จับยาโควิดเถื่อน8แสนเม็ด ตรวจATKทะลุ2.8หมื่น/วัน

ศบค.เผยตัวเลขติดเชื้อวันนี้ 2.1 พันราย เอทีเคในรอบสัปดาห์ทะลุ 2 แสนราย เฉลี่ยวัน 2.8 หมื่นราย จับตา 19 ส.ค. ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ประเมินสถานการณ์ใหม่ "อนุทิน" นำทีมแถลงข่าวจับเครือข่ายขายยารักษาโควิดเถื่อน พบของกลางกว่า 80,000 เม็ด มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,166 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,151 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,151 ราย มาจากเรือนจำ 15 ราย เป็นผู้หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,700 ราย อยู่ระหว่างรักษา 21,377 ราย อาการหนัก 905 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 476 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 29 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 11 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 24 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย ไม่มีโรคเรื้อรัง 1 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,598,725 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,545,856 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 31,492 ราย 

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อ 2,166 ราย เป็นตัวเลขของผู้ป่วยที่พักรักษาในโรงพยาบาล ขณะที่ผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียน OPSI เจอ แจก จบ ซึ่งตรวจแบบ ATK ในสัปดาห์ที่ 30 ระหว่างวันที่ 24-30 ก.ค. มีตัวเลขอยู่ที่ 201,554 ราย เฉลี่ยวันละ 28,793 ราย ในส่วนสถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยใส่ท่อหายใจถือว่าน่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น และมีโรคประจำตัว แต่โดยรวมอัตราการครองเตียงเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 17.1% ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่ายังมีศักยภาพในการรักษาและยังสามารถขยายเตียงได้

ส่วนเรื่องยาโมลนูพิราเวียร์ กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่ามีคุณภาพเพียงพอในการรักษาประชาชน และเน้นย้ำให้ภาครัฐดูแลการให้ยาผ่านการสั่งยาของแพทย์ โดยทางรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ไม่ควรซื้อยานอกจากที่ภาครัฐกำหนดไว้ให้ เพราะไม่แน่ใจเรื่องคุณภาพของยา และยาไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือที่เรียกว่ายาเถื่อน อาจจะมีอันตรายต่อตนเองได้

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากการประเมินประวัติติดเชื้อใน 1 เดือนที่ผ่านมา จากแบบประเมินพฤติกรรมสุขภาพนักเรียนในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในสถานศึกษา พบว่าเป็นการติดเชื้อในโรงเรียนเพียง 5.66% ไม่ทราบสาเหตุ 8.96% เป็นการติดเชื้อจากบุคคลในบ้าน 14.93% และอื่นๆ มากที่สุด 70.45% ทั้งนี้ ในวันที่ 19 ส.ค.จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อประเมินสถานการณ์และพิจารณามาตรการต่างๆ นำไปสู่การปฏิบัติ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ฝากขอบคุณประชาชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือในการป้องกันโควิด-19 เป็นอย่างดี

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับตำรวจสอบสวนกลางจับกุมเครือข่ายขายยารักษาโควิดเถื่อน พบของกลางกว่า 80,000 เม็ด มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท นำแถลงข่าวโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.,

นายอนุทินแถลงว่า จากการประสานทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดย อย.ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ในการสืบหาแหล่งขายยาโมลนูพิราเวียร์ที่ผิดกฎหมายทางสื่อออนไลน์ พบมีการลักลอบนำเข้ายาที่ใช้รักษาโควิด-19 เช่น Molnupiravir, Favipiravir, Remdesivir สเปรย์พ่นจมูกที่มีส่วนประกอบของ Nitric Oxide ฯลฯ โดยยาดังกล่าวลักลอบนำเข้าโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่ผ่านการตรวจสอบจากด่านอาหารและยา และเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ไม่ผ่านการพิจารณาเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา โดยปฏิบัติการครั้งนี้ได้จับกุมเครือข่ายลักลอบขายยารักษาโควิดได้จำนวน 3 ราย

ผลการจับกุมได้ของกลางที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาทั้งหมดรวมกว่า 2,300 กล่อง ประมาณ 80,000 เม็ด มีมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท โดยผู้ต้องหารู้จักกับคนอินเดียให้ช่วยซื้อให้และส่งมาจากประเทศอินเดีย ลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทย ส่วนใหญ่ลักลอบนำเข้าผ่านทางด่านศุลกากรไปรษณีย์ แจ้งวัฒนะ

รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า มียาบางส่วนที่ผู้ต้องหาหิ้วติดตัวทยอยนำเข้า โดยทำมาแล้วประมาณ 2 เดือน ขอเรียนพี่น้องประชาชนว่าไม่ควรซื้อยาออนไลน์กินเอง ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและสั่งจ่ายยาโดยแพทย์ถึงจะมีความปลอดภัย ต้องเลิกคิดซื้อมาตุนสำรองไว้ที่บ้าน โรคโควิดต้องให้แพทย์รักษา กินยาตามแพทย์สั่ง หากประชาชนซื้อยาดังกล่าวไปรับประทานเอง อาจได้ยาปลอมที่ไม่มีตัวยาสำคัญ หรือยาที่ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษาโควิด-19 ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าปลอดภัยและอาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ผู้ป่วยโควิดตอนนี้หากติดเชื้อควรไปพบแพทย์ ขอย้ำว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์หรือฟาวิพิราเวียร์ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

ด้าน พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ยาเพื่อรักษาโรคโควิด-19 และยาอื่นๆ เนื่องจากยาเป็นปัจจัยพื้นฐานอย่างแรกที่ประชาชนจะเข้าถึงเพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วย หากได้รับยาที่ไม่มีคุณภาพอาจเกิดการดื้อยา, ไม่หายจากการเจ็บป่วยและเสี่ยงแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นซึ่งส่งผลถึงชีวิตได้ และขอเตือนผู้ที่ลักลอบขายยารักษาโควิด-19 ที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที เนื่องจากการขายยาออนไลน์ยังเป็นความผิดอยู่ และต้องรับโทษทั้งปรับและจำคุก หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด เพราะท่านกำลังทำให้ผู้ป่วยโควิดหรือผู้ที่ต้องการใช้ยาดังกล่าวได้รับความเสี่ยงจากการใช้ยาและเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ไม่ถูกต้อง หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค หรือแจ้งสายด่วน อย. 1556 อีเมล [email protected]

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72(4) “ขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง