุมชน

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง  ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการและประชาชนยังให้ความสนใจเข้าโครงการคนละครึ่ง โดยภาพรวมการลงทะเบียนมีผู้ประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 371,354 ราย เป็นผู้ประกอบการใหม่จำนวน 5,629 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด (24 ส.ค.65 เวลา 14.00 น.) ขณะที่ผู้เคยใช้สิทธิโครงการ ระยะที่ 4 (ประชาชนรายเดิมฯ) กดยืนยันสิทธิเข้าร่วมโครงการระยะที่ 5 ถึงวันนี้ (25 ส.ค. 65 เวลา 14.00 น.) จำนวน 17.48 ล้านราย จากจำนวนทั้งสิ้น 26.27 ล้านราย ส่วนประชาชนรายใหม่ที่ไม่เคยใช้สิทธิโครงการระยะที่ 4 (ประชาชนรายใหม่) ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการครบจำนวน 2.3 แสนรายแล้วตั้งแต่วันแรกที่เปิดลงทะเบียน ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิสามารถเริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 1 ก.ย. ถึงวันจันทร์ที่ 31 ต.ค.นี้

นายอนุชายังกล่าวเชิญชวนผู้ประกอบการร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการระยะที่ 5 สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง หรือจนกว่ากระทรวงการคลังจะปิดรับสมัคร ซึ่งภายใต้โครงการระยะที่ 5 รัฐจะสนับสนุนวงเงินค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป บริการนวด สปา ทำผม ทำเล็บ และบริการขนส่งสาธารณะ ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ บัตรกำนัล บัตรเงินสด และบริการรูปแบบอื่นๆ ที่เป็นการชำระค่าสินค้าหรือบริการล่วงหน้า และสินค้าหรือบริการที่กระทรวงการคลังกำหนด ในอัตราร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 800 บาทต่อคน คาดว่าตลอดโครงการจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 42,400 ล้านบาท จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 0.12 ถือเป็นการส่งต่อเม็ดเงินผ่านพี่น้องประชาชนไปยังผู้ประกอบการรายย่อยโดยตรง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเดินหน้าต่อเนื่อง

ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความมั่นใจเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังไปได้ดี มีโอกาสที่จะขยายตัวสูงสุดได้ถึง 3.5% เครื่องมือทางเศรษฐกิจทำงานเต็มที่ มีการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นตัวชูโรง ขณะที่การจัดเก็บรายได้ 10 เดือน ปีงบประมาณ 2565 กว่า 2.03 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท หรือ 5.5% โดยกรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ 1.67 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2.06 แสนล้านบาท หรือ 14.1% กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ 4.28 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6.89 หมื่นล้านบาท หรือ 13.9% เนื่องจากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และกรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ 8.99 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6.38 พันล้านบาท หรือ 7.6%

สำหรับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัว นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ระบุว่า การท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นเครื่องยนต์สำคัญ โดยช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมกว่า 4 ล้านคนแล้ว คาดสิ้นปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยว 8-10 ล้านคน ส่วนการส่งออก ในปี 2564 ขยายตัวได้กว่า 20% ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวอยู่ที่ 12% ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดี  มากไปกว่านั้น การบริโภคภาคเอกชน ช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวกว่า 2.5% คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้กว่า 3.5% ภาวะเงินเฟ้อคาดว่าจะเริ่มลดลงในช่วงปลายปี ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการมาดูแลผ่านโครงการทั้งคนละครึ่งและการลดค่าครองชีพ ส่วนการลงทุนภาครัฐ ได้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโตได้อีก ทั้งนี้ ช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-ก.ค.65) อยู่ที่ 2.67 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.14% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ 3.1 ล้านล้านบาท

 “แม้ประชาชนอาจจะมีการตั้งคำถามความเชื่อมโยงสถานการณ์การเมืองกับเศรษฐกิจในช่วงนี้ แต่หากวิเคราะห์เป็นรายปัจจัย จะเห็นว่าแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีเป้าหมายและแผนการทำงานชัดเจนอยู่แล้ว อย่างงบประมาณแผ่นดินปี 66 ก็ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อย และจะเร่งเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภาต่อไป เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เดินหน้าตามเป้าหมาย ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนการทำงานที่และดำเนินการอยู่อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ การคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ภาคเอกชนเองก็มองว่ามีโอกาสไปได้ถึง 3.5% เช่นกัน” รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ

วันเดียวกัน นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 65 ว่า ข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 1/65 พบว่าสถาบันรับฝากเงินและสถาบันการเงินอื่น มียอดเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) รวมทั้งสิ้น 14.64 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีแล้ว จะพบว่าไตรมาส 1/65 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 89.2% ต่อจีดีพี ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 4/64 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 90.0% ต่อจีดีพี

อย่างไรก็ดี หนี้ครัวเรือนไทยเคยขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 90.9% ต่อจีดีพี ในช่วงไตรมาส 1/64 จากผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยหนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 80% ต่อจีดีพี นับตั้งแต่ไตรมาส 1/63 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาดโควิด-19 และมีการล็อกดาวน์ รวมถึงการปิดกิจการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ อันส่งผลทำให้จีดีพีของประเทศหดตัว และเติบโตอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะสามารถปรับลดลงจากระดับ 89-90% ในปัจจุบัน ลงมาอยู่ที่ระดับ 80% ได้ภายใน 5 ปี หากเศรษฐกิจไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้าสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 6.2% ต่อปี

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่าหนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นปี 65 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 89.3% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือน 14.97 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ที่ ม.หอการค้าไทยได้เคยทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 50 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในระดับ 80-90% ต่อจีดีพี ในทางเศรษฐศาสตร์ยังไม่น่ากังวล เพราะเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบคิดเป็นสัดส่วนถึง 79% ส่วนหนี้นอกระบบอยู่ที่ 21% ซึ่งชี้ว่าสินเชื่อในระบบยังสามารถทำงานได้ดี โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีทรัพย์สินค้ำประกัน เช่น บ้าน รถยนต์ ไม่ใช่การก่อหนี้จากการฟุ่มเฟือย แต่เป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากภาวะค่าครองชีพสูง และอีกส่วนหนึ่งคือรายได้เพิ่มไม่ทันกับรายจ่าย อย่างไรก็ดี มูลค่าหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจจะเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่โดดเด่นนัก

นายธนวรรธน์กล่าวว่า การที่จะให้หนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ในระดับ 80% ต่อจีดีพีเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิดนั้น จะต้องทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสูง ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำนับจากนี้ คือสนับสนุนการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและต่างจังหวัด เพื่อให้ในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปี 66 จะดีขึ้น จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเริ่มคลี่คลายลงได้บ้าง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา

"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"

ใต้อ่วม! ทางรถไฟ-ถนนขาด

ฝนตกหนักน้ำท่วม เส้นทางลงใต้อัมพาต ทางขาดทั้งรถไฟและถนนสายเอเชีย รถไฟไปต่อไม่ได้ ติดค้างที่ชุมพรเพียบ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ส่วนที่นครศรีฯ น้ำทะเลจ่อหนุนซ้ำเติม

เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ผสมนํ้ายาดองศพ

เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า พบน้ำยาดองศพ สารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ เสี่ยงเกิดมะเร็ง แนะผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน ย้ำเตือนเด็กและเยาวชนอย่าหลงเชื่อค่านิยมผิดๆ

บึ้มงานกาชาด สอบเกียร์ว่าง! ตำรวจอุ้มผาง

"ผบ.ตร." สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุ 2 คนร้ายปาระเบิดกลางเวทีรำวงงานกาชาดอุ้มผาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บ 48 คน "อุ๊งอิ๊ง"