รุมบีบ‘บิ๊กตู่’จบ8ปี 51อาจารย์นิติฯร่อนจม.ถึงศาลรธน./ผู้ตรวจสรุปสัปดาห์นี้

"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" คาดสัปดาห์นี้ได้ผลสรุปปม 8 ปีนายกฯ "บิ๊กตู่" ยิ้มมุมปาก ไม่ตอบคำถามสื่อ "ฝ่ายค้าน" เตรียมยื่นคำร้อง "ชวน" 17 ส.ค. ชงศาล รธน.ตีความพ้นจากตำแหน่ง พร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ มั่นใจข้อกฎหมายชี้ชัด "พท." จัดเสวนาวาระ 8 ปีประยุทธ์ "สุทิน" แนะเสียสละก่อนเกิดวิกฤตขัดแย้ง 

เมื่อวันที่ 16 ส.ค.65 พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสถานะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่าเบื้องต้นผู้ตรวจฯ มีมติรับคำร้อง และได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าควรจะออกคำวินิจฉัยให้ได้ก่อนวันที่ 23 ส.ค.นี้

"ประเด็นนี้เป็นประเด็นทางข้อกฎหมาย เป็นการตีความตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อใด ซึ่งการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมคงเป็นเรื่องการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปขอข้อเท็จจริงจากหน่วยงานอื่นแต่อย่างใด ดังนั้นภายในสัปดาห์นี้น่าจะมีคำตอบที่ชัดเจน และน่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาได้" เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวทางการพิจารณาของผู้ตรวจฯ ตามรัฐธรรมนูญ สามารถออกแนวทางได้ดังนี้คือ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 230 ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หากเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์การพิจารณา หรือไม่มีบทบัญญัติหรือกฎหมายใดให้อำนาจที่จะกระทำได้ ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีมติยุติคำร้อง

ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามกรณีวาระ 8 ปี โดยเดินออกจากโพเดียมให้สัมภาษณ์ทันที เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการยุบสภา พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ตอบคำถาม เพียงแต่ยิ้มมุมปากก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปทันที

ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบโต้กรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ระบุการที่นายกฯ ประกาศจะอยู่ในตำแหน่งต่อ ทั้งๆที่พ้นตำแหน่งเพราะอยู่มาถึง 8 ปีแล้วเรียกว่าใจกล้า หน้าด้าน ไม่มีความละอายใครว่า คนที่ใจกล้า หน้าด้าน ไม่มีความละอาย น่าจะเป็นนายภูมิธรรมมากกว่า

"ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย มาจนถึงพรรคเพื่อไทย คนไทยต้องขัดแย้งกันเองมาเท่าไหร่แล้ว หรือที่ผ่านมาสำหรับนายภูมิธรรมแล้วยังไม่พอ ยังอยากเห็นคนไทยแบ่งแยกกันเองมากไปกว่านี้อีกหรือ ส่วนต้นตอของปัญหากลับหนีไปอยู่ต่างประเทศ โดยไม่เคยแสดงความรับผิดชอบอะไร" นายธนกรกล่าว

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวถึงการยื่นตีความวาระนายกรัฐมนตรี  8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า เราทำคำร้องพร้อมหมดแล้ว ในวันที่ 17 ส.ค. จะตรวจสอบรายชื่อเป็นครั้งสุดท้าย โดยทำในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านเซ็นลงชื่อเพิ่มเติมก่อนเวลา 11.00 น. จากนั้นจะยื่นให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 13.00 น.​ ที่อาคารรัฐสภา 

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขั้นตอนในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เรายื่นผ่านประธานสภาฯ ซึ่งจะมีช่วงเวลาไม่เกิน 7 วันในการตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นต้องพิจารณาว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่

"ในคำร้องได้ยื่นให้ศาลวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง และให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ขณะที่รอฟังคำวินิจฉัย ผมไม่ทราบว่าจะใช้เวลาพิจารณานานหรือไม่ เชื่อว่าศาลจะเร่งพิจารณา เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญ เพราะมีผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน" นพ.ชลน่านกล่าว

ถามว่ามั่นใจแค่ไหนในประเด็นข้อกฎหมายที่ได้ยื่นไป ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า มีแนวทางข้อกฎหมาย 3 แนวทาง คือ 1.​นับตั้งแต่ปี 2557 2.นับตั้งแต่ปี 2560 และ 3.นับตั้งแต่ปี 2562 เมื่อดูข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เรามั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 24 ส.ค.2565 

พอถามถึงแนวโน้มที่ พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศยุบสภา นพ.ชลน่านกล่าวว่า เหตุการณ์ยุบสภาของนายกฯ ไม่ว่าคนไหนจะต้องได้ประโยชน์ ถ้าไม่ได้ประโยชน์คงไม่ประกาศยุบสภา หากต้องยุบสภาเพื่อเป็นนายกฯ รักษาการ ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะยังไม่มีกฎหมายเลือกตั้งเพื่อให้อยู่ยาวต่อไปได้ แต่คงไม่กล้าตัดสินใจด้วยวิกฤต เกรงว่ากระแสต้านจะเยอะขึ้น ทั้งนี้ หากกฎหมายลูกยังไม่ได้ประกาศใช้ เชื่อว่าจะไม่เกิดสุญญากาศทางการเมือง แม้ยุบสภาก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาแล้ว

 “มีคนวิเคราะห์ว่าหลังจากเอเปกเขาจะยุบสภา เพราะเขาได้ประโยชน์มากในการกวาดต้อน ส.ส.ที่ย้ายพรรคได้ เพราะช่วงนั้น ส.ส.ย้ายพรรคได้ทันทีโดยไม่ต้องเลือกตั้งซ่อม สามารถสังกัดพรรคการเมืองใหม่ภายใน 30 วัน” นพ.ชลน่านกล่าว

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการจัดงานเสวนา “8 ปีประยุทธ์ อยากไปต่อ แต่ต้องพอแค่นี้” โดยแกนนำพรรคเข้าร่วม ประกอบด้วย นายจาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พท., นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. และนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท.ร่วมเสวนา  

นายชูศักดิ์กล่าวว่า หากบุคคลใดบุคคลหนึ่งดำรงตำแหน่งยาวนานเกินไป จะสร้างอิทธิพล สร้างบารมี ผลประโยชน์ ควบคุมดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นบ่อเกิดการกระทำทุจริต ประพฤติมิชอบ ด้วยเหตุนี้จึงต้องจำกัดเวลา รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับก็มีระยะเวลาของการดำรงตำแหน่ง มาชัดเจนตอนมีรัฐธรรมนูญปี 2550

ส่วนนายจาตุรนต์กล่าวตอนหนึ่งว่า เหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค. มีทั้งในแง่ข้อกฎหมาย เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ป้องกันการผูกขาดอำนาจและการสืบทอดอำนาจที่ยาวนานจนนำไปสู่การทุจริต

นายสุทินกล่าวว่า เรื่อง 8 ปีเป็นเรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร และประชาชนจะว่าอย่างไร สุดท้ายจึงไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตามหลักศาลจะทำหน้าที่ก็ต่อเมื่อมนุษย์คุยกันไม่รู้เรื่อง กระบวนการนี้ พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องคิดและตัดสินใจเองก่อน หากดูท่าทีว่าจะไม่ลง ประชาชนต้องลุกขึ้นมาพูด วันนี้ประชาชนทำหน้าที่แล้ว มันต้องจบตรงนี้ อย่าเพิ่งไปที่ศาล เมื่อดูท่าทีว่าพล.อ.ประยุทธ์จะไม่จบ และปัดเป็นหน้าที่ของศาล จึงต้องออกมาชี้ให้เห็นว่าข้อกฎหมายเขียนเช่นนี้ การชี้ขาดตัดสินวาระของนายกฯ ไม่ใช่เรื่องข้อกฎหมายอย่างเดียว แต่แน่นอนว่าข้อกฎหมายจะต้องเป็นประเด็นหลัก เมื่อพูดถึงข้อกฎหมาย ต้องอย่าลืมเรื่องเจตนารมณ์ด้วย

"วัฒนธรรมประชาธิปไตยสำคัญมาก คนในสังคมนี้คิดอย่างไร หากประชาชนอยากได้อย่างไร ควรรับฟังและทำตามนั้น บอกเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่รับฟัง ก็ไม่ใช่ ต้องชม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่สามารถไปต่อได้ แต่มีความละอายที่ประชาชนไม่เอาแล้ว บอกพอแล้ว หลักประชาธิปไตยต้องรับฟังประชาชน และสำคัญกว่านั้นคือต้องรับผิดชอบต่อประชาชนและประเทศ หากรู้ว่าอยู่ไปประเทศจะวิกฤตและขัดแย้ง ต้องเสียสละ จึงเรียกร้องว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ฟังเราพูด ต้องคิดเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้มาก ประชาชนวันนี้เขาคิดอย่างไรให้ฟังเขา หากอยู่ต่อจะเกิดอะไรขึ้น แล้วจะทำงานได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ไม่ใช่คุณเสียหาย แต่ประเทศชาติเสียหาย เศรษฐกิจพัง ใครจะรับผิดชอบ" ส.ส.เพื่อไทยรายนี้ระบุ

วันเดียวกัน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ 51 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี ตอนหนึ่งระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีมิได้ ซึ่งเป็นเรื่องการควบคุมนายกรัฐมนตรีไม่ให้อยู่ในอำนาจนานเกินไป จนเกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมือง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ โดยที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มิได้มีการยกเว้นให้กับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ถึงวันที่ 24 ส.ค.2565 เท่านั้น และหาก พล.อ.ประยุทธ์ยังดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 24 ส.ค.2565 ก็ต้องพ้นตำแหน่งทันทีในวันถัดไป

สำหรับอาจารย์จาก 15 มหาวิทยาลัย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ อิ๊งค์บอกตำรวจอยากดูแล ปท.แบบคนรุ่นใหม่มีอะไรคุยกันได้

นายกฯ มอบนโยบายตำรวจ ขอดูแลปชช.ช่วงปีใหม่ เชื่อ ตร.ภายใต้การนำ ”บิ๊กต่าย“ ทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข-ปลอดภัย บอกอยากดูแลประเทศแบบคนรุ่นใหม่ มีอะไรคุยกันได้