เตรียมเพิ่ม18จว.พื้นที่สีฟ้า!

ยอดติดเชื้อโควิดเพิ่มอีก 8,148 ราย เสียชีวิต 80 ราย "ศบค." จับตา "นครศรีธรรมราช" หลังคลัสเตอร์โรงงาน-ตลาดแพร่เข้าสู่ชุมชน ตัวเลขป่วยใหม่ 2 เดือนกว่าพันคน สั่งจังหวัดเร่งมาตรการเชิงรุก แย้มร้านนั่งดริงก์หากไร้ปัญหาผ่อนคลายเพิ่ม “สธ.” เผย ธ.ค.เตรียมเพิ่มพื้นที่สีฟ้าอีก 18 จว. ไฟเขียวฉีดแอสตร้าฯ เข็ม 3 ให้ผู้ที่ฉีดซิโนฟาร์ม เริ่มสัปดาห์หน้า “บิ๊กตู่” ชม จ.มุกดาหาร แก้ปัญหาคลัสเตอร์ รร.คำสร้อยพิทยาสรรค์ได้ดี “ผอ.สำนักระบาดวิทยา” ตรวจ ATK เป็นบวก ตรวจซ้ำ RT-PCR เป็นลบเกิดขึ้นได้

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,148 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,528 ราย, จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,415 ราย, ค้นหาเชิงรุก 113 ราย, เรือนจำ 605 ราย, เดินทางมาจากต่างประเทศ 15 ราย หายป่วยเพิ่ม 8,238 ราย อยู่ระหว่างรักษา 97,300 ราย อาการหนัก 2,118 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 461 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 80 ราย เป็นชาย 29 ราย หญิง 51 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 58 ราย มีโรคเรื้อรัง 18 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน กทม. 14 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,951,572 ราย มียอดหายป่วยสะสม 1,834,730 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 19,542 ราย

พญ.สุมนีกล่าวว่า ที่ประชุม ศปก.ศบค.ได้วิเคราะห์ผู้เสียชีวิตวันที่ 1 เม.ย.-4 พ.ย. มีทั้งสิ้น 19,431 ราย พบว่าร้อยละ 86.5 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้มีโรคประจำตัว และเกินร้อยละ 80 เป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีน ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 พ.ย. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 824,650 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 78,656,124 โดส

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 721 ราย, สงขลา 498 ราย, ปัตตานี 427 ราย, เชียงใหม่ 403 ราย, ยะลา 375 ราย, ชลบุรี 348 ราย, นครศรีธรรมราช 294 ราย, สมุทรปราการ 244 ราย, นราธิวาส 213 ราย และตรัง 205 ราย โดยพื้นที่เฝ้าระวังคือ จ.นครศรีธรรมราช พบตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มสูงขึ้นในเดือน ก.ย.ที่มีวันละ 300-400 คน และในเดือน ต.ค.มากกว่าวันละ 600 คน เริ่มมีคลัสเตอร์โรงงานและตลาดในช่วงเดือน มิ.ย. และแพร่เข้าสู่ชุมชนตั้งแต่เดือน ส.ค.จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทางจังหวัดได้ออกมาตรการค้นหาเชิงรุก ระดมฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง อีกทั้งยังมีมาตรการที่เข้มข้นกว่ามาตรการที่ ศบค.กำหนดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยเพิ่มการห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-03.00 น. รวมถึงมีการประกาศปิดชุมชนที่มีการแพร่ระบาด ส่วนคลัสเตอร์ที่ต้องจับตาในพื้นที่ต่างๆ เช่น จ.เชียงใหม่ คลัสเตอร์ตลาด แคมป์ก่อสร้าง สถานศึกษาศูนย์เด็กเล็ก จ.ชลบุรี พบคลัสเตอร์ค่ายทหารและแคมป์ก่อสร้าง

“กรณีการพบผู้ติดเชื้อที่โรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรค์ จ.มุกดาหาร ที่เปิดเรียนแล้วมีการตรวจ ATK แล้วพบผู้ติดเชื้อประมาณ 80 คน ทางผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดได้ลงไปติดตาม โดยเร่งตรวจด้วยวิธี RT-PCR ผลที่ออกมาเป็นลบทั้งหมด ดังนั้นที่สงสัยว่าโรงเรียนดังกล่าวจะเป็นคลัสเตอร์นั้นถือว่าไม่ใช่ ขณะนี้สามารถเปิดเรียนได้ปกติ” พญ.สุมนีกล่าว

ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.กล่าวว่า ศปก.ศบค.ยังมีความเป็นห่วงการเปิดให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอให้สถานประกอบการต่างๆ ดำเนินการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ซึ่ง ศปก.ศบค.จะประเมินผลการดำเนินการทุก 2 สัปดาห์ ถ้าผลที่ออกมาดีขึ้น ก็จะมีการผ่อนคลายต่างๆ ตามมา

ถามถึงการเตรียมความพร้อมหลังเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้วหากเกิดระบาดขึ้น ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.กล่าวว่า เมื่อมีแผนเปิดประเทศแล้ว ได้มีการเตรียมพื้นที่ในการทำแผนเผชิญเหตุ เมื่อมีสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อเพิ่มขึ้น โดยมีเกณฑ์พิจารณา ภายใต้หลักการตามคำสั่งของ ศบค.ฉบับที่ 11 (12)

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงสถานการณ์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ข้อมูลวันที่ 4 พ.ย. 2564 ฉีดเพิ่มขึ้น 824,650 โดส สะสม 78,656,124 โดส เป็นเข็มแรก จำนวน 43.4 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 60.3 ของประชากร 72 ล้านคน ทั้งคนไทยและผู้ที่อยู่ในแผ่นดินไทยทุกคน, เข็มที่สอง 32.7 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 45.4 และเข็มที่สาม อีก 2.5 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 3.5 คาดว่าใน 1-2 วันนี้จะสามารถฉีดวัคซีนสะสมได้ถึง 80 ล้านโดส ต้องขอบคุณประชาชนที่เข้ารับวัคซีนเพื่อป้องกันตัวเองและคนรอบตัว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาพรวมการฉีดวัคซีน เป็นซิโนแวคแล้ว 24.5 ล้านโดส, แอสตร้าเซนเนก้า 34.4 ล้านโดส, ซิโนฟาร์ม 12.7 ล้านโดส, ไฟเซอร์ 6.5 ล้านโดส

“ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด หรือพื้นที่สีฟ้าที่ต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมกว่าพื้นที่อื่น ยอดรวมสะสมร้อยละ 80 ของประชากร โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คือผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วร้อยละ 77 เข็มสองอีกร้อยละ 64 ส่วนเดือนธ.ค.นี้ จะมีจังหวัดอื่นเข้ามาเป็นพื้นที่สีฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 17-18 จังหวัด จึงขอให้เร่งฉีดวัคซีนกันต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมีมติให้กลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มครบ 2 เข็ม ให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และขอให้ผู้ที่ฉีดซิโนฟาร์มครบ 2 เข็ม ติดต่อหน่วยฉีดวัคซีน หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อขอฉีดกระตุ้นสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ รวมถึงคนที่ฉีดซิโนแวคไขว้กับวัคซีนซิโนฟาร์มก็สามารถขอรับการฉีดกระตุ้นได้ อย่างไรก็ตาม การฉีดกระตุ้นเข็ม 3 นั้นขอให้ดำเนินการฉีดให้กับผู้ที่ฉีดตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 ลงมาก่อน

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นห่วงและสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ กรณีพบคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่โรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรค์ อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร หลังเปิดเรียนได้ 3 วัน อย่างไรก็ดี นายกฯ ชื่นชมการดำเนินการของภาคส่วนต่างๆ ใน จ.มุกดาหารที่ดำเนินการได้รวดเร็วเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่ต้องสงสัยว่าเกิดการแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่

“ขอให้ประชาชนมั่นใจการเปิดเรียนแบบ On-site ได้มีการประเมินความพร้อมของโรงเรียนเป็นอย่างดี รวมถึงมีมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขที่เข้มงวด มีการเฝ้าระวังเชื้ออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเปิดเรียนได้อย่างปลอดภัย ปลอดโรค ซึ่งในวันที่ 15 พ.ย.นี้ จะมีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครและโรงเรียนสังกัดอื่นๆ เปิดเรียน On-site เพิ่มมากขึ้น นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตรวจตรา ตรวจสอบให้ทุกโรงเรียนเข้มงวดมาตรการ 6-6-7 โดยยึดหลัก 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้ม รวมทั้งปรับระบบและเตรียมแผนรองรับ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตรูปแบบปกติใหม่” โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา ชี้แจงกรณีเด็กนักเรียนใน อ.นิคมคำสร้อย ตรวจ ATK เป็นบวก พอตรวจซ้ำด้วย RT-PCR ให้ผลเป็นลบไม่ติดเชื้อโควิดว่า การตรวจให้ผลลวงใน ATK สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีการตรวจซ้ำด้วย RT-PCR อีกครั้งเสมอ ซึ่งปกติทางโรงเรียนต้องมีมาตรการ หรือสื่อสารกับผู้ปกครอง ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดความแตกตื่นและกังวลขนาดนี้ พร้อมย้ำว่าหากมีการติดเชื้อจริงในเด็ก ก็ไม่ต้องกังวลมาก หรือถึงขั้นปิดทั้งโรงเรียน สามารถปิดแค่บางชั้นเรียน หรือบางห้องเท่านั้น การเรียนยังสามารถเปิดได้ตามปกติ

“การติดเชื้อในเด็กไม่น่าห่วงกังวลเท่ากับผู้ใหญ่ เพราะมีอาการน้อย อีกทั้งหากครอบครัวมีการฉีดวัคซีนแล้วก็ไม่น่ากังวล ความห่วงกังวลในการติดเชื้อในเด็กคือการแพร่เชื้อจากเด็กไปในผู้ใหญ่ในครอบครัวมากกว่า” ผอ.สำนักระบาดวิทยาระบุ

วันเดียวกัน เพจผู้ว่าฯ อัศวิน โพสต์แผนเผชิญเหตุมาตรการป้องกันโควิด-19 โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ระบุ 1.ปิดเรียน-กรณีพบผู้ป่วยยืนยัน 1 คนขึ้นไป ให้ปิดห้องเรียน 3 วัน งดทำกิจกรรมรวมกลุ่ม ให้ผู้ที่เสี่ยงสูงกักตัวที่บ้าน งดมาเรียนที่โรงเรียน ผู้ที่มีเสี่ยงต่ำให้มาเรียนตามปกติโดยใช้การสังเกตอาการ กรณีพบผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 1 ห้องเรียน ให้ปิดชั้นเรียน 3 วัน งดทำกิจกรรมรวมกลุ่มทุกกิจกรรม และปิดโรงเรียนตามอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อ โดยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2.ไม่ต้องปิดโรงเรียน กรณีไม่พบผู้ป่วยยืนยันในโรงเรียน แต่มีความเสี่ยงติดเชื้อมาจากบ้านหรือชุมชนที่พักอาศัย โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากที่บ้าน ให้สังเกตอาการ 14 วัน หากพบอาการผิดปกติ ให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย ระหว่างรอผล ให้หยุดเรียนกักตัวที่บ้านผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำจากที่บ้าน ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้สังเกตอาการ 14 วัน โดยไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง