เร่งขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า1ต.ค. รบ.จ่อใช้งบกลางอุ้มค่าไฟ

แรงงานเฮ! "สุชาติ" ดันสุดตัว เร่งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเข้า ครม.เดือน ก.ย. หวังบังคับใช้ 1 ต.ค.นี้ ปัดไม่เกี่ยวการเมือง ม.หอการค้าฯ ขานรับชี้ปรับค่าจ้างช่วยหนุนเศรษฐกิจโต "บิ๊กตู่" แจงเหตุอุ้มค่าไฟอีกเดือน คำนึงความเดือดร้อนปชช. ยันขึ้นเป็นสตางค์เท่านั้น

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาขึ้นค่าไฟฟ้าว่า วันที่ 8 ส.ค. ได้มีการหารือกัน ซึ่งเป็นการวางแผนล่วงหน้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเขาต้องดำเนินการกันอยู่แล้ว จะต้องมีการพิจารณากันในช่วงต่อไป ในเดือน ก.ย.-ธ.ค. เป็นระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งต้องพิจารณาว่าทำอย่างไรจะให้เดือดร้อนน้อยที่สุด ต้องคำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นต่างๆ

 “ขอยืนยันเนื่องจากมีหลายคนเอาไปพูดว่าในเรื่องของค่าไฟ จะขึ้นไปหน่วยละ 4 บาท ก็ปัจจุบันราคาก็อยู่ที่ 3 บาทกว่าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการขึ้นในตรงนี้ ซึ่งจะขึ้นหรือไม่ขึ้นยังไม่รู้ แต่ถ้าจะขึ้นก็จะขึ้นเป็นสตางค์เท่านั้น เพราะฉะนั้นอย่าไปบิดเบือน และถ้าจำเป็นต้องขึ้นก็ต้องดูว่าขึ้นเพราะอะไร ต้องหาสาเหตุให้เจอ วันนี้เราใช้เงินกองทุนพลังงานมาอุดหนุนเกือบทุกส่วน ทั้งไฟฟ้า พลังงาน แก๊ส ใช้เงินเป็นแสนล้านบาทไปแล้ว ต้องไปดูว่าจะดูแลช่วยเหลือได้อย่างไร มากน้อยกันแค่ไหน ขอให้เข้าใจในภาพรวมด้วย ผมก็ไม่อยากที่จะทำให้คนเดือดร้อน แต่ขอให้รับฟังเหตุผลและความจำเป็นกันบ้าง ยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด” นายกฯ ระบุ

ทางด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า ได้มอบนโยบายให้ปลัดกระทรวงแรงงานไปประชุมไตรภาคีจังหวัด ซึ่งได้มีการประชุมทุกจังหวัดแล้ว และขณะนี้ได้ตัวเลขมาหมดแล้ว โดยจะมีการเกลี่ยตัวเปอร์เซ็นต์ให้เหมาะสม ซึ่งข้อเท็จจริงตัวเลขแต่ละจังหวัดต่างกัน 1-2 บาท และแบ่งเป็นหลายช่วง กำลังปรับขึ้นให้อยู่โดยจะทำทั้งหมด 12 ช่วง ซึ่งตัวเลขจะไม่เท่ากันทุกจังหวัด เพราะจีดีพีแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน

ทั้งนี้ ได้ให้นโยบายกับปลัดกระทรวงแรงงานไปแล้วว่าจะต้องทำให้จบภายในเดือน ส.ค. และน่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงต้นเดือน ก.ย. จากเดิมที่วางเอาไว้ให้มีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมาเราไม่ได้มีการปรับค่าแรงเลย เนื่องจากต้องแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลทำได้ แต่ประคับประคองไม่ให้เลิกจ้าง แต่วันนี้เป็นเวลาที่เหมาะสม นายจ้างเห็นดีเห็นงาม เพราะต้องการให้ลูกจ้างอยู่กับเขาต่อ ส่วนตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่เรากำหนดอยู่ 5-8 เปอร์เซ็นต์นั้น เรามีพื้นฐานการตั้งตัวเลขมาจากจีดีพีและภาวะเงินเฟ้อ โดยเอาจีดีพีของแต่ละจังหวัดมาบวกลบคูณหารจะสามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมแต่ละจังหวัดได้ในปริมาณเท่านี้

"ขณะที่สถานการณ์ค่าของชีพก็ล้อจากฐานเดิม ซึ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พื้นที่จังหวัดในอีอีซี และพื้นที่ กทม. ต้องขึ้นก่อนและสูงขึ้นไป เพราะค่าครองชีพและจีดีพีจังหวัดดังกล่าวสูง ย้ำว่าเราจะเร่งรัดเพื่อนำเข้า ครม.ในเดือน ก.ย.ให้ได้ ส่วนตัวอยากให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. เพราะคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนหารือกับสภานายจ้างว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับให้ขึ้นเร็วกว่าต้นปี 2566 เพราะขณะนี้สินค้าอุปโภคบริโภคมีการปรับตัวไปแล้ว อย่างไรก็ดี ขอให้เชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้" รมว.แรงงานระบุ

เมื่อถามว่า การทำเรื่องนี้จะทำให้รัฐบาลถูกมองว่าเป็นการใช้ประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ นายสุชาติกล่าวว่า เป็นเรื่องช่วงเวลามากกว่า ถ้าคิดว่าการขึ้นค่าเเรงเป็นเรื่องการเมือง คงขึ้นค่าแรง 492 บาท ตามข้อเรียกร้องของผู้นำแรงงานไปแล้ว ขอร้องอย่าเอาเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศชาติ เราไม่สามารถเอาเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องการเมือง แต่เราปรับตามเวลาที่เหมาะสม

วันเดียวกัน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 5-8% ที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 66 ว่า เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะไม่ได้มีการปรับขึ้นมานานถึง 3 ปี และการจะเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี 66 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้างแล้ว

"เมื่อรัฐบาลชี้ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเริ่มใน ม.ค.66 ก็ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้น โดยคาดว่าจะฟื้นไตรมาส 4 ปีนี้ ภาคธุรกิจเริ่มมีกำลังการเงินที่เข้มแข็งแล้ว การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือน ม.ค.จึงเหมาะสม เพราะค่าแรงไม่ได้ปรับมา 3 ปี กรอบที่คาดว่าจะปรับขึ้น 5-8% ก็เหมาะสมกับเงินเฟ้อ สอดคล้องกับค่าครองชีพ ประชาชนน่าจะพร้อมรับกับราคาสินค้าและค่าบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นได้ ดังนั้นโดยสุทธิแล้ว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจให้ถูกกระตุ้นในเชิงบวก มีเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น จะทำให้มีเม็ดเงินเพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอีกเดือนละ 1,500-2,400 ล้านบาท/เดือน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันให้จีดีพีในปี 66 ขยายตัวอีก 0.1-0.2% จากเดิม" นายธนวรรธน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวอาจจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ใช้จำนวนแรงงานสูง อาทิ ธุรกิจในภาคบริการ ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจต้องเลือกใช้กลไกในการลดผลกระทบที่แตกต่างกันไป เช่น การปรับลดคนงาน การปรับราคาสินค้าหรือค่าบริการเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การยอมรับผลกำไรที่น้อยลง เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป

ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน

ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท

บี้ MOU44 เดือด ‘นพดล’ เกทับ! จบออกซ์ฟอร์ด

ปะทะคารมเดือด! “นพดล” โต้ “หมอวรงค์” หาความรู้เรื่องเอ็มโอยู 44 ให้ลึกซึ้ง โต้คนอย่างตนไม่ตอบมั่วๆ เพราะจบกฎหมายจากออกซ์ฟอร์ดและจบเนติบัณฑิตไทยและเนติบัณฑิตอังกฤษ

ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ

“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ