ศาลยกคำร้อง เลิกพรก.ฉุกเฉิน เทงบโควิดหมื่นล.

ครม.ไฟเขียว 18,447 ล้านบาท ให้ สปสช.ใช้จ่ายรักษาโควิด ศาลเเพ่งยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราวหลังตัวแทนนักศึกษาฟ้อง "นายกฯ-ผบ.ทสส." ลักไก่ออกข้อกำหนดเพิ่มโทษชุมนุมเสี่ยงโควิด เหตุโจทก์ยังไม่ได้รับความเสียหาย

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 1,488 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศทั้ง 1,488 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,413,764 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,394 ราย หายป่วยสะสม 2,418,727 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 17,897 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 26 ราย เสียชีวิตสะสม 10,383 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 839 ราย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุข ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 รอบที่ 4 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และบริการอื่นที่เกี่ยวข้องที่หน่วยบริการ/สถานพยาบาลให้บริการแล้วระหว่างวันที่ 1 เม.ย.ถึง 15 พ.ค. 2565 วงเงิน 18,447.9800 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยบริการสถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขไวรัสโควิด-19 ทั้งในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีนและการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ โดยกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่จัดบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศ

วันเดียวกัน ศาลเเพ่งนัดอ่านคำสั่งในคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมในคดีที่เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความประจำศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยตัวแทนนิสิตและนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นจำเลย ขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอน มาตรา 9 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เเละข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 15 และขอให้ศาลเปิดไต่สวนเพื่อคุ้มครองชั่วคราว 

โดยศาลมีการไต่สวนฉุกเฉินเเละมีคำสั่งในวันนี้ว่า พิเคราะห์แล้ว ได้ความตามทางไต่สวนว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค.65  จำเลยที่ 1 ในฐานะนายกฯ ได้ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 3 ความว่า “การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนด ในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม รวมไปถึงกำหนดมาตรการอื่นๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ได้...”

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ส.ค.65 จำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ได้ออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด ลงวันที่ 1 ส.ค.65 ข้อ 5 ความว่า “ให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมการสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม” และในวรรคท้าย ความว่า “หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ”

ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าว โจทก์ทั้ง 7 อ้างว่าเป็นกฎหมายระดับรองซึ่งออกมาเพื่อเพิ่มโทษบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และกฎหมายระดับสูงกว่า โดยมีการกำหนดโทษหนักขึ้นไปกว่าที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ทั้งยังเป็นการเปิดช่องให้จำเลยที่ 2 กำหนดมาตรการขึ้นเองเป็นการเฉพาะให้สามารถระงับยับยั้ง หรือยุติการชุมนุมได้ด้วยตนเองทันที โดยไม่ต้องผ่านกลไกการร้องขอต่อศาล ข้อกำหนดและประกาศซึ่งออกโดยจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการสร้างภาระให้แก่โจทก์เกินสมควรแก่เหตุ เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของโจทก์ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

 เห็นว่า เมื่อพิจารณาประกาศดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่าเนื้อความในข้อกำหนดส่วนใดว่าผู้ที่จะชุมนุมหรือจัดให้มีการชุมนุมจะต้องดำเนินการตามมาตรการของประกาศดังกล่าวอย่างไร และไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดมาตรการใดอย่างไรที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค ดังนั้นประกาศฉบับดังกล่าวจึงถือว่ายังไม่ได้ออกตามความในข้อ 3 วรรคท้าย ของข้อกำหนดที่จำเลยที่ 1 ประกาศอันน่าจะเป็นผลให้ประกาศของจำเลยที่ 2 ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของข้อกำหนดดังกล่าวที่จะนำมาบังคับใช้กับผู้ชุมนุม ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้ง 7 ในการจัดการชุมนุมภายใต้สิทธิที่มีอยู่โดยชอบตามรัฐธรรมนูญได้

แต่ตามทางไต่สวนของโจทก์ทั้ง 7 ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้ง 7 ได้ดำเนินการใดๆ ตามข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวจนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ประกอบกับเนื้อความในข้อ 3 วรรคท้าย ของข้อกำหนดดังกล่าว เป็นเพียงการวางเงื่อนไขในการออกมาตรการเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ยังไม่ออกมาตรการ ย่อมไม่ถือว่าโจทก์ทั้ง 7 จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้ง 2 ในชั้นนี้จึงยังไม่มีเหตุจำเป็นและสมควรในการที่จะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้เพื่อระงับการบังคับใช้ ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) มาตรา 255 (2) (ข) ประกอบมาตรา 267 วรรคหนึ่ง ยกคำร้อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง