สธ.ชง ศบค.ชุดใหญ่ ลดสถานะโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง 1 ต.ค. ยังไม่เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขอดูแผนสาธารณสุขก่อน ส่วนยุบ ศบค. ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ พร้อมยกระดับกระจายยาให้ดีขึ้น อาจไปสู่ร้านยาชั้น 1 ชี้เปิดผับถึงตี 4 ไม่ใช่อำนาจ ศบค. แต่ห่วงอาจทำโรคแพร่ระบาด
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม เวลา 09.00 น. พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ว่า จะมีเรื่องสำคัญที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และ รมว.สาธารณสุขได้หารือไว้ และกำหนดกรอบแนวทางไว้ คือการปรับโควิดไปเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งมีแผนงานที่ชัดเจน และตรงนี้ถือเป็นอำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อกำหนดไว้เลย แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการแก้ปัญหาโควิดมี ศบค.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศอยู่ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะนำเรื่องนี้มาแจ้งให้ที่ประชุม ศบค.ทราบ เผื่อจะมีข้อสังเกตและข้อแนะนำเพิ่มเติมก่อนดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ จะมีการดูถึงสถานการณ์ภาพรวมการติดเชื้อโควิดของทั้งโลก ภูมิภาคและประเทศไทย และนายกฯ จะรับทราบถึงสถานการณ์ท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ ตัวเลขต่างๆ ที่โตขึ้น ข้อกำจัดต่างๆ ที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องไปปรับปรุงเพิ่มเติมและแก้ไข รวมถึงรายงานเกี่ยวกับการเปิดด่านชายแดนที่เปิดมาเดือนกว่าๆ เป็นอย่างไร ติดขัดตรงไหน มีอะไรต้องปรับปรุง หรือจะเสริมตรงไหนให้การเดินทางเข้าประเทศเป็นไปโดยสะดวก และให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้านี้ อีกเรื่องที่สำคัญคือ แผนการกระจายยา จะมีการยกระดับให้ดีขึ้น โดยขณะนี้ไปถึงโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเวชกรรม ต่อไปอาจมีการพิจารณาถึงร้านยาชั้น 1 ที่จะสามารถกระจายยาโควิดให้กับประชาชนได้ภายใต้การกำกับของแพทย์ จะมีการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อถามว่า จะประสานให้เป็นโรคประจำถิ่นได้เลยหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ใช่ จะดูว่าอาจจะกำหนดเวลาไว้ และยังมีเวลาที่จะประเมินสถานการณ์ ถ้าใกล้เวลาแล้วเกิดมีสถานการณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง สธ.จะเป็นผู้พิจารณา จะปรับอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น แต่ในแผนนี้มีความสำคัญ จะต้องเตรียมและพูดกันก่อน โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดใหญ่ ต้องมองไปถึงการบูรณาการร่วมกับจังหวัดข้างเคียง
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันที่ 1 ต.ค.นี้ ศบค. จะถูกยุบหรือไม่ เพราะจะปรับโควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ไม่เกี่ยวกับความเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ไม่ว่าจะเป็นระดับไหนก็ตาม แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่ามีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษควบคุมและป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้าย
เมื่อถามย้ำว่า สถานการณ์โควิดที่เบาลงในบางระดับ เราจำเป็นต้องใช้กฎหมายฉุกเฉินอยู่หรือไม่ เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า ตอนนี้ยังใช้อยู่ เราจำเป็นต้องควบคุมคนเข้า-ออกประเทศ ยังจำเป็นในการกำกับหรือห้ามกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย จะดูแผนของ สธ. และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า แผนที่ออกมานี้ยังจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่หรือไม่
ส่วนข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้เปิดผับถึงตี 4 นั้น พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า การผ่อนคลายของ ศบค. ที่ผ่านมา ถือว่าสุดทางของหน้าที่ของศบค.แล้ว เรื่องที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ซึ่งถ้าจะปรับเวลาอาจจะเป็นกรณีปกติคือการแก้กฎหมายหรือกฎกระทรวง หรือจะเป็นกรณีพิเศษต้องให้ผู้มีอำนาจหรือมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ไม่เกี่ยวกับ ศบค.แล้ว แต่ ศบค.อาจมีข้อกังวล ถ้าขยายเวลาปิดไปตี 4 จะมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนที่เกี่ยวข้องกับโควิดแค่นั้น ทั้งนี้ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬายังไม่เสนอเรื่องนี้เข้าวาระการประชุม
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว สธ.จะนำเสนอให้ที่ประชุม ศบค. รับทราบถึงมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ว่าด้วยเรื่องของการลดระดับสถานการณ์โควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง
ผู้สื่อข่าวถามว่า สธ.จะเสนอให้ที่ประชุม ศบค.พิจารณาใช้กฎหมายปกติได้แล้วหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า คงเป็นส่วนประกอบ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่นำมาควบคุมสถานการณ์โควิด-19 เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีและ ศบค.เป็นผู้ประกาศบังคับใช้ และข้อมูลของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้โรคโควิด-19 เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เหมือนกับการเปลี่ยนจากพื้นที่สีแดง ให้เป็นพื้นที่สีส้มอ่อนๆ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในเรื่องของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้อีกแนวทางหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับ ศบค.
เมื่อถามว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ สธ.มองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังมีความจำเป็นหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ความจริงมีผลหลายอย่าง อย่าไปมองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมาจำกัดสิทธิเสรีภาพ เพราะเป็นเรื่องของการควบคุมสถานการณ์โรคระบาดเท่านั้น ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปได้ด้วยความคล่องตัวมากขึ้น เมื่อมีปัญหาเร่งด่วนก็สามารถนำเข้าประชุม ศบค.ได้ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความสบายใจ มั่นใจที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เหมือนมีที่พิงหลังให้ข้าราชการที่ต้องดูแลประชาชน
ส่วนแนวโน้มการใช้วัคซีนตัวใหม่ของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ต่างประเทศสามารถใช้ควบคุมโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาและโอมิครอนได้แล้วนั้น นายอนุทินกล่าวว่า หากคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ พิสูจน์แล้วเห็นชอบก็จะนำเสนอ เราพร้อมทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเตรียมเสนอ ศบค.นำร่องขยายเปิดสถานบริการในพื้นที่ถนนข้าวสารถึงตี 4 ว่า ส่วนตัวมีนโยบายผู้ว่าฯ เที่ยงคืน และไม่ขัดข้อง เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้คนมีทางเลือกในการท่องเที่ยวมากขึ้น และหากมีโอกาสจะไปหารือกับ รมว.การท่องเที่ยวฯ เพื่อหาแนวทางหรือกฎหมายให้รอบคอบและรัดกุมมากยิ่งขึ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฟุ้งปีใหม่โอกาสดีทุกคน มั่นใจ‘แม้ว-หนู’ไร้ปัญหา
นายกฯ อิ๊งค์อวยพรปีใหม่ ให้ทุกคนมีจิตใจเบิกบานยันปี 68
ทักษิณจ่อพบอันวาร์ในไทย
"ทักษิณ" ยันเตรียมพบ "อันวาร์" กำลังรอคอนเฟิร์ม
แฉ10โกงทำประเทศจน เอกชนสมคบกับจนท.รัฐ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแฉ 10 กรณีทุจริตแห่งปี 2567 ที่ทำคนไทย “เจ็บ” และ “จน" หลายเรื่องราวยังไม่จบ
สมัครอบจ.คึกคักพท.เกทับปชน.
เปิดรับสมัครนายกและสมาชิก อบจ.วันแรกทั่วไทยสุดคึกคัก
รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง สื่อทำเนียบฯตั้งฉายา‘แพทองโพย’อิ๊งค์มองมุมดีส่งเสริมกัน
สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายาปี 67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง” นายกฯ "แพทองโพย" วาทะแห่งปี
อย่างหล่อ! ‘อนุทิน’ ปัดตีกอล์ฟเคลียร์ขัดแย้ง ‘ทักษิณ’ ยันการกระทำสำคัญกว่าคำพูด
‘อนุทิน’ ปัดตีกอล์ฟ ‘ทักษิณ’ เคลียร์ปมขัดแย้ง ยัน ‘การกระทำสำคัญ กว่าคำพูด’ ย้ำอีแอบ ไม่ได้หมายถึงตัวเอง - ภูมิใจไทยชัดเจน เพราะข้อเท็จจริงเข้าประชุมครม.