สภาล่มอีกตามคาด ปิดฉากสูตรหาร 500 ฟื้นคืนชีพหาร 100 ยึดกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.ฉบับครม. "พปชร.-พท." ยกก๊วนไม่แสดงตน ด้าน ภท.-ปชป.แข็งขันนั่งร่วมองค์ประชุม ขณะที่ ส.ว.หายพรึ่บ ส.ส.พท.ปัดตีรวนแต่ดำเนินการแบบไม่ปิดบัง "หมอระวี" ลั่นดาบหอกจะทิ่มไปที่ "บิ๊กป้อม" มากกว่า พท. ยันช่วงนายกฯ รอทูลเกล้าฯ ถวาย พรรคเล็กรวบรวมรายชื่อร้องศาล รธน.แน่ "บิ๊กป้อม" ตรวจราชการสระบุรีตีมึน ไม่รู้ๆ สภาล่มหรือ
ที่รัฐสภา วันที่ 15 สิงหาคม ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่... พ.ศ. ... รัฐสภา ปรากฏว่าไม่ครบองค์ประชุมตามที่คาด
ทั้งนี้ ก่อนการประชุม นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงการประเมินท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อย่างไร ว่า ตนไม่มีโอกาสได้พบกับ พล.อ.ประวิตรเป็นการส่วนตัว แต่จากการติดตามข่าวจากสื่อก็ทราบว่า พล.อ.ประวิตรสั่งให้ ส.ส.พรรค พปชร.เข้าร่วมประชุม โดยยังเชื่อว่า พล.อ.ประวิตรจะไม่หักน้องเล็ก ก็คงต้องพิสูจน์กัน แต่ถ้าวันนี้เกิดสภาล่มเหมือนเดิม หอกดาบก็จะทิ่มไปที่ พล.อ.ประวิตรมากกว่าพรรคเพื่อไทยแน่นอน ตนรู้สึกห่วงท่าน หาก ส.ส.พปชร.เข้าร่วม ตนก็ขอยินดีต้อนรับองคุลิมาลกลับเข้าสู่สภา
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงแนวโน้มการยุบสภาว่า ยุบสภาในช่วงนี้ก็ไม่มีประโยชน์ ยกเว้นเขายุบสภาแล้วเขาได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง หรือได้ประโยชน์จากอย่างอื่น เช่นอยู่ยาวหรือรักษาการได้ เขาก็จะยุบ
สำหรับการนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยตามหนังสือขอเชิญสมาชิกประชุมในเวลา 09.00 น. แต่เมื่อถึงเวลานายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งว่าขณะนี้มีสมาชิกมาลงชื่อ 111 คน แต่องค์ประชุมคือ 364 คน ฉะนั้นยังขาดอีก 200 กว่าคน ถ้าองค์ประชุมครบเมื่อใดตนจะกลับมาทำหน้าที่ต่อ
กระทั่งเวลาผ่านไป 50 นาที สมาชิกก็ยังมาลงชื่อไม่ครบองค์ประชุม จึงยังไม่สามารถเปิดประชุมได้ จนนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ถามหานายชวนให้มาทำหน้าที่ประธานการประชุม ต่อมาเวลา 10.00 น. นายชวนกดออดเรียกสมาชิกอีกครั้ง โดยกล่าวว่าสมาชิกอาจไม่ได้ติดตาม โดยเมื่อเวลา 09.00 น. ตนได้ขึ้นมาทำหน้าที่แล้วครั้งหนึ่ง โดยประกาศว่าเมื่อสมาชิกมาลงชื่อเป็นองค์ประชุมใกล้เคียงก็จะกลับมา แต่เรียนว่าขณะนี้องค์ประชุมก็ยังไม่ครบ แต่จะให้โอกาส จะรออีก 10 นาที ถ้าไม่ครบก็คือไม่ครบ
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า เมื่อครั้งประชุมกับตัวแทนวิป 3 ฝ่าย นายชวนเคยให้คำมั่นว่าถ้าองค์ประชุมไม่ครบภายในเวลา 10.00 น.จะปิดการประชุม
นายชวนชี้แจงกลับว่า จำได้วันที่ประชุมกันคือวันที่ 9 ส.ค. ตนพูดไว้เช่นนั้นจริง แต่วันนี้ยังไม่ได้มีการตกลงกันเรื่องเวลา ก็ขออย่าได้วิจารณ์สมาชิกที่ไม่มาประชุมในวันนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย และขอทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติให้ครบถ้วน ขอเวลาให้พวกเขาอีก 6 นาที ทั้งนี้เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องขี้เกียจ แต่เป็นความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างกัน ก็ขออย่าวิจารณ์
จากนั้นเวลา 10.08 น. ปรากฏว่ามีสมาชิกมาลงชื่อเปิดประชุมครบ โดย ส.ว.มาลงชื่อ 165 คน ส่วนส.ส.มี 200 คน โดยนายชวนแจ้งว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นการพิจารณาต่อเนื่องของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในมาตรา 24/1 ที่ไม่สามารถลงมติได้
พปชร.-พท.ไม่แสดงตนอื้อ
ต่อมาเวลา 10.12 น. นายชวนกดออดเช็กองค์ประชุมก่อนลงมติ ซึ่งระหว่างนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนลุกขึ้นเร่งรัดให้ปิดการประชุม เพราะองค์ประชุมไม่ครบแน่นอน ขณะที่ฝ่าย ส.ว. เช่น นายสมชาย แสวงการ ขอให้ประธานรอ โดยระบุว่ามีเวลาเหลือเฟือ วันนี้รอได้จนถึงเที่ยงคืน
จากนั้นเวลา 10.27 น. นายชวนประกาศว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 และข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 101 กำหนดให้ต้องประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลูกฉบับดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประธานบรรจุวาระการประชุม โดยวันนี้ที่ประชุมพิจารณามาตรา 24/1 เป็นช่วงตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติ โดยขณะนี้ขออนุญาตที่ประชุม หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ก็ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายลูกที่เสนอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 โดยข้อที่ 101 กำหนดให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ที่ใช้เป็นหลัก ตามมติคือฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ ขณะนี้มีสมาชิกลงชื่อเป็นองค์ประชุมทั้งหมด 353 คน ไม่ครบองค์ประชุม จึงขอปิดการประชุมเวลา 10.28 น.
สำหรับรายชื่อผู้ไม่มาแสดงตนเป็นองค์ประชุม ในการโหวตมาตรา 24/4 จนเป็นเหตุให้เกิดสภาล่ม พบว่าในส่วนพรรค พท.ไม่มาแสดงตน 120 คน จาก 132 คน โดยผู้มาแสดงตน 12 คนของ พท. ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.งูเห่าที่จะย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในสมัยหน้า รวมถึง ส.ส.ที่มีแนวโน้มจะไปอยู่กับพรรคไทยสร้างไทย (ทสท) ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อาทิ นายการุณ โหสกุล, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. ตลอดจนมี ส.ส.พท.บางคนก็ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุมคือ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม, น.ส.ชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย
ขณะที่ ส.ส.พรรค พปชร.มีผู้ไม่มาแสดงตน 88 คน จากทั้งหมด 97 คน มาแสดงตนแค่ 9 คน ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.กทม. อาทิ นายจักรพันธุ์ พรนิมิต, นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์, น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์, น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์, นายประสิทธิ์ มะหะหมัด รวมถึงนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์, น.ส.วทันยา บุนนาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ส่วนพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) มี ส.ส.ไม่มาแสดงตน 13 คน จาก ส.ส. 16 คน มีมาแสดงตนแค่ 3 คือ กลุ่มงูเห่าที่จะไปอยู่พรรค ภท. ได้แก่ นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์, นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี, นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ จ.ตาก ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ไม่มาแสดงตน 5 คน จาก 12 คน โดยผู้ไม่มาแสดงตน อาทิ นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค, นายประภัตร โพธสุธน ส.ส.สุพรรณบุรี และเลขาธิการพรรค, นายธีระ วงศ์สมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ขณะที่พรรค ภท.มาแสดงตนกันอย่างพร้อมเพรียง 59 คน จาก ส.ส. 62 คน โดย 3 คนที่ไม่มาแสดงตนคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ที่ติดภารกิจประชุมป้องกันและควบคุมโรคและภัยสุขภาพ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี นายบุญลือ ประเสริฐโสภา ส.ส. ราชบุรี ด้านพรรคประชาธิปัตย์มาแสดงตน 42 คน จาก 52 คน ไม่แสดงตน 10 คน อาทิ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคก้าวไกลมาแสดงตน 43 คน จาก ส.ส. 54 คน ไม่มาแสดงตน 11 คน
สำหรับ ส.ว.มาแสดงตน 150 คน ไม่แสดงตน 99 คน ผู้ไม่มาแสดงตน อาทิ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร, พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร, นายวันชัย สอนศิริ, พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ, พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช, นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส่วนที่มาแสดงตน อาทิ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา, พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม, พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์, นายสมชาย แสวงการ
พรรคเล็กจ่อร้องศาลตีความ
ภายหลังปิดประชุม นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวว่า ต้องขอบคุณนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ดำเนินการประชุมจนถึงที่สุด และขอบคุณ กมธ.ทุกคนที่ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ สำหรับการประชุมวันนี้ก็เป็นที่ยุติ ซึ่งนำไปสู่การมีผลทำให้ร่างกฎหมายฉบับเดิมของรัฐบาลหรือร่างที่ กกต.เสนอคือ ยืนหลักบัตรสองใบหารด้วย 100 ฉะนั้นหลักการในร่างฉบับเดิมเป็นไปตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ซึ่งถูกต้องตามหลักการ
นายสาธิตกล่าวว่า การดำเนินการขั้นต่อไปนายชวน ได้แจ้งในที่ประชุมแล้วว่า จะถูกส่งกลับไปที่ กกต.ภายใน 10 วัน หรือหากมีเหตุจะใช้เวลาอีก 3 วัน หลังจากนั้นก็จะส่งไปให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5 วัน ซึ่งประธานรัฐสภาได้แจ้งว่าจะมีการส่งให้ กกต.ภายในวันที่ 16 ส.ค.
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ชทพ.กล่าวว่า ประเด็นองค์ประชุมไม่ครบเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยกลไกของรัฐสภา โดยหวังให้กลับไปใช้ร่างเดิมที่หารด้วย 100 ดังนั้นฝ่ายที่ใช้วิธีการวอล์กเอาต์ก็เป็นกรณีที่ทำได้ เพราะไม่เห็นชอบด้วยเนื่องจากเห็นว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย แถลงว่า หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาองค์ประชุมไม่ครบ ไม่ได้เป็นเรื่องชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ขี้เกียจและไม่ได้ตีรวน เนื่องจาก พท.ดำเนินการเรื่องนี้แบบไม่เคยปิดบัง แต่เป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง ส่วนที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ระบุว่าพรรค พท.เปิดดีลใหญ่กับพรรค พปชร. ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะทั้ง พท.และ พปชร.เอาหาร 100 ตั้งแต่แรก ไม่มีดีลอะไรทั้งนั้น เพียงแค่ความประสงค์ตรงกัน และ ส.ว.บางส่วนเห็นว่าขัดหลักกฎหมาย การที่ นพ.ระวีพูดแบบนี้เพื่อประโยชน์ตนเองเพราะเป็นพรรคเล็ก
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า นาทีนี้กฎหมายลูกเดินทางมาจบแล้ว และต้องกลับไปใช้กฎหมายลูกของ กกต.ที่ผ่าน ครม.มา คือหารด้วย 100 โดยพรรค ก.ก. พร้อมเดินหน้ากับทุกกติกา แต่ขอให้เป็นกติกาที่ชอบธรรม เพราะเป็นห่วงว่าหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองอาจจะเป็นอันตรายต่อประเทศมากกว่า
ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล แถลงขอบคุณสมาชิกรัฐสภาที่เข้าร่วมการประชุมจนครบองค์ประชุม แม้สภาจะล่มในช่วงการลงมติก็ตาม แต่ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีรอนำทูลเกล้าฯ ถวาย 5 วัน กลุ่มพรรคเล็กจะมีความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยในวันที่ 16 ส.ค.จะให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจัดทำร่าง และส่งให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาปรับปรุงร่างให้สมบูรณ์ คาดว่าในวันศุกร์ร่างที่จะยื่นจะแล้วเสร็จ แต่หากยื่นแล้วศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าสูตรหารด้วย 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าจบ
'ป้อม' ตีมึนไม่รู้ๆ สภาล่มเหรอ
นพ.ระวีกล่าวว่า เท่าที่รวบรวมเสียงจากที่ ส.ส.และ ส.ว.เห็นชอบกับสูตร 500 มีกว่า 300 คน แต่ต้องดูสถานการณ์อีกครั้งว่าจะมีการเข้าชื่อมากน้อยแค่ไหน ส่วนแนวทางของพรรคเล็ก หากต้องใช้สูตรคำนวณหารด้วย 100 บางคนอาจจะยุบพรรคไปรวมกับพรรคใหญ่ บางคนจะยังสู้ต่อและลงสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต บางพรรคอาจจะควบรวมพรรคทั้งในสภาและนอกสภา ทั้งนี้ ส.ส.พรรคเล็กจะไม่ถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนอาจจะเปลี่ยนใจมาเลือกพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้า พปชร.จะอยู่ยาก และหาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อก็จะถึงเวลานับถอยหลังของ พปชร.
ด้านความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พปชร. ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง จังหวัดสระบุรี พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้า พปชร.
การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังมี ส.ส.พรรคเล็กไปให้การต้อนรับ พล.อ.ประวิตรด้วย ได้แก่ นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทรักธรรม นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เดินทางไปประชุมร่วมรัฐสภาในช่วงเช้าที่ผ่านมา
จากนั้นเวลา 09.26 น. พล.อ.ประวิตรได้เรียกกลุ่มพรรคเล็กที่มาร่วมลงพื้นที่ปิดห้องคุยเป็นเวลา 5 นาที โดยนายพีระวิทย์เปิดเผยว่า พรรคเล็กกลุ่มบิ๊กป้อมได้ยื่นใบลากิจประชุมร่วมรัฐสภา ต่อมาเวลา 10.33 น. พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาล่มว่า "ผมไม่รู้เรื่อง"
เมื่อถามถึงการที่จะต้องกลับไปใช้สูตรหาร 100 พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่รู้ๆ" ก่อนที่จะย้อนถามสื่อมวลชนว่า "สภาล่มแล้วหรือ"
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีถ้าศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญแล้วต้องร่างใหม่โดยใช้เวลานาน อาจไม่ทันวาระ 4 ปีของรัฐบาลในเดือน มี.ค.66 ว่า อย่าไปสมมุติว่าจะไม่ทัน หากกฎหมายตกไปต้องร่างใหม่ก็จะนำฉบับเดิมมาทำ ไม่ได้ยากอะไร อีก 3 วันก็เสร็จแล้ว ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกต หากไม่มีกฎหมายเลือกตั้งอาจทำให้รัฐบาลรักษาการได้ยาวนานนั้น ไม่เกี่ยวเป็นคนละเรื่อง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน