ปัจจัยการเมือง ไม่กระทบศก. ลุ้น1เดือนตัดสิน

“ขุนคลัง” การันตี “บิ๊กตู่” ครบวาระ 8 ปี ไม่กระทบเศรษฐกิจ สั่งเดินเครื่องโครงการลงทุนประเดิมงบ 66 ดัน ศก.โตเต็มพิกัด 3-3.5% ส.อ.ท.ชี้คำสั่งศาลให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ช่วยคลี่คลายบรรยากาศตึงเครียด รอลุ้นคำวินิจฉัยเดือนหน้า เอกชน-นักวิชาการเชื่อระยะสั้นไร้ผลกระทบ ห่วงยืดเยื้ออาจเกิดสุญญากาศ

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีการสิ้นสุดตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในวาระครบ 8 ปีว่า ไม่กังวลว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากการลงทุนในโครงการต่างๆ มีข้อผูกพันอยู่แล้ว เรื่องเศรษฐกิจดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลวางไว้ ดังนั้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะยังมีเสถียรภาพ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 3-3.5% โดยครึ่งปีแรกโตแล้ว 2-5% ส่วนช่วงครึ่งปีหลังยังมีแรงสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 8-10 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ก่อนช่วงโควิด-19 และการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งได้หารือกับสภาผู้ส่งออก โดยขอให้เร่งการส่งออกปีนี้พยายามให้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 10% จากเป้าหมาย 7% ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัว 12% เป็นการขยายตัวที่ดีจากปีที่ผ่านมาที่ขยายตัว 20%

 “เรื่องเงินบาทที่อ่อนค่าลงพอสมควรเมื่อเทียบกับปี 2563-2564 จะเป็นประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรมส่งออก รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงยังมีความต้องการสินค้าของไทย โดยเฉพาะในหมวดอาหารและสินค้าเกษตร จึงยังเป็นโอกาสในการส่งออก” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในประเทศ ทั้งด้านการลงทุน ซึ่งในส่วนของการลงทุนภาครัฐ จะเร่งรัดการเบิกจ่ายในไตรมาส 4/2565 ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ไตรมาสแรก ที่ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และเตรียมส่งเข้าสู่การพิจารณาชั้นวุฒิสภาในวันที่ 29 ส.ค. ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยจะเร่งรัดโครงการขนาดเล็ก ให้มีการเตรียมตัวประกวดราคาก่อนวันที่ 1 ต.ค. เมื่องบประมาณผ่าน ก็จะเบิกจ่ายรับเงินงวดได้ทันที

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้มีมาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมการสร้าง โดยระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง การยกเลิกเบี้ยปรับ และขยายเวลาให้โครงการลงทุนที่ติดขัดไม่สามารถลงทุนได้ในช่วงโควิด-19 เพื่อให้ผู้รับเหมาได้มีการเตรียมตัว สำหรับโครงการลงทุนภาครัฐต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งตามปกติงบประมาณ จะมีเม็ดเงินในโครงการลงทุน คิดเป็น 1 ใน 4 ของแต่ละไตรมาส แต่ที่ผ่านมาไตรมาส 1 ของทุกปีงบประมาณจะใช้ไม่ค่อยทัน

รมว.การคลังกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อมีการคาดว่าจะปรับเพิ่มสูงสุดในไตรมาส 3/2565 และเริ่มชะลอลงในปีหน้า จะกระทบกับการใช้จ่าย ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อออกไปแล้ว เช่น มาตรการคนละครึ่งเฟส 5 แม้จำนวนเงินจะไม่มาก แต่ก็ช่วยเหลือเศรษฐกิจระดับฐานล่าง ได้ประโยชน์อย่างมาก และมีการกระตุ้นใช้งบประมาณได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังไม่ห่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่าหลายประเทศในโลกจะมีความกังวล แต่ไทยก็ยังมีการค้าและการลงทุนกับประเทศในภูมิภาค จากการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทยในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นเกราะกำบังต่อผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งแต่ละประเทศก็สนับสนุนให้เกิดการค้าและการลงทุนเต็มที่ มีมาตรการจูงใจแตกต่างกัน ในส่วนของไทย ก็มีจุดแข็ง ในเรื่องของความสะดวกสบายและโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น

ทางด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องปม 8 ปีนายกฯ ไว้พิจารณา และมีมติเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยว่า คำตัดสินดังกล่าวส่งผลให้บรรยากาศหรือความตึงเครียดจากการชุมนุมบนท้องถนนคลี่คลายลง ก่อนที่อาจจะบานปลายได้ เพื่อที่จะทำให้ทุกฝ่ายไปตั้งหลักและรอคำวินิจฉัยที่คาดว่าจะมีการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้

ทั้งนี้ การพิจารณาดังกล่าวถือเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างไปรอคำตัดสินหากออกมาแล้วไปต่อคงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากครบ 8 ปีแล้วไปต่อไม่ได้ระหว่าง 1 เดือนที่รอคำวินิจฉัย แล้วไปออกคำสั่งใดๆ อาจเกิดปัญหาได้ ศาลจึงต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 จะปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีแทนไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมานั้น แม้อาจจะมีสภาพ ครม.ไม่ 100% แต่ก็ยังคงขับเคลื่อนนโยบายหรือการทำงานต่างๆ ได้ปกติ ไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด

ขณะที่นายภากร ปิตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและต่างชาติ เนื่องจากการเมืองกับเศรษฐกิจไทยไม่เกี่ยวข้องกัน โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มองเรื่องความสามารถของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และนโยบายการเงินและการคลังมากกว่า อีกทั้งหากมองย้อนไปตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าการเมืองพรรคไหนก็มีการต่อเนื่องด้านนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน และยังมีการลงทุนต่อเนื่อง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นการดำเนินการตามครรลองกรอบกฎหมาย จึงเชื่อว่าไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจระยะสั้น เพราะรัฐบาลยังคงอยู่ ครม.ยังประชุมและบริหารประเทศได้ ขณะที่งบประมาณปี 66 ผ่านการพิจารณาไปแล้ว อีกทั้งภาคเศรษฐกิจหลักที่คอยขับเคลื่อนประเทศ ทั้งภาคส่งออก การท่องเที่ยว หรือภาคการผลิต ยังเดินหน้าได้เป็นปกติ ที่สำคัญจะช่วยผ่อนคลายบรรยากาศของการชุมนุมทางการเมืองไปได้

 “มองว่าเศรษฐกิจระยะสั้นคงไม่มีผลกระทบจากเรื่องนี้ ยกเว้นตลาดเงินตลาดทุน อาจมีการชะลอมองดูความชัดเจนบ้าง แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าเศรษฐกิจในประเทศยังมีโอกาสเติบโตได้ตามกรอบ 3-3.5% และการส่งออกไทยจะโตได้ 6-8% อย่างไรก็ตาม อาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในระยะยาวได้อยู่ เพื่อรอดูว่าหลังจากนี้ศาลจะพิจารณานายกฯ ให้ดำรงตำแหน่งได้หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อ” นายธนวรรธน์ระบุ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่า ในระยะสั้นไม่น่าจะกระทบต่อภาพรวมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะในภาคการส่งออกนั้นมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าอยู่แล้ว และยังโชคดีที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 66 ผ่านความเห็นชอบของสภาไปแล้ว ซึ่งทำให้งานประจำสามารถเดินไปต่อไปได้ แต่กังวลในเรื่องของนโยบาย มาตรการเยียวยาด้านเศรษฐกิจอาจจะหยุดชะงักลงได้ในอนาคต รวมทั้งการเจรจาการค้า การขยายตลาด ได้รับผลกระทบบ้าง เพราะจะต้องได้รับการตัดสินใจจากรัฐบาล

 “สรท.หวังว่าการพิจารณาตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาและสรุปได้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองนานจนเกินไป ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญของประเทศ จึงอยากให้มีข้อสรุปเรื่องนี้โดยเร็ว เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพราะหากเกิดสุญญากาศทางการเมืองนาน ย่อมมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศแน่นอน รวมทั้งภาคการลงทุนในอนาคต” ประธาน สรท.กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง