5บิ๊กบะหมี่ขอขึ้น8บาท/FTเพิ่มแน่68.66สต.

ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 รายใหญ่ “มาม่า-ซื่อสัตย์-ไวไว-ยำยำ-นิชชิน” สุดอั้น! รวมพลังยื่นกรมการค้าภายในขอขึ้นราคาจาก 6 บาทเป็น 8 บาท ยันต้นทุนวัตถุดิบทั้งน้ำมันปาล์ม-แป้งสาลีพุ่งกระฉูด รับต้องหันส่งออกเพื่อต่อลมหายใจ “ค่าไฟ” ไม่รอประกาศขึ้นเอฟทีรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 เพิ่มอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย  ส่งผลค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนดีเซลรัฐยังตรึงลิตรละ 34.94 บาท

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ผู้ประกอบการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ในไทย 5 ราย ได้ทำหนังสือเพื่อให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เร่งรัดพิจารณาและอนุมติให้มีการปรับราคาจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยเร็ว หลังจากที่แต่ละรายได้ทยอยยื่นขอปรับราคากันเองตั้งแต่ต้นปี แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ปรับราคา ทำให้ต้องรวมตัวกัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ผู้ประกอบการร่วมกันดำเนินการ  

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการข้างต้นประกอบด้วย บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) แบรนด์มาม่า, บริษัท  โชคชัยพิบูล จำกัด แบรนด์ซื่อสัตย์, บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด แบรนด์ไวไว, บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด แบรนด์ยำยำ และบริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด แบรนด์นิชชิน โดยทุกรายยื่นขอปรับราคาอีก 2 บาท จากเดิมตัวหลักคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองราคา 6 บาทเพิ่มเป็น 8 บาท โดยให้เหตุผลมาจากต้นทุนการผลิตหลัก 2 อย่างคือ น้ำมันปาล์มและแป้งสาลีที่ปรับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก และภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน 

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ  บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ฯ กล่าวว่า เมื่อปี 2563  น้ำมันปาล์มราคาอยู่ที่กว่า 20 บาทต่อลิตร แต่มาปีที่แล้วราคาขยับไปเป็น 64-65 บาทต่อลิตรแล้ว ส่วนแป้งสาลีที่ต้องนำเข้ามาเมื่ออดีตอยู่ที่ 250 บาทต่อถุงขนาด 22  กิโลกรัมครึ่ง แต่ล่าสุดขยับมาเป็นกว่า 500 บาทแล้ว  นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้อง เช่น หอม กระเทียม พริก เป็นต้น ที่ราคาขยับตั้งแต่  8%-35% แล้วแต่ประเภท และต้นทุนแพ็กเกจจิงก็ขึ้นอีกเฉลี่ยซองละ 1 บาทแล้ว ยังไม่นับรวมถึงอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำที่กำลังจะปรับขึ้นมาอีกก็เป็นต้นทุนที่สำคัญ  

 “เดิมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายกันที่ 4.50 บาทต่อซอง  แล้วขยับมาเป็น 5 บาทเมื่อปี 2540 แต่เมื่อปี 2542  ที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าควบคุมราคาแบบเข้มงวด ก็มีการปรับราคาเพียงแค่ครั้งเดียวจาก 5 บาท เป็น 6  บาท เมื่อปี 2551 หรือเกือบ 14 ปีแล้วที่ไม่ได้ปรับราคาขึ้นอีกเลย ตอนนี้มาม่าต้องขยายตลาดส่งออกมากขึ้น  เพราะราคาขายได้ตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง โดยมีสัดส่วนรายได้ 30% แล้ว ส่วยรายได้ในไทยสัดส่วน 70%” นายพันธ์กล่าวและว่า หลังจากยื่นเรื่องแล้วจะให้เวลากรมการค้าภายในพิจารณาประมาณ 1 สัปดาห์ หากไม่ได้รับการอนุมัติก็ต้องกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งในกลุ่มผู้ผลิตว่าจะทำอย่างไรต่อไป

 นายปริญญา สิทธิดำรง กรรมการบริษัท โชคชัยพิบูลฯ กล่าวว่า การผลิตตอนนี้ขาดทุนจริงๆ และไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน ครั้งนี้สาหัสมาก แม้เป็นแบรนด์ใหญ่ยังเอาไม่อยู่ นับประสาอะไรกับแบรนด์เล็กๆ ของบริษัท  ตอนนี้ก็ลดการทำโปรโมชันด้านราคาแล้ว บริษัทส่งออก  50% และขายในไทย 50% โดยสัดส่วนรายได้หลักมาจากขนาด 6 บาทมากถึง 70% 

 นายวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้ช่วยกรรมการจัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทยฯ ยอมรับว่า  ธุรกิจนี้มีมาร์จินน้อยอยู่แล้ว ยังต้องมาเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นอีก อนาคตยังไม่รู้ว่าจะเจอต้นทุนอะไรเพิ่มขึ้นอีก  สินค้าบางรายการบริษัทก็ขาดทุน อาจลดการผลิตรายการที่ขายได้น้อย ลดการทำโอที บางเดือนก็ตัวแดง ตอนนี้ก็หันไปส่งออกมากขึ้น เพราะปรับราคาได้ตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง โดยไวไวตอนนี้ขายในไทย 70% และส่งออกขยับมาเป็น 30% แล้ว

 นายกิติพศ ชาญภาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหารฯ กล่าวว่า ปีนี้วัตถุดิบขึ้นราคาหนักมากสุด ตอนนี้เข้าเนื้อทุกวัน ต้องขยายตลาดส่งออกมากขึ้นทดแทนในช่วงนี้ เพราะราคาปรับขึ้นได้ตามต้นทุน โดยสัดส่วนการขายในประเทศตอนนี้อยู่ที่ 75%  และตลาดต่างประเทศ 25%

นายฮิจิริ ฟูกุโอกะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชชินฟูดส์ฯ ระบุว่า นิชชินทำธุรกิจในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน อเมริกา อินเดีย บราซิล และอินโดนีเซีย  ซึ่งประเทศพวกนี้สามารถขึ้นราคาได้ตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งนิชชินมีการปรับราคาจำหน่ายในต่างประเทศไปแล้ว 5%-12% แต่ในไทยต้นทุนสูงขึ้นไม่สามารถปรับราคาได้ตามต้นทุน 

วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊กสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ชี้แจงถึงการปรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 ว่าจะเพิ่มอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีทั้งสิ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย โดยตามความเป็นจริงแล้วการคิดค่าเอฟทีช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 236.97 สตางค์ต่อหน่วย ไม่รวมที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระต้นทุนแทนผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 83,010 ล้านบาท ซึ่ง กกพ.ได้บรรเทาผลกระทบต่อประชาชน โดย กกพ.ปรับเพิ่มค่าเอฟทีเพียง 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งการขึ้นค่าเอฟทีในช่วงปี 2565-2566 นี้มีสาเหตุหลักๆ มาจากสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจรที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและเมียนมาที่ปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความผันผวนของก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดโลก

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้คงราคาน้ำดีเซลไว้ที่ลิตรละ 34.94 บาท แม้สถานการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลยังคงมีความผันผวนปรับขึ้นลงระหว่างสัปดาห์ โดยราคาเมื่อวันที่ 5 ส.ค.65  อยู่ที่ 124.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 12 ส.ค.65 ปรับเพิ่มขึ้น 6.62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 130.96 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง