'สรรพชัยย์'นำทัพNT ขับเคลื่อนภารกิจ'ดิจิทัลครบวงจร'

หลังจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)  หรือ CAT และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT  ควบรวมบริษัทกันไปเมื่อ 2 ปีก่อน พันเอกสรรพชัยย์  หุวะนันทน์ ถือว่าเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ  NT ที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัล ที่มีโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรมากที่สุด พร้อมจะขับเคลื่อนและยกระดับการสื่อสารให้สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

แต่หลังจากควบรวมกิจการแล้ว NTแทบจะไม่มีแผนงานที่ชัดเจนและอยู่ในช่วงสุญญากาศมาตลอด ในฐานะที่เป็นหัวเรือใหญ่ พันเอกสรรพชัยย์ จึงวางเป้าขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้สามารถนำศักยภาพและความพร้อมของโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมที่ครอบคลุมและหลากหลาย รวมทั้งบุคลากรขององค์กรที่มีอยู่ทั่วประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ รองรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการควบรวมกิจการ ทั้งกรณีทรู-ดีแทค และเอไอเอสกับ 3BB

พร้อมรองรับการดำเนินงานของ NTที่เป็นองค์กรหลักให้หน่วยงานภาครัฐ ในการปรับเปลี่ยนพัฒนาองค์กร ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคม โดย NT จะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรและกระบวนการทำงานภายใน เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร บูรณาการโครงข่ายโทรคมนาคมให้เป็นหนึ่งเดียว พร้อมกับบริหารต้นทุนให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจและสอดคล้องกับอุตสาหกรรม  

พันเอกสรรพชัยย์ ระบุว่า โครงการคำสัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การจัดระเบียบสายสื่อสาร ซึ่งเป็นภารกิจที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมอบหมายให้ โดยในปี 2565 จะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครตามแนวถนนสายหลัก ก่อนขยายสู่พื้นที่รอบนอกต่อไป พร้อมกับเดินหน้า โครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน เอ็นทีมีศักยภาพพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที

ด้วยความพร้อมของท่อร้อยสายใต้ดินที่มีอยู่แล้ว  4,450 กิโลเมตร สามารถรองรับเคเบิลทองแดงขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถแขวนกับเสาไฟฟ้าได้ รวมทั้งการสร้างท่อร้อยสายไปพร้อมๆ กับการก่อสร้างถนนใหม่เพื่อลดผลกระทบจากการเปิดผิวจราจร ซึ่ง NT เห็นว่าการใช้ทรัพยากรร่วมกันของผู้ให้บริการทุกค่ายอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม  (Neutral Operator) ในหลักการใช้ Infrastructure Sharing  ไม่ว่าจะเป็น Telecom Infrastructure และ Digital  Infrastructure จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ  ประชาชน และผู้ใช้บริการทุกคน ขณะที่ผู้ประกอบการให้บริการจะประหยัดงบประมาณลงได้เป็นจำนวนมากอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมี โครงการคลาวด์กลางภาครัฐ  (GDCC) ที่ผ่านมา NTเน้นให้บริการในระดับโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมพัฒนาบุคลากรของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้มุ่งขยายการบริการในระดับแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ ซึ่งจะเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและผลักดันองค์กรภาครัฐให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายดิจิทัลไทยแลนด์ (Digital  Thailand) รวมทั้ง NT ยังได้ดำเนินโครงการอื่นๆ ที่จะรองรับความต้องการภาครัฐด้าน Data Analytic ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งด้านการท่องเที่ยว การเกษตร การศึกษา สาธารณสุข แรงงาน ฯลฯ

และ โครงการ 5G เอ็นทีมีคลื่นความถี่ที่ได้รับจากการประมูลใน 2 ย่านความถี่ โดยคลื่นความถี่ 26 GHz ซึ่งเป็นคลื่นในย่านความสูง NT เน้นลงทุนให้บริการสำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่เฉพาะกลุ่ม ซึ่งในปีนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนาและเปิดให้บริการร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC และสนับสนุนการพัฒนาสู่  Smart City ส่วนความถี่ 700 MHz ได้ดำเนินการใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การดำเนินการเองสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ใช้บริการพื้นฐานทั่วไป ไม่ต้องการแบนด์วิดท์สูง  และการให้พันธมิตรร่วมให้บริการ 5G ในรูปแบบ Network  Sharing เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนขององค์กร คาดหลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน พ.ย.-ธ.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในปี 2565 ถึงปัจจุบัน  เอ็นทีมีรายได้รวม 49,557.65 ล้านบาท คิดเป็น 47.78%  เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ โดยรายได้หลักมาจากกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุยสอบนายกฯตัวจริง

"นายกรัฐมนตรี" อวยพรปีใหม่ 2568 ขอให้ปชช.มีความสุข ปราศจากอุปสรรค และเป็นปีแห่งโอกาสของทุกคน