บี้‘มท.’คุมเข้มสถานบันเทิง กทม.ตรวจ83แห่งปิดแล้ว3

"เมาน์เทนบี" ลามไหม้ต่อคลองหลอด "ส.ว.วันชัย” เขย่าความรับผิดชอบ “บิ๊กป๊อก” จี้ต้นทางมหาดไทยต้องคุมเข้ม “ใบอนุญาต-กำกับดูแล” ขณะที่ศาลพัทยาให้ประกันตัว “เสี่ยบี” พร้อมสั่งติดกำไลอีเอ็ม  ด้าน กทม.นั่งไม่ติดสแกนยิบพื้นที่ รองผู้ว่าฯ แจงสถานประกอบการไม่ตรงมาตรฐาน 83 แห่ง สั่งปิดจริงแล้ว 3  ขีดเส้น 7 วันปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน ชี้ปัญหาใหญ่การตรวจจับควันไฟ-ถังดับเพลิงมีไม่ครบตามกำหนด

เมื่อวันจันทร์ เวลา 10.40 น. ในการประชุมสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้เข้าสู่วาระการพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่อง เหตุการณ์เพลิงไหม้สถานบันเทิงเมาน์เทนบี อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ลุกขึ้นถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นโศกนาฏกรรมที่รุนแรง กระทบความรู้สึกคนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้สูญเสีย เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อเกิดเหตุแต่ละครั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจหน้าที่ก็ตื่นตัว ล่าสุด กทม.สั่งตรวจผับบาร์ เหตุการณ์แบบนี้เหมือนวัวหายล้อมคอกหรือไฟไหม้ฟาง ซึ่งเกิดแล้วเกิดอีก  ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยคงไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงในการอนุญาตและกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย

นายวันชัยกล่าวว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าถ้าข้าราชการเอาจริงเอาจังตั้งแต่ขั้นตอนการขออนุญาตคงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทั้งหมดมาจากการปล่อยปละละเลยเพิกเฉย รวมถึงการคอร์รัปชันก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุแบบนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการก็พยายามหลบเลี่ยงด้วยวิธีการต่างๆ และเจ้าหน้าที่อาจรู้เห็นเป็นใจบ้าง จึงเกิดโศกนาฏกรรมแบบนี้ หากเข้มงวดจริงจังตั้งแต่การขออนุญาตในขั้นต้น หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบ ตรวจตรา เข้มงวดให้เป็นไปตามแบบก็จะไม่เกิดเหตุแบบนี้

 “ทั้งหมดนี้จะพูดว่าไม่เกี่ยวกับ รมว.มหาดไทยคงจะไม่ได้ เพราะข้าราชการที่เกี่ยวข้องอยู่ภายใต้กำกับดูแลของท่าน จึงถาม รมว.มหาดไทยว่ากรณีเมาน์เทนบี ท่านได้สั่งการให้ดำเนินการอย่างไรต่อผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด ในฐานะ รมว.มหาดไทยที่กำกับดูแลทุกจังหวัด และกำกับสถานบริการเหล่านี้ จะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดลักษณะคนถูกไฟคลอกตายแบบเมาน์เทนบี และในอนาคตการขออนุญาต กำกับดูแล จะมีมาตรการเข้มงวดกับฝ่ายปกครองที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซากแบบนี้” นายวันชัยกล่าว 

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ชี้แจงว่า กรณีสถานประกอบการเมาน์เทนบีเป็นอำนาจของท้องถิ่นในการให้อนุญาต ซึ่งตนไม่ได้กำกับท้องถิ่นโดยตรง คนที่กำกับท้องถิ่นคือผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีเมาน์เทนบีเป็นการขออนุญาตท้องถิ่น ขอจดทะเบียนเป็นร้านอาหาร และเปิดกิจการเมื่อวันที่ 1  มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่เมื่อดำเนินการจริงกลับเปิดเป็นสถานบริการ ดังนั้นขั้นต้นท้องถิ่นต้องรับผิดชอบแน่นอน ส่วนผู้ประกอบการก็จงใจเจตนาที่จะดำเนินการ ทั้งที่พื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตโซนนิงไม่สามารถทำได้ จึงขออนุญาตเป็นร้านอาหาร ถือเป็นการขอจดทะเบียนผิดประเภท ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหากพิจารณาตามกฎหมายที่ฝ่ายปกครองถืออยู่ ถือว่ามีความผิดด้วย สรุปว่าขณะนี้พิจารณาตามสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่ยังไม่ได้ดูผลการสอบ ทั้งสองส่วนคือท้องถิ่นและฝ่ายปกครองจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย

 “ขั้นต้นมีคำสั่งย้ายนายอำเภอ พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ซึ่งเจตนากระทำผิดคอร์รัปชัน มีผลประโยชน์ มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือปล่อยปละละเลยหรือไม่  จะต้องดำเนินการพิสูจน์กัน ซึ่งยืนยันว่าผมไม่ปล่อยปละละเลย และได้ออกหนังสือเวียนทั่วประเทศ ให้กวดขันไม่ให้มีการใช้อาคารผิดประเภท หรือประกอบกิจการที่ไม่ได้รับอนุญาต ส่วนอนาคตคิดว่าจะต้องดำเนินการ คงไม่พ้นเรื่องการลงโทษแบบเข้มงวด ต้องลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง  ไม่ให้เกิดการอะลุ่มอล่วย ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นกับเมาน์เทนบี ถือว่าเข้าข่ายผิดทั้งทางวินัยและอาญา” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า ได้ยื่นคำร้องเอาผิด มท.1, ผวจ.ชลบุรี, ตำรวจกับพวก  รวม 8 คน ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการเปิดสถานบริการประเภทผับเมาน์เทนบีในพื้นที่ต้องห้าม และไม่เป็นไปตามกฎหมาย จนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ดังกล่าว

ที่ศาลจังหวัดพัทยา พนักงานสอบสวน สภ.พลูตาหลวง ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 นายพงษ์ศิริ ปั้นประสงค์ หรือเสี่ยบี ผู้ต้องหา ซึ่งถูกแจ้งดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ประกอบมาตรา  59 วรรคสี่, พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา  26 โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 8-19 ส.ค.นี้ โดยผู้ต้องหายื่นหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ตีราคาประกัน 300,000 บาท พร้อมทั้งติดกำไล EM โดยกำหนดเงื่อนไข 1.ห้ามยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุร้ายประการอื่น 2.ให้ผู้ต้องหามารายงานตัวเมื่อครบฝากขังครั้งที่ 2 ครั้งที่ 4 และครั้งที่ 7

นายพงษ์ศิริได้พูดกับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “ผมขอโทษ ผมจะเยียวยาทุกอย่าง ผมออกไปจะเยียวยาทุกคน” พร้อมยกมือไหว้ตลอดเวลา และมีแววตาสีหน้าเคร่งเครียดตลอดเวลา ก่อนจะเดินทางออกจากศาลไปทันที

 ขณะที่ พล.ต.ต.ชัยต์พจน สูวรรณรักษ์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 (รอง ผบช.ภ.2) และโฆษกตำรวจภูธรภาค 2 กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้มีคำสั่ง ที่ 3625/2565 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2565 จัดตั้งศูนย์อำนวยการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีเพลิงไหม้ร้านเมาน์เทนบี จังหวัดชลบุรี เพื่อบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย โดยมีผลในวันที่ 6 สิงหาคม 2565

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดินแดง นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสถานประกอบการในพื้นที่ กทม.ว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา กทม.ได้ตรวจสถานประกอบการ 494 แห่ง พบสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ที่สำรวจพบปัญหาทางเข้าออกหรือประตูทางออกจำนวน 83 แห่ง

 “ปัจจุบันสั่งปิดให้บริการแล้ว 3 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินคดี 2 แห่ง แก้ไขเรียบเรียบร้อยแล้ว 4 แห่ง ออกหนังสือให้แก้ไขแล้ว 12 แห่ง และอยู่ระหว่างออกหนังสือให้ดำเนินการแก้ไข 62 แห่ง โดยให้ระยะเวลาสถานประกอบการในการปรับปรุงให้ตรงตามมาตรฐาน 7 วัน  และต้องปิดให้บริการเพื่อความปลอดภัย รวมถึงรายงานความคืบหน้าให้ กทม.รับทราบด้วย” นายวิศณุกล่าว

ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า  สำนักงานเขตจะต้องมีแผนการตรวจมาตรฐานความปลอดภัย ร่วมกับสำนักการโยธาที่จะตรวจเรื่องโครงสร้าง การใช้พื้นที่ และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่จะต้องตรวจวัสดุ ความเสี่ยง และระบบไฟ โดยเราพยายามจะตรวจสถานประกอบการทุกที่ที่มีข้อสงสัย และร่วมมือกับตำรวจและหน่วยงานอื่นให้รอบคอบและรัดกุมขึ้น ขอให้สถานประกอบการสื่อสารเรื่องประตูทางออก และวัสดุไวไฟไปยังประชาชนที่ใช้บริการอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในยามฉุกเฉิน

ในขณะที่นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร  ระบุว่า สถานประกอบการที่ไม่ตรงตามมาตรฐานส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องการตรวจจับควันไฟ ถังดับเพลิงมีไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด ทางหนีไฟ แสงสว่าง และไฟสำรอง ซึ่งกทม.ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการทั้งกลางวันและกลางคืน พร้อมทั้งกำชับห้ามเปิดเกินเวลาที่กำหนด  ส่วนกรณีที่พบว่าเขตจตุจักรมีสถานประกอบการที่ไม่ได้มาตรฐาน  38 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นร้านที่มีดนตรีเล่นแล้วไม่เป็นไปตามมาตรฐานประมาณ 5 แห่ง ได้สั่งการยกเลิกการแสดงดนตรีแล้ว โดยอีก 30 แห่งจะเร่งตรวจสอบต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง