สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ศาลรับคำร้องปม8ปีนายกฯ‘ป้อม’รักษาการ‘บิ๊กตู่’เข้ากห.

ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์รับคำร้อง “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯ 8 ปี เสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 24 ส.ค.65 คาดเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย ก.ย.นี้ “ประยุทธ์”วอนเคารพผลพิจารณาศาล หวัง ปชช.เชื่อมั่นกฎหมาย หลักนิติธรรมบ้านเมือง ยันทำหน้าที่ “รมว.กลาโหม” ต่อ สั่งทีมกม.ศาลภายใน 15 วัน “วิษณุ” ชี้ “บิ๊กป้อม” รักษาการแทนนายกฯ มีอำนาจเต็ม ระบุยุบสภาทำได้แต่ไม่ง่าย “อัยการธนกฤต” แนะเร่งปรับปรุงมติ ครม.มอบอำนาจใหม่ “ประวิตร” หวั่นติดขัดบริหารราชการ แต่งตั้งโยกย้าย

เมื่อวันที่ 24 ส.ค.65 เวลา 10.00 น.  คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุมพิจารณาคดีต่างๆ ตามกำหนดการที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้บรรจุระเบียบวาระไว้ รวมทั้งพิจารณาคำร้องกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสองและมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ รวมทั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งนายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำสั่ง เนื่องจากเห็นว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดิน

ฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักงานศาลรธน. แจ้งสื่อว่า วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการแถลงข่าวหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม การแถลงข่าวครั้งนี้เป็นการนัดแถลงข่าวผลการประชุมครั้งแรก หลังไม่มีการแถลงมาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการแจกเอกสารข่าวแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณโดยรอบสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทุ่งสองห้องได้จัดกำลังเฝ้าตามทุกประตูทางเข้า-ออกอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A ) ร่วมกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ปฏิบัติหน้าที่ปกติ มีการนำแผงเหล็กมากั้นเพื่อแสดงเขตโดยรอบของสำนักงานศาล ไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าในบริเวณดังกล่าว

ต่อมาเวลา 13.00 น. ฝ่ายประชาสัมพันธ์สำนักงานศาล รธน. แจ้งยกเลิกการแถลงข่าว เปลี่ยนเป็นการแจกเอกสารข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเอกสารข่าวดังกล่าวตอนหนึ่งเป็นกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (9) จึงมีมติเอกฉันท์รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ

สำหรับคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัตินายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้องจึงมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่  24 ส.ค.2565 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

มีรายงานแจ้งว่า สำหรับกระบวนการพิจารณาของศาล รธน. น่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนมติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ นั้น แบ่งเป็นเสียงข้างมาก 5 ราย เห็นชอบให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ,  นายจิรนิติ หะวานนท์, นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายนภดล เทพพิทักษ์ ส่วนฝ่ายเสียงข้างน้อย 4 เสียง ที่เห็นว่าไม่ควรให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

ด้านความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่ได้เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเหมือนปกติ โดยได้ประชุมและสั่งการงานต่างๆ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากบ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) ตั้งแต่ช่วงเช้า โดยเวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ด้วยสีหน้าปกติ

จากนั้นภายหลังทราบผลของศาลรัฐธรรมนูญ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์เคารพผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ โดยจะหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รมว.กลาโหมต่อไปตามปกติ โดยในระหว่างนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทน และปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมิได้มีผลกระทบอย่างใดต่อการบริหารประเทศ และการปฏิบัติงานของข้าราชการ หรือการดำเนินนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล 

 “พล.อ.ประยุทธ์ขอให้ประชาชนเคารพในผลการพิจารณาของศาล และหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของศาล ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้เชื่อมั่นในกฎหมายและหลักนิติธรรมของบ้านเมือง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม และช่วยให้ประเทศชาติสงบสุข” นายอนุชากล่าว

ทั้งนี้ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 237/2563 เรื่องมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีตามลำดับ ดังนี้ 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 2.นายวิษณุ เครืองาม 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 5.นายดอน ปรมัตถ์วินัย 6.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นอกจากนี้ ในคำสั่งยังระบุว่า ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญ จะส่งเรื่องให้ผู้ถูกร้องหรือคือนายกรัฐมนตรีให้การหรือชี้แจงภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้ (24 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องทำคำชี้แจงไป ซึ่งได้ยินว่าทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำคำชี้แจงไว้แล้ว ส่วนจะยื่นอย่างไร และเมื่อใดตนไม่ทราบ ระหว่างนี้รองนายกรัฐมนตรีตามลำดับที่เรียงเอาไว้คือ พล.อ.ประวิตร จะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน หรือที่เรียกว่ารักษาการแทน

“เรื่องนี้ได้ชี้แจงในที่ประชุม ครม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้ ครม.ทุกคนได้รับทราบ และ ครม.จะอยู่เป็นครม.ตามปกติ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้พ้นเพียงแต่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีตเหมือนนายกฯ ลาไปเมืองนอก หรือป่วย ก็จะถือว่าหยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็น รมว.กลาโหมอยู่อีกตำแหน่งหนึ่ง และเมื่อนับจำนวน ครม.แล้ว ก็ยังไม่เกิน 36 คน พล.อ.ประยุทธ์จึงยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ รมว.กลาโหมได้” นายวิษณุกล่าว

บิ๊กป้อมรักษาการแทน

ถามว่า พล.อ.ประวิตรจะเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการโดยอัตโนมัติใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ เพราะได้จัดลำดับเรียงไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ที่จริงจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นก็ได้ หาก ครม.จะเปลี่ยน แต่ในขณะนี้ยังมองไม่เห็นว่าจะเปลี่ยนทำไม และมีอำนาจเหมือนกับนายกรัฐมนตรีทุกอย่าง

ซักว่า นายกฯ รักษาการมีอำนาจในการยุบสภาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทำได้ แต่จะไปทำทำไม ทำได้เหมือนนายกรัฐมนตรีทุกอย่าง

ถามว่าจะเข้าไปให้คำปรึกษาและคำแนะนำต่อการร่างคำชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญของ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ตนได้ยินว่าทีมกฎหมายของนายกฯ ได้เตรียมการไว้ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม เอกสารหลักฐานที่จะต้องชี้แจงฝ่ายกฎหมายของนายกฯ ได้เตรียมไว้หมดแล้ว แต่อาจจะต้องนับมาปรับปรุงเพราะบัดนี้ เรารู้แล้วว่าให้ผู้ถูกร้องชี้แจงภายใน 15 วัน

 ถามด้วยว่า พล.อ.ประวิตรมีสิทธิ์ปฏิเสธเป็นรักษาการนายกฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ได้ หากป่วย และไม่รับ ก็เป็นธรรมดา จึงต้องมีการเรียงลำดับรองนายกฯ ไว้ 6 คน เพราะคนนั้นหรือคนนี้อาจมีปัญหา ลองคิดดูหากท่านหกล้ม คนอื่นก็ต้องมาเป็นแทน ส่วนตนไม่พร้อม ตนหนักกว่า พล.อ.ประวิตรอีก หากรองนายกฯ ทั้ง 6 คนไม่สามารถทำหน้าที่รักษาการนายกฯ แทนได้ ครม.จะเลือกรัฐมนตรีคนหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่แทน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ ทั้งนี้ หากรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 คนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ยังมีรัฐมนตรีคนอื่นที่ทำหน้าที่แทน รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม ก็ยังมีสิทธิ์รับหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีได้ด้วย

ซักว่า การแต่งตั้งโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพ พล.อ.ประวิตรสามารถรื้อโผเดิมได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อย่าใช้คำว่ารื้อ แต่ให้ใช้คำว่าสามารถทำได้ ซึ่งเรื่องการแต่งตั้งทหารต้องผ่าน 7 คน ประกอบด้วย รมว.กลาโหม, รมช.กลาโหม, ปลัดกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ ถ้า 7 คนนี้มาอย่างไร นายกฯ ก็รื้อไม่ได้ ส่วนการแต่งตั้งตำรวจนั้นต้องไปผ่าน ก.ต.ช. ที่เป็นการตั้งผบ.ตร.คนเดียว ผบ.ตร.คนเก่าและคนใหม่ก็ต้องช่วยทำบัญชีด้วยกัน โดยทั้งสองส่วนนี้นายกฯ เป็นผู้ลงนาม

 “เมื่อสักครู่ผมได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ท่านระบุระหว่างนี้จะไม่มาที่ตึกไทยคู่ฟ้า จะไปปฏิบัติหน้าที่ที่กระทรวงกลาโหม และในการประชุม ครม. ท่านก็สามารถเข้าประชุมในฐานะ รมว.กลาโหม ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ที่คนได้พูดคุยเมื่อสักครู่ ก็ระบุว่าจะไม่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ส่วนภารกิจ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเดินทางไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นประธานในพิธีบรรจุอัฐิพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี วันที่ 26 ส.ค. ท่านมอบหมายให้ผมไปแทน” นายวิษณุกล่าว

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ไม่ส่งผลต่อการทำหน้าที่ของ ครม.เพราะเป็นการรอคำวินิจฉัย ถือเป็นเรื่องทางเทคนิค

ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรค ปชป. ปฏิเสธแสดงความเห็นเรื่อง 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ โดยระบุว่า ตอนนี้มีความเห็นหลากหลาย และสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ให้คำตอบทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า หลังศาลรัฐธรรมสั่ง พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยนั้น วาระงานต่างๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยวันที่ 25 ส.ค. เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานแทนในการประชุมคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เวลา 10.00 น. และเวลา 16.00 น. นายฮุซัยน์ บรอฮีม ฏอฮา เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) เข้าเยี่ยมคารวะ ในโอกาสเยือนประเทศไทย ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ประยุทธ์เข้าทำงานกลาโหม

ที่กระทรวงกลาโหม ในวันที่ 25 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดเป็นประธานการประชุมสภากลาโหม โดยมี ผบ.เหล่าทัพ เข้าร่วม โดยเบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้สั่งการหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะแม้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ยังมีตำแหน่ง รมว.กลาโหม ที่ยังปฏิบัติงานได้ ซึ่งภายในกระทรวงมีห้องทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และมีการทำความสะอาดทุกวัน สถานที่พร้อมอยู่แล้ว ตลอดจนถึงทีมงาน

วันเดียวกัน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงขั้นตอนและผลตามกฎหมายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องและสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตอนหนึ่งระบุว่า ในกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในหน่วยงานของรัฐต่างๆ โดยตำแหน่งในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี เช่น คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์จะยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการในหน่วยงานรัฐต่างๆ เหล่านี้ในระหว่างที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ หรือว่าจะต้องให้ พล.อ.ประวิตรปฏิบัติหน้าที่แทนในฐานะรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลาดังกล่าว

“ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ที่กำหนดเงื่อนไขในการรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีไว้ว่า ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีผู้รักษาราชการแทนจะสั่งการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน อาจจะเหมาะสมกับช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ในช่วงสั้นๆ เช่น นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ เป็นต้น แต่ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเวลาที่นานกว่านั้น คงต้องมาพิจารณาว่าเงื่อนไขดังกล่าวจะกระทบกับการบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้หากเห็นว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีย่อมมีอำนาจในการพิจารณาเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมได้” ดร.ธนกฤตระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งัดกม.กดดันนายกฯ พปชร.อ้างข้อบังคับพรรค ทวงใบกรอกประวัติ‘ป๊อด’

"อุ๊งอิ๊ง" ยังเล่นบทเตมีย์ใบ้ "หมอมิ้ง" ขึงขังไม่ขีดเส้นตายรายชื่อ รมต. แต่ถ้าไม่ส่งก็ถือว่าไม่ส่ง พลิ้วไม่รู้หนังสือ