จับตา15สิงหาสภาล่ม! ‘บิ๊กป้อม’ สั่งส.ส.ประชุม

ประธานวิปรัฐบาลยืนยัน เข้าร่วมประชุมสภา 15 ส.ค. เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้งแน่นอน  เพราะ "บิ๊กป้อม" สั่ง "สาทิตย์" เชื่อเป็นเกมซ้อนเกมในพลังประชารัฐบีบ "บิ๊กตู่" ปรับครม. ขณะที่ "ก้าวไกล" ยันอยู่เป็นองค์ประชุมแน่

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2565 นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นัดประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 15 ส.ค. เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า พรรคเข้าประชุมอยู่แล้ว ส่วนการประชุมครั้งที่แล้วเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่เกิดปัญหา เราก็เข้าร่วมประชุม แต่ต้องยอมรับว่ามีผู้แทนฯ บางส่วนที่ติดภารกิจวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน ก็ขอให้เข้าใจความรู้สึกของ ส.ส. ว่าไม่ใช่มีหน้าที่แค่ในสภา แต่ยังมีภารกิจลงพื้นที่พบปะประชาชน "วันดังกล่าวเปรียบไปก็เหมือนวันเกิด ที่ไม่ได้มีบ่อยครั้ง ก็ต้องเห็นใจ ส.ส.ด้วย"

เขากล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. สั่งให้สมาชิกพรรคเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรค พปชร.ที่เป็นแกนนำรัฐบาล ถูกจับจ้องว่าจะกระทำซ้ำรอยเหมือนวันที่ 10 ส.ค. ได้พูดคุยกำชับส.ส.อย่างไรบ้าง ประธานวิปรัฐบาลตอบว่า เรื่องการเข้าร่วมประชุม ทางวิปรัฐบาลมีมติแล้วว่าให้เป็นไปตามครรลองของสภา ซึ่งทุกพรรคก็ปฏิบัติตาม แต่ย้ำว่าเมื่อเกิดเหตุวันที่ 10 ก็ยอมรับสภาพที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์

เมื่อถามว่า ประเมินว่าการประชุมวันสุดท้าย ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันทำให้สามารถลงมติในวาระสามได้หรือไม่ นายนิโรธกล่าวว่า ทุกคนรู้หน้าที่ แต่ตนไม่สามารถไปคาดเดาการตัดสินใจของแต่ละคนได้ เพราะเป็นเจตจำนงที่จะลงหรือไม่ลงมติ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ส่วนพรรคพปชร.ยืนยันมาตลอด ไม่ว่าจะใช้สูตรคำนวณหาร 500 หรือหารด้วย 100 ก็ได้ทั้งนั้น เราไม่เกี่ยง

ถามย้ำถึงข้อสังเกตว่า ในการประชุมครั้งสุดท้าย อาจมีความพยายามยื้อเวลา ไม่ให้พิจารณาทันกรอบเวลา 180 วัน และกลับไปใช้ร่างเดิมของรัฐบาลตามที่มีบางกลุ่มต้องการ นายนิโรธกล่าวว่า ไปคาดเดาไม่ได้ สำหรับตนปวดหัวกับทุกร่างไม่ว่าจะเป็นร่างไหน และเรื่องนี้หากย้อนกลับไป จะเห็นว่าปัญหาเริ่มมาตั้งแต่ต้น คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีทั้งฉบับที่สมบูรณ์มากก็มี ไม่สมบูรณ์ก็มี ซึ่งไม่มีอะไรพอดี แต่มาถึงขณะนี้ไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เมื่อแก้ไขแล้วก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบ และทางที่ดีเห็นว่าควรทำไปตามครรลองของระบบ แต่เราไม่สามารถไปการันตีได้ว่าแต่ละพรรคมีเจตนาในการลงมติอย่างไร

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ มองว่าเกมล้มสูตรเลือกตั้งโดยไม่เข้าเป็นองค์ประชุมของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง จริงๆ แล้วเป็นเกมซ้อนเกม หมายความว่ามีเกมใหญ่อีกเกม ซึ่งหลายฝ่ายวิเคราะห์กัน และวิเคราะห์ตรงกันด้วยว่าน่าจะเป็นเกมกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเป็นเกมภายในของพรรคพลังประชารัฐกันเอง ที่กดดัน พล.อ.ประยุทธ์ให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีและมีตำแหน่งอย่างที่พูดถึงกันก่อนหน้านี้

รวมไปจนกระทั่งถึงว่าการกลับไปสู่สูตรคู่ขนานหาร 100 การล้มครั้งนี้เป็นการจับมือระหว่างฝ่ายค้าน คือเพื่อไทยและพลังประชารัฐ ในส่วนพลังประชารัฐเป็นการโชว์เพาเวอร์ของแกนนำว่ายังสามารถคุมได้ทั้งพรรค เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้ปรับ ครม. เขาจะใช้พลังนี้ไปต่อรองได้ รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์เองก็มีปัญหาเรื่อง 8 ปีที่ต้องเข้าศาลรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นโอกาสที่เอาเกมล้มสภาไปกดดันให้เปลี่ยนแปลงภายในพลังประชารัฐ มันก็อาจจะเป็นเกมซ้อนเกมอย่างหนึ่ง

"อาจจะมีนายกฯ ขึ้นมาในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนยุบสภา แล้วเปิดทางคู่ขนานสูตรหาร 100 ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เปรียบ แล้วก็อาจไปจับมือกันตั้งรัฐบาลในครั้งหน้า ซึ่งตอนนี้หลายคนก็วิเคราะห์ตรงกัน แต่เกมซ้อนเกมแบบนี้เป็นเกมการเมืองที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย" นายสาทิตย์กล่าว

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ไม่ต้องกำชับ ส.ส.ให้เข้าร่วมประชุม เพราะเราไปกันครบอยู่แล้ว ถ้าจะโหวตก็โหวตตามกรรมาธิการ

เมื่อถามว่า ถ้าสภาใช้การเมืองปั่นป่วนเหมือนช่วงที่ผ่านมา คิดว่าจะมีการโหวตทันหรือไม่ เพราะเป็นวันสุดท้ายเเล้ว นายอนุทินกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับ ส.ส.และ ส.ว. ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยเชื่อขนมกินได้เลยว่าเรารักษาระบอบประชาธิปไตย ที่ผ่านมาเราก็แสดงจุดยืนด้วยกันเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง และแสดงตนทุกครั้ง ซึ่งตนก็อยู่ในที่ประชุมด้วย

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​ พ.ศ..... รัฐสภา กล่าวว่า ส.ส.และ ส.ว.พิจารณาเองว่าจะเข้าร่วมประชุมหรือไม่ และทำหน้าที่อย่างไร ทั้งนี้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

เมื่อถามว่า มีแนวทางให้องค์ประชุมครบเพื่อเริ่มพิจารณากฎหมายอย่างไร นพ.ระวีกล่าวว่า เราทำได้เพียงเรียกร้องเรื่องจริยธรรมของสมาชิกเท่านั้น อย่างอื่นเราทำอะไรไม่ได้ เพราะขณะนี้ก็มีข่าวออกมาว่าพรรคนั้นพรรคนี้ยืนยันจะเอาแบบเดิม และไม่มาประชุม แถมยังมีการให้ส.ว.บางคนที่รับใช้นายออกมาพูดว่าวิถีการให้สภาล่มเป็นวิถีตามกฎหมายที่ทำได้ ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนดูอยู่และจะตัดสินเอง

เมื่อถามว่า หากสุดท้ายต้องกลับไปใช้หาร 100 ตามร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรคเล็กจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ นพ.ระวีกล่าวว่า พรรคเล็กกำลังร่างคำร้องอยู่ และรอตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นจะรวบรวมรายชื่อส.ส.ให้ครบ 50 คน และยื่นคำร้องในช่วง ร่าง พ.ร.บ.อยู่ในมือนายกรัฐมนตรี ระหว่างที่รอทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าหาร 100 ผิดรัฐธรรมนูญ

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคก้าวไกลยังเหมือนเดิมคือวันที่ 15 ส.ค. ก็จะเข้าประชุมร่วมรัฐสภา และจะทำหน้าที่ในการยืนยันว่าระบบที่กลับไปกลับมามันไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในจุดยืนของก้าวไกลยังคงเหมือนเดิม

เมื่อถามว่า เข้าประชุมและจะร่วมเป็นองค์ประชุมด้วยหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า สำหรับพรรคก้าวไกลก็จะเข้าเป็นองค์ประชุม เพราะเรายังมองว่าการเป็นองค์ประชุมไม่ได้เสียหายอะไร และคิดว่าการเป็นองค์ประชุมเราสามารถแสดงเจตจำนงได้ว่าสุดท้ายเราไม่เห็นด้วยกับระบบสูตรหาร 500 อย่างไร และตนคิดว่าทางพรรคก้าวไกลก็ชัดเจน แต่ว่ากระบวนการก็ต้องเดินหน้าต่อ ซึ่งเราก็ทำหน้าที่ของเรา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง