ใช้‘ขันติ’สู้วาระ8ปี คาดชวนยื่นตีความ22ส.ค./วิษณุแพลมบิ๊กตู่นั่งรักษาการได้

สภาตรวจรายชื่อฝ่ายค้านตีความปมนายกฯ 8 ปีเสร็จแล้ว คาด “ชวน” ยื่นศาล รธน. 22 ส.ค. “บิ๊กตู่” นิ่งยึดขันติ “วิษณุ” กางตำรา บอกรักษาการก็ปรับ ครม.ได้ “อนุทิน” ไม่ให้ราคาแพทย์ชนบท บอกนายกฯ ไม่ยี่หระ ครป.จี้ ปธ.รัฐสภารีบเลือกผู้นำคนใหม่

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา   เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นคำร้องผ่านนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ว่าหลังได้รับรายชื่อ ประธานรัฐสภาได้ตรวจสอบรายชื่อทั้ง 172 รายชื่อ เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ พบว่า ใน 172 รายชื่อ มีลายเซ็นที่ไม่ตรงกับตัวอย่างที่สมาชิกเคยให้ไว้กับเลขาธิการสภาฯ จำนวน 5 ราย ซึ่งได้ตรวจสอบไปยังทั้ง 5 คน และได้ทำบันทึกยืนยันรายชื่อกลับมาแล้วว่าได้ลงชื่อสนับสนุนจริง จากนั้นนายชวนจะได้นำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญต่อไป 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คาดว่าจะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้วันจันทร์ที่ 22 ส.ค.นี้

ขณะที่ภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงความกังวลเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี โดยนายกฯ ได้เดินออกจากโพเดียมแถลงข่าวทันทีพร้อมยิ้มและส่ายหน้าเล็กน้อย

เมื่อถามถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทออกแถลงการณ์กดดันให้นายกฯ ออกจากตำแหน่งเมื่อครบ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบคำถามดังกล่าว เมื่อถามย้ำว่า นายกฯ ต้องใช้หลักขันติในการรับข่าวสารที่มีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปมวาระ 8 ปีใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์พยักหน้ารับ ก่อนเดินขึ้นห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้าไปทันที

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่านายชวนจะยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือยังนั้นตนไม่ทราบ จากนั้นรอว่าศาลจะดำเนินการต่ออย่างไร หากศาลพิจารณาเองได้ก็จบ แต่ถ้าศาลระบุว่าเกี่ยวพันกับนายกฯ แล้วนายกฯ จะว่าอย่างไร อย่างนี้ต้องตอบไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้นายกฯ มีความเป็นห่วงหรือไม่ว่าในสัปดาห์หน้าจะสามารถดำเนินการเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า สื่อต้องไปถามนายกฯ ดูเองว่ามีความกังวลหรือไม่

เมื่อถามอีกว่า ได้ชี้แจงต่อนายกฯ อย่างไรหรือไม่ ถึงระเบียบการทำงานที่สามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่อย่างไร รองนายกฯ ระบุว่า เมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ตนบอกกับนายกฯ ว่าไม่มีใครสามารถยื่นได้ในขณะนั้น เพราะยังห่างไกล แต่เมื่อใกล้ถึงวันที่ 24 ส.ค. คงมีคนยื่นแน่ๆ ดังนั้นระหว่างนี้ต้องบริหารราชการไปตามปกติ จนกว่าศาลจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 82 ซึ่งมาตรา 82 ระบุว่า หากมีเหตุอันสมควร ศาลสามารถสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ ในอดีตที่ผ่านมาที่มีการฟ้องร้องกัน บางคดีศาลสั่งให้หยุด บางคดีศาลไม่ได้สั่งให้หยุด และหากศาลสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องหยุด

ต่อข้อถามว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ คนที่ขึ้นมารักษาการนายกฯ คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ใช่หรือไม่ รองนายกฯอธิบายว่า เอาตรงๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์ยังรักษาการได้ แต่ในกรณีที่นายกฯ จะรักษาการไม่ได้ จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 168, 169 ที่ระบุว่า ในกรณีที่นายกฯ กระทำผิดไม่ให้นายกฯ รักษาการ หรือถ้าคนที่กระทำผิดคือ ครม. ครม.ก็รักษาการไม่ได้ แล้วให้ปลัดกระทรวงทั้งหมดขึ้นมารักษาการ

รองนายกฯ ระบุอีกว่า แต่หากนายกฯพ้นด้วยกรณีอื่น นายกฯ ก็รักษาการได้   เหมือนกับหากนายกฯ ยุบสภาก็ยังรักษาการได้ นายกฯ ลาออกก็ยังรักษาการได้ หรือนายกฯ ถูกศาลสั่งว่าครบ 8 ปีแล้วต้องออก นายกฯ ก็รักษาการได้ แต่นายกฯ อาจจะขอไม่รักษาการ ถ้าอย่างนั้นจะมาเป็น สร.2 คือ พล.อ.ประวิตร

เมื่อถามถึงกระแสข่าวการยุบสภาก่อนครบวาระ 8 ปี ขณะนี้ยังมีสัญญาณนั้นอยู่หรือไม่ นายวิษณุปฏิเสธว่า "ผมไม่เห็น พวกคุณเห็นกันที่ไหนสัญญาณ ผมไม่รู้ คุณตีระฆังสั่นกระดิ่งกันตรงไหนว่าจะยุบ"

‘บิ๊กตู่’ไม่ยี่หระแรงกดดัน

ซักว่า นายกฯ มีสิทธิ์ตัดสินใจหรือไม่ว่าเพื่อความกระจ่าง และก่อนวันที่ 24 ส.ค.อาจจะขอพักงานตัวเองไปเสียก่อน นายวิษณุบอกว่า ไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับนายกฯ เมื่อถามย้ำว่า หากทำตามกฎหมาย แสดงว่านายกฯ สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุยอมรับว่าใช่ ถูก เว้นแต่ศาลจะสั่งตอนที่รับเรื่องว่าให้หยุด กลับอีกคราวหนึ่งเมื่อศาลวินิจฉัยว่าครบแล้ว 8 ปี ถ้าเป็นเช่นนั้นก็พ้น แต่ยังต้องรักษาการ และรักษาการจนกว่าประธานรัฐสภาจะหานายกฯ คนใหม่

ถามว่า ในระหว่างที่รักษาการ นายกฯสามารถประกาศยุบสภาได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ได้ ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อยุบสภาแล้วยังสามารถปรับ ครม.ได้ เพราะขณะนั้นใน ครม.มีความขัดแย้ง จึงต้องปรับ ครม.ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทแถลงการณ์เชิญชวนทุกองค์กรในสังคมแสดงออกขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ในประเด็นเรื่องการดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปีว่า คงทำในนามส่วนตัว ส่วนที่มีการออกแถลงการณ์ในนามชมรมแพทย์ชนบทนั้น ก็คงเป็นองค์กรๆ หนึ่ง แต่ไม่ได้มีอะไรผูกพันกับกระทรวงสาธารณสุข เป็นเหมือนสมาคมที่ตั้งขึ้นมากันเอง เป็นกลุ่มเป็นก้อน คงจะใช้ความเป็นปัจเจกบุคคลทำความเห็นดังกล่าว แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับฟังอะไร ถ้าฟังแล้วไม่เข้าท่า

เมื่อถามว่า กรณีที่เป็นแพทย์ในกระทรวงและไปแสดงออกเช่นนี้ทำได้หรือไม่ นายอนุทินบอกว่า ไม่อยากจะไปตอบโต้หรือโต้เถียง เพราะอะไรที่เขียนมาไม่มีสาระ ไม่มีความหมาย และไม่ผูกพันกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจอยู่แล้ว ข้อความอะไรเยอะแยะที่เขียนมาก็ไม่ได้ทำตามสักเรื่อง อย่าไปสนใจ แต่ว่าเป็นสิทธิเสรีภาพ ในฐานะประชาชนที่จะเขียนอะไรก็ได้ ถ้าเป็นข้าราชการ เข้าข่ายผิดวินัย เขามีผู้บังคับบัญชาที่จะจัดการดูแลไป

เมื่อถามอีกว่า การออกมาเรียกร้องของชมรมแพทย์ชนบทให้องค์กรต่างๆ ร่วมกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ถือว่าเป็นการกดดันศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอนุทินย้อนถามว่า กดดันใครได้ ไม่มี เคยกดดันใครได้ล่ะ ที่ผ่านมาไม่ได้มีชมรมนี้ชมรมเดียวที่กดดันนายกฯ คนออกมากดดันนายกฯ ตั้งเยอะแยะ คนที่สนับสนุนก็เยอะแยะ และพรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้ก็สนับสนุนนายกฯ อยู่

 “นายกฯ ยังไม่ได้สอบถามอะไร เพราะเรื่องแค่นี้นายกฯ ไม่ยี่หระ ขอยกตัวอย่างอธิบดีกรมควบคุมโรค มาเขียนด่ารัฐบาล  อย่างนี้อีกเรื่องหนึ่ง” รมว.สาธารณสุขระบุ

ส่วนจะให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไปทำความเข้าใจและตักเตือนชมรมแพทย์ชนบทหรือไม่นั้น รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ถ้าไม่เกี่ยวกับงาน ไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพ ต้องเข้าใจตรงนี้ และเราทำหน้าที่ของเรา เขาทำหน้าที่ของเขา ใครทำอะไรไว้ก็มีผลของการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นเรื่องปกติ

นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์  ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า วันนี้ไม่ใช่เวลาที่ต้องมาถกเถียงกันแล้วว่าวาระ 8 ปี เริ่มเมื่อไหร่ และจะจบลงเมื่อใด พล.อ.ประยุทธ์ย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจ ไม่ต้องให้ศรีธนญชัยคนที่สอง คนที่สาม คนที่สี่ มาพูดกรอกหูอีก และเรื่องนี้ป่วยการที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญมาตีความเพื่อคนคนเดียว เพราะควรจะไปทำเรื่องอื่นที่สำคัญต่อประชาชนและประเทศชาติบ้านเมืองมากกว่า

ประธาน ครป.กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ การที่นายกฯ หรือผู้นำประเทศที่ขาดสัจจะ และหิริโอตตัปปะ ความละอายเกรงกลัวต่อบาป ไม่สมควรอยู่ในอำนาจอีกต่อไป นี่คือหลักการที่เป็นสากล ผู้นำที่ประเทศพัฒนาแล้วควรต้องมี ช่วงเวลานี้จึงเหมาะสมแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกก้าวลงจากหลังเสืออย่างไร้ความกังวล ปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปเถอะ โดยปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ หาไม่แล้วตนเป็นห่วงว่าบ้านเมืองจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ความเสียหายย่อมจะเกิดขึ้นอีกโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ การดันทุรังต่อไปย่อมไม่มีประโยชน์ต่อสังคมไม่ว่าประการใดๆ

จี้'ชวน'รีบเลือกนายกฯ ใหม่

ด้านนายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า ขณะนี้มีกระแสว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจเลือกหนทางยุบสภาเพื่อเป็นนายกฯ รักษาการในช่วงการประชุมเอเปกในปลายปีนี้ แต่ตนคิดว่า พล.อ.

ประยุทธ์ไม่มีความเหมาะสมที่จะเชื่อมประสานสุดยอดผู้นำโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสันติภาพ เนื่องจากขาดศักยภาพและคณะทำงานมืออาชีพ เพราะบริหารประเทศเหมือนขายของเด็กเล่น ทีมทำงานก็ใช้แต่ผู้ที่ตนเองรักและไว้ใจ แต่ไม่มีฝีมือ ซ้ำร้ายใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมา 2 ปีกว่าซึ่งขัดธรรมาภิบาลและกฎหมายระหว่างประเทศ

เลขาธิการ ครป.ระบุว่า ผลงานเด่นของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คือการสร้างความเหลื่อมล้ำและเจ้าสัวคนใหม่ ตนไม่ทราบว่ารัฐบาลบริหารเศรษฐกิจอย่างไรให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เกิดการสัมปทานและต่อสัญญาโครงการต่างๆ ให้อภิมหาเศรษฐีมากมายในยุครัฐบาล คสช. ผืนแผ่นดินไทยกลายเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่รัฐบาลโยนมีดให้นายทุนเลือกเฉือนท่ามกลางหยดเลือดของประชาชน ทุกสัญญาสัมปทานต้องเปิดเผยโปร่งใสให้ประชาชนรับทราบเข้าถึงได้ เรื่องหนึ่งที่คลางแคลงใจและเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผมขอให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ช่วยเปิดเผยสัญญาสัมปทานการผลิตไฟฟ้า 20 ปีที่บริษัทเอกชนทำสัญญาผูกขาดกับ กฟผ. โดยมีการประกันราคา อยากทราบว่าเกี่ยวกับการปล้นกระเป๋าคนไทยและค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นหรือไม่                  

เลขาธิการ ครป.กล่าวว่า เรื่อง 8 ปีนายกฯ นั้น เป็นเรื่องคุณสมบัตินายกฯ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์จะเป็นต่อได้ ต้องออกพระราชบัญญัติล้างมลทินเท่านั้น แต่มีความพยายามโยนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินวินิจฉัยตีความ แต่ไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไร เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นว่าจะมีความเป็นอิสระทางการเมือง และศาลรัฐธรรมนูญจะรับพิจารณาหรือไม่ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะถือเป็นการกระทำของรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ การโยนหินถามทางให้นับตั้งแต่ 2560 หรือ 2562 ล้วนเป็นการพยายามสืบทอดอำนาจโดยการงดเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ซ้ำรอยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นจุดด่างพร้อยของประชาธิปไตยไทยมาจนถึงปัจจุบัน สุดท้ายพระยามโนปกรณ์ฯ ถูกรัฐประหารขับออกจากตำแหน่ง

"สิ่งที่ทุกฝ่ายควรรับผิดชอบชาติบ้านเมืองคือ ประธานรัฐสภาควรจะต้องเรียกประชุมสมาชิกรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ คนใหม่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแคนดิเดตนายกฯ ที่เหลืออยู่ 5 คน เพื่อไม่ให้เกิดการรัฐประหารเงียบ โดยการงดเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรา การร่วมรับผิดชอบชาติบ้านเมืองเป็นคุณธรรมจริยธรรมสูงสุดของนักการเมือง ซึ่งถ้าขาดหายไปแล้วจะทำให้บ้านเมืองไปต่อได้ยากยิ่ง แต่ทุกวันนี้เราคุยกันเรื่องขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ต่ำที่สุดในการประกันการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม" นายเมธากล่าว

มีรายงานว่า ครป.และเครือข่าย 99 พลเมือง เตรียมจัดเวทีสาธารณะ "วิเคราะห์การเมืองไทยหลังเงื่อนไข 8 ปีนายกฯ และชะตากรรม พล.อ.ประยุทธ์"  วันเสาร์ที่ 20 ส.ค.65 เวลา 13.30-15.30 น. ที่ห้องประชุมด้านหลัง อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน กทม.

โดยเวทีดังกล่าวมีผู้ร่วมอภิปรายหลายคน ได้แก่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, นายบุญแทน  ประธาน ครป., นางสมศรี หาญอนันทสุข  สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ, พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ, นายเมธา เลขาธิการ ครป. และผู้ประสานงาน 99 พลเมือง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี