"ดร.อนุสรณ์" เตือนปัญหาหนี้สาธารณะจากการชดเชยราคาพลังงาน หากไม่ยกเลิกนโยบายการอุดหนุนราคากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง น่าจะติดลบทะลุ 1.5 แสนล้านบาทภายในเดือนตุลาคม การกู้เงิน 1.8 แสนล้านบาทอาจไม่เพียงพอหากไม่ทบทวนราคาเพดานและยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพลังงาน แนะเปิดเสรีกิจการไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์ให้เอกชนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น
เมื่อวันอาทิตย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริษัท บีบีจีไอ ไบโอเอทานอล จำกัด และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวถึง การออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการกู้ยืมเงิน 1.8 แสนล้านบาท ว่า มีความจำเป็นในการเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมัน หากยังต้องใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานและบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาพลังงานแพง หากไม่มีการค้ำประกันเงินกู้ของกองทุนก็จะไม่มีสถาบันการเงินแห่งไหนสามารถปล่อยกู้ให้กับกองทุนได้ เนื่องจากกองทุนประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง มีฐานะติดลบมากกว่า 1.17 แสนล้านบาท (ณ 7 ส.ค.65) มีหนี้สินอันเกิดจากการอุดหนุนราคาส่วนต่างในส่วนของน้ำมันประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ส่วนของ LPG ประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุดกองทุนน้ำมันมีทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 15,275 ล้านบาท
"การค้ำประกันเงินกู้ของกระทรวงการคลัง และการก่อหนี้เพิ่มของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหากใช้เต็มเพดาน จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ฐานะทางการคลังในอนาคตมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การออกมาตรการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่เข้มข้นกว่านี้ รวมทั้งต้องทบทวนนโยบายอุดหนุนราคาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การที่ต้องใช้เงินภาษีประชาชนชดเชยส่วนต่างของราคาตลาดกับราคาเพดานทำให้เกิดภาระหนี้สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ คาดการณ์หากไม่ยกเลิกนโยบายการอุดหนุนราคากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงน่าจะติดลบทะลุ 1.5 แสนล้านบาทภายในเดือนตุลาคม การกู้เงิน 1.8 แสนล้านบาทจึงอาจไม่เพียงพอต่อสถานการณ์การปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานรอบใหม่ หากไม่ทบทวนราคาเพดานหรือราคาอุดหนุนเลย"
ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ตราบใดที่รัฐบาลยังมีนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานอยู่โดยไม่ทบทบวน รัฐบาลจะต้องหาเงินกู้มาช่วยสนับสนุนกองทุน เงินกู้เหล่านี้ ก็คือหนี้สาธารณะที่ต้องจ่ายในอนาคต ส่วนการนำกำไรส่วนเกินปกติจากค่าการกลั่นน้ำมันมาเสริมสภาพคล่องกองทุนนั้น ต้องออกเป็นกฎหมาย และอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานในระยะยาวได้ รวมทั้งไม่เป็นไปตามหลักการค้าเสรี ส่วนปัญหาสภาพคล่องและการแบกหนี้ของ กฟผ.นั้น เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้ กฟผ.แบกรับค่าเอฟที (ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ) แทนประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งต้องแบกภาระหนี้มากกว่า 100,000 ล้านบาทแล้ว และอยู่ในภาวะใกล้ขาดสภาพคล่อง
ขณะนี้การใช้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ Enhance single buyer model โดย กฟผ.เป็นผู้ซื้อรายเดียวจากเอกชนเพียงไม่กี่รายจากการได้รับสัมปทานในการผลิตไฟฟ้า จะทำให้ประสิทธิภาพในแง่อัตราการใช้ประโยชน์ในระบบการผลิตไฟฟ้าแย่ลง และสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่การเปิดเสรีกิจการไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์จะทำให้สวัสดิการสังคมโดยรวมเพิ่มขึ้นมากกว่า ต้นทุนและราคาไฟฟ้าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าควรให้เอกชนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ไม่ใช่มีเพียงผู้ผลิตไม่กี่ราย สายส่งขนาดเล็กควรแบ่งให้เอกชนดำเนินการในส่วนที่โครงข่ายมีความสมบูรณ์แล้ว
อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะกล่าวอีกว่า ทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การเปิดเสรีและเพิ่มการแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น การแปรรูปและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต้องทำพร้อมกับการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการผ่องถ่ายผลประโยชน์และอำนาจจากองค์กรของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจมาที่กลุ่มทุนเอกชนผู้รับสัมปทาน โดยสวัสดิการสังคมโดยรวมของสังคมจะแย่ลง นอกจากนี้ควรเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้พึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานทางเลือกมาก
"การเดินหน้าปฏิรูปกิจการพลังงานนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ความผันผวนของราคาพลังงานโลกและพลวัตเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะส่งผลให้เกิดปัญหาและข้อจำกัดด้านความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางปฏิรูปกิจการพลังงานกันใหม่"
โดยยุทธศาสตร์ใหม่ต้องครอบคลุม ประการแรก ต้องทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานอย่างแท้จริง ลดการพึ่งพาภายนอกให้น้อยลง โดยเฉพาะลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา, สอง ต้องสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในกิจการพลังงาน เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้บริโภค, สาม ต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านพลังงานของประเทศ, สี่ การพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศทางด้านพลังงาน, ห้า พัฒนากิจการพลังงานให้สนับสนุนต่อเศรษฐกิจหมุนเวียนและธุรกิจอุตสาหกรรมฐานเศรษฐกิจใหม่ New S-Curve
"คาดว่าในระยะ 15-20 ปีข้างหน้านี้ พลังงานจากปิโตรเลียมยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลกอยู่ แต่หลังจากนี้น่าจะลดสัดส่วนลงในอัตราเร่ง ส่วนพลังงานทางเลือกคาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานน้ำ และความร้อนใต้พิภพ เนื่องจากที่ผ่านมาราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง จึงเป็นแรงผลักดันให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อความมั่นคงทางพลังงานในประเทศ และลดการพึ่งพาพลังงานจากปิโตรเลียม และรัฐบาลควรมีนโยบายเชิงรุกส่งเสริมพลังงานทางเลือกมากกว่านี้" ดร.อนุสรณ์กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ