บิ๊กตู่อยู่ยาว‘กรธ.’ปัด8ปี23ส.ค.

เบรกเอี๊ยด! "สุพจน์" นั่งไม่ติด ออกโรงแจงยิบหลังบันทึก กรธ.โผล่ว่อน โยงปมตีความ 8 ปี "บิ๊กตู่" จบแล้ว  โต้กลับทันควันแค่ข้อหารือ ไม่ใช่มติทางการ ระบุปลายทางอยู่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เสริมทัพ "ชูชาติ ศรีแสง" อีกหนึ่งเสียง 23 ส.ค.ไม่หลุดเก้าอี้อยู่ยาวยันปี 2570 โฆษกรัฐบาลติงกูรูทั้งหลายอย่าตีความกันเอง ยันนายกฯ น้อมรับคำวินิจฉัยศาล

เมื่อวันพุธ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตรองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ถึงเรื่องปมปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการตีความการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าเรื่องดังกล่าวไม่อยากแสดงความเห็น เพราะควรเป็นเรื่องที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดีที่สุด หากพูดไปก็จะต่อความยาวสาวความยืด เพราะตอนนี้ก็วางมือไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรแล้ว

เมื่อถามถึงกรณีมีการเผยแพร่บันทึกการประชุมของ กรธ. ที่มีการแสดงความเห็นของนายสุพจน์ ระบุตอนหนึ่งในช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 154 เรื่องการนับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่บอกไว้ว่า การนับดังกล่าว ให้นับรวมถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย นายสุพจน์กล่าวทันทีว่า บันทึกการประชุมดังกล่าวเป็นเอกสารเปิดเผย ไม่ใช่บันทึกลับอะไร มีการเก็บไว้ในสถานที่ต่างๆ เช่นห้องสมุดรัฐสภา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความเห็นดังกล่าวของตนเองก็เป็นแค่การพูดคุยปรึกษาหารือแบบไม่เป็นทางการของ กรธ.ตอนนั้น

 “และในความเป็นจริงมีการพูดกันหลายคน แต่มีคนไปจับประเด็นที่บางกลุ่มต้องการ มีการไปดึงโควตคำพูดที่เขาต้องการให้มาประเด็นในตอนนี้เท่านั้นเอง ขอย้ำว่าบันทึกดังกล่าวไม่ใช่มติ เป็นการหารือทั่วไปของ กรธ. และไม่ได้คุยกันแค่สองคน ระหว่างผมกับประธาน กรธ. แต่คุยประเด็นนี้กันหลายคนใน กรธ.  21 คน เป็นลักษณะการคุยกันทั่วไป แต่ที่มีการบันทึกไว้ในรายงานเป็นเอกสารดังกล่าว ก็เพราะตำแหน่งของผมที่เป็นรองประธาน กับประธาน (มีชัย) เท่านั้นเอง ซึ่งตอนที่คุยก็มีความเห็นกันหลากหลายและตอนนี้อะไรก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว อยากให้เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดจะดีกว่า” นายสุพจน์ระบุ

เมื่อถามย้ำว่า ความเห็นดังกล่าวมีผลผูกพันจนสามารถนำมาเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายสุพจน์กล่าวว่า ไม่ใช่มติ กรธ. เป็นแค่การหารือ เราต้องดูบริบทอื่นๆ ด้วย ต้องดูหลายวรรคหลายตอนประกอบกัน ตอนที่ กรธ.คุยกันในมาตราอื่นด้วยที่เกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่เอาข้อความเดียวแล้วยกมาพูดถึง แต่ต้องดูมาตราอื่นด้วย ต้องดูหลายอย่าง

 “คุณต้องไปดูความเห็นที่ท่านชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ที่ออกมาโพสต์เรื่องการตีความการนับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีผู้เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านให้ความเห็นดีมากเลย” นายสุพจน์ระบุ

 เมื่อถามว่า ตอนนี้มีการเผยแพร่บันทึกการประชุมดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นที่นายสุพจน์บอกว่าให้นับระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ด้วย นายสุพจน์ตอบว่า "ผมไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็มีถึง 21 คน และที่ปรึกษา กรธ.อีกจำนวนมาก ตรงนั้นแค่ความเห็นของผม ไม่ใช่มติอย่างเป็นทางการของ กรธ. มติมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้มันเป็นความเห็น คุยกันทั่วไป โดยตอนนั้นไม่ได้มีบริบทอื่นเลย"

นายสุพจน์กล่าวต่อว่า ตอนนั้นเป็นการคุยกันเรื่องกรอบการยกร่างมาตรา 158 (บุคคลจะเป็นนายกรัฐมนตรีเกินแปดปีไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นติดต่อกันหรือไม่)  ที่ตอนนั้น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ไปเขียนบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญเลย แล้วก็ยังไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีก ขอย้ำว่าที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญคุยกันตอนนั้นที่ปรากฏในเอกสาร แค่ขั้นตอนแรกๆ ของการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง เราก็คุยกันทั่วไป เพราะหลังจากวันนั้น ก็ยังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตราหลายขั้นตอน

 “แต่มีบางคนไปจับประเด็น เอาแค่ตรงนั้นที่ผมพูด เพื่อให้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาในตอนนี้ ทั้งที่สิ่งที่คุยกัน ไม่ใช่มติของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ การจะตีความเรื่องนี้ ขอบอกว่าจะต้องพิจารณารัฐธรรมนูญหลายมาตรา หลายวรรค หลายตอนในรัฐธรรมนูญมาประกอบกันด้วย ไม่ใช่มาดูกันแค่วรรคเดียวของบางมาตราในรัฐธรรมนูญแล้วนำมาพูดกัน แต่ต้องดูหลายมาตราประกอบ” อดีตรองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญระบุ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2565 นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน โดยมีการระบุตอนท้ายว่า การนับอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้นับหลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกฯ รอบสอง หลังเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค.2562 ที่เข้าไปเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2562 คิดถึงปัจจุบันเป็นเวลาเพียง 3 ปี 1 เดือน 6 วันเท่านั้น

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความพยายามของคนบางกลุ่มที่ต้องการกดดันหวังสร้างประเด็นให้นายกฯ โดยหยิบเอาบางช่วงบางตอนของเอกสารดังกล่าวที่เป็นความเห็นของกรรมการเพียงไม่กี่คนมานำเสนอจนเกิดความสับสน ทั้งๆ ที่เอกสารนี้เป็นแค่บันทึกการประชุมหรือบันทึกการแสดงความเห็นของกรรมการ แต่ไม่ใช่มติ จึงไม่ควรนำมาใช้อ้างอิง และการประชุมในวันนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ประกาศใช้ไปแล้ว

 “ที่ถูกต้องควรไปพิจารณาความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับที่มาของนายกรัฐมนตรี และฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ตีความกันไปตามความเห็นหรือความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่มีอำนาจหน้าที่หรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักนิติศาสตร์หรือหลักกฎหมาย ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คารพการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและไม่อยู่เหนือกฎหมาย จึงขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักการและปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นเดียวกัน เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้และไม่เกิดความวุ่นวาย” โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน

ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท