โควิดไทยสังเวยอีก 32 ศพ "บิ๊กตู่" เชื่อสถานการณ์ไทยและทั่วโลกดีขึ้น ด้าน "สุพัฒนพงษ์" ติดเชื้อหลังกลับซาอุฯ "ฝีดาษลิง" ผุดราย 3 ที่ภูเก็ต เป็นหนุ่มเยอรมนี คาดติดจากต่างประเทศ แพทย์แจงยิบไม่ใช่กลุ่มรักร่วมเพศ เฝ้าระวัง 7 คนกลุ่มเสี่ยง แฟนสาวชาวไทยและครอบครัว
เมื่อวันพุธ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามแนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งภาพรวมทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 2-3 สัปดาห์ ขณะที่ในสัปดาห์นี้อัตราตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกค่อนข้างคงที่ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขผู้ป่วยในประเทศไทย
“แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้เริ่มทรงตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุขติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวมทั้งแปลผลด้วยความระมัดระวัง และเชื่อว่าสถานการณ์ไทยและทั่วโลกจะดีขึ้นตามลำดับ” นายธนกรกล่าว
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 2,432 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,431 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 1 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,373,124 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,472 ราย หายป่วยสะสม 2,374,662 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 21,940 ราย เสียชีวิต 32 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 917 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน แจ้งกับผู้ใกล้ชิด และบุคคลที่เกี่ยวข้องในการจัดการเตรียมประชุมกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ ว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 โดยล่าสุดมีอาการไอ ทำให้อาจไม่สามารถเข้าร่วมประชุมทางออนไลน์ได้ ซึ่งเริ่มมีอาการและรู้ผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ก.ค.65 ที่ผ่านมา
โดยนายสุพัฒนพงษ์กลับจากเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 25-27 ก.ค.ที่ผ่านมา และเมื่อกลับถึงประเทศไทย ได้ผ่านการตรวจระบบ RT-PCR แล้ว แต่ไม่พบเชื้อ และในวันที่ 28 ก.ค. ได้ร่วมงานทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ท้องสนามหลวง จนเริ่มมีอาการและตรวจพบเชื้อโควิดตั้งแต่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้มีการรายงานกรณีโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง มีผลการตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ ยืนยันในรายที่ 3 เป็นผู้ป่วยชาย อายุ 25 ปี สัญชาติเยอรมนี เดินทางเข้าไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 ที่ จ.ภูเก็ต
นพ.โอภาสกล่าวว่า เบื้องต้นผู้ป่วยรายดังกล่าวเมื่อเข้ามาถึงไทยไม่นานก็เริ่มมีอาการ จึงคาดว่าน่าจะติดเชื้อจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ป่วยให้ประวัติว่าเดินทางมาเที่ยวในไทย เคยไปๆ มาๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด กลุ่มเสี่ยงเพื่อคัดกรองโรคฝีดาษลิง ซึ่งเบื้องต้นผลยังไม่พบผู้ติดเชื้อในผู้สัมผัส แต่ตามแนวทางจะต้องให้สังเกตอาการ 21 วัน โดยสามารถไปไหนมาไหนได้ แต่ต้องระวังการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น
ส่วนความเสี่ยงที่โรคฝีดาษลิงจะกระจายในประเทศไทย จะสังเกตว่า 3 ราย เป็นเพศชาย ตรงกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่เปิดเผยว่า ร้อยละ 98 มีประวัติชายรักชาย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของไทย เป็นชายทั้งหมด โดยเป็นต่างชาติ 2 ราย และคนไทย 1 ราย ที่สัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ ฉะนั้น ความเสี่ยงคือการสัมผัสใกล้ชิดต่างชาติกับผู้ป่วยฝีดาษลิง
นพ.โอภาสกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยรายที่ 3 เมื่อเข้ามาไม่นานก็เริ่มมีอาการฝีดาษลิง คือมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ต่อมาผื่นขึ้นเริ่มจากอวัยวะเพศและไปตามร่างกาย อาการค่อนข้างชัดเจน จึงมาโรงพยาบาล ทั้งนี้ ข้อมูลทั่วโลกพบว่าผู้ป่วยฝีดาษลิงไม่ได้จำเป็นต้องอยู่ใน รพ.ทุกราย มีเพียงร้อยละ 9 ที่ต้องอยู่ รพ.เพื่อควบคุมโรค ดังนั้นมาตรการของเราในอนาคต หากผู้ป่วยไม่มีปัญหาสุขภาพก็ให้รักษาตัวที่บ้านได้
ส่วนเรื่องวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กำลังประสานติดต่อ คาดว่าไม่เกินเดือนนี้ ซึ่งคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ยังไม่มีประวัติติดเชื้อ แต่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรค เช่น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ห้องแล็บ 2.มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยฝีดาษลิง แต่ไม่เกิน 14 วัน หลังจากสัมผัสครั้งสุดท้าย คาดว่าป้องกันโรคได้
“ด้านยารักษาโรค ขณะนี้ข้อมูลบ่งชี้ว่าสามารถหายเอง อย่างผู้ป่วย 2 รายแรกของไทย อาการดีขึ้นโดยไม่ต้องรับยาต้านไวรัส แต่ยาอาจมีความจำเป็นในกลุ่มผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีหรือร่างกายอ่อนแอ ทั้งนี้ ข้อมูลทั่วโลกพบติดเชื้อฝีดาษลิง 20,000 ราย เสียชีวิต 3-4 ราย ซึ่งประวัติมีโรคประจำตัว เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ภาวะแทรกซ้อนสมองอักเสบ ฉะนั้น ยาจะมีความจำเป็นเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ทุกรายที่ต้องรับยา” นพ.โอภาสระบุ
เมื่อถามว่า 2 รายแรกของไทยถือว่าการป้องกันโรคปลอดภัยแล้วหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ต้องดูว่าผู้สัมผัสโรคของรายที่ 1 ครบ 21 วัน หลังจากที่สัมผัสกับผู้ป่วยหรือยัง เพราะโรคนี้ระยะฟักตัวอย่าง ซึ่งการควบคุมโรคจะดีกว่าโรคที่ระยะฟักตัวสั้นอย่างโควิด-19 ที่เวลากระจายก็กระจายเร็ว
เมื่อถามถึงเรื่องการบริการวัคซีนฝีดาษลิง นพ.โอภาสกล่าวว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต้องดู 1.ประสิทธิภาพ 2.ความปลอดภัย 3.สถานการณ์ และ 4.ความเป็นไปได้ในการจัดบริการ ซึ่งวัคซีนที่เราสั่งเข้ามาจากข้อมูลพบว่าผลข้างเคียงน้อยที่สุด แต่ด้วยโรคใหม่เราจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ที่ จ.ภูเก็ต นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต แถลงกรณีพบผู้ป่วยฝีดาษวานร รายที่ 3 ว่า คนไข้รายนี้แอดมิตตอนสายวันที่ 2 ส.ค. และตอนเย็นทราบผลพบเชื้อ โดยทีมสอบสวนโรคได้ร่วมกับสาธารณสุขเมือง และ รพ.ได้สอบประวัติผู้ป่วย ทราบว่าเป็นชายชาวเยอรมนี อายุ 25 ปี เดินทางบินตรงเข้าภูเก็ตเมื่อวันที่ 18 ก.ค.65 เข้ามาพักกับแฟนเป็นคนไทย ไม่ได้เป็นกลุ่มรักร่วมเพศ และครอบครัวของแฟน โดยพักอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดภูเก็ต ส่วนมากท่องเที่ยวกับแฟนไม่ได้ไปเที่ยวสถานบันเทิง
“กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดเป็นแฟนและครอบครัวของแฟน ในขั้นต้นรวมแล้ว 7 คน อาจจะเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ต้องสอบสวนโรคทีละขั้นตอน ตอนนี้ทั้ง 7 คนที่ใกล้ชิดผู้ป่วย ยังไม่มีอาการ ส่วนแฟนของเขาได้ทำการเจาะเลือด สวอบอยู่ ระหว่างรอผลให้เขากักตัวอยู่ที่บ้าน” นพ.กู้ศักดิ์ระบุ
นพ.กู้ศักดิ์ระบุว่า ปัจจุบันมีการเฝ้าระวังโรค มีการดักจับโรคฝีดาษวานรที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศกับการเฝ้าระวัง ตาม รพ.รัฐ รพ.เอกชน คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกโรคเพศสัมพันธ์ ซึ่งทางรพ.รัฐและ รพ.เอกชนแจ้งมาว่ามีผู้ป่วยเข้ามาตรวจและอาการเข้าข่ายประมาณ 4-5 ราย เป็นชาวพม่า ชาวเคนยา สเปน ฯลฯ รวมแล้ว 7-8 คนที่เดินเข้ามาตรวจ เจาะเลือดสวอบ ผลตรวจไม่พบเชื้อ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงที่ผ่านมา มีการกำชับให้ตรวจเฝ้าระวังคัดกรอง ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ทั้งสนามบิน ทางน้ำและทางบก รวมถึงในสถานพยาบาลให้เตรียมความพร้อมเรื่องการรักษา ดังนั้นผู้ที่มีอาการสงสัยขอให้รีบมาพบแพทย์ ส่วนเรื่องวัคซีนและยาก็มีการเตรียมสั่งซื้อเข้ามา ซึ่งวัคซีนไม่ใช่ว่าต้องฉีดให้ทุกราย แต่จะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง และผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ส่วนเรื่องยาเป็นการเตรียมความพร้อม เพราะการติดเชื้อไม่ได้ถึงขั้นกระจายอย่างรวดเร็ว กรมควบคุมโรคก็จะดำเนินการสั่งโดยศึกษาถึงกลุ่มเสี่ยง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'แพทองธาร' พร้อมสุภาพบุรุษหมายเลข 1 ทำบุญตักบาตรทำเนียบฯ 2 ม.ค.นี้
นายกฯ เป็นประธานทำบุญตักบาตร เทศกาลปีใหม่ที่ทำเนียบรัฐบาลเช้าวันพรุ่งนี้
‘หมูเด้ง’เหตุการณ์ที่สุดปี67
สวนดุสิตโพลจัดอันดับ "หมูเด้ง" เหตุการณ์แห่งปี "อิ๊งค์" ที่สุดนักการเมืองหญิง
ลุยสอบนายกฯตัวจริง
"นายกรัฐมนตรี" อวยพรปีใหม่ 2568 ขอให้ปชช.มีความสุข ปราศจากอุปสรรค และเป็นปีแห่งโอกาสของทุกคน
มีสติรู้คิดไม่ประมาท ‘ในหลวง’พระราชทานพรปีใหม่คนไทย
"ในหลวง" พระราชทานพรปีใหม่ ให้คนไทยตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ยังไม่พ้นปีเก่าดับ143ศพ เชียงใหม่แชมป์คดีเมาขับ
เข้าสู่วันที่ 3 รณรงค์ขับขี่ปลอดภัย ตายพุ่งก่อนฉลองปีใหม่ 143 ศพ
สลดทิ้งท้าย67 ไฟไหม้-ฝ้าถล่ม เสียชีวิต8ราย
ปิดท้ายปีงูใหญ่ยังดุ สลดไฟไหม้ รร.ย่านบางลำพู คร่าชีวิตต่างชาติ 3 ราย