มีชัยชี้อนาคตบิ๊กตู่ จรัญแย้มคำตอบมีน้ำหนัก/ยกมาตรา3เรื่องความผาสุกให้คิด

“บิ๊กตู่” มีลุ้น “จรัญ” ชี้ต้องยึดหลักมติของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ดูแค่บันทึกประชุม พร้อมยกมาตรา  3 เรื่องความผาสุกของประชาชนโดยรวมให้คิด เผยความเห็น “มีชัย” มีน้ำหนักหากตอบปม 8 ปี “นิพิฏฐ์” ขย่มอีก รอดูกูรูกฎหมายทำปิตุฆาต เพื่อไทยยังกั๊ก 17 ส.ค.ยื่นประธานชวนหรือไม่      

เมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม ประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเป็นที่วิเคราะห์วิจารณ์อย่างมาก โดยนายจรัญ  ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการวินิจฉัยคำร้องคดีต่างๆ ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อศาลรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว หากเป็นคำร้องที่ขอให้ตีความในประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายฉบับต่างๆ หลักปฏิบัติที่ศาลทำเป็นปกติคือ จะทำหนังสืออย่างเป็นทางการไปถึงสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งเอกสารบันทึกรายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่พิจารณายกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับตัวคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  รวมถึงเอกสารหนังสือแนวทางความต้องการหรือเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งหากมีศาลจะให้รัฐสภาส่งมาประกอบการพิจารณา แต่ส่วนใหญ่การยกร่างพระราชบัญญัติทั่วไปจะไม่มีการทำหนังสือบันทึกเจตนารมณ์ไว้ จะมีแต่เฉพาะบันทึกเจตนารมณ์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติกันมาตั้งแต่การยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญรวมถึงหากมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการทำบันทึกเจตนารมณ์ประกอบไว้ด้วย ทำให้เวลาเกิดกรณีมีปัญหาในการตีความรัฐธรรมนูญก็มักต้องขอทั้งบันทึกเจตนารมณ์และรายงานการประชุมของสภา, วุฒิสภา,  คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.ในฉบับนั้นที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัย เพื่อดูว่าตัวบทที่เขียนไม่ชัดเจนดังกล่าวแนวทางควรเป็นไปในทิศทางใด

นายจรัญย้ำว่า เอกสารที่ขอไปไม่ได้เป็นข้อยุติเด็ดขาดอะไรตามที่อยู่ในบันทึกเหล่านั้น เพราะต้องดูประกอบบริบท บทบัญญัติในมาตราอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวโยงกันด้วย รวมถึงบทเฉพาะกาลประกอบด้วย และบางครั้งต้องนำหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 วรรคสองของรัฐธรรมนูญมาประกอบการวินิจฉัยตีความด้วย ดังนั้นจึงไม่มีใครบอกได้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไร  บ่อยครั้งในปัญหายากๆ ความเห็นของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คนก็แตกเป็นสองทางบ้าง สามทางก็เคยมี  กรณีที่ยากๆ เช่นนั้นก็ต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นคำวินิจฉัยของศาล นี่คือแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติกันมา

เมื่อถามย้ำว่า หมายถึงการวินิจฉัยอาจไม่จำเป็นต้องดูจากบันทึกการประชุมของคณะกรรมการหรือ กมธ.วิสามัญที่ยกร่างกฎหมายแต่ละฉบับใช่หรือไม่ นายจรัญกล่าวว่า เวลาดูบันทึกรายงานการประชุมของรัฐสภา บางครั้งพออ่านเสร็จก็เห็นว่าเรื่องนี้ควรไปในทิศทางไหน แบบนี้มันก็ง่าย แต่บางครั้งตัวบันทึกรายงานการประชุมของรัฐสภา แม้แต่บันทึกเจตนารมณ์ที่ทำกันไว้ก็ดี บางครั้งก็ไม่ชัดเจน โดยหากชัดเจนมันก็ง่าย แต่หากไม่ชัดเจนก็มองได้หลายแง่หลายมุม ต้องหาทางออกที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งไปกว่าการดูที่สองเครื่องมือข้างต้น

 ถามต่อไปว่า หากดูแล้วไม่เคลียร์อาจใช้วิธีที่ศาลอาจทำหนังสือสอบถามความเห็นไปถามคนที่ยกร่างโดยตรงให้ตอบได้หรือไม่ อย่างที่ศาลเคยทำมาแล้วตอนช่วงแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ทำหนังสือถามไปถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. และนายอุดม รัฐอมฤต อดีตเลขานุการ กรธ. นายจรัญกล่าวว่า ไม่ได้เอาที่ตัวบุคคลเป็นหลัก แต่ต้องเอามติของคณะกรรมการ เพราะการเขียนกฎหมายออกมาไม่ได้เขียนโดยคนคนเดียว แต่ทำโดยคณะกรรมการ ก็ต้องว่ากันตามมติที่เป็นความเห็นร่วมกัน แล้วบางครั้งมันก็มีเสียงข้างมากเสียงข้างน้อย เรื่องจึงไม่ง่ายนัก แต่หากมีมติชัดเจนเลยเป็นเอกฉันท์ให้เป็นอย่างไร มันก็ค่อนข้างง่าย คือต้องเอามติ กมธ. ไม่ใช่เอาความเห็นของคน

ความเห็นมีชัยมีน้ำหนัก

ถามย้ำอีกว่า หากอดีต กรธ.ไม่ได้มีมติออกมาอย่างเป็นทางการในการเขียนมาตรา 158 (เรื่องวาระ 8 ปี) แล้วมีข้อสงสัย ถ้าทำความเห็นไปถึงนายมีชัยให้เสนอความเห็นมา ความเห็นดังกล่าวถือว่ามีน้ำหนักในการวินิจฉัยหรือไม่ นายจรัญตอบว่ามีน้ำหนักพอสมควร แต่ไม่ได้หมายความว่าน้ำหนักมากกว่าประเด็นอื่นๆ

 เมื่อถามอีกว่า คำร้องคดีวาระ 8 ปีนี้หากยื่นไปแล้ว ศาลจะวินิจฉัยจบเร็วหรือไม่ เพราะเป็นแค่การพิจารณาข้อกฎหมาย อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าคงเร็ว เว้นแต่ว่าหากศาลอยากฟังรายงานการประชุมที่รัฐสภาส่งมา  รวมถึงบันทึกเจตนารมณ์ประกอบให้มันรอบคอบ ก็ต้องขอไปก่อน แล้วก็ให้ทุกฝ่ายที่มีหลายฝ่าย ศาลก็อาจรอตัวแทนแต่ละฝ่ายทำความเห็นเข้าไป จะได้พิจารณาอย่างรอบคอบและตัดสินได้โดยไม่ขาดข้อมูล โดยหากศาลดูข้อมูลครบทุกด้านแล้ว จุดที่ถูกต้องเป็นธรรม เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมากที่สุดอยู่ตรงไหน ศาลก็คงตีความไปที่จุดนั้น

สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ที่นายจรัญระบุไว้มีเนื้อหาว่า “รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ  และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไป ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม”

เพื่อไทยขอรอกระแส

วันเดียวกัน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.)  กล่าวว่า ในวันที่ 17 ส.ค.จะยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ตีความการดำรงตำแหน่ง

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวพรรค พท.อยากให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นรักษาการนายกฯ  แทน พล.อ.ประยุทธ์ มีนัยทางการเมืองอะไรหรือไม่ นายประเสริฐระบุว่า ไม่มีและไม่เคยดีล ซึ่งถ้านายกฯ หลุด กระบวนการมีอยู่แล้วว่าต้องเอาคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อขึ้นมาก่อน ไม่เห็นต้องให้ พล.อ.ประวิตรรักษาการแทนเลย ยกเว้นคนในบัญชีรายชื่อนายกฯ ไม่ได้มีเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาเพียงพอ

เมื่อถามย้ำว่า หาก พล.อ.ประวิตรขึ้นมาดำรงตำแหน่งรักษาการนายกฯ จริงๆ จะมีลักษณะอย่างไร นายประเสริฐกล่าวว่า ก็แค่รักษาการ ไม่ใช่ทำได้เต็มที่เหมือนนายกฯ จริงๆ

ส่วนนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ต้องประเมินอีกในสัปดาห์หน้า โดยฟังเสียงทางสังคมไปด้วยว่าจะยื่นตีความหรือไม่ ส่วนกรณี  พล.อ.ประวิตรจะเป็นนายกฯ รักษาการนั้นก็ไม่น่ามีอะไร  เป็นเรื่องปกติ นายกฯ ไม่อยู่ก็ให้รองนายกฯ รักษาการ ไม่ทำให้บ้านเมืองสะดุดอะไร การมีรองนายกฯ ไว้ก็เพื่อการนี้

“ไม่มีอะไรแตกต่าง แต่จะแตกต่างตรงบรรยากาศของบ้านเมืองก็จะเปลี่ยนไปหน่อย พอ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ประชาชนเขาก็คิดว่าเป็นความหวัง โอกาสได้ลุ้นที่จะได้มีชีวิตที่ดีขึ้นช่วงสั้นๆ” นายสุทินกล่าว

นายชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ออกมาฟันธงนายกฯ หมดวาระ 23 ส.ค.65 ว่า นายนิพิฏฐ์ไม่ควรทำตัวเป็นศาลเตี้ยพิพากษาคนอื่นเอง  หรือไม่ เอาข้อมูลจากที่อื่นมาตีความว่านายกฯ หมดวาระแล้ว หากมีคนไปยื่นตีความก็ขอให้รอฟังการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ อย่าออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเช่นนี้ เพราะจะถูกมองว่าชี้นำได้และทำให้ประชาชนเกิดความสับสน

"นายนิพิฏฐ์ย้ายพรรคไปสร้างอนาคตไทยแล้ว เข้าใจว่าคงอยากสร้างผลงานให้คนในพรรคเห็น แต่ก็ควรทำผลงานที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่าที่จะมาหิวแสง  พูดเรื่องทางการเมืองลักษณะโจมตีนายกฯ เช่นนี้ อย่ามีอคติกับนายกฯ เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกฯ หากมีผู้ไปยื่นก็จะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลอยู่ดี และนายกฯ ก็ยืนยันแล้วว่าไม่ว่าผลออกมาอย่างไรพร้อมที่จะน้อมรับ” นายชนะศักดิ์กล่าว

นายนิพิฏฐ์ได้โพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้งในหัวข้อ “มาตุฆาตรัฐธรรมนูญ” ระบุว่า นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ.ได้กระทำมาตุฆาตรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว โดยให้ความเห็นว่าการเป็นนายกฯ ก่อนยึดอำนาจ กับนายกฯ หลังยึดอำนาจไม่ต้องนับวาระการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกัน  แต่ตอนที่เป็น กรธ.บอกว่าต้องนับวาระต่อเนื่องกัน ส่วนที่บางท่านบอกว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษก็จริง แต่เรื่องนี้ใช้กับโทษทางอาญา จะนำมาใช้กับสิทธิในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ เช่นอดีต ส.ส.สิระ เจนจาคะ ได้รับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ทำความผิดเมื่อปี 2538 ก่อน รธน.2560 ถึง 22 ปี โดยทำความผิดในขณะใช้ รธน.ปี 2534 ศาลรัฐธรรมนูญก็ย้อนตัดสิทธิ์ไปถึงการกระทำในปี 2538 การย้อนหลังตัดสิทธิ์ทำได้ เพราะเป็นสิทธิทางการเมือง ไม่ใช่โทษทางอาญา

ไอลอว์เปิด 2 หลักฐานมัด 8 ปี

“ท่านสุพจน์ได้ทำมาตุฆาตรัฐธรรมนูญไปแล้ว โดยเปลี่ยนแปลงความเห็นของตัวเอง ตอนนี้ก็รอฟังเพียงว่าท่านมีชัย ประธานร่างรัฐธรรมนูญตัวจริงเสียงจริงจะกระทำซ้ำ ด้วยการปิตุฆาตรัฐธรรมนูญด้วยหรือเปล่า" นายนิพิฏฐ์ระบุ

ขณะที่โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน  (ไอลอว์) ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทุกคนเป็นนายกฯ ได้ไม่เกิน 8 ปีตลอดชีวิต” โดยระบุว่า มีพยานและหลักฐาน 2 อย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การตีความวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเริ่มนับจากวันที่ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 24  สิงหาคม 2557 คือ 1.บันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่  500 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ที่ระบุถึงความเห็นของประธานและรองประธาน กรธ. ในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ และ 2.คำให้สัมภาษณ์ของ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เมื่อปี 2562 ที่ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลนี้  (คณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญปี  2560 ใช้บังคับ) ไม่ใช่คณะรัฐมนตรีที่รักษาการ เพราะว่าถ้าใช่ รัฐธรรมนูญจะบอกว่าเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กลับบอกด้วยว่า ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เป็นคณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่ไปจนถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นจึงเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม

ไอลอว์ยังระบุว่า คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า  การดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ใช่ข้อยกเว้นตามมาตรา 158  วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ระบุว่าไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง ดังนั้นต้องเริ่มนับวาระนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 การกล่าวอ้างว่า การดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ เป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการจึงไม่อาจกล่าวอ้างได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งัดกม.กดดันนายกฯ พปชร.อ้างข้อบังคับพรรค ทวงใบกรอกประวัติ‘ป๊อด’

"อุ๊งอิ๊ง" ยังเล่นบทเตมีย์ใบ้ "หมอมิ้ง" ขึงขังไม่ขีดเส้นตายรายชื่อ รมต. แต่ถ้าไม่ส่งก็ถือว่าไม่ส่ง พลิ้วไม่รู้หนังสือ