สธ.ชงศบค.19ส.ค. โรคติดต่อเฝ้าระวัง วันรักษาโควิด5+5

สธ.ชง ศบค.ชุดใหญ่ 19 ส.ค. ลดระดับโควิดเป็น "โรคติดต่อเฝ้าระวัง" พร้อมปรับสูตรวันรักษาจาก 7+3 วัน เป็น 5+5 วัน ใช้ "โมลนูพิราเวียร์" ยาหลักรักษา

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม   ชื่นชมความสำเร็จของทีมวิจัยไทย ประสบความสำเร็จในการคิดค้นเครื่องตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 วิเคราะห์จากลมหายใจ โดยได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งทีมวิจัยได้นำความรู้จากเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในกระแสเลือดโดยใช้ลมหายใจ  ซึ่งใช้งานกับโรคเบาหวานมากว่า 10 ปี นำมาพัฒนาต่อยอดสร้างเป็นนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ตรวจคัดกรองโควิด-19   สามารถรู้ผลได้เร็วภายใน 5 นาที และให้ความแม่นยำสูงถึง 97% ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อระบบสาธารณสุขและประชาชนทุกคน ทำให้ช่วยลดขั้นตอน ลดการสัมผัสร่างกาย ลดระยะเวลาและเพิ่มความปลอดภัยในแก่บุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนงานวิจัย เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทยเติบโตและเป็นโอกาสในการพัฒนาเพื่ออนาคตต่อไป

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) 1,508 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,508 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 29 ราย ผู้ที่กำลังรักษาตัว 19,712 ราย และมียอดผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,023 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วย ยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.65 จำนวน 2,400,161 ราย จำนวนผู้ที่หายป่วยสะสมจำนวน 2,403,503 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 965 ราย

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 ส.ค.65 จะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ทาง สธ.จะนำเสนอมติการประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่องประกาศลดระดับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งจะรายงานให้ ศบค.รับทราบ เพื่อให้มีความเห็นต่างๆ

ส่วนบทบาท ศบค.หลังจากโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังจะเป็นอย่างไรนั้น นายอนุทินกล่าวว่า อยากให้มองว่าทุกคนมาทำงานร่วมกัน นายกฯ ซึ่งเสียสละลงมาบัญชาการ รวบรวมหน่วยงานต่างๆ   เข้าด้วยกัน เราก็มาดูว่าหากทุกอย่างกลับไปเป็นปกติแล้ว สธ.มั่นใจว่าไม่ต้องพึ่งพาอำนาจของหน่วยงานไหน นายกฯ คงพิจารณาตามสถานการณ์ ตามรายงานที่เราให้ความมั่นใจกับนายกฯ

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) โรคโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการปรับการประชุมเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีประเมินสถานการณ์รายวันและรายสัปดาห์ และแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่ง สธ.จะต้องวางแผนการบริหารจัดการโรคโควิด-19 จนถึงเดือน ธ.ค.2565 ทั้งเรื่องการควบคุมโรค การดูแลรักษา วัคซีน และการประชาสัมพันธ์ โดยรูปแบบการรักษานั้น จะต้องให้ยารักษาลงไปถึงระดับร้านขายยา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้น โดยใช้ใบสั่งแพทย์ไปสั่งซื้อยา

ส่วนการรักษานั้น มีการทบทวนระยะเวลาการรักษา เพื่อผู้ติดเชื้อที่มีอาการซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วย จากที่ใช้อยู่คือการรักษาตัวคือ 7 วัน และแยกกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 3 วัน หรือ 7+3 ที่ประชุมได้พิจารณาปรับแนวทางการรักษาใหม่ให้เป็น 5+5 คือรักษาตัว 5 วัน แยกกักเพื่อสังเกตอาการ 5 วัน ส่วนเรื่องยาโมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาหลักในการรักษา

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 หลังวันหยุดยาวช่วงวันแม่แห่งชาติว่า ช่วงวันหยุด 3 วันที่ผ่านมา ขอให้ผู้สูงอายุที่มีการร่วมกิจกรรม พบเจอลูกหลานที่กลับไปเยี่ยมบ้านที่ภูมิลำเนา กินข้าว ขอพร ซึ่งผู้สูงอายุอาจไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ หรือไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) ขอให้ประเมินอาการ เพราะระยะฟักตัวของโรคสั้นลงเหลือเพียง 2-3 วัน ดังนั้น หากลูกหลานพบผลตรวจหาเชื้อด้วย ATK เป็นบวก ต้องรีบส่งข่าวให้กลุ่มผู้สูงอายุรับทราบทันที และหากมีการเจ็บป่วย เช่น ไข้ อาการทางเดินหายใจสงสัย ให้รีบตรวจเพื่อดูแลในกลุ่มสูงอายุจะได้ลดความเสี่ยงที่จะมีอาการหนัก การรักษาก็มียาที่ได้ผลดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง