ดีเดย์ลงทะเบียน คนจนรอบใหม่ สั่งตรึงดอกเบี้ย

"คลัง" ดีเดย์ลงทะเบียนคนจนรอบใหม่ 5 ก.ย.-19 ต.ค.65 คาดเปิดให้ใช้สิทธิ์ได้ ม.ค.66 เรียกถกแบงก์รัฐสั่งผนึกกำลังตรึงอัตราดอกเบี้ยช่วยลูกค้า "ออมสิน" ประเดิมขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด 0.30% ต่อปี "สบน." รับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นดันต้นทุนกู้เงินรัฐบาลขยับ เดินหน้าบริหารจัดการความเสี่ยง โยกเป็นกู้เงินอัตราดอกเบี้ยคงที่

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 หรือบัตรคนจนรอบใหม่ ในวันที่ 5 ก.ย.-19 ต.ค.2565 รวมทั้งหมด 45 วัน ที่หน่วยงานรับลงทะเบียน ได้แก่ สาขาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน,  ธนาคารกรุงไทย และหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งเว็บไซต์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th เป็นต้น โดยคาดว่าผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในรอบนี้จะอยู่ที่ประมาณ 15-16 ล้านคน

ทั้งนี้ เมื่อปิดรับลงทะเบียนแล้วก็จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติร่วมกับ 47 หน่วยงาน และจะประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติได้ในเดือน ม.ค.2566 เพื่อให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ยืนยันตัวตน ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ สามารถยื่นเรื่องอุทธรณ์ หากเป็นไปตามแผน ก็คาดว่าจะสามารถเปิดใช้สิทธิ์บัตรคนจนรอบใหม่ได้ภายในเดือน ม.ค.2566 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน

"ผมยืนยันว่าการเปิดรับลงทะเบียนคนจนรอบใหม่และการให้สิทธิ์บัตรคนจนในเดือน ม.ค.2566 ไม่ได้เป็นประเด็นทางการเมือง และไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า" นายสันติกล่าว

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การรับลงทะเบียนหากตรงกับวันเสาร์-วันอาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานรับลงทะเบียนแต่ละแห่ง ส่วนการประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติ คลังจะประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนภายในเดือนมกราคม 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ http://welfare.mof.go.th โดยผู้ลงทะเบียนที่ผ่านคุณสมบัติ จะต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อเข้าร่วมโครงการ ที่ ธ.ก.ส., ธนาคารออมสิน หรือธนาคารกรุงไทย โดยสามารถยืนยันตัวตนได้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป

ส่วนผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ  สามารถดำเนินการยื่นเรื่องอุทธรณ์ผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือช่องทางที่กระทรวงการคลังกำหนดได้ตั้งแต่วันที่ 9-31 ม.ค. 2566

ส่วนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปัจจุบัน จะยังคงใช้สิทธิผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้จนถึงวันสุดท้ายก่อนที่จะมีการเริ่มใช้สิทธิใหม่ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนสำหรับผู้ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565

วันเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ได้เรียกผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ  ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.),  ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.),  ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาหารือเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.75% ต่อปี

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า รมว.การคลังได้สั่งการว่าให้ไปดูว่ามีมาตรการอะไรบ้างที่จะสามารถช่วยเหลือลูกค้าได้ ซึ่ง ธ.ก.ส.จะเร่งบริหารจัดการหนี้ เติมสภาพคล่อง รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพลูกค้า ส่วนอัตราดอกเบี้ย ธ.ก.ส.ก็จะช่วยตรึงออกไปให้นานที่สุด ก็จะช่วยลูกค้าของธนาคาร ที่ปัจจุบันใช้อัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน/6 เดือน ปรับขึ้น 0.15% เงินฝากประจำ 12 เดือน ปรับขึ้น 0.20% และเงินฝากประจำ 24 เดือน/36 เดือน ปรับขึ้น 0.30% ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการออม และให้ประชาชนได้มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่กำลังเริ่มกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สำหรับลูกค้าสินเชื่อ ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือ โดยจะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR, MOR และ MRR) ไว้ให้นานที่สุด

ก่อนหน้านี้ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. เปิดเผยว่า ธอส.ยืนยันตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุด อย่างน้อยถึงสิ้นปี 2565 ส่วนนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธสน. กล่าวว่า ธนาคารพร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุด ในอัตรา Prime Rate 5.75% ต่อปี

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกู้เงินในอนาคตของรัฐบาลคงมีต้นทุนการกู้เงินที่สูงขึ้น เพราะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น จบแล้วยุคดอกเบี้ยต่ำๆ ซึ่งที่ผ่านมา สบน.ได้มีการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยการเปลี่ยนการกู้เงินระยะสั้นที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว (Float Rate) มาเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fix Rate) มากขึ้น โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยคงที่มีสัดส่วนถึง 82% ส่วนที่เหลือเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ส่วนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นไม่มี เพราะรัฐบาลมีหนี้ต่างประเทศน้อยแค่ 1.8% และได้ทำการปิดความเสี่ยงไปหมดแล้ว

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 สบน.ได้มีการบริหารจัดการต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล โดยพยายามกู้เงินระยะยาวผ่านการออกพันธบัตรระยะยาวให้มากขึ้น จากปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 45% จะปรับเพิ่มเป็น 48% การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน จะอยู่เท่าเดิมที่ 25% ขณะที่การออกตั๋วเงินคลังและการกู้เงินระยะสั้นจากตลาด จะลดลงมาอยู่ที่ 14% จากเดิมที่ 18%

สำหรับภาพรวมหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นเดือน มิ.ย.2565 อยู่ที่ 61.06% จากต้นปีคาดว่าในสิ้นปีงบประมาณ 2565 หนี้สาธารณะต่อจีดีพี จะอยู่ที่ 62.69% แต่ปัจจุบันมูลค่าจีดีพีเพิ่มขึ้น และมีการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะทั้งหมด ทำให้คาดว่าภายในสิ้นปีงบประมาณ 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 61.3%

ทั้งนี้ สบน.จะเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นออมเพิ่มสุข รอบพิเศษ วงเงินรวม 2.1 หมื่นล้านบาท เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนจำนวน 2 หมื่นล้านบาท และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไรจำนวน 1 พันล้านบาท โดยจำหน่ายให้เฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับจัดสรรพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นออมเพิ่มสุข ในรอบจำหน่ายเดือน มิ.ย.2565.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อวยทักษิณชนะนายกอบจ.

"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา