โว21ส.ค.ราชดำเนินพรึ่บไล่ตู่

เพื่อไทยตีปี๊บยัน “ประยุทธ์” หลุดเก้าอี้นายกฯ ก่อน 24 ส.ค.แน่ “น้องแรมโบ้-ธนกร” จวกชี้ให้ฟังคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญอย่าชี้นำ วงสัมมนาสับเละลุงตู่ หวั่นปัญหาบริหารชาติหากดื้อแพ่งอยู่ต่อ ยกทหารรุ่นพี่เป็นตัวอย่างให้เจริญรอบตาม แนะฝ่ายการเมืองรีบหากทางก่อน 23 ส.ค. คณะหลอมรวประชาชนคึก โว 21 ส.ค.เต็มราชดำเนินไล่บิ๊กตู่ ซูเปอร์โพลเผยจุดแข็งจุดอ่อน 6 แคนดิเดตนายกฯ

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. ในฐานะโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการยื่นตีความวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 17 ส.ค.ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านอยู่ระหว่างตรวจสอบคำฟ้องมีความชัดเจนครบถ้วนทุกประเด็นหรือไม่ ซึ่งในทางกฎหมายชัดเจนอยู่แล้วว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ยืดออกไปจาก 8 ปีนี้ได้ แต่การดิ้นของ พล.อ.ประยุทธ์มีความพยายามให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งต่อ ซึ่งเรามั่นใจว่าหากศาลรัฐธรรมนูญตีความตามบทกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์จะหลุดจากตำแหน่งนายกฯ ก่อนวันที่ 24 ส.ค.แน่นอน หากผลออกมาเป็นอย่างไร พี่น้องประชาชนจับตามอง ไม่แน่อาจจะเห็นความพิลึกพิลั่น หรืออาจได้ดีใจว่าประเทศไทยยังมีความยุติธรรมอยู่

 “พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ที่สร้างความขัดแย้งให้กับสังคมไทย มาด้วยวิธีที่ไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น กำลังทำตนอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่พวกเขา และองคาพยพเขียนขึ้นมา ทั้งที่เขียนเอาไว้เป็นหอกทิ่มแทงพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือกลุ่มคนที่อยู่คนละฝั่ง วันนี้กฎหมายกำลังกลับมาใช้กับตัวเขาเองแล้วก็ไม่ยอมที่จะปฏิบัติตามอีก ประเทศไทยเสียโอกาสมากแล้ว 8 ปีที่ผ่านมาประเทศถอยหลังมาโดยตลอด สิ่งที่พวกเราอดทนมาได้ตลอด ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะออกไปได้ตั้งแต่ตอนนี้เลยหรือไม่ ถ้าประชาชนเลือกได้ก็บอกว่าอยากให้ออกไปตั้งแต่วันนี้เลย” น.ส.ธีรรัตน์กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นนายกรัฐมนตรีสำรอง น.ส.ธีรรัตน์กล่าวว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่ง รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า แคนดิเดตนายกฯ หรือผู้ที่มีรายชื่อเป็นนายกฯ จากพรรคการเมืองคือใครบ้าง ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น

ด้านนายชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตอบโต้ น.ส.ธีรรัตน์ ว่าไม่ควรออกมาตีความเอาเองว่านายกฯ จะหลุดหรือไม่หลุดจากเก้าอี้ เพราะสุดท้ายต้องรอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา น.ส.ธีรรัตน์ไม่ต้องออกมาพูดลักษณะชี้นำ สร้างความสับสนให้ประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นใด นายกฯ ก็ยืนยันแล้วว่าพร้อมรับคำตัดสิน ไม่ได้ทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตาม

“น.ส.ธีรรัตน์ออกมาบอกว่านายกฯ ประยุทธ์เป็นผู้สร้างความขัดแย้งให้สังคมไทย มาด้วยวิธีที่ไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น ขอย้ำว่าความขัดแย้งของประเทศ เกิดขึ้นตั้งแต่การบริหารงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ แล้ว และการที่นายกฯ ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศเพราะเข้ามาแก้ไขปัญหา และยืนยันว่าตั้งแต่นายกฯ ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศ ประเทศไทยไม่ได้เสียโอกาสเลยแม้แต่น้อย ในทางกลับกันหากยังเป็นคนของพรรคเพื่อไทยบริหาร ประเทศไทยจะเสียโอกาส และพังมากกว่านี้ เพราะไม่เคยนึกถึงประเทศชาติ ประชาชนเลยแม้แต่น้อย ซึ่ง น.ส.ธีรรัตน์เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยมานานน่าจะรู้นิสัยของนายใหญ่และนายหญิงเป็นอย่างดี”

ธนกรดีดปากทั่นเต้น

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ก็ตอบโต้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ในเรื่องนายกฯ 8 ปีว่า ที่ผ่านมานายกฯ ไม่เคยตอบโต้ทางการเมืองใดๆ มุ่งทำงานเพื่อช่วยประชาชนจากความเดือดร้อนลูกเดียว ส่วนที่บอกว่าถ้าไม่มีรัฐประหาร 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจเป็นนายกฯ 8 ปีได้นั้น คิดว่าไม่น่าจะใช่ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ครบ 8 ปีไม่ได้ เพราะเชื่อใครคนหนึ่ง ผลักดันกฎหมายสุดซอยจนคนทั้งประเทศรับไม่ได้ต่างหาก ถ้าจะโทษใครสักคน ก็ควรโทษตัวเองน่าจะเหมาะสมที่สุด ส่วนเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และหากศาลตัดสินอย่างไร ก็ขอให้เคารพคำตัดสินด้วย ไม่ใช่ว่าตัดสินไม่ตรงกับที่ตัวเองคาดหวังไว้ก็ตีโพยตีพาย กล่าวโทษศาลรัฐธรรมนูญอีก

วันเดียวกัน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 และสภาที่ 3 ร่วมจัดเสวนา วาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ โดยมีนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง, นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน, นายวันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย และนายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย ร่วมเสวนา

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 2535 กล่าวเปิดเสวนาว่า สิ่งที่น่ากังวลมากคือความเป็นผู้นำในการบริหารประเทศไม่ชัดเจน ซึ่งหากดูจากรัฐธรรมนูญแล้วเข้าใจว่าชาวบ้านทั่วไปก็เข้าใจดีว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดแล้ว เว้นแต่จะแถไปเป็นอย่างอื่น และเมื่อเดือนที่ผ่านมามีข่าวลือว่ามีนายทุนใหญ่พยายามให้สวนกล้วยเพื่อให้การพิจารณาเรื่องดังกล่าวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีมาตรฐาน ซึ่งหลายครั้งการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญขัดกับความรู้สึกประชาชน และมีข่าวลือว่าจะแอบอ้างสถาบัน จึงขอเตือนว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์รักสถาบันจริง ต้องไม่นำสถาบันมาเกี่ยวข้อง                นายธีระชัยกล่าวว่า เชื่อว่าตุลาการจะสร้างระบบการเมือง ขจัดความขัดแย้ง โดยนึกถึงประโยชน์ประเทศชาติ ความผาสุกของประชาชน ไม่ได้ตัดสินตามตัวอักษรอย่างเดียว หากเป็นในต่างประเทศเขาดูเจตนารมณ์ จุดมุ่งหมายทางการเมืองเป็นหลักด้วย แต่ท่านต้องการตั๋ว 12 ปี ท่านต้องการจะเป็นจักรพรรดิใช่หรือไม่ การกำหนดเวลา 8 ปี เพื่อไม่ให้ผูกขาด อันเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตทางการเมือง 

นายวันวิชิตกล่าวว่า ในประเทศพัฒนา จะจำกัดอำนาจของผู้บริหารประเทศ หรือรู้จักพอ ประเทศเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ให้ประธานาธิบดีเป็นสมัยเดียว ซึ่งหากอยากเป็นวีรบุรุษ รัฐบุรุษ ต้องมีบรรทัดฐานที่ดี ไปดูนายทหารรุ่นพี่หลายๆคน ยังมีระยะเวลา มีสปิริต ยางอาย มีความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างสูง ในยุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประกาศจะอยู่ 15 เดือน ทั้งที่ด้วยอำนาจประกาศว่าจะไปต่อก็ได้ ในปี 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็อยู่ในเวลาจำกัด เพราะไม่อยากให้มีวิกฤตการเมือง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านก็รู้จักพอ

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 158 หรือ 264 กำหนดโดยชัดเจน การนับวาระตั้งแต่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ซึ่งหลังพ้นวันที่ 24 ส.ค.2565 พล.อ.ประยุทธ์ยังทำหน้าที่ต่อจะมีปัญหามาก ถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินแผ่นดิน ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินเดือน ผลประโยชน์ที่รัฐให้ในตำแหน่ง นายกฯ ควรคิดได้ ไม่ใช่มาหาเหตุ ตีความขยายเวลาเพื่อจะอยู่ต่อ หากมีความพยายามยื้อกันต่อไป ไม่รู้ว่าท่านเสียสละจริงหรือไม่ หรือยังยึดติดในอำนาจ อย่าถลำไป จนรับผิดชอบไม่ได้ ความเสียหายจะเกิดกับประชาชนที่เป็นเจ้าของเงินแผ่นดิน  

หาทางออกก่อน 23 ส.ค.

นายนิติธรกล่าวว่า เมื่อมีการยื่นเรื่องเข้าไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลต้องไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้เร็วที่สุด และควรให้ทันก่อนวันที่ 24 ส.ค. หรือหากไม่ทันก็ควรสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประยุทธ์จะขอพักการปฏิบัติหน้าที่ก่อน หรือลาออกแล้วเป็นนายกฯ รักษาการ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ครบวาระ 8 ปีแล้ว ก็อาจจะไม่สามารถเป็นนายกฯ รักษาการได้ อาจจะต้องใช้กลไกปลัดกระทรวงรักษาการแทน ดังนั้นฝ่ายการเมืองอาจจะต้องคิดแก้ปัญหาเรื่องนี้ก่อนวันที่ 23 ส.ค.

นายเจษฎ์กล่าวเช่นกันว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องแล้วดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 23 ส.ค. แม้วันที่ 24 ส.ค. จะยังสามารถดำรงตำแหน่งได้ตามนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยแล้วจะทำได้หรือไม่ เพราะในวันที่ 26 ส.ค.ที่จะมีการประชุมกำหนดผู้บัญชาการเหล่าทัพ หากท่านไปนั่งเป็นประธานการประชุมแล้วแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญจะทำได้หรือไม่ เพราะเปรียบเหมือนการสมรสกัน หากตามกฎหมายให้การสมรสเป็นโมฆะ แม้จะย้อนไปได้ทางนิตินัยว่าเป็นโมฆะ แต่พฤตินัยสามารถย้อนไปได้หรือไม่ เพราะสมรสกันไปแล้ว อยู่กินกันไปแล้ว หรือมีลูกกันไปแล้ว ทั้งนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่และคืนเงินเดือนในช่วงหลังจากวันที่ 24 ส.ค. จะเป็นการลดความขัดแย้งในบ้านเมืองได้ จะเป็นการช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์เองในการป้องกันปัญหา และช่วยลดแรงกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย แต่เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญคงจะไม่ยื้อเวลาการพิจารณาออกไปนานอย่างแน่นอน

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว คณะหลอมรวมประชาชน นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และนายนิติธรจัดเวทีปราศรัย “8 ปี ประยุทธ์ ต้องไป คนไทยลูกขึ้นสู้” โดยนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก แนวร่วม นปช.ปราศรัยว่า การมารวมกันไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง มาเพื่อบ้านเพื่อเมืองเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน พล.อ.ประยุทธ์ต้องออก 23 ส.ค.นี้ไม่มีเหตุผลอื่น  ทางออก พล.อ.ประยุทธ์เหลือไม่กี่ทาง 1.ออกก่อนให้คนอื่นมาเป็น และ 2.ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

 “ฝากไปยังไอโอที่แฝงตัวอยู่ที่จะไปรายงานนายให้ตรงว่าคนที่มาร่วมฟังปราศรัยครั้งนี้ 3,000 คน 21 ส.ค.จะมาเพิ่มมากว่านี้ 3-4 เท่า แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ได้อย่างไร จะเป็นสีไหนก็แล้วแต่ ขณะนี้คือคณะหลอมรวมประชาชนไล่ประยุทธ์ที่กำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ ขอให้วันที่ 21 ส.ค.นี้มารวมตัวกันให้มากๆ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ปราศรัยได้นัดแนะกับผู้ที่มาร่วมรับฟังการปราศรัยให้เตรียมนำขวดน้ำ บรรจุใส่เม็ดถั่วเขียว เป็นเครื่องมือส่งเสียงในการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์โดยการเขย่าหรือเคาะกับพื้นให้เกิดเสียงดัง ถ้ามีการชุมนุมวันไหนให้นำติดตัวมาด้วย เช่นเดียวกันกับวันที่ 23 ส.ค. เวลา 00.01 น. พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ออกจากเก้าอี้นายกฯ จะใช้ขวดน้ำเคาะกับพื้นถนนราชดำเนินให้พื้นทรุดไปเลย

ต่อมา นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ อดีตโฆษก นชป. กล่าวว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยู่เกิน 24 ส.ค.นี้ ก็เป็นนายกฯ เถื่อน การอยู่ต่อของ พล.อ.ประยุทธ์ทำไมต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ทำไมไม่มาถามประชาชน ถ้าไม่ออกไปก่อน 24 ส.ค.นี้ประชาชนจะกระทืบเอง ทุกคนต้องออกมา ถ้าประชาชนไม่เต็มถนนราชดำเนิน พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ออก เราต้องมากันเยอะๆ และขอเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนาลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาลแค่นี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ไม่ได้แล้ว สัปดาห์หน้าต้องมาสร้างพลังร่วมกันไล่ พล.อ.ประยุทธ์ออกไปให้มาก ไม่ให้มีที่ยืน

เปิดจุดแข็งจุดอ่อนว่าที่นายกฯ

วันเดียวกัน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง จุดแข็ง จุดอ่อน คนจะเป็นนายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 2,025 ตัวอย่าง โดยที่น่าพิจารณาคือ 3 อันดับจุดแข็ง จุดอ่อน คนจะเป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่า พล.อ.ประยุทธ์มีจุดแข็ง 45.1% จงรักภักดี, 34.8% อดทนแบกภาระวิกฤตประเทศ และ 34% มีผลงานเปิดประเทศ ฟื้นสัมพันธ์ไทยซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น ในขณะที่จุดอ่อน 55% มองว่าไม่คุมอารมณ์ โมโหง่าย, 51.5% อยู่นานมา 8 ปี และ 48.4% ไม่เก่งเรื่องแก้ปัญหาปากท้อง

เมื่อเทียบกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แกนนำพรรคเพื่อไทย มีจุดแข็ง 20.1% จงรักภักดี, 43.7% คนรุ่นใหม่ และ 46.3% บุตรสาวอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่จุดอ่อน 42.8% ขาดประสบการณ์การเมือง, 40% ยังไม่มีผลงาน และ 32% น่าห่วงเรื่องการตัดสินใจในภาวะกดดันทางการเมือง

ที่น่าสนใจคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มีจุดแข็ง 29.3% จงรักภักดี, 39.2% มีเครือข่ายกว้างขวางทุกวงการจัดการอิทธิพลได้ และ 30.9% มีผลงานแก้ค้ามนุษย์ แจกที่ทำกิน จัดการน้ำ แก้ภัยแล้ง เป็นต้น ในขณะที่จุดอ่อน คือ 62.7% อายุมาก, 36% ไม่มีเวลาลงพื้นที่ และ 34.9% การสื่อสารประชาสัมพันธ์ เมื่อเทียบกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พบจุดแข็งดังนี้ 16.1% จงรักภักดี, 41.4% คนรุ่นใหม่ และ 36.1% พูดจาเก่ง ส่วนจุดอ่อน คือ 35.9% ยังไม่มีผลงาน, 36.4% ขาดบารมีทางการเมือง และ 35.8% ยังมีช่องว่างเข้าไม่ถึงชาวบ้าน

ส่วนจุดแข็งของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข จุดแข็ง 41.3% จงรักภักดี, 45.9% แก้วิกฤตโควิดต่างชาติยกย่อง ดูแลผู้ป่วยดีขึ้น และ 40.7% มีความสามารถทำธุรกิจสำเร็จมั่นคง (40.7%) ในขณะที่จุดอ่อนคือ 49.8% ยังขาดคนช่วยงานที่เข้าถึงพื้นที่, 437.2% ไม่โปรโมตตัวเอง และ 30.8% พูดไม่เก่ง (30.8%) ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ จุดแข็งพบว่า 34.7% จงรักภักดี,  43.9% มีประสบการณ์การเมือง และ 41.4% นายชวน หลีกภัย สนับสนุน ในขณะที่จุดอ่อน 56.8% แก้ขัดแย้งในพรรคไม่ได้ คนเก่งลาออก, 35.4% ไม่โดดเด่น  และ 30.9% ไม่เห็นผลงาน

 ที่น่าพิจารณาคือ เปรียบเทียบผลสำรวจครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 เรื่องพรรคการเมืองที่ประชาชนตั้งใจจะเลือกถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบการเปลี่ยนแปลง 5 อันดับแรกของพรรคการเมืองในใจประชาชนคือ อันดับแรก พรรคเพื่อไทยครั้งแรกได้ 26.9% แต่ครั้งที่สองลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 25.1% อันดับที่สองพรรคภูมิใจไทยเพิ่มขึ้นจาก 14.2% ครั้งแรก มาอยู่ที่ 20% พรรคพลังประชารัฐได้ 22.3% ครั้งแรก แต่ตกลงมาอยู่ที่ 15% ครั้งที่สอง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 6.8% ในครั้งแรกมาอยู่ที่ 10.8% ในครั้งที่สอง และพรรคก้าวไกลได้ 6.9% ในครั้งแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 8.8% ในครั้งที่สอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง