“วิษณุ” ทำนาย ระบบเลือกตั้งส่อพิสดารขึ้นอีก พปชร.ปัดฮั้ว พท.จงใจทำสภาล่ม อึ้ง! “ปธ.วิปฝ่ายค้าน” ภูมิใจโดดร่มเพื่อยับยั้งกฎหมาย ดีกว่าเอาหาร 500 “หมอระวี” ลั่นอย่าต้อนให้หมาจนตรอก “ส.ว.คำนูณ” รับยากมากพิจารณา กม.ลูกทันเดดไลน์
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายหัวข้อ การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม กับการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 12 (พตส.12) ว่า การเลือกตั้งที่พึงปรารถนาที่สุดคือการเลือกตั้งที่ดี แต่วันนี้การเลือกตั้งที่ดีต้องสุจริตและเที่ยงธรรม ตรงไปตรงมา ไม่มีกลอุบายแอบแฝง ไม่มีวิชามาร เที่ยงตรง มีคุณธรรม ไม่ลำเอียง ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่สองมาตรฐาน
รองนายกฯ ยังกล่าวอีกว่า วิธีจัดการเลือกตั้งในโลกมีหลายวิธี แต่ละประเทศแตกต่างไม่เหมือนกัน อังกฤษเลือกแบบ 1 คน 1 เขต สหรัฐอเมริกา เยอรมนี จะพิสดารออกไป และประเทศไทยเคยพิสดารและกำลังจะพิสดารยิ่งขึ้นในไม่ช้า และกำลังจะย้อนกลับไปอย่างเก่าอีกหรือไม่นั้น ไม่รู้ แต่ทั้งหมดเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ เรียกว่าพัฒนาการของการเลือกตั้ง
นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกระแสข่าวจะมีการปล่อยให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ..... ไม่แล้วเสร็จภายในกรอบ 180 วันว่า ไม่มี มันเป็นไปตามข้อกำหนดอยู่แล้วจะพ้นหรือไม่พ้น ถ้าทำไม่ทันก็กลับไปสู่ร่างเดิม ถือเป็นเรื่องที่กำหนดไว้อยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ เราคิดว่าเป็นไปตามวิถีทางของสภา ไม่มีอะไรแปลก
เมื่อถามว่า มีข้อกล่าวหาว่า พปชร.และพรรคเพื่อไทย (พท.) จับมือกันให้สภาล้มเพื่อให้กฎหมายลูกไม่เสร็จภายในกรอบเวลาวันที่ 15 ส.ค. นายอนุชา ปฏิเสธว่า ไม่มี เป็นไปตามกระบวนการของรัฐสภา ที่การประชุมจะเสร็จหรือไม่เสร็จ เขาถึงมีบทบัญญัติระบุไว้ ถ้าไม่เสร็จก็ไปใช้ของเดิม ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนต้องบังคับว่าต้องเสร็จ มันเหมือนกับกฎหมายอื่นๆ ถ้าทำไม่ได้ให้กลับมาใช้แบบนี้ ยืนยันสภาต้องตัดสินร่วมกัน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งจะชี้นำอะไรได้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าประชุมสภาตามปกติ และจะไม่เข้าไปร่วมกระบวนการที่จะทำให้ที่ประชุมล่ม เราเดินหน้าไปตามกระบวนการรัฐสภาที่เราเห็นว่าเหมาะสม ส่วนผลจะออกมาอย่างไรนั้น ขอให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมรัฐสภา ปชป.พร้อมสำหรับการเลือกตั้งทุกรูปแบบ
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พท. ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า หากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พิจารณาไม่แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด 180 วันตามข้อบังคับ ให้ถือว่ารัฐสภาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ ซึ่ง พท.พร้อมยอมรับ เพราะสามารถทำดีที่สุดเท่านี้ และถือว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวของ ครม.เสียหายน้อยกว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่หารด้วย 500 ส่วนหากมีใครติดใจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีขั้นตอนที่ดำเนินการได้ แต่หากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแพ้ฟาวล์หรือแพ้เทคนิค พท.จะไม่ยื่น เพราะสูตรคำนวณนั้นไม่ใช่จำนวน 500 คน ซึ่งมีปัญหาแล้ว หากไม่ยื่นจะทำให้กระบวนการประกาศใช้กฎหมายจะสั้นลง
ประธานวิปฝ่ายค้านระบุว่า ส่วนกรณีที่อาจมีผู้ร้องเรื่องจริยธรรม ส.ส.ที่ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมนั้น ตนไม่กังวล แต่ต้องอธิบายกับสังคมเพื่อแสดงความสุจริตใจ เหตุผลที่ไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม ไม่ใช่ขาดความรับผิดชอบ แต่เพื่อยับยั้งกฎหมาย
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ประชาชนกำลังเฝ้ามองการทำงานของรัฐสภาอยู่ว่าสามารถทำงานตามที่ประชาชนคาดหวังได้หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้ประชาชนมองรัฐสภาด้วยความเสื่อมศรัทธามากขึ้น และมองว่ากระบวนการนิติบัญญัติเป็นไปในเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้มีอำนาจไม่กี่คนมากกว่าส่วนรวม ทั้งนี้ ก.ก.คิดว่าวิถีทางที่น่าจะดีที่สุด สง่างามที่สุด คือส่งสูตรไปให้ กกต.ตีกลับ เราเชื่อว่า กกต.จะต้องตีกลับ เพราะ กกต.เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีส่วนในการทำร่างกฎหมายลูกฉบับนี้
นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) กล่าวว่า จุดยืน ศท.เห็นควรยึดตามที่แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งได้แยกวิธีการคำนวณ ส.ส.เอาไว้แล้ว แต่ทั้งหมดต้องดูว่าสภาจะเอาอย่างไร แต่เชื่อว่าไม่ว่าจะออกมาอย่างไร มีทั้งเข้าทางคนกลุ่มหนึ่ง และตรงกับความต้องการของกลุ่มหนึ่ง แต่อาจไม่ถูกใจอีกกลุ่ม
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ (พธม.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวถึงการนัดประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 10 ส.ค.ว่า ในส่วนของ พท. เป็นปกติที่การประชุมเกือบทุกครั้งไม่ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุม ดังนั้นอย่าไปโทษ พท. แต่ปัญหาที่เกิดคือ พรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ยอมแสดงตน ทำให้ต้องเสียเวลารอองค์ประชุม เสียเวลารอการลงมติ ตนเชื่อว่าฝั่งที่สนับสนุนสูตรหารด้วย 100 คนนั้นเตรียมฉลอง แต่ตนขอบอกไว้ว่าสงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร เพราะวิธีการที่เขาทำเรียกว่า ต้อนให้หมาจนตรอก และยังมีด่านสำคัญ คือด่าน กกต.และด่านศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า จะเข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร. เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาหรือไม่ นพ.ระวีตอบว่า เชื่อว่า พล.อ.ประวิตรคงทราบข่าวแล้ว ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ และต้องวินิจฉัยเองในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. รวมถึงต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่สำคัญว่าจะมีท่าทีหรือสั่งสอน ส.ส.พปชร.อย่างไร
หัวหน้าพรรค พธม.ระบุว่า การจะเข้าร่วมเป็นองค์ประชุมหรือไม่ เป็นไปตามวิจารณญาณของแต่ละคน ส.ส.และ ส.ว. ที่ตัดสินใจว่าจะอยู่ในเกมการเมือง ไม่สนใจชื่อสภา หรือภาษีประชาชนที่ใช้เงินเดือนร่วมประชุมก็แล้วแต่ ตนพูดได้คำเดียวว่าสงครามยังไม่จบ และวันที่ 10 ส.ค.นี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ ตนยังเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ส.ส.และ ส.ว. เห็นปัญหาแล้วจะตัดสินใจทำหน้าที่ลงมติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 114
เมื่อถามว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีคนประเมินว่าพรรคเล็กถูกหลอก นพ.ระวีบอกว่า อย่าคิดถึงขนาดนั้น ที่มีคนบอกว่าฝ่ายรัฐบาลหลอกพรรคเล็กโหวตผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ถูกหักหลังตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องจริง
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการปล่อยให้สภาล่มว่า วิธีการแบบนี้ไม่ถูกต้อง และเสียเวลา เป็นเกมการเมืองที่ตนรู้สึกเบื่อ อยากให้ใช้เวลาทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสูตรคำนวณจะหารด้วย 100 หรือหาร 500 ตนและ รทสช.ไม่ได้สนใจ เพราะพรรคเน้น ส.ส.แบบแบ่งเขต จะหารด้วยเท่าไหร่ไม่มีผลกับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต จึงไม่มองและเห็นว่ากรณีดังกล่าวเสียเวลาประชาชน
หัวหน้าพรรค รทสช.ระบุว่า เป็นนักการเมืองอยู่สภามาจะ 30 ปี ไม่เคยมีเหตุการณ์ปรับแก้กฎหมายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเช่นนี้ ทั้งที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรและเสียเวลาโดยใช่เหตุ ไม่อยากสนใจ เพราะสุดท้ายไม่แน่ใจว่าจะปรับเปลี่ยนกันอีกหรือไม่ ตนคิดว่าเอาเวลามาเตรียมความพร้อมดีกว่า ไม่ว่ากติกาออกมาอย่างไรต้องพร้อมสู้
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ว่า 10 สิงหา-โอกาสสุดท้าย ก่อนสูตร 'หาร 100' จะกลับมาตามช่องทางพิเศษ! โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ถามว่ามีความเป็นไปได้มั้ยที่จะพิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้งแล้วเสร็จในโอกาสสุดท้ายที่เหลืออยู่วันเดียว 10 สิงหาคม ตอบว่าในทางทฤษฎีแล้วเป็นไปได้ แต่ในทางความเป็นจริงถือว่ายากมากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ วันนี้การเมืองไทยในระบบรัฐสภาเดินมาถึงจุดที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแถลงเปิดเผยอย่างมั่นใจว่า การไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมถือเป็นการทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชนประการหนึ่ง ในกรณีที่เห็นว่าการประชุมนั้นกำลังทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือออกกฎหมายไม่ถูกต้อง การอยู่ร่วมเป็นองค์ประชุมเพื่อเป็นเสมอเพียงเครื่องมือให้กับการกระทำที่ไม่ถูกต้องนั้นเสียอีกที่ควรถูกตั้งคำถามเช่นกัน โอกาสครบองค์ประชุมให้ตลอดรอดฝั่งในวันที่ 10 สิงหาคม จึงแทบเป็นไปไม่ได้
นายคำนูณบอกอีกว่า ยิ่งมีปัจจัยเสริมที่วันนั้นบังเอิญตรงกับวันกำนันผู้ใหญ่บ้านที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งมีภารกิจที่นัดหมายไว้ล่วงหน้าต้องร่วมงานในพื้นที่ จึงแทบ 'ปิดประตู' ไปเลยว่าร่างกฎหมายเลือกตั้งสูตรหาร 500 จะพิจารณาแล้วเสร็จจนผ่านวาระ 3 เอาแค่ในวันที่ 10 สิงหาคม สามารถเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้โดยไม่ล่าช้าเกินไปนัก และสามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกำหนดเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.…. ได้จนจบวาระ 2-3 ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
ส.ว.รายนี้ระบุว่า แต่ก็ไม่ถึงกับ 'ปิดประตูตาย' เสียทีเดียว เพราะเส้นทางที่จะกลับมาได้ของสูตรคำนวณ 'หาร 100' นั้นยังมีช่องทางปกติอีกถึง 3 ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการที่ร่างกฎหมายเลือกตั้งที่กำลังพิจารณาค้างคาอยู่นี้ไม่ผ่านวาระ 3 หรือผ่านวาระ 3 แต่ กกต.ให้ความเห็นกลับมาว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติแล้วสมาชิกรัฐสภาลงมติแก้ไขกลับเป็นหาร 100 ตามความเห็น กกต. หรือยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพียงแต่ทั้ง 3 ช่องทางปกตินั้นไม่เร็ว และแน่นอนเบ็ดเสร็จเหมือนช่องทางพิเศษ
นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ คณะทำงานด้านการเมือง พรรคกล้า กล่าวว่า ตลอด 5 เดือน เราต่อสู้กับความไร้วินัยในการทำงานของ ส.ส. ที่ทำให้สภาล่มต่อเนื่อง ล่าสุด (3 ส.ค.65) สภาล่มอีกครั้ง คราวนี้บางพรรคออกมายอมรับตรงๆ ว่า จงใจไม่กดบัตรเข้าแสดงตน ต้องการยื้อร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้พิจารณาไม่เสร็จภายใน 15 ส.ค. เพื่อกลับไปใช้กติกาหาร 100 ที่ตนได้เปรียบ
นายพงศ์พลกล่าวด้วยว่า ตนเองและคณะทำงานพรรคกล้าเคยรวบรวมรายชื่อประชาชนกว่าหมื่นรายชื่อยื่นต่อ กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร ขอให้พิจารณามีมาตรการลงโทษตัดเงินเดือนกับสมาชิกที่ไม่เข้าแสดงตน จนเป็นเหตุให้สภาล่ม เพราะถือว่าไม่มาทำงาน เช่นเดียวกับมาตรฐานคนทำงานทั่วไป แต่ทางกรรมาธิการกิจการสภาฯ กลับมาหนังสือตอบกลับเชิงว่ามีมาตรการเพียงพอแล้ว จนสุดท้ายสภาก็ล่มอีก ส.ส.บางส่วนไร้ ซึ่งเกียรติ ขาดความรับผิดชอบ ไม่สนผีสนแดดว่าประชาชนที่เลือกท่านมาจะผิดหวังเพียงใด ที่กลายเป็นคนไม่ทำหน้าที่ ใช้ช่องโหว่กฎหมาย ด้อยค่าประชาธิปไตยตัวเอง ส่วนจะเอาระบบเลือกตั้งแบบไหนก็ให้ตกลงกัน แต่อย่าทำเสียงบหลวง เสียเวลาทำงานแบบนี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หมูเด้ง’เหตุการณ์ที่สุดปี67
สวนดุสิตโพลจัดอันดับ "หมูเด้ง" เหตุการณ์แห่งปี "อิ๊งค์" ที่สุดนักการเมืองหญิง
ลุยสอบนายกฯตัวจริง
"นายกรัฐมนตรี" อวยพรปีใหม่ 2568 ขอให้ปชช.มีความสุข ปราศจากอุปสรรค และเป็นปีแห่งโอกาสของทุกคน
มีสติรู้คิดไม่ประมาท ‘ในหลวง’พระราชทานพรปีใหม่คนไทย
"ในหลวง" พระราชทานพรปีใหม่ ให้คนไทยตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ยังไม่พ้นปีเก่าดับ143ศพ เชียงใหม่แชมป์คดีเมาขับ
เข้าสู่วันที่ 3 รณรงค์ขับขี่ปลอดภัย ตายพุ่งก่อนฉลองปีใหม่ 143 ศพ
สลดทิ้งท้าย67 ไฟไหม้-ฝ้าถล่ม เสียชีวิต8ราย
ปิดท้ายปีงูใหญ่ยังดุ สลดไฟไหม้ รร.ย่านบางลำพู คร่าชีวิตต่างชาติ 3 ราย
บ่นเรือดำนํ้า‘เนื้อไม่ได้กิน’
"ภูมิธรรม" ขอยืดเวลา 6 เดือน รอคำตอบเยอรมนีขายตรงเครื่องยนต์ให้ไทย