“บิ๊กตู่” ถก ศบค.ชุดใหญ่ ยังไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บอกคงไว้เพื่อบูรณาการหลายหน่วยงาน ร่วมมือสู้โควิด-19 ไม่มีประเด็นแอบแฝง กำชับ สธ.เฝ้าระวังโควิดกลายพันธุ์ วอน ปชช.ฉีดเข็มกระตุ้น เผยยอดผู้รับบริการเจอแจกจบ ตั้งแต่ มี.ค. ทะลุ 7 ล้าน เฉลี่ยติดเชื้อวันละ 3 หมื่น “ศบค.” เตรียมลดบทบาท ต.ค.นี้ “นพ.อุดม” ยันประชุม ศบค.เดือนก.ย.ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแน่ “วิษณุ” แจงเลิกหรือไม่อยู่ที่ “สธ.-สมช.” ตัดสิน ย้ำมี พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อของเดิมรองรับอยู่แล้ว
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 19 ส.ค. เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ครั้งที่ 11/2565
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวช่วงต้นการประชุมว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันยังมีการระบาดอยู่ โดยเฉพาะโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ซึ่งพบการระบาดในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีการแพร่ระบาดโดยง่าย จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต มีแนวโน้มเป็นไปตามประมาณการ และคงที่ ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในการคาดการณ์และการเตรียมพร้อมรับมือ จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เฝ้าระวังและติดตามการกลายพันธุ์ เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตามแผนที่วางไว้
“การปรับแนวทางการบริหารจัดการโควิด-19 เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาด เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการแพทย์ การปรับแนวทางกักตัวผู้ป่วย รวมถึงการรายงานโรคและผู้ป่วยสัมผัส ซึ่งในด้านสังคมต้องสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะประโยชน์ของวัคซีน การจัดการเมื่อมีผู้ติดเชื้อในครอบครัว มาตรการต่างๆ ทั้งตัวบุคคลและองค์กร ส่วนตัวรู้สึกอุ่นใจ ที่ยังเห็นคนใส่หน้ากากอนามัยอยู่จำนวนมาก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ ยังกำชับต้องเตรียมการเรื่องยา การจัดเตรียมเตียง และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน พร้อมติดตามยาและการพัฒนาวัคซีน เพื่อรองรับต่อสถานการณ์กลายพันธุ์ รวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการค้าขาย การสัญจรไปมา และการท่องเที่ยว
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่า ในการประชุมได้รับทราบถึงสภาวะโดยรวม ทั้งการแพร่ระบาดและการเตรียมการมาตรการรองรับต่างๆ ซึ่งเรามีแผนรองรับไว้ทุกตัว ทุกระดับของสถานการณ์ ทั้งเรื่องวัคซีนและการฉีด สิ่งที่ต้องเน้นในวันนี้ทำอย่างไรให้คนไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากยิ่งขึ้น และให้ความสำคัญกับคนกลุ่ม 608 มากขึ้น เพราะส่วนใหญ่ไม่อยากฉีดกัน และจากสถิติพบว่ามีหลายคนไม่อยากฉีด คิดว่าตัวเองปลอดภัยแล้วเลยไม่ฉีด นี่คืออันตรายพอสมควร แม้เป็นการฉีดแบบสมัครใจ แต่ก็อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญในเรื่องนี้
ถามถึงการพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯ กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา การมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็เพื่อที่จะเสริมเท่านั้นเอง ถ้าสามารถที่จะลดระดับลงได้ ตนก็พร้อมที่จะลดให้ ซึ่งวันนี้ยังหารือกันอยู่ในความจำเป็น เรื่องการบูรณาการ การใช้หน่วยงาน การมีไว้ใช้จะเป็นการสำรองไว้ ไม่ได้มุ่งหวังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อประเด็นอื่นเลย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในเรื่องของโควิด-19 เท่านั้น คือสิ่งสำคัญเพื่อให้หลายหน่วยงานได้ทำงานร่วมมือกัน ขอให้มองในแง่ดีบ้าง มีแล้วมันเกิดประโยชน์อะไร ถ้าไม่มีมันจะเกิดอะไรขึ้นก็ลองดูแล้วกัน ขึ้นอยู่กับประชาชนจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ
นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กล่าวว่า เรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องรอเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในคราวหน้า แต่รู้ว่าไม่ต่ออยู่แล้ว เพราะสถานการณ์ดีขึ้น จึงต้องรอเดือน ก.ย.เป็นไป
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า ในประชุมครั้งนี้ ไม่ได้พูดถึงเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในวันที่ 1 ต.ค.65
ยังไม่เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ถามว่า ในหลักการจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินช่วงการประชุมเอเปกหรือไม่ รมว.การต่างประเทศกล่าวว่า ไม่มีปัญหา เพราะตอนนี้มีการประชุมหลายงานในประเทศเราอยู่แล้ว และน่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ เพราะบรรยากาศที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย คือความสงบ มีสันติ อย่าให้มีความวุ่นวาย ไม่ว่าจะรูปแบบใด แบบนั้นจะดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ขอให้พวกเราช่วยกันให้มีบรรยากาศเช่นนั้น
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงผลการประชุมว่า สถานการณ์โควิดประจำวัน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,110 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ หายป่วยเพิ่ม 2,028 ราย อยู่ระหว่างรักษา 20,048 ราย อาการหนัก 853 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 436 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,630,310 ราย ยอดหายป่วยสะสม 4,578,291 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 31,971 ราย
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 7-13 ส.ค. มีผู้ที่มีผลตรวจเอทีเคเป็นบวกแล้วเข้ารับบริการเจอ แจก จบ OPSI จำนวน 218,042 ราย เฉลี่ยวันละ 31,148 ราย ซึ่งตั้งแต่เดือน มี.ค.-13 ส.ค. มีจำนวนผู้รับบริการแบบเจอ แจก จบ 7,088,138 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงความคืบหน้าในการจัดทำกรอบนโยบายแนวทางปฏิบัติและห้วงเวลาในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post-Pandemic หรือระยะหลังการระบาดใหญ่ โดยหารือด้านการป้องกันว่าขณะนี้สถานการณ์ทั่วโลกยังมีการเพิ่มผู้ติดเชื้อ แต่จำนวนอาการรุนแรงและเสียชีวิตไม่สูง ภาพรวมประชาชนในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 90 มีภูมิคุ้มกัน ผู้ฉีดวัคซีนสามเข็มไม่ว่าสูตรใดสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 90
“หลังจากนี้ลักษณะการเกิดโควิด-19 จะคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะพบผู้ป่วยตลอดทั้งปี ด้านการรักษาอาการผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง ยกเว้นในกลุ่มเสี่ยง การใช้ยาและการรักษาที่โรงพยาบาลควรใช้เฉพาะกลุ่มผู้มีอาการ สำหรับการแยกกักตัวจะใช้เวลา 10 วัน คือ แยกกักตัว 5 วัน และอีก 5 วัน ให้ปฏิบัติตนแบบ DMH อย่างเคร่งครัด โดยกรอบระยะเวลานั้น ในเดือน ก.ย. จะให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง จากนั้นตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. จะปรับให้โรคระบาดเฉพาะพื้นที่” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป บทบาทของ ศบค.จะลดลง โดยจะใช้กลไกของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. จะเข้ามาดำเนินการในส่วนนี้ แต่ในที่ประชุมยังไม่ได้มีการพูดถึงการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะประเมินสถานการณ์กันต่อไป เนื่องจากยังเหลือระยะเวลาการประกาศใช้จนถึงสิ้นเดือน ก.ย. ที่ประชุมจะรอดูสถานการณ์
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในปัจจุบันยังมีข่าวดีเกี่ยวกับความก้าวหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศ โดยวัคซีนที่พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขององค์การเภสัชกรรม มีความก้าวหน้าและเตรียมขึ้นทะเบียนในปี 66 และ 67 ตามลำดับ อาทิ Chula-Cov19, BaiyaSARS-Cov-2VaX, NDV-HP-F ขณะที่การฉีดวัคซีนในประเทศไทย มีการฉีดไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 142 ล้านโดส มีอาการไม่พึงประสงค์ เสียชีวิตเพียง 6 คน ถือว่าน้อยมาก และถ้าดูยอดผู้เสียชีวิตในกลุ่ม 608 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.65 มีทั้งสิ้น 9,373 ราย ในจำนวนนี้มีถึง 5,260 ราย ที่ไม่ได้รับวัคซีน จึงอยากเชิญชวนประชาชนให้ไปฉีดวัคซีน เข็มกระตุ้น เพราะข้อมูลยืนยันแล้วว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตต่ำ และขณะนี้ในประเทศไทยมีวัคซีนคงคลังรวมแล้ว 8 ล้านโดส จึงถือว่ามีความเพียงพอในการฉีดให้กับประชาชน
นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศว่าในเดือน ก.ค. มีผู้เดินทางเข้าประเทศถึง 1.07 ล้านคน มากกว่าเดือน มิ.ย.ที่มีเพียง 7.6 แสนคน และถ้าดูรายได้จากการท่องเที่ยวพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-17 ส.ค. มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 176,311 ล้านบาท เป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ 377,740 ล้านบาท จึงต้องมาหาแนวทางให้ได้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น
สั่ง สธ.ระวังเชื้อกลายพันธุ์
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสริมว่า นายกฯ มอบหมายให้ สธ.เฝ้าระวังและติดตามเชื้อกลายพันธุ์ของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตามแผนที่วางไว้
“นายกฯ เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลเกี่ยวกับผลสำเร็จในการดำเนินการต่างๆ ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย ซึ่งได้รับความชื่นชมและยอมรับจากต่างประเทศ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั้งในและต่างประเทศได้รับทราบอย่างกว้างขวาง รวมถึงการขอความร่วมมือให้ประชาชนทุกภาคส่วน และผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า สถานบริการต่าง ๆ ยังต้องเข้มข้นในการปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention และมาตรการ COVID - Free Setting ต่อเนื่องเคร่งครัด รวมถึงให้ ศบค. จังหวัด/กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ บริหารจัดการและกำจัดขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ และรณรงค์ให้ประชาชนมีการแยกขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยออกจากขยะทั่วไป เพื่อป้องกันการเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นพ.อุดมระบุ ศบค.เตรียมพิจารณาไม่ขยายระยะเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.ในการประชุมครั้งหน้าว่า ก็อาจจะเป็นได้ แต่การประชุม ศบค.วันนี้ไม่ได้มีการเสนอเข้ามา เพราะหากไม่ต่อการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็จะสิ้นสุดลง ส่วน ศบค.จะอยู่หรือจะไปก็ได้ แต่โดยหลักก็ควรยก ซึ่งไม่ยุ่งยากอะไร เพราะเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนบอกแล้วการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับการมีหรือไม่มี ศบค.ไม่ได้เกี่ยวกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะแม้จะยกเลิกเราก็ยังให้ ศบค.อยู่ แต่อำนาจนั้นลดลง แต่อาจจะให้อยู่ตามอำนาจกฎหมายอีกฉบับคือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11(8) แต่ลดบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ ศบค.ลง และส่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุขไปจัดการ โดยไม่ต้องไปยุ่งกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อีกก็ได้
เมื่อถามว่า สถานการณ์ของโควิด-19 มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังวันที่ 30 ก.ย.65 นายวิษณุ กล่าวว่า ตอบไม่ถูก ต้องถามกระทรวงสาธารณสุข และ สมช.ที่เป็นผู้ประเมินสถานการณ์ ซึ่งถ้าหากไม่ใช่ พ.ร.ก.ก็มี พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ฉบับเดิม ซึ่งอำนาจส่งกลับคืนไปให้กระทรวงสาธารณสุข
ซักว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ ครม.เคยเห็นชอบแล้ว จะนำมาใช้ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ยังไม่ได้ประกาศใช้ เพราะต้องรอให้คิดครอบคลุมกับโรคอุบัติใหม่ทุกชนิดก็เลยรั้งรอไว้ ไม่ได้เสนอเป็นพ.ร.บ.เข้าสภา และยังไม่ได้ออกเป็นพ.ร.ก.เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขได้อ่านสถานการณ์ได้ชัดเจน สรุปก็คือพักเอาไว้ แต่ถ้าประกาศใช้ก็จะไม่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไว้ใช้ เช่น ภาคใต้ แต่ที่ผ่านมาเรายืมมาใช้ เพราะเราไม่มีกฎหมายอื่นใด แต่ก็พออนุโลมมาบังคับใช้กับโรคระบาดร้ายแรง
เมื่อถามว่าต่อว่า หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จะดูแลโควิดครอบคลุมหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าโควิดไม่รุนแรงก็จะครอบคลุม แต่ถ้ารุนแรงก็จะไม่ครอบคลุม เพราะทุกกระทรวงจะปล่อยมือวางหมด เหลือแค่กระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานเดียว ซึ่งเขาคงรับมือไม่ไหว พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ออกแบบมา สร้าง ศบค.ขึ้นมา เพื่อบูรณาการทุกกระทรวง แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถบูรณการกับใครได้ ดังนั้นถ้าใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กระทรวงสาธารณสุขรับไปเต็มๆ ฉะนั้น ถ้าเกิดสถานการณ์วิกฤต เราก็ย้อนกลับไปประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใหม่ได้อีก โดยให้ ครม.ประกาศ และหากจะยกเลิกต้องเสนอ ศบค.ก่อนเพื่อให้คำแนะนำและจึงเข้า ครม.ต่อไป
ขณะที่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวในประเด็นนี้ว่า เรื่องนี้จริงๆ แล้วมีความชัดเจน โดยขณะนี้นายกฯ ได้อนุมัติแผนการให้โรคโควิด-19 เป็นโรคเฝ้าระวัง ส่วนต้องยกเลิกการใช้ พ.ร.กฉุกเฉินหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ จากการเตรียมการ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ สภาพความเป็นอยู่ โดยจะพิจารณาอีกครั้งในการประชุม ศบค.วงรอบหน้า ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.ย..
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ