คึกคักประชุมใหญ่ "รวมไทยสร้างชาติ" "พีระพันธุ์" นั่งหัวหน้าพรรคตามโผ "เอกนัฏ" เลขาฯ ปัดเป็นพรรคอะไหล่ "พลังประชารัฐ" มั่้นใจกวาด ส.ส.ภาคใต้ พร้อมหนุน "ประยุทธ์" นายกฯ อีกรอบหากเป็นมติพรรค "แรมโบ้" โผล่ยินดี เผยตั้งพรรคใหม่ "เทิดไท" สภาล่มอีก! "พท.-พปชร." เตะถ่วง กม.ลูกเลือกตั้ง องค์ประชุมไม่ครบ ยื้อถก กม. กรอบเวลาทำงานกระบวนการยุติธรรม "ชวน" เตือน ส.ส.ละเลยหน้าที่ลงมติเจอคู่แข่งแฉในสนามเลือกตั้ง "ส.ว.วันชัย" เชื่อเล่นเกมหวังกลับใช้สูตรปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 "ฝ่ายค้าน" ยังไม่สรุปยื่นศาล รธน.ตีความ 8 ปีบิ๊กตู่
ที่สโมสรราชพฤกษ์ วันที่ 3 ส.ค. ตั้งแต่เวลา 08.00 น. พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จัดการประชุมใหญ่วิสามัญ มีวาระสำคัญคือ การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค รทสช.ชุดใหม่ และการเลือกตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งชุดใหม่ ที่ปัจจุบันมีนายธนดี หงษ์รัตนอุทัย เลขาธิการพรรค ทำหน้าที่รักษาการแทนหัวหน้าพรรค มีนายปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายปรพล อดิเรกสาร อดีต ส.ส.สระบุรี ที่ขณะนี้รักษาการกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน
จากนั้นในการประชุมใหญ่วิสามัญ พรรค รทสช. ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยผู้ได้รับการเลือกตั้งประกอบด้วย นายพีระพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. เป็นเลขาธิการพรรค, นายปรากรมศักดิ์ ชุณหะวัณ เหรัญญิก, นายเกรียงยศ สุดลาภา นายทะเบียน และกรรมการบริหารอื่นประกอบด้วย นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต รมว.สาธารณสุข, นายสามารถ มะลูลีม อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์, นายชื่นชอบ คงอุดม กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง, ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), นายปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายปรพล อดิเรกสาร อดีตส.ส.สระบุรี, นายเกรียงยศ สุดลาภา อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร และนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ และนายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร โดยมีนายปองพล อดิเรกสาร และ นพ.ปรีชา มุสิกุล เป็นที่ปรึกษาพรรค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมใหญ่วิสามัญพรรค รทสช.ครั้งนี้เป็นไปอย่างคึกคัก มีนักการเมืองและบุคคลสำคัญเดินทางมาร่วมงานและแสดงความยินดีกับคณะกรรมการบริหารชุดใหม่จำนวนมาก อาทิ
นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งมาพร้อม กบ-ปภัสรา เตชะไพบูลย์ ภรรยา, นายถาวร เสนเนียม อดีต รมว.คมนาคม และอดีตแกนนำ กปปส. รวมทั้งนายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รทสช.ได้นำดอกไม้แสดงความยินดี
นอกจากนี้ ยังมีอดีต ส.ส.พรรค ปชป. หลายคน อาทิ นายเจือ ราชสีห์ อดีต ส.ส.สงขลา, นายโกวิทย์ ธารณา อดีต ส.ส.กทม., นายสามารถ มะลูลีม, นายพงศ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี และ น.ส.รัดเกล้า สุวรรณคีรี บุตรสาว นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งมีกลุ่มเพื่อน ส.ส. ลูกช้าง ลูกหมี นายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ และนายนพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร ซึ่งเป็นกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และชุมพร
นายพีระพันธุ์ได้แสดงวิสัยทัศน์ภายหลังได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรค รทสช. ตอนหนึ่งว่า เราจะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง จะใช้ประสบการณ์ทางการเมือง ทำงานการเมืองให้ชาติและประชาชน ไม่ได้เข้ามาเล่นเกมการเมือง จะไม่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้เพื่อแสวงหาสถานะ อำนาจบารมีทางการเมือง เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ แต่จะอาศัยอำนาจทางการเมืองตรงนี้เพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนในทุกรูปแบบ
"เราจะเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยความมั่นใจ มั่นคง และจะชนะให้ได้มากที่สุด" หัวหน้าพรรค รทสช.กล่าว
พีระพันธุ์นำ'รทสช.'สู้
นายพีระพันธุ์ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมยืนยันจะมีผู้สมัคร ส.ส.เขตเป็นจำนวนมาก ซึ่งในทางการเมืองเรามองทั้งประเทศ มองในภาพรวม และเราไม่ใช่ พรรค ปชป.สาขา 2 ตนมั่นใจว่าจะสามารถกวาด ส.ส.ได้ทั้งภาคใต้ เราจะต้องคาดหมายว่าเราจะชนะหมดทุกเขต
ซักว่า พรรคจะยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายพีระพันธุ์กล่าวว่า นโยบายแนวทางของพรรค รสทช. เราไม่ได้สนับสนุนบุคคล แต่เราสนับสนุนแนวทางและการทำงานเดียวกัน ที่สำคัญคือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งเราทำงานด้วยกันได้หมด
ถามอีกว่า หากมติพรรคเห็นชอบให้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมที่จะดำเนินการตามมติพรรคหรือไม่ นายพีระพันธุ์ตอบทันทีว่า จะเป็นพรรคไหนก็แล้วแต่ แม้แต่พรรคเพื่อไทย ถ้าเสียงสนับสนุนหรือมติของพรรค บอกว่าต้องสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทุกคนก็ต้องทำตามมติพรรค คำถามนี้เป็นเบสิก เราเดินและบริหารพรรคการเมืองตามข้อบังคับพรรค ไม่ได้บริหารตามอำเภอใจ การสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนใครเป็นไปตามมติพรรคอยู่แล้ว
เมื่อถามย้ำว่า ขณะนี้มี ส.ส.ที่ตกปากรับคำจะมาอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติแล้วเท่าไร นายพีระพันธุ์ตอบว่า “ยังไม่อยากบอก เอาเป็นว่าเยอะแล้วกัน”
ก่อนหน้านั้น นายพีระพันธุ์ได้ปฏิเสธคำถามที่ถูกมองเป็นพรรคอะไหล่ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า ไม่ทราบว่าใครมอง เราทำการเมืองไม่ได้ขึ้นตรงกับพรรคอื่น ที่ผ่านมาตนไม่ได้พูดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค พปชร.
ส่วนนายเสกสกล ซึ่งมาร่วมแสดงความยินดีกล่าวว่า ถึงเวลานี้หากจะถามว่าสนับสนุนชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตนขอบอกว่าในอดีตที่ได้ร่วมเป็นผู้ก่อตั้งพรรค รทสช.นั้นสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ แต่ในวันนี้พรรค รทสช.จะเสนอชื่อใคร คงต้องแล้วแต่นายพีระพันธุ์ และกรรมการบริหารพรรค
"ผมกับน้องๆ กลุ่มเทิดไท้องค์ราชันปรึกษากันว่าในอนาคตทางการเมืองจะไปตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ โดยไปยื่นจดทะเบียนพรรคการเมืองชื่อพรรคเทิดไท ซึ่งขณะนี้รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุมัติ โดยมีตนเป็นหัวหน้าพรรคเอง เพราะคิดว่าเป็นหัวหมาดีกว่าเป็นหางราชสีห์ โดยยึด 2 ข้อหลักคือ ปกป้องสถาบัน กับสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย" นายเสกสกลกล่าว
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา เวลา 09.00 น. นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ..... รัฐสภา กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ในที่ประชุมรัฐสภาว่า ในวันนี้ (3 ส.ค.) จะไม่มีการเสนอเลื่อนระเบียบวาระในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ลัดคิวการพิจารณา ซึ่งจะพิจารณาวาระที่ 3.2 เรื่องร่าง พ.ร.บ. กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ..... ที่มีอยู่เพียง 12 มาตราให้จบก่อน โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกินช่วงบ่าย แล้วก็จะพิจารณากฎหมายลูกต่อทันที
ถามว่า มีความกังวลในเรื่ององค์ประชุมสภาหรือไม่ นพ.ระวีกล่าวว่า จากการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวานนี้ (2 ก.ค.) ก็ต้องยอมรับว่ามีปัญหาเรื่ององค์ประชุม ในการลงมติพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยปรับเป็นพินัย 7-8 มาตรา ซึ่งเราต้องรอกว่า 30 นาที แต่หากวันนี้มีการทำให้องค์ประชุมไม่ครบ จนที่ประชุมต้องปิดไปก่อน วาระการพิจารณาเรื่องกฎหมายลูกก็ยังเป็นเรื่องที่ค้างเป็นเรื่องแรก ดังนั้นการประชุมในวันที่ 9 ส.ค.ก็น่าจะพิจารณาเรื่องนี้จบได้ จึงมั่นใจว่าทันกรอบเวลา 180 วันแน่นอน
ถามถึงกรณีมีฝ่ายที่เห็นด้วยกับสูตรหาร 100 จะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ นพ.ระวีกล่าวว่า เมื่อสภายื่นร่างกฎหมายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว จะใช้เวลา 10 วัน เพื่อตอบว่าเห็นชอบหรือขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีองค์กรใดชี้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ต้องส่งกลับมายังรัฐสภา เพื่อแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ถ้าไม่ขัดก็จะส่งให้รัฐสภา เพื่อส่งให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี โดยจะมีเวลา 5 วันก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งช่วง 5 วันนี้เป็นช่วงที่ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการสูตรหาร 100 มีสิทธิ์ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
ต่อมาเวลา 10.00 น. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ..... ที่กรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ ในวาระสอง
อย่างไรก็ตาม ตลอดการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ประชุมยังคงประสบปัญหาเดิม ต้องใช้เวลานานพอสมควรในการตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติในมาตราต่างๆ เหมือนคราวพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยการประชุมตอนหนึ่ง นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นสอบถามนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้นว่า เมื่อปี 2512 ต้องใช้เวลารอองค์ประชุมนานแบบปัจจุบันหรือไม่
เตะถ่วง กม.ลูกทำสภาล่ม
นายชวนกล่าวว่า ขณะนั้นมีสมาชิกเพียง 219 คน ประชุมที่พระที่นั่งอนันตสมาคม การลงมติใช้วิธียกมือ ในห้องมีเจ้าหน้าที่มานับจำนวน ไม่มีการกดบัตร ส่วนการอภิปรายต้องยกมือ แล้วเดินออกไปที่ไมโครโฟน ไม่ได้สะดวกแบบนี้ สมัยนั้นมีส.ส.น้อยที่นั่งจำกัด
“ทั้งหมดอยู่ที่พวกเราทำ ผมชื่นชม อย่างน้อยเสียงข้างมากจะเกิน 2-3 คน แต่แสดงให้เห็นความรับผิดชอบของคนส่วนใหญ่ที่ดีอยู่ เราทำหน้าที่มา 3 ปีกว่า สถาบันนี้มีส่วนประคับประคองให้กระบวนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยไปได้ โดยสภานี้ทำหน้าที่ของตนเอง ผมชื่นชมพวกเราทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีเท่าที่ทำได้ ข้อที่ไม่ควรละเลยคือหน้าที่ ที่ต้องประชุมและลงมติ ผมไม่หวังว่าจะได้ 100 ทั้ง 100 แต่เกินกึ่งหนึ่ง 2 คน หรือ 5 คนก็ชื่นชม ที่บางคนให้ประกาศชื่อคนกดบัตรแสดงตนนั้น ผมขอบอกว่าไม่มีความลับ มีเอกสารในสภา ที่ผมเตือนด้วยความหวังดี เพราะมีประสบการณ์ ชื่อของเราจะปรากฏตอนหาเสียงเขตเลือกตั้ง คู่ต่อสู้เอาไปประจานความไม่รับผิดชอบ ไม่เข้าประชุม ผมเตือนด้วยความหวังดี ให้ระวัง วันนี้ไม่เกิด วันหน้าเกิด ประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีสิทธิเปิดเผยข้อมูล ทั้งคำพูดและการลงมติในสภาไม่เป็นความลับ” นายชวนกล่าว
จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ.หารือว่า ขอให้สมาชิกร่วมพิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วง และผ่านกฎหมายดังกล่าวให้ได้ ตนรู้สึกกังวล เพราะเห็นบรรยากาศรอองค์ประชุมนาน ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีประเด็นทางการเมืองอย่างไร ขอให้ช่วยขับเคลื่อนกฎหมายปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมเพื่อประชาชน เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง
ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 7 เสร็จสิ้น โดยนายชวนได้กดออดเชิญสมาชิกเสียบบัตรแสดงตนเป็นองค์ประชุม แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านไป 30 นาที สมาชิกก็ยังมาไม่ครบองค์ประชุม และเป็นอีกครั้งที่นายคำพองลุกขึ้นกล่าวว่า ยกนี้วัดกันว่าประธานกับสมาชิกใครจะอึดกว่ากัน
นายชวนกล่าวตอบว่า ขอชื่นชมที่อดทน แม้กระทั่งนั่งฟังเพื่อนพูด ฟังการชี้แจง และอดทนในการรอ ซึ่งไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ที่รอเพียงนี้ ตนก็ร่วมอดทนด้วย เพราะไม่อยากให้ใครประณามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของรัฐสภา ตนต้องการปกป้องรัฐสภาและพวกเราด้วย รอจนถึงที่สุด จนคนไม่เข้ามาต้องเข้ามา ขอให้สมาชิกไปชวนสมาชิกท่านอื่นเข้ามาเป็นองค์ประชุม และตอนนี้ก็ไม่ใช่เวลาอาหาร ทุกคนก็พูดว่ากฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างรอตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติในมาตรา 7 นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หารือถึงการกำหนดเวลาพิจารณาร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. เช่นเดียวกับนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หารืออีกว่าได้รับการประสานจะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวันที่ 9-10 ส.ค. ซึ่งอาจจะได้พิจารณาร่างกฎหมายลูกในวันดังกล่าว
นายชวนชี้แจงว่า ยังไม่ได้ตกลงกันว่าจะเป็นวันที่ 9-10 ส.ค. เป็นเพียงความคิดเท่านั้น ทั้งนี้ วันที่ 8-9 ส.ค. มีประชุมวุฒิสภา ก็จะเหลือวันที่ 10-11 ส.ค. ซึ่งตามปกติเป็นวันประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรต่อ เบื้องต้นพรุ่งนี้ (4 ส.ค.) จะหารือกับวิป 3 ฝ่ายนอกรอบ
ต่อมาเวลา 16.47 น. นายชวนกล่าวกับที่ประชุมว่า จะรอองค์ประชุมถึงเวลา 17.00 น.เท่านั้น เพราะเกรงใจสมาชิกคนอื่นๆ ถ้ายังไม่พร้อม ก็ต้องปิดประชุมไป กระทั่งเวลาครบตามกำหนด นายชวนแจ้งว่าขณะนี้ผู้ที่แสดงตนมี 357 คน ขาด 7 คนถึงจะครบองค์ประชุม พวกเราได้ใช้เวลาตั้งแต่ 16.07 น. รวม 53 นาที เพื่อรอให้องค์ประชุมครบ ทั้งนี้ ตนขอบคุณสมาชิกทุกคนที่อดทนทุกอย่าง วันนี้เมื่อปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบ ก็จำเป็นต้องหยุดไว้เพียงเท่านี้ และเรียนให้ทราบว่าเบื้องต้นประธานวุฒิสภายินดีจัดวันที่ 9 ส.ค. ให้เป็นวันประชุมร่วมรัฐสภา อย่างไรก็ตาม จะได้หารือในวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค.) อีกครั้ง ผลเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบ
จากนั้น นายชวนสั่งปิดประชุมในเวลา 17.01 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่ที่ประชุมรัฐสภาประสบปัญหาองค์ประชุมกระท่อนกระแท่น จนกระทั่งองค์ไม่ครบ ทำให้สภาล่ม เกิดจากกลุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังต่อคิวเข้าสู่การพิจารณา จึงได้เล่นเกมด้วยการไม่ยอมแสดงตนเป็นองค์ประชุมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม เมื่อยื้อออกไปเรื่อยๆ ลักษณะเช่นนี้ ก็อาจจะทำให้ร่างกฎหมายลูกดังกล่าวพิจารณาไม่ทันตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 180 วัน หรือสิ้นสุดในวันที่ 15 ส.ค. โดยจะเท่ากับว่าร่างกฎหมายที่กรรมาธิการพิจารณาต้องตกไป และจะทำให้เป็นการฟื้นสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบหาร 100 กลับคืนมา
ยังไม่สรุปยื่น 8 ปีนายกฯ
ด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ดูแนวโน้มแล้วร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่น่าจะพิจารณาได้เสร็จทัน 180 วัน ที่จะครบในวันที่ 15 ส.ค.นี้ เพื่อต้องการให้กลับไปใช้ร่างกฎหมายฉบับเดิมที่ ครม.เสนอมาคือ การใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 ทราบว่าเป็นข้อตกลงที่เห็นพ้องต้องกันของฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านที่จะใช้วิธีนี้ เพราะฉะนั้นสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบหาร 500 คงเดินต่อไปไม่ไหว เดินต่อก็มีแต่ตัน ตก ไปไม่รอด และเมื่อไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ แล้วก็มั่นใจไม่ได้ว่าผลจะออกมาอย่างไร จึงต้องกลับมาใช้วิธีหาร 100 ทางที่ง่ายที่สุดคือให้กฎหมายตกไป เพราะพิจารณาไม่ทันใน 180 วัน
“ถือเป็นกลไกทางสภา แม้จะเสี่ยงต่อการถูกด่า เพราะผ่านกฎหมายสำคัญไม่ได้ภายในเวลาที่กำหนด ก็ต้องยอมเพราะถือว่าเดินเกมผิดมาแต่แรก การประชุมร่วมรัฐสภาผ่านมา 2 วัน เห็นได้ชัดเจนมีความพยายามจะทำให้ร่างกฎหมายอื่นๆที่พิจารณาก่อนร่างกฎหมายลูกผ่านไปให้ช้าที่สุด อภิปรายกันยาวนาน ต้องลุ้นอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีองค์ประชุมครบหรือไม่ จึงเชื่อว่าการประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์หน้าในวันที่ 9-10 ส.ค. จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก เพราะเห็นสัญญาณแล้วว่าต้องการให้กฎหมายลูกเสร็จไม่ทันในวันที่ 15 ส.ค.นี้ เป็นการใช้กลไกเรื่ององค์ประชุมเป็นเกม เพื่อหาทางกลับไปใช้สูตรหาร 100” ส.ว.รายนี้ระบุ
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ยอมรับมีความกังวลใจว่าร่าง พ.ร.บ.จะถูกดึงให้พ้นกรอบ 180 วัน หรือวันที่ 15 ส.ค. จนต้องไปเริ่มต้นกันใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อการมีกฎหมายลูกก่อนจะมีการเลือกตั้ง หากมีการเลือกตั้งก่อนกฎหมายลูกจะแล้วเสร็จ จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะมีช่องว่างหลายอย่างที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถกำหนดกฎเกณฑ์กติกาในการเลือกตั้งได้
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะเลขาธิการพรรค พท. กล่าวถึงการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความการดำรงตำแหน่ง 8 ปีนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า พรรคฝ่ายค้านมีการหารือกันบ้าง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร หากจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญจะขอดูสถานการณ์วันที่ 24 ส.ค. เชื่อว่าจะมีคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
"ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าสูตรเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร พรรคเพื่อไทยก็พร้อมสู้ การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นครั้งหน้า ประชาชนจะเลือกอนาคตของตนเอง ตลอดเวลาภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิ์และอยู่อย่างลำบากมานานเกือบ 10 ปี การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรค พท.พร้อมสู้ทั้ง 400 เขตและคาดว่าจะได้รับความไว้วางใจได้ ส.ส.เกิน 250 คน มั่นใจเพื่อไทยแลนด์สไลด์เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน” เลขาฯ พรรค พท.ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หมูเด้ง’เหตุการณ์ที่สุดปี67
สวนดุสิตโพลจัดอันดับ "หมูเด้ง" เหตุการณ์แห่งปี "อิ๊งค์" ที่สุดนักการเมืองหญิง
ลุยสอบนายกฯตัวจริง
"นายกรัฐมนตรี" อวยพรปีใหม่ 2568 ขอให้ปชช.มีความสุข ปราศจากอุปสรรค และเป็นปีแห่งโอกาสของทุกคน
มีสติรู้คิดไม่ประมาท ‘ในหลวง’พระราชทานพรปีใหม่คนไทย
"ในหลวง" พระราชทานพรปีใหม่ ให้คนไทยตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ยังไม่พ้นปีเก่าดับ143ศพ เชียงใหม่แชมป์คดีเมาขับ
เข้าสู่วันที่ 3 รณรงค์ขับขี่ปลอดภัย ตายพุ่งก่อนฉลองปีใหม่ 143 ศพ
สลดทิ้งท้าย67 ไฟไหม้-ฝ้าถล่ม เสียชีวิต8ราย
ปิดท้ายปีงูใหญ่ยังดุ สลดไฟไหม้ รร.ย่านบางลำพู คร่าชีวิตต่างชาติ 3 ราย
บ่นเรือดำนํ้า‘เนื้อไม่ได้กิน’
"ภูมิธรรม" ขอยืดเวลา 6 เดือน รอคำตอบเยอรมนีขายตรงเครื่องยนต์ให้ไทย