“อนุชา” ชี้พรรคไม่ได้กำชับให้ต้องเข้าประชุม 10 ส.ค.เพื่อเคาะกฎหมายลูก ชี้ปล่อยไปตามยถากรรมไม่ใช่เรื่องผิดมารยาท เด็ก พปชร.บอกเป้าหลักคือบังคับใช้ทันเลือกตั้งปี 2566 รับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพราะตรงกับวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน “ชวน” รับสภาพเพราะเห็นวัตถุประสงค์ชัดเจนอยากใช้ร่างเดิม หึ่ง! ผู้ใหญ่สั่ง ส.ส.ไปงานในพื้นที่โดดประชุมได้ แต่บางส่วนผวาถูกยื่น ป.ป.ช. เล็งมาเซ็นชื่อ แต่ไม่ยกมือนับองค์ประชุม
เมื่อวันจันทร์ ยังคงมีความต่อเนื่องในการนัดประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ในวันพุธที่ 10 สิงหาคม โดยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิจารณ์องค์ประชุมรัฐสภาอาจล่มว่า ไม่ทราบเพราะเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา เป็นไปตามกลไกสภา ส่วนกรณีนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุว่าวันที่ 10 ส.ค.ตรงกับวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาจทำให้มีสมาชิกเข้าร่วมประชุมสภาน้อยนั้น ก็สงสัยเช่นกันว่าทำไมจัดประชุมตรงกับวันที่ 10 ส.ค. เพราะเป็นวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เราก็รู้ว่าสภาผู้แทนราษฎรนั้น ภารกิจสำคัญคือเรื่องพื้นที่กับผู้นำชุมชน
เมื่อถามว่า ถ้าสภาล่มจะกระทบต่อการพิจารณากฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า ไม่เป็นปัญหา สภามีกฎเกณฑ์ มีระเบียบ ไม่ใช่เรื่องการผิดมารยาท จริยธรรม เพราะกฎหมายออกมาชัดเจนว่าหากพิจารณาไม่แล้วเสร็จต้องกลับไปใช้ร่างเดิม ไม่มีอะไรแตกต่าง และไม่มีความคิดเห็นที่เป็นสาระที่จะทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เป็นไปตามกระบวนการสภา คิดว่าปล่อยไป
ถามย้ำว่า ไม่ได้ตั้งใจให้สภาล่มใช่หรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า ไม่ได้ตั้งใจ เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน แต่ในบางครั้งก็มีการพูดคุยกันไปในวงกว้าง ซึ่งเมื่อเป็นวงกว้างแล้วผลจะออกมาอย่างไรก็ไม่ทราบ ถือเป็นเรื่องปกติแต่ไม่ได้กำชับกัน
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล กล่าวว่า ไม่ว่าจะใช้สูตรหาร 100 หรือสูตรหาร 500 ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่สิ่งที่พรรค พปชร.คำนึงถึงคือกฎหมายต้องบังคับใช้ให้ทันเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2566 เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสุญญากาศ และไม่สร้างความซับซ้อนให้ประชาชน นั่นคือจุดยืนของพรรค พปชร.
เมื่อถามถึงกรณีนายนิโรธแสดงความเป็นห่วงการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 10 ส.ค. เนื่องจาก ส.ส.หลายคนมีการนัดร่วมงานในวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และได้ขอความร่วมมือสมาชิกพรรคว่า หากเป็นไปได้ขอให้มาร่วมประชุมรัฐสภา แต่ถามว่าเราจะไปบังคับเลยก็คงไม่ถึงขั้นไปบังคับ ว่าทุกคนจะต้องหลบหรือเบี้ยวงานในพื้นที่ นั่นคือเบื้องต้นที่เราพูดคุยกับสมาชิกพรรค
ถามต่อว่า การกระทำแบบนี้คือทำให้ ส.ส.ขาดความรับผิดชอบหรือไม่ เพราะ ส.ส.ต้องทำงานในสภาเป็นหลัก แต่กลับออกไปงานนอกในช่วงที่มีการประชุมสำคัญ นายอรรถกรกล่าวว่า บริบทการเมืองของเมืองไทย หากเราไม่ให้ความสำคัญกับพื้นที่เลย โอกาสที่จะกลับมาทำงานที่สภาก็ยากเหมือนกัน คงต้องชั่งน้ำหนัก ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน บางครั้งทางเลือกที่พรรคเลือกในอนาคตอันใกล้อาจไม่ถูกใจทุกคน แต่เชื่อว่าผู้ใหญ่ในพรรคคงคิดมาแล้วว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
อนุทินยันพรรคทำตามหน้าที่
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยืนยันว่า การปฏิบัติของ ส.ส.พรรคเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราก็อยู่ในสภาครบถ้วน ถ้าอยู่สภาแล้วไม่แสดงตนโดยไม่มีเหตุ ไม่คอขาดบาดตายก็คงไม่ได้ เพราะมีเรื่องจริยธรรม เราก็มีความเป็นตัวของตัวเองในระดับหนึ่ง เรื่องรัฐธรรมนูญเราไปล้อเล่นไม่ได้ ส่วนเรื่องหาร 100 หรือหาร 500 เป็นเรื่องปลีกย่อย เพราะไม่ว่าสูตรไหนก็ไปลงเอยที่ศาลรัฐธรรมนูญ และ ภท.ก็เลือกทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ คือ ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะกลับไปแบบ 1 ใบคงลำบาก และคิดว่าเราไม่ควรแก้แล้ว เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญทำเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ได้
มีรายงานความเคลื่อนไหวของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ก่อนการประชุมรัฐสภาวันที่ 10 ส.ค. โดยในส่วนของพรรค พปชร.นั้น เมื่อวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีการส่งสัญญาณเป็นรายบุคคลว่าไม่ต้องเดินทางไปร่วมประชุมรัฐสภา และไม่ต้องเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุม เพราะไม่ต้องการให้เปิดประชุมร่วมรัฐสภาในวันดังกล่าวได้สำเร็จ โดยให้ไปร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่ในวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปเลย ขณะที่ ส.ส.แบบแบ่งเขตหลายคนตัดสินใจไม่เดินทางไปร่วมประชุมอยู่แล้ว เพราะต้องอยู่ในพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากเป็นโอกาสสำคัญในการพบปะผู้นำท้องถิ่นและประชาชนแบบพร้อมเพรียง เนื่องจากใกล้ถึงช่วงเลือกตั้งแล้ว แต่ก็มี ส.ส.พปชร.บางคนกังวลกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ระบุจะยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิด ฐานจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงจะใช้วิธีมาลงชื่อเข้าร่วมประชุมในตอนเช้า แต่ไม่แสดงตนในตอนนับองค์ประชุม เพื่อป้องกันไม่ให้ถูก ป.ป.ช.เอาผิดในภายหลังได้ และไม่ต้องการถูกนำชื่อไปประจานว่าทำให้องค์ประชุมล่ม
ขณะเดียวกัน มีแกนนำรัฐบาลประสานไปยังพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค เพื่อนัดแนะในลักษณะเดียวกันว่าไม่ต้องเดินทางไปร่วมประชุม แต่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนทักท้วงว่าไม่อยากให้ใช้วิธีการนี้ เพราะจะทำให้ชื่อเสียงสภาเสื่อมเสีย ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ใช้เผด็จการรัฐสภาเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และเห็นว่าควรปล่อยไปตามกระบวนการก่อน คือพิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วัน จากนั้นส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเชื่อว่าที่สุด กกต.จะยืนยันร่างแรกของตัวเองคือสูตรหาร 100 ซึ่งจะไม่ทำให้ถูกครหาและไม่เสี่ยงต่อการถูกร้องดำเนินคดี ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการส่งสัญญาณให้ ส.ส.ของพรรคไปลงชื่อเข้าร่วมประชุม แต่หากมีการนับองค์ประชุมจะไม่แสดงตน หรือไม่ลงมติโหวตแทน
สำหรับความความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ส.ว. โดยเฉพาะสายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ก็พบว่าจะไม่มาร่วมประชุมสภาเช่นเดียวกัน
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีสมมติอาจมี ส.ส.ไม่เข้าร่วมประชุมรัฐสภาในวันที่ 10 ส.ค.จนทำให้องค์ประชุมล่มว่า อย่าเพิ่งไปสมมติ เอาไว้ให้ล่มก่อนแล้วค่อยมาถาม ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่าตอนนี้มีบางฝ่ายแสดงเจตนาเพื่อไม่ให้ครบองค์ประชุม กรณีนี้เป็นเรื่องของสมาชิก แต่ในส่วนสภาได้หารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบ ว่าในส่วนของสภาก็ต้องทำหน้าที่และต้องมีการประชุมให้ถึงที่สุด หมายความว่าจะผ่านหรือไม่ก็ตามเราก็ต้องทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่ากฎหมายต้องเสร็จภายใน 180 วัน ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นต้องพยายามใช้เวลาที่มีอยู่ทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรอยู่ที่สมาชิก แล้วแต่ดุลยพินิจของแต่ละฝ่าย แต่เดิมอาจจะไม่ค่อยรู้ว่าสาเหตุอะไร แต่ครั้งนี้ชัดเจน เพราะมีสมาชิกบางฝ่ายแสดงความเห็นชัดเจนว่าไม่ประสงค์จะให้กฎหมายผ่าน โดยให้ระยะเวลาเกิน 180 วัน เพื่อนำร่างกฎหมายเดิมที่รัฐสภาเสนอมาใช้ ทั้งนี้ก็ชัดเจนและไม่มีปัญหาอะไร
ชวนขอแก้ต่างแทน ส.ส.
เมื่อถามว่า การที่ ส.ส.ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมประชุมรัฐสภา จะกระทบต่อจริยธรรมการทำหน้าที่หรือไม่ เพราะเป็นการขาดลาโดยไม่จำเป็น นายชวนกล่าวว่า เรื่องการขาดประชุมก็มีการพูดถึงว่าวันดังกล่าวเป็นวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งในวันประชุมวิป 3 ฝ่ายนายนิโรธได้พูดเรื่องนี้จริง ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่ก็เห็นว่าไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาเปลี่ยนวันประชุม ตอนเสนอเปลี่ยนวันประชุมร่วมรัฐสภาจากวันที่ 10 ส.ค.เป็นวันที่ 11 ส.ค. แต่ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายไม่เห็นด้วย จึงให้วันที่ 11 ส.ค.เป็นวันประชุมสภาตามปกติ เนื่องจากมีวาระกระทู้ถามและการแปรญัตติต่างๆ ที่ค้างอยู่
“พี่น้องกำนันผู้ใหญ่บ้านขอให้ทราบว่า ถ้าวันของท่าน ไม่มี ส.ส.ในจังหวัดไปร่วมงาน ก็ขอให้รับทราบว่าเขาต้องเข้าร่วมประชุมรัฐสภา ผมขอถือโอกาสชี้แจงแทน ส.ส.ที่ไม่สามารถไปร่วมงานได้” นายชวนกล่าว
วันเดียวกัน ยังคงมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคต่างๆ โดยนายอนุทินกล่าวถึงการประกาศตัวพร้อมเป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ระหว่างลงพื้นที่เปิดตัว ส.ส.ลพบุรีเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ว่า หากประชาชนไว้วางใจเลือกพรรค ภท.มาเยอะๆ เวลาเราหาเสียงก็ต้องหาเสียงอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า การประกาศเช่นนี้จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สบายใจหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่หรอก ไม่ได้บอกว่าจะมาเป็นนายกฯ วันนี้ ก็ต้องหาเสียง หานโยบายที่ดีๆ นำเสนอประชาชน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกก็ได้คุยกับนายกฯ แต่คุยเรื่องงาน ไม่ได้คุยเรื่องเกี่ยวกับการเมือง เพราะเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่ต้องไปทำหน้าที่ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ก็มีตั้ง 3 พรรคที่ไปหาเสียงและแสดงความพร้อม เราจะเป็นพรรคการเมืองก็ต้องมีความพร้อม
เมื่อถามว่า ภท.ตั้งเป้าจะเป็นพรรคอันดับ 1 หรืออันดับ 1 ในขั้วรัฐบาลขณะนี้ นายอนุทินกล่าวว่า เราตั้งเป้าคือการนำเสนอนโยบาย และแสดงผลงานในช่วงที่มีโอกาสทำงานให้ประชาชน ใจเย็นๆ ยังไม่เลือกตั้งในเร็ววันนี้ อย่างที่เคยบอกไว้จะตัดสินใจชัดเจนคือเย็นวันเลือกตั้ง หลังจากที่เราเห็นแนวโน้มของคะแนน เราจะได้รู้ตัวเองว่าจะได้เป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน
ถามว่า นายประทวน สุทธิอำนวยเดช ส.ส.ลพบุรี พรรค พปชร.จะย้ายมาสังกัดพรรค ภท.ใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ที่ จ.ลพบุรีพรรคเปิดตัวแค่ 3 เขต ส่วนเขตที่ 1 ขอให้รอวัน ว. เวลา น. เดี๋ยวให้รอดู ส่วนกระแสนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ แกนนำ ส.ส.กทม.พรรค พปชร.จะมาอยู่ ภท.นั้น นายพุทธิพงษ์เป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็ก และในสมัยคุณแม่ ฉะนั้นเรื่องการหารือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้ามีโอกาสที่ดี ภท.กับนายพุทธิพงษ์ทำงานร่วมกันได้ เพราะ ภท.ก็อ่อนในพื้นที่ กทม. ถ้าเรามีคนที่มีความสามารถและเข้าใจพื้นที่ ทุกอย่างก็เป็นไปได้หมด และยังอยู่ในกระบวนการหารือและพูดคุยกันอยู่
เมื่อถามว่า ภท.จีบนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐม พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ด้วยใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ทราบว่าข่าวนี้มาจากไหน ยังไม่มีอะไร ทุกคนเป็นเพื่อนกันหมด ตั้งแต่นายไชยา สะสมทรัพย์ อดีต รมว.สาธารณสุขที่เสียชีวิตไปแล้ว และลูกชายก็รู้จักกันดี ทั้งด้านการเมือง ครอบครัว ส่วนตัว และทีมฟุตบอล ทำกิจกรรมหลายอย่างร่วมกัน
ฟุ้ง 4 พรรคติดต่อ
นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปครั้งหน้าจะไม่อยู่กับพรรค ปชป.แล้ว เนื่องจากคนในเขตพื้นที่ต้องการให้ออกจากพรรคนี้ เพราะไม่พอใจการทำงานของผู้บริหารพรรค แม้ใจจะยังรัก ปชป.อยู่ก็ตาม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะไปสังกัดพรรคใด เพราะจะตัดสินใจไปพร้อมๆ กับคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งกำลังสอบถามความคิดเห็นว่าจะให้ไปอยู่พรรคไหน เนื่องจากมีการติดต่อเข้ามา 4 พรรค คือ พรรคประชาชาติ, พรรคเพื่อไทย, พรรคสร้างอนาคตไทย และพรรคพลังประชารัฐ โดยแต่ละพรรคยังมีการเสนอตำแหน่งให้ไปเป็นรองหัวหน้าดูแลภาคใต้อีกด้วย แต่เสียงส่วนใหญ่ต้องการให้ไปอยู่กับพรรคประชาชาติ เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่เหมือนกัน แต่ทั้งนี้ก็อยู่กับเงื่อนไขของแต่ละพรรคด้วยว่าจะยอมรับเงื่อนไขของตนได้หรือไม่
ส่วน น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกิจกรรมครอบครัวเพื่อไทย ระดมพลชาวเจียงฮาย เพื่อไทยมาเหนือสุด ที่ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ว่า พรรคพร้อมที่จะใช้เวลา 6 เดือนแรกหลังเป็นรัฐบาล รื้อถอนซากปรักหักพังของประเทศจากฝีมือการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนกรณีนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ พูดย้ำซ้ำเรื่องเดิมว่าเพื่อไทยต้องการแลนด์สไลด์เพื่อนำบุคคลสำคัญกลับมานั้น คงเป็นคำพูดที่ไม่มีราคามากนัก เพราะหากต้องการเพียงเท่านั้น พรรคคงไม่ต้องวางแนวนโยบายแก้ปัญหาความยากจนให้ประชาชน
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงแคมเปญก้าวไกล Next ว่า เป็นการปรับทัพครั้งใหญ่ของพรรคเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้ง ซึ่งได้มีการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตทั่วประเทศ โดยเป้าหมายใหญ่เลขาธิการพรรคได้กล่าวไปแล้ว ว่าพรรคก้าวไกลตั้งเป้าเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงเรื่องเร่งด่วนที่พรรคเตรียมแนวทางการทำงานไว้ หากได้รับโอกาสเข้าไปทำงานให้ประชาชนว่า เรื่องแรกคือเรื่องการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องปากท้อง ค่าครองชีพ ส่วนเรื่องที่ 2 คือการแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศ และเรื่องที่ 3 คือการสร้างโอกาสในการศึกษา ที่ต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน
หัวหน้าพรรค รทสช.ยังกล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรครวมไทยสร้างชาติถูกตั้งขึ้นมาเป็นพรรคที่มีกระแสรองว่า คิดว่าถ้าใครที่ตั้งพรรคมาแล้ว คิดแค่จะมาเป็นพรรคกระแสรองเท่านั้นก็อยู่บ้านไปดีกว่า อย่าคิดมาทำพรรคการเมืองเลย หากคิดจะทำพรรคแล้วต้องทำให้เป็นพรรคการเมืองหลักให้ได้ คิดว่าหากทำพรรคแล้วไม่ได้คิดจะเป็นพรรคการเมืองหลัก นั่นคือไม่ได้คิดจะทำอะไร ก็แค่รอโอกาสไปร่วมเป็นรัฐบาลแล้วจะขอเป็นนั่นเป็นนี่ ซึ่งการคิดแบบนี้ไม่ใช่แนวคิดของพรรครวมไทยสร้างชาติ
“การเมืองนี่เป็นเรื่องประหลาด ไม่ใช่ว่าเรียนกฎหมายต้องทำงานกฎหมาย เรียนหมอจะต้องทำงานหมอ ผมเป็นนักการเมือง ผมต้องทำได้ในทุกตำแหน่งหน้าที่ แต่การจะทำตรงไหนอยู่ที่ประชาชนจะให้โอกาสผมแค่ไหน ถ้าประชาชนมั่นใจว่าผมทำตำแหน่งผู้นำประเทศได้ ก็ขอให้เลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ ผมก็เป็นได้” นายพีระพันธุ์กล่าวตอบคำถามที่ว่าพร้อมเป็นนายกฯ หรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
ดิ้นทุกทาง!บอกประชามติเป็น กม.การเงินไม่ต้องรอ 180 วัน
'ชูศักดิ์' งัด รธน. มาตรา 137 อ้างกฎหมายประชามติเข้าข่ายกฎหมายการเงิน ไม่ต้องรอ 180 วัน จ่อถกวิปรัฐบาล เชื่อฝ่ายค้านเอาด้วย