พรรคเล็กสู้เฮือกสุดท้าย

กกต.ตอบกลับประธานรัฐสภา ไม่ติดใจร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เฮือกสุดท้าย! “หมอระวี” เผย 25 ส.ค. รวมชื่อสมาชิกรัฐสภายื่นหนังสือถึง “ชวน”ส่งศาล รธน.ตีความสูตรหาร 100 ขัด รธน.หรือไม่ “บิ๊กป้อม” กำชับ ส.ส.พปชร.เข้าร่วมประชุมร่างงบฯ 66 ต่อครั้งที่ 5 “หมอวาโย” แฉ สนง.เลขาฯ สภาจ่อสร้างตึกใหม่พันกว่าล้าน แหย่ของบแล้ว 50 ล้านบาท หวั่นผิด กม.จัดซื้อจัดจ้างฯ “ไอติม” ขอตัดงบเผยแพร่ประชาธิปไตยวุฒิสภา 28 ล้านบาท อัดปฏิบัติให้ได้ก่อนสอนคนอื่น

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงนามในหนังสือส่งถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เรื่องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว โดยระบุว่า ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่แล้วเสร็จทันตามกำหนดเวลาภายใน 180 วัน ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 15 ส.ค.2565 โดยนับแต่วันที่ประธานรัฐสภาอนุญาตให้บรรจุระเบียบวาระการประชุม เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2565 นั้น ตามมาตรา 132 (1) ของรัฐธรรมนูญให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามมาตรา 131 ทั้งนี้ ตามข้อบังคับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา 2563 ข้อ 87 วรรคสอง ประกอบข้อ 101 ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาวาระที่สอง  และให้ดำเนินการตามข้อ 102 ต่อไป

ตามหนังสืออ้างอิงได้แจ้งจัดส่งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับดังกล่าวต่อ กกต. เพื่อให้ความเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132(2) นั้น ขอเรียนว่า กกต.ไม่ได้มีข้อทักท้วงต่อร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้แต่อย่างใด

ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ แถลงว่า ประธาน กกต.ได้ส่งหนังสือถึงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มายังประธานรัฐสภาแล้ว โดย กกต.พิจารณาแล้วไม่มีข้อทักท้วงร่างกฎหมายดังกล่าว ขั้นตอนต่อไปประธานรัฐสภาจะชะลอร่าง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวไว้ 3 วัน  เพื่อให้ ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกรัฐสภา ร่วมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างฯ ดังกล่าวที่ กกต.ยืนยันมานั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่  โดยจะครบกำหนด 3 วัน ในวันที่ 26 ส.ค. หากมีผู้ร้องก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและชะลอร่างดังกล่าวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย แต่หากไม่มีผู้ใดร้องประธานรัฐสภา จะยื่นร่างดังกล่าวให้กับนายกรัฐมนตรีวันที่ 29 ส.ค.นี้ ซึ่งนายกฯ จะต้องชะลอร่างไว้  5 วัน ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งระยะเวลาที่นายกฯ ชะลอไว้ 5 วัน สมาชิกสามารถยื่นคำร้องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน หากยังมีข้อสงสัยอยู่

หมอระวีสู้เฮือกสุดท้าย

ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ทางสภาได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 23 ส.ค. เวลา 14.00 น. ซึ่งตามข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 104 สมาชิกรัฐสภาสามารถเข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภาได้ภายใน 3 วัน เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในส่วนของตนได้รวบรวมรายชื่อสมาชิกรัฐสภาครบถ้วนแล้วตามกระบวนการวันที่ 25 ส.ค.นี้ จะยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภาเพื่อตีความว่าการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 100 ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1 พ.ศ.... ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2565

 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ได้ส่งข้อความแจ้งส.ส.ในไลน์กลุ่มของพรรคว่า ในเวลา 11.30 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค จะเข้าร่วมประชุมพรรคที่ชั้น 6 อาคารรัฐสภา ขอให้สมาชิก พปชร.เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง และขอให้ทุกคนเข้าประชุมสภาต่อในวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จนจบวาระทุกคน 

มีรายงานว่า การแจ้งประชุมดังกล่าวถือเป็นการแจ้งประชุมพรรคแบบกะทันหัน ต่างจากปกติที่จะแจ้งล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 วัน ทำให้ ส.ส.บางคนตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่ พล.อ.ประวิตรซึ่งมาร่วมประชุม ครม.ในช่วงเช้า ได้ออกจากห้องประชุม ครม.ก่อนเลิกประชุม ต่อมาเวลา 11.15 น. ได้เดินทางมาเป็นประธานประชุม ส.ส.พรรคพปชร. ภายหลังการประชุม พล.อ.ประวิตรกล่าวกับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่า ไม่ห่วงเรื่ององค์ประชุม และไม่ห่วงที่ฝ่ายค้านจะโหวตคว่ำร่างงบประมาณ มั่นใจว่าการพิจารณางบฯ ครั้งที่ 5 นี้จะจบแน่นอน

 นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรกำชับในที่ประชุมขอให้ ส.ส.อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ครบ เพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.งบฯ 66 ให้จบวาระ 2-3 ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ซึ่งได้คุยกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคอื่นๆ ให้ตรึงกำลัง ส.ส. ผลักดันร่าง พ.ร.บ.งบรายจ่ายให้จบและได้คุยกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่าขอให้ผ่านร่างกฎหมายในวาระ 2-3 ในวันที่ 23 ส.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประวิตรแสดงความเป็นห่วงหรือไม่ หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่าน จะเป็นสัญญาณยุบสภา นายนิโรธกล่าวว่า ไม่ห่วง แต่ พล.อ.ประวิตรนอนไม่หลับ เรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ขอให้ช่วยกัน และบอกรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.พรรค พปชร. ให้ร่วมประชุม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ว่า การลงพื้นที่จังหวัดสงขลาวันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคมนี้ ที่จะเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จังหวัดสงขลาคือ นายไพร พัฒโน อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายไพร พัฒโน จะย้ายเข้าสังกัดพรรค ภท. เคยเป็นอดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย เปิดเผยว่า ได้ลาออกจากพรรคเศรษฐกิจไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สภาถกงบ 66 ให้จบ

  วันเดียวกัน เวลา 13.00 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นพิเศษ โดยมีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 66 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท วาระ 2 ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนายสุชาติได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบการเลื่อนลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แทน น.ส.วทันยา บุนนาค ที่ได้ลาออก โดยมีนายธนกร วังบุญคงชนะ เลื่อนลำดับขึ้นมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐแทน พร้อมกล่าวปฏิญาณตนก่อนเข้าทำหน้าที่ ทำให้ขณะนี้มี ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่จำนวน 478 คน ส่วนองค์ประชุมกึ่งหนึ่งคือ 239 คน          

จากนั้น เวลา 13.30 น. ที่ประชุมได้ลงมติมาตรา 29 งบประมาณรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจ ภายหลังสมาชิกสภาฯ ได้อภิปรายแล้วเสร็จครบถ้วนตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ด้วยมติเห็นด้วย 245 เสียง ไม่เห็นด้วย 121 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ต่อมาที่ประชุมสภาได้เข้าสู่การพิจารณามาตรา 30 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐสภา โดย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า สำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะมีการสร้างอาคารใหม่งบประมาณกว่าพันล้านบาท โดยในปี 65 มีการแหย่ขาเข้ามาแล้ว 50 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การแหย่ขางบประมาณเข้ามา 20% ไม่ถือว่าผิด แต่ครั้งนี้สำนักงานแหย่เข้ามาแค่ 5% แบบนี้ถือว่าผิดระเบียบ จากการตรวจสอบปรากฏว่ายังไม่มีการขอจาก ครม.แบบนี้เท่ากับท่านมัดมือชกครม.หรือไม่ และท่านแน่ใจได้อย่างไรว่าถ้ารัฐบาลชุดหน้าเข้ามาจะอนุมัติให้

นพ.วาโยกล่าวว่า นอกจากนี้มีการตั้งงบออกแบบอาคารอีก 30 ล้านบาท แปลว่ายังไม่มีการสำรวจออกแบบ อีกทั้งยังไม่มีการทำแบบสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่ท่านของบก่อสร้างแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะรีบไปไหน ยังมีโครงการเกี่ยวกับไอทีจำนวนมาก โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของสมาชิกงบประมาณ 98 ล้านบาท ส่วนฝั่ง ส.ว.ในโครงการเดียวกันของบประมาณ 94 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งงบประมาณเกือบเท่า ส.ส.ทั้งที่จำนวนสมาชิกน้อยกว่า ตนจึงขอปรับลด 7.5%

 ขณะที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะกมธ. อภิปรายเสนอปรับลดงบประมาณของวุฒิสภา โดยเฉพาะโครงการพัฒนาและเสริมสร้างการเมือง จำนวน 28 ล้านบาท ตนไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเผยแพร่เสริมสร้างความรู้ด้านประชาธิปไตย แต่โครงสร้างอำนาจและที่มาของ ส.ว.ทำให้กลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่ขัดและเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักคิด ส.ว.บางคนมีแนวคิดขัดกับหลักการประชาธิปไตย สุดท้ายตนขอทิ้งท้ายสุภาษิตที่ว่า “จงปฏิบัติในสิ่งที่คุณพร่ำสอน” ถ้าวุฒิสภาอยากจะของบประมาณจากภาษีประชาชน เพื่อไปสอนคนอื่นเรื่องประชาธิปไตย ตนขอชวนให้ท่านปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยให้ได้ก่อน เริ่มต้นจากโหวตเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่จะเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในเดือนหน้า ที่เป็นการเสนอตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ถ้ายังทำไม่ได้ จึงขอให้ที่ประชุมสภาฯ ตัดงบประมาณโครงการนี้ จำนวน 28 ล้านบาท เพื่ออนาคตประชาธิปไตยไทย

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาลงมติมาตรา 30 ซึ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐสภา วงเงิน 4,510,556,100 บาท ภายหลังสมาชิกสภาได้อภิปรายแล้วเสร็จครบถ้วน พบว่ามีสมาชิกสภาลงมติเห็นด้วย 250 ต่อ 115 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.

แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก