อ้างWHOลดระดับโควิด ยันBA.4.6ยังไม่โผล่ไทย

โควิดไทยยังทรงๆ พบผู้ป่วยใหม่ 1,955 คน เสียชีวิต 33 ราย สธ.ยัน 1 ต.ค. ลดระดับจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง อ้างสถานการณ์เปลี่ยนไปมาก เริ่มเหมือนไข้เลือดออก!   กรมวิทย์ชี้สายพันธุ์ BA.4.6 ยังไม่โผล่ ย้ำ 1 ก.ย.ซื้อยารักษาได้เองแต่ต้องมีใบสั่งแพทย์กำกับ ระบุไม่ใช่ยาสามัญไม่ต้องตุน

เมื่อวันอังคารที่ 9 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,955 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,954 ราย และมาจากต่างประเทศ 1 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 33 ราย ผู้ที่กำลังรักษาตัว 20,947 ราย โดยเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบรักษา 935 ราย มียอดผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,294 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 จำนวน 2,385,971 ราย และผู้หายป่วยสะสม 2,388,302 ราย

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการลดระดับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ว่า  การดำเนินการทุกอย่างปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน อีกทั้งต้นเดือน ต.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินจะประชุมหารือเรื่องระดับเตือนภัยโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์โควิดเปลี่ยนไปมาก ซึ่งการจัดระดับโรคกรมควบคุมโรคแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.โรคติดต่อทั่วไป เป็นโรคที่มีชื่อเอาไว้ หากรุนแรงขึ้นก็อาจประกาศเป็นโรคระบาด 2.โรคติดต่ออันตราย คือโรคที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด แพร่เร็ว ต้องให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการต่างๆ เพื่อควบคุมกักตัว หากอยู่ในระยะสงสัย รวม 13-14 โรค และ 3 โรคติดต่อเฝ้าระวัง เป็นโรคที่ไม่รุนแรงมาก แพร่ระบาดไม่สูง มี 50 โรค

 “ทั่วโลกปฏิบัติกับโควิดเหมือนโรคทั่วไป เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไม่มีการจำกัดการเดินทางใช้ชีวิตตามปกติ เมื่อโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ก็เทียบได้โรคไข้เลือด ที่ต้องมีการระวังติดต่อ และรายงานการติดเชื้อมายังระดับกรมควบคุมโรค จากนั้นรายงานให้กระทรวงสาธารณสุขทราบ ซึ่งการเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังยังต้องจับตาดู เพราะสถานการณ์ความรุนแรงของโรคค่อยๆ ปรับลดลง และการกลายพันธุ์ของโรคช้าลง จะเห็นว่าไวรัสเปลี่ยนแปลงจากอู่ฮั่น อัลฟา เบตา โอมิครอน และสายพันธุ์ย่อยจาก BA.1, BA.2 และ BA.4, BA.5 อีกทั้งคนเราอยู่กับโรคนี้มา 3 ปีแล้วรู้ว่าจะต้องป้องกันตนเองอย่างไร”

นพ.โอภาสยืนยันว่า การเปลี่ยนโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังนั้น ประชาชนยังปฏิบัติตัวเช่นเดิม ยังคงต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ส่วนการรักษาและการแยกกักตัวสำหรับคนที่สัมผัสผู้ป่วยหรือเสี่ยงสูงนั้น ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ ในคนป่วยแยกกักรักษาจากเดิม 14 วัน เหลือ 7+3 วัน ส่วนกักตัวในคนสัมผัสผู้ป่วยยกเลิกแล้ว

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค.- 5 ส.ค. ได้ตรวจสายพันธุ์โควิด 382 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์ต่างๆ ดังนี้ สายพันธุ์ BA.1 จำนวน 1 ราย หรือ 0.26%,  สายพันธุ์ BA.2 จำนวน 58 ราย หรือ 15.18%, สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 จำนวน 322 ราย หรือ 84.29%, สายพันธุ์ BA.2.75 จำนวน 1 ราย หรือ 0.26% ซึ่งสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 พบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พื้นที่ กทม.พบ 91.5% ส่วนภูมิภาคพบเพิ่มขึ้นเป็น 80% สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก ส่วนเรื่องความรุนแรงยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดเป็น BA.4 และ BA.5 เปรียบเทียบความรุนแรงยาก แต่เบื้องต้นไม่น่าแตกต่างกันมาก

 “สายพันธุ์ BA.2.75 พบในไทย 5 ราย โดยตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาสามารถตรวจ BA.2.75 ได้ในระดับพื้นที่ ส่วนสายพันธุ์ BA.4.6 องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดลำดับชั้น และยังไม่พบในไทย จึงยังไม่มีข้อมูลเรื่องความรุนแรง ต้องติดตามข้อมูลต่อไป” นพ.ศุภกิจกล่าว

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับ สธ.จัดเตรียมแผนและชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับกรณีให้โรงพยาบาลทุกสังกัดทั้งของรัฐและเอกชนสามารถจัดซื้อยารักษาโควิด-19 ได้เอง ตั้งแต่ 1 ก.ย.เป็นต้นไปนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจและเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่จะสามารถเข้าถึงยารักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยประชาชนสามารถหาซื้อได้จากร้านขายทั่วไป แต่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น โดย สธ.ได้ย้ำเตือนยารักษาโควิด-19 นั้น ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ไม่จำเป็นต้องซื้อติดบ้านไว้ ทั้งนี้ นายกฯ ยืนยันทุกคนยังสามารถรับการรักษาตามสิทธิของแต่ละคนได้ตามปกติ ขอให้ประชาชนรับฟังคำแนะนำจากแพทย์ในการทานยาเพื่อความปลอดภัย รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเอง ล้างมือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย

นพ.โอภาสกล่าวประเด็นนี้ว่า เป็นการดำเนินการที่เตรียมไว้มากว่า 3-4 เดือน การให้สถานพยาบาลจัดซื้อยาเองนั้น เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาอย่าง กทม. ไม่มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สถานพยาบาลที่จะเข้าใกล้ผู้ป่วยมากที่สุดกลับเป็นคลินิกและ รพ.เอกชน ผิดกับต่างจังหวัด ไม่มีปัญหาเรื่องยา เพราะมี รพ.สต.

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาโรคต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น เบาหวานก็ต้องให้ยารักษาเบาหวาน เช่นเดียวกับโควิดก็ต้องรักษาตามแนวทางปฏิบัติและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ที่สำคัญยาต้านไวรัส ทั้งยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด เป็นยาที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ใช้ไม่ถึงปีก็ยังไม่ทราบถึงผลข้างเคียง ดังนั้นการใช้ยาควรเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. กล่าวว่า การให้ รพ.ซื้อยาต้านไวรัสเอง ไม่เท่ากับประชาชนซื้อยาได้เอง เพราะยาต้านไวรัสต้องจ่ายโดยแพทย์ตามแนวทางเวชปฏิบัติ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยอาการน้อยไม่มีความเสี่ยงแล้วจะไปขอซื้อยาใน รพ. เพราะการวินิจฉัยโรคต้องเกิดจากดุลยพินิจของแพทย์

วันเดียวกัน ยังคงมีประเด็นเรื่องฝีดาษวานร โดยนายธนกรระบุว่า สธ.ได้สั่งจองวัคซีนป้องกันฝีดาษไปแล้ว และคาดว่าจะนำเข้ามาได้ประมาณปลายเดือน ส.ค.นี้  ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ติดตามสถานการณ์โรคฝีดาษวานรอย่างใกล้ชิด และสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางป้องกันและควบคุมไม่ให้แพร่ระบาดในวงกว้าง

ขณะที่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงยืนยัน 4 ราย เป็นสายพันธุ์ A.2 จำนวน 3 ราย และ B.1 จำนวน 1 ราย โดยทั้งหมดเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ไม่ใช่สายพันธุ์แอฟริกากลาง ทำให้โรคมีความรุนแรงน้อย ขณะนี้สามารถเพาะเชื้อฝีดาษลิงได้จำนวนมากพอนำมาทดสอบกับผู้ที่เคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษในอดีต ซึ่งเลิกปลูกฝีไปแล้วกว่า 40 ปี โดยจะรับอาสาสมัครประมาณ 30-40 คน ในช่วงอายุ 40 ปี, 50 ปี และ 60 ปี ประมาณช่วงอายุละ 10 คน เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลสำหรับประเทศไทยว่าผู้ที่ปลูกฝีในแต่ละช่วงอายุมีภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษลิงอย่างไร เป็นไปตามข้อมูลว่าป้องกันได้ 85% จริงหรือไม่

“ประชาชนวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง ทำให้เมื่อมีผื่นขึ้นจึงรีบมาขอตรวจหาเชื้อ แนะนำว่าหากมีผื่นหรือความผิดปกติใดๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ ร่วมกับดูประวัติเสี่ยงว่าสมควรตรวจหาเชื้อหรือไม่ เนื่องจากต้องอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนโรค” นพ.ศุภกิจระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง