ประธานชวนยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความวาระ 8 ปีเก้าอี้ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วน “กกต.” ปัดทิ้งอ้างมีคนทำหน้าที่แล้ว ส่วน “ประยุทธ์” เล่นบทเตมีย์ใบ้ “อนุชา” เผยนายกฯ ไม่มีการสั่งการพิเศษ "วิษณุ" แจงในใจเตรียมรับมือไว้แล้ว รอเพียงศาลจะสั่งรูปแบบไหน ข้องใจม็อบต้องการกดดันศาลหรือบิ๊กตู่กันแน่ "เสกสกล" ลั่นอย่าให้คนหนุนนายกฯ ทนไม่ไหว พร้อมปลุกมวลชนสู้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ผกก.นางเลิ้งออกคำสั่งห้ามจอดรถช่วง 21-24 ส.ค. “ชัชชาติ” ออกตัวทันควันลานคนเมืองรับได้แค่พันคน หากลงถนน กทม.ไม่เกี่ยวฝ่ายมั่นคงดูแล
เมื่อวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการส่งคำร้องของพรรคฝ่ายค้านที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสิ้นสุดในวันที่ 23 ส.ค.นี้หรือไม่ ว่าหลังจากได้ลงนามไปแล้วในวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากติดวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ดังนั้นในวันนี้จึงจะนำคำร้องไปส่งที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ต่อมาเวลา 10.30 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เดินทางไปส่งหนังสือคำร้องจากกรณี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อยื่นต่อนายชวน เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 170 วรรคสามแล้ว ทั้งนี้ต้องจับตาการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประจำสัปดาห์ในวันพุธที่ 24 ส.ค.ว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณารับหรือไม่รับไว้วินิจฉัยหรือไม่ และตามคำร้องที่ส่งมาให้ศาลจะมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุติการปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยหรือไม่
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติไม่ส่งเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 5 ส.ค. เนื่องจาก กกต.เห็นว่าสมาชิกรัฐสภามีการยื่นคำร้องผ่านประธานสภาผู้แทนฯ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 แล้ว กกต.จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการอีก
ส่วนความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น เดินทางมาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2565 โดยก่อนการประชุมสื่อมวลชนพยายามสอบถามถึงการเตรียมรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาเคลื่อนไหวกดดัน โดยนายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามแต่อย่างใด
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวเรื่องนี้ว่า นายกฯ และฝ่ายความมั่นคงยังไม่ได้สั่งการอะไร เพียงแต่ให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย
ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ยังคงปฏิเสธให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องสถานการณ์การชุมนุม โดยทำเพียงยกมือสวัสดีและยกมือปฏิเสธการให้สัมภาษณ์
ขณะที่นายอนุชากล่าวอีกรอบว่า นายกฯ ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งในการประชุมยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่ได้พูดถึงสถานการณ์การชุมนุมอะไรทั้งสิ้น และในที่ประชุมก็ไม่มีการพูดถึงประเด็นทางการเมือง มีแต่พูดถึงการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติและแนวทางวิธีการปรับเปลี่ยนการประเมินผล ทำอย่างไรจะให้ยุทธศาสตร์ชาติสามารถดำเนินการให้เป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์การบริหารราชการแผ่นดิน
นายกฯ ไม่มีสั่งการพิเศษ
เมื่อถามว่า ช่วงวันหยุดที่ผ่านมานายกฯ ได้สั่งการอะไรหรือไม่หลังผู้ชุมนุมประกาศรวมตัว นายอนุชาย้ำว่า ไม่ได้สั่งการอะไรเพิ่มเติม ในส่วนผู้รับผิดชอบทั้งบริเวณทำเนียบรัฐบาล มีแค่การประชุมซักซ้อมความเข้าใจกระบวนการเตรียมความพร้อมปกติ เมื่อมีกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศว่าจะชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ ถ้าใกล้กับทำเนียบฯ ก็เป็นเรื่องปกติที่จะประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องเส้นทางที่ต้องเจรจาพูดคุยอะไรต่างๆ
เมื่อถามว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกฯ ยังประชุมตามปกติใช่หรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า ประชุม ครม.ที่ทำเนียบฯ ยังมีตามปกติตอนเช้า
“อยากให้พี่น้องประชาชนได้ติดตามเรื่องกระบวนการที่จะพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมาย การไปคาดคะเนเรื่องต่างๆ ทั้งหมดอาจไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายใด อยากให้ทุกอย่างเข้าอยู่ในกระบวน ที่ตอนนี้มีขั้นตอนทุกอย่างอยู่แล้ว ผลออกมาอย่างไร นายกฯ พูดย้ำว่าท่านไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องเข้าสู่การพิจารณา และผลคำวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็คงต้องให้ความเคารพทุกๆ อย่างอยู่แล้ว เหมือนกับประชาชนทั่วไป” นายอนุชากล่าว
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการชี้แจงของรัฐบาลหลังนายชวนยื่นเรื่องให้ศาลตีความประเด็นความเป็นนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า ยังไม่ต้องถึงขนาดนั้นเพราะยังไม่รู้ศาลจะสั่งให้ชี้แจงหรือไม่ อาจไม่ต้องให้ใครชี้แจง หรือสั่งให้ใครชี้แจง อาจเป็นนายกฯ โดยตรง หรือรัฐบาล ซึ่งก็คือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพราะเรื่อง 8 ปีเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว คงไม่ต้องเป็นท่าทีของรัฐบาล จึงยังไม่รู้จะเตรียมอะไร แต่คร่าวๆ ในใจมีกันอยู่ ฉะนั้นหากศาลสั่งมาแนวทางไหนก็พร้อมชี้แจง แต่ขอเวลาหน่อยวันถึงสองวัน เรื่องนี้ไม่เสียเวลาคิด แต่เสียเวลาพิมพ์ เพราะเวลายื่นคำตอบต่อศาล การพิมพ์ต้องใช้เวลา เพราะไม่ใช่นึกจะเขียนอะไรก็เขียนไป มันตั้ง 9 ชุด
เมื่อถามว่า ข้อมูลในใจคร่าวๆ ที่ว่าคืออะไร นายวิษณุ กล่าวว่า บอกไม่ได้เดี๋ยวเสียรูปคดี
ถามอีกว่า เมื่อนายชวนยื่นเรื่องไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคำสั่งรับคำร้องภายในวันที่ 24 ส.ค.เลยหรือไม่ เพราะผู้ร้องมองว่าวันดังกล่าวเลยการดำรงตำแหน่ง 8 ปี นายวิษณุกล่าวว่า แล้วแต่ศาล ไม่ทราบ ส่วนจะใช้เวลาพิจารณานานหรือไม่ ก็ไม่ทราบ แต่ไม่ได้มีผลอะไรเหมือนที่ฝ่ายค้านอธิบายไปแล้วนั้นถูกต้อง เพราะเมื่อนายชวนส่งเรื่องไปที่ศาล ศาลจะสั่งสองอย่างคือไม่รับคำร้องกับรับคำร้อง ถ้ารับคำร้องจะมีคำสั่งตามมาว่า รับโดยให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ กับรับโดยนายกฯ ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอคำพิพากษา ถ้าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ก็ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ แทน ครม.ก็อยู่ทำหน้าที่ทั้งหมด ไม่ต้องกลัวอะไรจะโมฆะไม่ว่าวันไหนศาลตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ พ้นหรือไม่พ้น ครม.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังมีอีกตำแหน่งคือ รมว.กลาโหม ที่ไม่มีข้อกำหนด 8 ปี หากเป็นเช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็นั่งเป็นลูกน้อง พล.อ.ประวิตร ในที่ประชุม ครม.ระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำวินิจฉัย ทั้งนี้ถ้าถึงที่สุดแล้วศาลวินิจฉัยให้พ้นเพราะประเด็น 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังรักษาการได้ แต่ควรหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และคิดว่าการหานายกฯ ใหม่ไม่น่าจะยากอะไร นายชวนคงรีบดำเนินการใน 3 วัน 7 วัน
เมื่อถามอีกว่า หากมีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งแล้วไม่รักษาการต่อ พล.อ.ประวิตรจะทำหน้าที่นายกฯ รักษาการทันทีเลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีวิธีการอยู่ เพราะนายกฯ เคยมีคำสั่งไว้ว่ากรณีไม่อยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ให้ พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนอันดับที่หนึ่ง รองนายกฯ คนอื่นๆ เป็นลำดับถัดๆ ไป โดยไปหยิบคำสั่งดังกล่าวมาใช้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ยึดอำนาจแล้วขึ้นได้เลย
วิษณุข้องใจม็อบกดดันใคร
เมื่อถามว่า ที่สุดแล้วหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้วไม่มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ และมีคำสั่งให้พ้นตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.65 การดำเนินการระหว่างนั้นของรัฐบาลจะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า สมบูรณ์ทุกประการ เพราะถ้าคิดง่ายๆ หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่หรือยุบสภา พล.อ.ประยุทธ์พ้นใช่หรือไม่ แต่ ครม.ยังอยู่ใช่หรือไม่ สามารถมีมติ ครม.ได้
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีกระแสกดดันจากภายนอกให้นายกฯ ออกจากตำแหน่ง รัฐบาลกังวลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบต้องถามผู้เกี่ยวข้อง แต่เรารู้อยู่ว่ามีการกดดัน ซึ่งไม่รู้ว่ากดดันใคร กดดันนายกฯ หรือกดดันศาลก็ไม่รู้
ส่วนความเคลื่อนไหวในการเตรียมรับการชุมนุมนั้น พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ โดยทำแค่เพียงยิ้มและยกนิ้วโป้งแสดงสัญลักษณ์ว่าเยี่ยม
ขณะที่ พล.ต.ต.วรากร อยู่อย่างไท ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ซึ่งดูแลพื้นที่ทำเนียบฯ กล่าวว่า ได้เตรียมกำลังพร้อมตลอดซึ่งไม่มีอะไรที่หนักใจ เป็นการจัดเตรียมกำลังตามปกติ ส่วนการปิดการจราจรบริเวณโดยรอบทำเนียบฯ อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งผู้บังคับบัญชายังไม่ได้มีการกำชับเรื่องใดเป็นพิเศษ
ด้าน พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ในฐานะหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในเขตพื้นที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ได้ลงนามในคำสั่งสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งที่ 130/2565 เรื่องห้ามรถทุกชนิดเดิน ห้ามหยุดหรือห้ามจอดรถทุกชนิด เป็นการชั่วคราว เนื่องด้วยในระหว่างวันที่ 21-24 ส.ค. 65 มีการนัดรวมกลุ่มของประชาชนจำนวนหลายกลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มคณะหลอมรวมประชาชน นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายนิติธร ล้ำเหลือ นัดหมายมวลชนแนวร่วมชุมนุมระหว่างวันที่ 21-24 ส.ค.65 บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2.กลุ่มราษฎรไล่ตู่ คนแดงปฏิวัติ นำโดยนายวรเดช เปรมกมล ประกาศจัดการชุมนุมในวันที่ 24 ส.ค.65 เริ่มชุมนุมเวลา 14.00 น. บริเวณแยกราชประสงค์และเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล และ 3.กลุ่ม 14 ขุนพล นำโดยนายจิรภาส กอรัมย์ ประกาศจัดกิจกรรมขีดเส้นตายไล่เผด็จการในวันที่ 23 ส.ค.65 เริ่มชุมนุมเวลา 17.00 น.บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดโดยรอบทำเนียบฯ ยังเป็นปกติ ไม่มีการปิดเส้นทางจราจรโดยรอบแต่อย่างใด มีเพียงการวางตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 10 ตู้ เพื่อสแตนด์บายไว้ที่บริเวณถนนพระรามที่ 5 ด้านข้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครและทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น
ม็อบลงถนน กทม.ไม่เกี่ยว
พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณีการชุมนุมที่ลานคนเมืองของคณะหลอมรวมประชาชน ว่ายังไม่พบรายงานจากเจ้าหน้าที่ กทม.และเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงการสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนแต่อย่างใด
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.มีหน้าที่เตรียมพื้นที่การชุมนุม จัดรถสุขาให้ตามที่มีการขอมาเท่านั้น สิ่งสำคัญคือต้องไม่ให้ประชาชนในละแวกเดือดร้อน ไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมค้างคืน เพราะรอบบริเวณยังมีผู้คนมาออกกำลังกาย มีวัด มีร้านค้า และการสัญจรของประชาชน เกรงว่าจะสร้างความไม่สะดวกแก่ประชาชนโดยรวม
“กทม.มีหน้าที่เตรียมพื้นที่ชุมนุมสาธารณะให้ตามกำลังที่เรามี ลานคนเมืองรับได้ 1,000 คน แต่หากมีการขยับลงมาบนถนนหรือเคลื่อนที่ เป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง นอกเหนือการควบคุมของเรา เราก็จะอำนวยความสะดวกในหน้าที่ของเรา” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวและว่า ที่ผ่านมามีบรรยากาศที่สร้างสรรค์ ทำให้เห็นเนื้อหาชัดเจน และถือเป็นเรื่องดี ไม่มีความรุนแรง แต่การลงถนนจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน รวมถึงการสัญจรบนถนน และการลงถนนอาจทำให้ประเด็นในการชุมนุมถูกเบี่ยงเบนไป
ขณะเดียวกัน ยังคงมีการแสดงความคิดเห็นหลากหลายประเด็นวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี โดยนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว.ระบุว่า ในเชิงวิชาการมี 3 แนวทาง คือ 1.จะนับตั้งแต่ปี 2557 2.นับตั้งแต่ปี 2560 และ 3.นับตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งองค์กรที่จะวินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเราปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราจึงควรเคารพกติกาและกฎหมายบ้านเมือง เมื่อมีองค์กรวินิจฉัยเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว จะมาทะเลาะกันทำไม ใช้ความรุนแรงและลงถนนทำไม ต้องเคารพศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้
“ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าอยู่ไม่ได้ ครบวันที่ 24 ส.ค.65 พล.อ.ประยุทธ์ก็ขาดคุณสมบัติและต้องออกไปอยู่แล้ว แต่หากศาลตัดสินว่าอยู่ได้ เพราะนับตั้งแต่ปี 2562 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็จะไม่ได้มาเป็นนายกฯ โดยอัตโนมัติ เพราะจะครบวาระในปี 2566 แล้ว และประชาชนทั่วประเทศจะเป็นคนตัดสินว่าจะได้อยู่ต่อจนครบปี 2570 หรือไม่ ผมคิดว่าไม่เป็นปัญหาและเราควรเดินตามครรลอง ถ้าไม่เคารพกฎหมายและกติกา ในอนาคตบ้านเมืองจะอยู่ไม่ได้” นายดิเรกฤทธิ์กล่าว
ยกโพล 93% ไม่ให้ลุงตู่ไปต่อ
ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรค พท. อ่านแถลงการณ์ของพรรคเรื่องบทพิสูจน์นายกรัฐมนตรี 8 ปีกับการปฏิรูปการเมืองไทย ระบุว่า เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับถ้อยคำตามลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 มาตรา 171 และมาตรา 264 ยากที่จะปฏิเสธได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 24 ส.ค.65 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อปี 2557 และตั้งตนเองเป็นนายกฯ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ต้องการปฏิรูปการเมือง แม้เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งตนเองผลักดัน ก็จัดเรื่องการปฏิรูปประเทศรวมถึงการปฏิรูปการเมืองไว้เป็นหมวดหนึ่งของรัฐธรรมนูญ การไม่ให้นายกฯ อยู่ในตำแหน่งยาวนานเกินไป จึงกำหนดระยะเวลาสูงสุดไว้ 8 ปี เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจ สร้างอิทธิพลทางการเมืองขึ้น อันจะเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตทางการเมือง จึงเป็นสาระสำคัญที่ส่อแสดงถึงความต้องการปฏิรูปการเมือง
“พล.อ.ประยุทธ์จะดำเนินการโดยประการใดกับกรณีเป็นนายกฯ มา 8 ปีแล้ว จะเป็นวิกฤตของประเทศอีกครั้งหนึ่ง และอาจนำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองขึ้น แต่สิ่งที่จะสะท้อนได้แน่นอนคือ การปฏิรูปการเมืองที่กล่าวไว้ตั้งแต่ยึดอำนาจการปกครองประเทศเรื่อยมา เป็นความจริงใจหรือเป็นเพียงวาทกรรมคำพูดที่ให้ดูดีเท่านั้น วันสองวันนี้จะเป็นบทพิสูจน์" น.ส.ธีรรัตน์อ่านแถลงการณ์ทิ้งท้าย
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงผลโหวตเสียงประชาชน ครั้งที่ 2 โดยเครือข่ายนักวิชาการ 8 มหาวิทยาลัยร่วมกับทีวีดิจิทัลและสื่อออนไลน์ 8 สำนัก ระหว่างวันที่ 20-21 ส.ค.ว่า มีจำนวนการโหวตทั้งหมด 374,063 โหวต โดยเป็นการโหวตในประเทศไทย 369,484 โหวต จากต่างประเทศ 4,579 โหวต ซึ่งเมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปีหรือไม่ ผลโหวตตอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี จำนวน 348,511 โหวต หรือ 93.17% และตอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี จำนวน 25,552 โหวต หรือ 6.83%
นายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ กล่าวว่า เห็นด้วยกับผลสำรวจความคิดเห็นของ TOP NEWS VOTE ที่สำรวจความเห็นของประชาชน พบว่าส่วนใหญ่ 99% อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินกรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ส่วนที่นายปริญญาโพสต์ผลโหวต 93.17% พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรเป็นนายกฯ เกิน 8 ปีนั้น ก็เป็นสิทธิ์ของนายปริญญาที่จะหยิบยกโพลที่เข้าทางของตัวเองมานำเสนอ แต่ขอให้มองผลโพลอื่นๆ ด้วย เพราะใครก็รู้กันทั้งประเทศว่านายปริญญาคือพวกของใคร มีเป้าหมายรับใช้ใคร เป็นนักวิชาการในห้องแอร์ที่เคยทำประโยชน์อะไรให้ประเทศชาติและประชาชนบ้าง
"อย่าลืมว่าประชาชนคนที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ยังมีมากมายเต็มบ้านเต็มเมือง ถ้าผมปลุกระดมพี่น้องประชาชนออกมาเดินถนนขับไล่นักวิชาการและนักการเมืองชั่วๆ เหล่านี้บ้าง อะไรจะเกิดขึ้น อยากเห็นม็อบชนม็อบอีกหรืออย่างไร อย่าให้พวกผมทนไม่ไหวขึ้นมาอีก สุดท้ายประชาชนสองฝ่ายออกมารบราฆ่าฟันกันบนท้องถนนอีกเหมือนในอดีต ผมไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นอีก อย่าให้พวกผมที่สนับสนุนนายกฯ ทนไม่ไหวก็แล้วกัน พวกผมก็มีมือมีตีน มีกำลังเหมือนกัน อย่าคิดว่าพวกฝ่ายมารเผาบ้านเผาเมืองคิดทำลายประเทศทำได้ฝ่ายเดียว พวกผมก็มีมวลชนมากมายทั่วประเทศ พร้อมที่จะเคลื่อนออกมาสนับสนุนนายกฯ พร้อมสู้ตาต่อตา ฟันต่อฟันเหมือนกัน" นายเสกสกลกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บิ๊กอ้วนตอกยํ้า แจก‘เงินดิจิทัล’ ‘อนุสรณ์’เตือน
“ภูมิธรรม” ยันรัฐบาลเร่งแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
อิ๊งค์หาเสียงฟุ้งพท.มาคนจนรวยแน่
"หัวหน้าอิ๊งค์” ลุยนครพนม ช่วย “อนุชิต” ผู้สมัครนายก อบจ.เพื่อไทยหาเสียง
รพ.ตำรวจอึมครึม เวชระเบียนชั้น14
เส้นตายพุธนี้! แพทยสภาสอบหมอช่วย "ทักษิณ" อึมครึม "แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ" ปัดตอบส่งเอกสารหรือยัง
‘จ่าเอ็ม’เครียด อุบ‘ผู้มีบุญคุณ’ ตร.หิ้วฝากขัง!
ตำรวจเค้นสอบ “จ่าเอ็ม” ตลอดคืน ยังให้การไม่เป็นประโยชน์คดียิงอดีต
จับตา!เคาะ‘กาสิโน’ คลังชงเข้าครม.ไฟเขียว/นักวิชาการชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน
จับตา “คลัง” เล็งชงเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เข้า ครม.จันทร์นี้หรือไม่ หลัง
‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!
"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย