ติดฝีดาษลิงโควิดHIVพร้อมกัน

ติดเชื้่อโควิดรายใหม่  1,968 ราย เสียชิวิต 27 ราย นายกฯ ชื่นชมนักวิจัยไทย คิดค้นเครื่องตรวจผู้ป่วยติดเชื้่อโควิดจากลมหายใจ แม่นยำ ไม่เจ็บตัว รู้ผลตรวจได้ภายใน 5 นาที ค่าใช้จ่ายไม่เกิน 10 บาท/คน "นักไวรัสวิทยา" เผยเคสแรกผู้ป่วยชายในอิตาลี เดินทางกลับมาจากสเปน มีกิจกรรมทางเพศแบบชายรักชายไม่ป้องกัน  ตรวจพบติดเชื้อฝีดาษลิง โควิดและ HIV-1 พร้อมกัน

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวัน โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 1,968 ราย จำแนกเป็นติดเชื้อในประเทศ 1,960 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,960 ราย ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อภายในเรือนจำ 6 ราย มีผู้ป่วย 2 รายเดินทางจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 4,634,180 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,252 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 19,624 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 874 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 446 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย มาจาก กทม. 2 ราย, ปริมณฑล 2 ราย, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 ราย,  ภาคเหนือ 2 ราย, ภาคใต้ 8 ราย, ภาคกลางและภาคตะวันตก 8 ราย

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่ม 608 คิดเป็น 100% และยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 24 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 32,027 ราย

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชื่นชมความสำเร็จของนักวิจัยคนไทยที่คิดค้น “การพัฒนาระบบต้นแบบเครื่องตรวจคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แบบไม่เจ็บตัว” โดยการวิเคราะห์โปรไฟล์จากลมหายใจ ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากการบูรณาการความเชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ โรงพยาบาลราชวิถี มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคเอกชน สนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

น.ส.รัชดากล่าวว่า การคิดค้นต้นแบบเครื่องตรวจคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบไม่เจ็บตัว โดยการวิเคราะห์โปรไฟล์จากลมหายใจ ถือเป็นนวัตกรรมรูปแบบใหม่ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่ไม่ต้องเจ็บตัว ไม่ต้องแยงจมูก ไม่ต้องเจาะเลือด และไม่ต้องใช้น้ำลาย วิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่มีความไว (Sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) สูง สามารถรู้ผลตรวจได้ภายใน 5 นาที ทำให้สามารถทำการคัดแยกผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อให้ออกมาได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที และลดโอกาสในการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในวงกว้างได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่เกิน 10 บาท/คน และสามารถวิเคราะห์และตรวจคัดกรองได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ปัจจุบันมีความแม่นยำประมาณ 97% จากฐานข้อมูลของทีมวิจัยที่มีอยู่ประมาณ 3 พันตัวอย่าง        

"ถือเป็นความสำเร็จที่พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งของระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และเป็นผลจากความสามารถของนักวิจัยคนไทยและคณะ ที่ร่วมมือกันคิดค้น พัฒนาจนผลงานวิจัยประสบความสำเร็จ ช่วยประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขให้กับประเทศชาติได้เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้  และผลงานนี้จะนำมาจัดแสดงภายในงานประชุม APEC Health Week ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565 ที่โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กทม. เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยและให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกด้วย" น.ส.รัชดา กล่าว

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ข้อความระบุว่า  "เคสแรกของผู้ป่วยฝีดาษลิง-โควิด-HIV-1 ในอิตาลี วารสารวิชาการ Journal of Infection ได้รายงานเคสของผู้ป่วยฝีดาษลิงรายหนึ่งที่มีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศสเปน โดยขณะที่อยู่ที่นั่นได้มีกิจกรรมทางเพศแบบชายรักชายแบบไม่ป้องกัน 9 วัน หลังเดินทางกลับเริ่มมีอาการนำ ประกอบด้วยไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปวดศีรษะ และต่อมน้ำเหลืองโต 3 วัน หลังอาการนำเริ่มมีผื่นแดงขึ้นที่ผิวหนัง และในวันเดียวกันตรวจพบเชื้อ SARS-CoV-2 ในตัวผู้ป่วยด้วยเช่นกันด้วย ATK หลังจากนั้น 3 วัน ผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลโดยในวันที่ admit ตุ่มหนองบนร่างกายบริเวณ แขน ลำตัว ฝ่ามือ นิ้ว ขา สะโพกปรากฏชัดมาก และ 1 วัน หลังจากนั้นผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการที่โรงพยาบาลยืนยันว่าผู้ป่วยรายนี้มีเชื้อฝีดาษลิงสายพันธุ์ที่ระบาดในสเปน และมีไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ BA.5.1 และนอกจากนั้นยังมีเชื้อ HIV-1 อยู่ในร่างกาย (234,000 copies/mL) ด้วย เนื่องจากปริมาณเม็ดเลือดขาว CD4 ของผู้ป่วยรายนี้ยังอยู่ในระดับปกติ (812 cells/μL) ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยรับเชื้อ HIV มาก่อนหน้านี้ไม่นาน และไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีเชื้ออยู่ (ครั้งสุดท้ายที่ตรวจคือเดือนกันยายนปีที่แล้วและได้ผลลบ)

ผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาล 6 วัน ผลตรวจยังพบออกมาเป็นบวกทั้งฝีดาษลิงและโควิด แต่อาการป่วยทุเลาลงมากแล้ว เหลือแต่อาการทางผิวหนังที่ยังอยู่ในช่วงกำลังจะเริ่มตกสะเก็ด หมอจึงให้ไปรักษาตัวต่อที่บ้าน หลังจากนั้น 2 วัน ผล ATK ที่ตรวจที่บ้านก็เป็นลบ แต่ตุ่มหนองยังพบได้อยู่ 8 วันหลังจากมาอยู่ที่บ้าน ตุ่มหนองแทบจะตกสะเก็ดหมดแล้ว คุณหมอนัดให้มาตรวจอีกครั้ง โดยตรวจจากตัวอย่างจากคอ ผลตรวจพบว่าผู้ป่วยยังคงเป็นบวกต่อไวรัสฝีดาษลิงอยู่ แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าตัวอย่างที่ตรวจสามารถนำไปเพาะเชื้อต่อขึ้นหรือไม่ รวมเวลาที่นับจากวันที่กลับจากสเปนถึงวันที่ที่ตรวจครั้งสุดท้ายคือ 29 วัน

ผู้ป่วยรายนี้มีประวัติฉีดวัคซีน Pfizer 2 เข็มตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว พอต้นปีเขาติดโควิด ซึ่งน่าจะเป็นสายพันธุ์ BA.1 การติดครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ด้วยสายพันธุ์ BA.5.1 ซึ่งอาจจะหนีภูมิจาก BA.1 ได้ดี และภูมิได้รับมามากกว่า 6 เดือนแล้ว จากรายงานที่พบ ATK เป็นบวกในเวลาใกล้ๆ กับที่มีผื่นขึ้น อนุมานได้ว่าผู้ป่วยรายนี้น่าจะได้รับเชื้อฝีดาษลิงมาก่อน และได้รับเชื้อ SARS-CoV-2 มาในช่วงระยะฟักตัวของฝีดาษลิง เนื่องจากโควิดมีระยะฟักตัวที่สั้นกว่า อาการนำอะไรต่างๆ จึงเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน จนแยกไม่ออกว่าอาการที่เห็นมาเป็นผลมาจากเชื้อไหนกันแน่

สำหรับผู้ที่อาจสงสัยว่าโควิดกับฝีดาษลิงจะผสมกันเป็นไวรัสตัวใหม่ได้หรือไม่ ต้องตอบว่าเป็นไปไม่ได้แน่นอนโควิดเป็นไวรัสที่มี RNA เป็นสารพันธุกรรม แต่ฝีดาษลิงเป็น DNA ดังนั้นไวรัสสองชนิดนี้คุยกันไม่รู้เรื่อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งัดกม.กดดันนายกฯ พปชร.อ้างข้อบังคับพรรค ทวงใบกรอกประวัติ‘ป๊อด’

"อุ๊งอิ๊ง" ยังเล่นบทเตมีย์ใบ้ "หมอมิ้ง" ขึงขังไม่ขีดเส้นตายรายชื่อ รมต. แต่ถ้าไม่ส่งก็ถือว่าไม่ส่ง พลิ้วไม่รู้หนังสือ