“วุฒิสภา” รับรอง “วรพจน์ วิศรุตพิชญ์” นั่ง ปธ.ศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ และไฟเขียวตั้งอีก 3 ตุลาการ ขณะที่ศาลยุติธรรมคลอดโผ 286 ผู้พิพากษา มีดาวดังขยับพรึ่บ “ชนาธิป” นั่งรอง อธ.ศาลอาญาทุจริต หลังผ่านงานคดี 24 นปช.ก่อการร้าย และคดีมาตรา 112
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 สิงหาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด
โดยเป็นการประชุมลับและลงคะแนนลับให้บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อคือ นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ ผลการออกเสียงปรากฏว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบด้วยคะแนน 188 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ คะแนน 4 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง จึงถือว่านายวรพจน์ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เนื่องจากได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ว.ที่มีอยู่ จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
ทั้งนี้ การคัดเลือกประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ สืบเนื่องจากนายชาญชัย แสวงศักดิ์ ประธานคนปัจจุบัน มีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ในปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 21 วรรค 1 (3) ประกอบมาตรา 31 วรรค 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542
สำหรับประวัติการศึกษาและประสบการณ์การทำงานนั้น นายวรพจน์ จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางกฎหมายมหาชน (Diplôme d’études approfondies (DEA) en droit public) จาก Université de Strasbourg III สาธารณรัฐฝรั่งเศส และปริญญาเอกทางกฎหมาย (Doctorat en droit) สาขากฎหมายมหาชน จาก Université des Sciences sociales Toulouse I สาธารณรัฐฝรั่งเศส
ส่วนประวัติการรับราชการตามลำดับ ดังนี้ พ.ศ.2519-2544 อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ.2544-2548 อธิบดีศาลปกครองกลาง, พ.ศ.2549-2553 ตุลาการศาลปกครองสูงสุด, พ.ศ.2553-2558 ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด, พ.ศ.2558-2559 ตุลาการหัวหน้าแผนกคดีบริหารงานบุคคลในศาลปกครองสูงสุด, พ.ศ.2559-ปัจจุบัน รองประธานศาลปกครองสูงสุด
นอกจากนี้ ที่ประชุมวุฒิสภายังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด โดยเป็นการประชุมลับและลงคะแนนลับให้บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด 3 คน คือ 1.นายสมชาย กิจสนาโยธิน 2.นายบรรยาย นาคยศ และ 3.พล.ท.สุรพงศ์ เปรมบัญญัติ ทั้งนี้ ผลการออกเสียงปรากฏว่า สำหรับนายสมชาย ได้คะแนน 189 ต่อ 2 เสียง และไม่ออกเสียง 9 เสียง, นายบรรยาย ได้คะแนน 189 ต่อ 2 คะแนน และไม่ออกเสียง 9 คะแนน และ พล.ท.สุรพงศ์ ได้คะแนน 192 ต่อ 0 คะแนน และไม่ออกเสียง 8 คะแนน จึงถือว่าทั้งสามได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เนื่องจากได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ว.ที่มีอยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ได้เปิดเผยบัญชีรายชื่อที่นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เสนอแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาวาระ1 ต.ค.นี้ จำนวน 3 บัญชีรายชื่อ ประกอบด้วย 1.บัญชี 2 ระดับผู้พิพากษาอาวุโส (เพิ่มเติม) 5 รายชื่อ 2.บัญชี 4 ชั้น 4 สับเปลี่ยนตำเเหน่ง 187 รายชื่อ ชั้น 3 เลื่อนเป็นชั้น 4 จำนวน 91 รายชื่อ 3.บัญชี 5 ชั้น 3 สับเปลี่ยนตำเเหน่ง 3 รายชื่อ โดยบัญชี 4 ชั้น 4 สับเปลี่ยนตำเเหน่งมีรายชื่อที่น่าสนใจ ดังนี้
นายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ เลขานุการศาลอุทธรณ์ ไปเป็นรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา คดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และคดีที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจ โดยก่อนหน้านี้นายชนาธิปเคยดำรงตำเเหน่งสำคัญหลายตำเเหน่ง อาทิ เคยเป็นรองเลขานุการประธานศาลฎีกา ยุคนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ซึ่งมีบทบาทเรื่องคุ้มครองสิทธิคู่ความ ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเเละการปล่อยชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักประกัน ผลงานคดีสมัยเคยนั่งหัวหน้าคณะในศาลอาญา ได้รับความไว้วางใจเป็นองค์คณะพิจารณาคดีสำคัญหลายคดี เช่น คดี 24 แกนนำ นปช.ก่อการร้าย และคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลายคดี รวมถึงเคยดำรงตำเเหน่งรองอธิบดีศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลใหญ่ของประเทศ โดยก่อนมีรายชื่อขยับครั้งนี้ ดำรงตำเเหน่งเลขาฯ ศาลอุทธรณ์ เนื่องจากผู้ใหญ่มีความเชื่อใจขอตัวไปช่วยงาน
นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะแผนกคดีค้ามนุษย์ ไปเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา นายมุขเมธินถือเป็นผู้พิพากษาที่มีความรอบรู้ในการวางระบบของศาลยุติธรรม ก่อนหน้านี้เป็นคีย์เเมนหลักในการนำเอารูปเเบบการประเมินความเสี่ยงมาใช้ในการปล่อยชั่วคราวเเทนการใช้หลักทรัพย์ ซึ่งถือเป็นรากฐานของนโยบายคุ้มครองสิทธิของประธานศาลฎีกาหลายคนที่ผ่านมา ขณะที่ดำรงตำเเหน่งหัวหน้าคณะแผนกคดีค้ามนุษย์ก็ได้รับความไว้วางใจ รับผิดชอบคดียื่นคำร้องขอปิดเว็บไซต์ ระงับการเข้าถึงข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ในยุคนายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่จะต้องมีการไต่สวนให้ชัดเจน ซึ่งคดีส่วนมากยื่นจากผู้มีอำนาจรัฐเช่นคำร้องจากกระทรวงดีอีเอสที่ให้ปิดเว็บไซต์ หรือสื่อมวลชนที่เเนวคิดตรงข้ามผู้มีอำนาจ จึงได้รับการชื่นชมในเรื่องการให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
นายณรัช อิ่มสุขศรี รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ไปเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำกองผู้ช่วยอุทธรณ์ โดยนายณรัชเป็นผู้พิพากษาที่ได้รับความนิยมในศาลชั้นต้น เคยเป็นเเชมป์เก่า ก.ต.ศาลชั้นต้นหลายสมัย เรียกว่าหากลงเลือกตั้งก็ได้รับเลือกทุกครั้ง เป็นต้น โดยหลังจากนี้รายชื่อทั้งหมดนี้จะถูกส่งไปยังอนุกรรมการตุลาการกลั่นกรองเพื่อเสนอยัง ก.ต.เเต่งตั้งโยกย้ายต่อไป โดยจะมีนัดประชุม ก.ต.ครั้งต่อไปวันที่ 22 ส.ค.นี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป