"สุพัฒนพงษ์" แจง พ.ร.ก.ค้ำประกันเงินกู้อุ้มกองทุนน้ำมัน แก้ปัญหาเร่งด่วน สบายใจได้อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง "คลัง" การันตีไม่กระทบฐานะ ไม่ให้กู้ครั้งเดียว 1.5 แสนล้าน จ่อต่ออายุมาตรการลดค่าไฟกลุ่มเปราะบางถึงสิ้นปี
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หารือวาระลับ และมีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ..... และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กรอบวงเงิน 1.5 แสนล้าน เป็นที่เรียบร้อยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องหารืออย่างเข้มข้น และเร่งหามาตรการช่วยเหลือ ทั้งนี้ เป็นไปตามปกติของวิธีการเสนอกฎหมายที่เป็น พ.ร.ก. ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ก็มีผลบังคับใช้ โดยสามารถกู้เงินได้ทันที ขณะนี้เมื่อยังอยู่ในสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา ต้องนำเสนอเข้าไปให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาด้วย ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการทั้งหมดนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า การหาเงินมาช่วยเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และตอนนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศแล้ว ดังนั้นเพื่อให้กองทุนน้ำมันได้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการช่วยเหลือดูแลประชาชนได้ต่อไป ต้องเร่งทำเรื่องนี้โดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามทุกวิถีทางแล้วในการสร้างสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมัน จนมาเป็น พ.ร.ก.ฉบับนี้
เมื่อถามว่า การกู้เงินของกองทุนน้ำมันจะกู้เต็มกรอบวงเงินที่ผ่าน ครม. วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นรายละเอียด แถมเป็นวาระลับที่คุยใน ครม. คงบอกทั้งหมดไม่ได้ แต่เชื่อว่าการกู้เงินคงไม่ได้กู้เงินทันทีเลยในครั้งเดียว ซึ่งกองทุนน้ำมันจะมีแผนการกู้เงินทีละก้อนอยู่แล้ว ซึ่งต้องทยอยกู้ตามความเหมาะสม เพื่อใช้ทั้งหนี้เดิม และสำรองเอาไว้ใช้ในช่วงต่อไป ส่วนวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่กระทรวงการคลังประเมินออกมาแล้วว่า สามารถดำเนินการได้โดยที่ไม่กระทบกับวินัยการเงินการคลัง
"การกู้เงินของกองทุนน้ำมันทั้งหมด ก็ถือเป็นหนี้สาธารณะ จะไปซ่อนหรือไปหลบไม่ได้ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนสบายใจได้ว่ากระทรวงการคลังได้ดูแลเรื่องนี้อย่างดี และคำนวณตัวเลขออกมาเหมาะสม ในรายละเอียดเบื้องต้นของการกู้เงิน ล่าสุด กระทรวงการคลังได้สรุปออกมาแล้ว แต่ยังไม่สามารถบอกได้ ส่วนจะเป็นการกู้สถาบันการเงินในประเทศหรือต่างประเทศนั้น เป็นไปได้หมด เพื่อให้ได้เงินมาอย่างรวดเร็วและเกิดความคล่องตัวมากที่สุด” นายสุพัฒนพงษ์ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่เลือกเก็บภาษีลาภลอยตามที่มีการพูดถึง นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูในอดีต ภาษีลาภลอยเคยมีคนคิดอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลา และไม่ใช่มีเกณฑ์ที่จะทำได้ง่ายๆ
ส่วนการพูดคุยกับ 6 โรงกลั่นนั้น ก็คุย แต่วันนี้ค่าการกลั่นไป 2 บาทกว่าแล้ว หากค่าการกลั่นยืนระยะสูง 5-6 บาทอย่างต่อเนื่องคงต้องพูดคุยต่อ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญในยามวิกฤตนี้เราต้องประคับประคองให้ผ่านพ้นไปให้ได้ โดยรักษาวินัยทางการเงินการคลังให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะเจริญเติบโตต่อไปได้
เมื่อถามว่า ภารกิจนี้ถือเป็นความท้าทายการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า คิดว่าท้าทายทุกรัฐบาล เพราะความท้าทายที่แท้จริงคือความไม่แน่นอน เพราะอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้
ส่วนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เคาะขึ้นค่าเอฟที รัฐบาลต้องรับมืออย่างไรนั้น นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ต้องดูแลกลุ่มคนเปราะบาง ตอนนี้ให้ กกพ.ไปคิดต่อว่าเมื่อขึ้นไปอย่างนี้ กลุ่มคนเปราะบาง คนที่เคยดูแลอยู่ ที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย ถ้าจะต้องดูแลต่อจะต้องใช้เงินอย่างไร มากกว่า 300-500 หน่วยจะดูแลอย่างไร ซึ่งอีกไม่นานคงทราบ เราจะรีบดำเนินการ เพราะราคาเอฟทีใหม่จะมีผลในเดือน ก.ย. ซึ่งต้องใช้งบกลางในการดูแลกลุ่มเปราะบางให้เดือดร้อนน้อยที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ใช้เวลาถึงสิ้นปีนี้เลยหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ต้องเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นไปตามรอบของค่าไฟฟ้า ก็ประคับประคองกันไป
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด เพื่อให้กระทรวงการคลังเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) โดยก่อนหน้านี้มีแผนการกู้เงิน 3 หมื่นล้านบาท แต่การไปขอเจรจากู้เงินกับสถาบันการเงินยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังมีความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งกระทรวงพลังงานมองว่าหากกระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันการกู้เงินให้ สถาบันการเงินก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น ทั้งนี้ การกู้เงินจะต้องดูการบริหารรายรับรายจ่ายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กระทรวงการคลังได้มีข้อเสนอแนะไปยัง สกนช. ให้มีการจัดทำแผนในส่วนนี้ให้ชัดเจน โดยมองว่าการกู้เงินควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม การค้ำประกันการกู้เงินให้กับ สกนช.นั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นภาระงบประมาณ แต่เป็นเรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องไปบริหารจัดการรายรับรายจ่ายเพื่อมาชำระเงินกู้คืนให้กับสถาบันการเงิน
“ยังบอกไม่ได้ว่าการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวจะส่งผลให้หนี้สาธารณะมีสัดส่วนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในฐานะที่เป็นผู้กู้ ต้องชำระเงินกู้ให้หมดภายใน 7 ปี ซึ่งมีข้อเสนอว่าไม่ได้กู้ครั้งเดียวหมด 1.5 แสนล้านบาท แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารรายรับรายจ่ายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย” รมว.การคลังกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอ๊ะยังไง! 2 สัปดาห์ ชื่อ 'กิตติรัตน์' ประธานบอร์ด ธปท. ยังไม่ถึงมือขุนคลัง
'พิชัย' บอกยังไม่ได้รับรายงาน ผลการเลือก 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' คาดติดช่วงวันหยุด ชี้ช่วยค่าเกี่ยวข้าวชาวนาไร่ละ 500 บาท ขอฟังความเห็นที่ประชุม นบข.
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น