"วิษณุ" ยัน ครม.ไม่เคยถกกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ย้ำไม่ควรทำ “นิโรธ” โต้ “พท.” อย่ามาขู่ ถามเป็นศาล รธน.หรือหลังเตรียมร้อง ป.ป.ช.สอบ ส.ส.-ส.ว.โหวตสูตร 500 ขณะที่แกนนำ พท.คุยโวสูตรหาปาร์ตี้ลิสต์หารอะไร พท.ก็ได้เปรียบ “วิป 3 ฝ่าย” เห็นพ้องปล่อยตามวาระไม่เลื่อน “กฎหมายลูก” รัฐสภานัดถก 9-10 ส.ค.นี้ เชื่อทัน 180 วันแน่ "ศรีสุวรรณ" ยื่น กกต.สอบ 4 พรรคเล็กรับแจกกล้วย โทษจำคุกตัดสิทธิ์เลือกตั้งถึงยุบพรรค
เมื่อวันจันทร์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีมีกระแสข่าวจะกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวสามารถทำได้หรือไม่ว่า ตนไม่ทราบว่าใครอยากกลับไปใช้บัตรใบเดียว ไม่เคยรู้เรื่องและได้ยิน เพียงแต่เห็นข่าวจากหนังสือพิมพ์ ไม่รู้เขาจะกลับไปได้อย่างไร เดิมทีใช้บัตรใบเดียวแล้วแก้รัฐธรรมนูญเป็นบัตร 2 ใบ ถ้าจะแก้เป็นบัตรใบเดียวก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญอีกหากจะทำ ซึ่งไม่รู้จะทำไปทำไม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุม ครม.มีการคุยเรื่องนี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เคยมีการถามทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และไม่เคยมาพูดกับตนในเรื่องนี้ เมื่อถามย้ำว่า หากเป็นเช่นนั้นไม่ควรแก้รัฐธรรมนูญกลับไปใช้บัตรใบเดียวใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "ใช่"
เมื่อถามว่า สูตรการคำนวณ ส.ส.ที่จะใช้สูตร 100 หรือ 500 ที่ยังมีการถกเถียงกันอยู่จะจบอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ เขาเถียงกันนานหลายเดือนแล้วระหว่างหาร 100 หรือ 500 ทั้งนี้หากรัฐสภายังพิจารณาไม่เสร็จเท่ากับไม่ทันกรอบ 180 วัน ก็ต้องกลับไปใช้ร่างของ กกต.ที่เสนอมาทุกมาตรา รัฐบาลไม่เคยมีใครกังวล และวิปก็ไม่เคยรายงาน และไม่มีแผนอะไรสำรอง ถ้าไม่เสร็จจริงๆ ก็เป็นความบกพร่องของรัฐสภา แล้วกลับไปใช้ร่างเดิมในทุกมาตรา ไม่ใช่แค่มาตราหาร 100 แต่รวมไปถึงมาตราอื่นๆ ที่เขาอุตส่าห์แก้มาเสียดิบดี
นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเตรียมให้ยื่นคำร้องส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้พิจารณากรณีสมาชิกรัฐสภาที่สนับสนุนและลงมติโหวตให้ใช้สูตรหาร 500 ว่า มันเป็นเอกสิทธิ์ ตอนนี้มาถึงจุดนี้แล้ว พรรคเพื่อไทยมีชุดความคิดแบบนี้ได้อย่างไร ถึงกับข่มขู่สมาชิกรัฐสภา ตนว่าเอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในกรณีที่ฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องร้องต่อ ป.ป.ช. มีกฎหมายคุ้มครอง ส.ส.และ ส.ว.หรือไม่ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยระบุจงใจฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และมีพฤติกรรมที่ฝ่ายบริหารแทรกแซงการทำงาน นายนิโรธกล่าวว่า ถามว่าคนที่แถลงข่าวเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เรื่องทั้งหมดต้องจบจากสภาก่อน ฝ่ายค้านไม่ได้เป็นศาลรัฐธรรมนูญอย่าข่มขู่ ตนว่าอย่าทำตัวเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมายที่มาเที่ยวข่มขู่
เมื่อถามว่า หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นด้วยกับสูตร 100 รัฐสภาจะเดินหน้าอย่างไรต่อ นายนิโรธกล่าวว่า กลับมาให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นสูตร 100
เมื่อถามถึงเรื่องกลับไปแก้รัฐธรรมนูญเป็นบัตรใบเดียว พปชร.คุยกันว่าอย่างไร นายนิโรธกล่าวว่า แค่เป็นการพูดคุยกัน แต่ทุกคนที่เป็น ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์กันไป ใครชอบแบบไหน แต่ไม่ได้มีการหยิบยกเป็นเรื่องเป็นราว ตอนนี้ไกลเกินกว่าที่จะแก้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียว เพราะต้องกลับไปแก้รัฐธรรมนูญ บางคนพูดและมาอ้างพรรค พปชร. นี่เป็นการใส่ร้ายป้ายสี
ที่รัฐสภา นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานวิปฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ภายหลังจบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีการตรวจและการเรียงลำดับว่า ในส่วนพรรค พท. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรค พท. จะยื่นเรื่องการประมูลโครงการบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักตะวันออก (อีอีซี) ส่วนนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรค พท. จะยื่นเรื่องการทุจริตเส้นทางการเงินการซื้อถุงมือยาง ที่มีการโอนยักย้ายถ่ายเท ส่วนเรื่องอื่นๆ กำลังดำเนินการ อาทิเรื่องการประปาส่วนภูมิภาค และขณะนี้กำลังจะยื่นเพิ่มอีก 4-5 รัฐมนตรี ในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ ก็เป็นสิทธิของแต่ละพรรคตามข้อมูลที่มีอยู่
หลังผ่านวาระ 3 ยื่น ป.ป.ช.แน่
"เชื่อว่าในรัฐสภาไม่มีเหตุผลที่จะดึงให้เกิน 180 วัน เพราะรัฐสภาจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน เมื่อลงมติผ่านวาระ 3 ไปแล้ว ไม่เกิน 1 สัปดาห์จะไปยื่นต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ตรวจสอบกรณีที่สมาชิกรัฐสภาลงมติจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังรวบรวมอยู่ และจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย แต่ต้องดูก่อนว่ารัฐสภาจะยื่นหรือไม่" นายสมคิดกล่าว
เมื่อถามว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญอาจทำให้เกิดกระบวนการยุบสภา กังวลว่าจะมีผลต่อการบังคับใช้หรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน สมมติว่าเกิดการยุบสภาและกฎหมายลูกยังไม่ออก คิดว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการโดยออกราชกิจจานุเบกษา หรือพระราชกฤษฎีกา หรือออกข้อกำหนดโดย กกต. ซึ่งตนได้เตือนไปว่าไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งควรจะผ่านตัวแทนของประชาชน
“ใช่ว่าเราอยู่ในยุค คสช.ที่ไหนล่ะ ไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำอย่างนั้นเลย เพราะจะต้องให้กฎหมายลูกผ่าน ส่วนจะหารอะไรเป็นเรื่องของเสียงส่วนมาก แต่ยืนยันว่าพรรค พท. อะไรที่เกี่ยวข้องกับหาร 500 เราจะงดออกเสียง เพราะเรายืนยันกับหาร 100 มาตลอด เราไม่สามารถกลับไปหารอย่างอื่นได้ ส่วนแพ้ชนะเป็นเรื่องรัฐสภา ขอเรียนตรงๆ ว่าไม่ว่าหารอะไรพรรคใหญ่ได้เปรียบหมด ตัวอย่างเช่นพรรค พท.มี ส.ส.เขตมากและมีพื้นที่การทำงานมาก ก็จะได้มากเป็นปกติ ไม่ได้มากเพราะกฎหมายกำหนด” นายสมคิดกล่าว
นายสมคิดกล่าวต่อว่า ทั้งนี้หาก กกต.ทักท้วงก็เป็นหน้าที่ของรัฐสภา แต่ตนไม่ได้คาดหวังว่า กกต.จะทักท้วง เพราะว่าประเทศนี้คาดหวังอะไรไม่ค่อยได้ รอสเตปหนึ่งก่อน ถ้าถึงเวลาค่อยว่ากันอีกที ตนไม่อยากหาร่มก่อนฝนตก ต้องรอให้ฝนตกก่อน แต่ให้เตรียมไว้ก่อนก็ได้
ขณะเดียวกัน ที่รัฐสภามีการประชุมคณะกรรมการ (วิป) 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม โดยตัวแทนทั้ง 3 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะเลขาธิการวุฒิสภา ร่วมกันหารือถึงการเลื่อนวาระร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. … มาพิจารณาก่อนกฎหมายที่อยู่ก่อนหน้า โดยการประชุมใช้เวลาประมาณ 30 นาที
จากนั้นนายสุทิน คลังแสง ให้สัมภาษณ์ว่า นายชวน อยากหารือเรื่องการประชุมรัฐสภาในสัปดาห์นี้ให้เรียบร้อยและเป็นประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะมีวาระอยู่ โดยพิจารณาต่อเนื่องตามวาระคือ ร่าง พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย และร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม จากนั้นจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. … ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ราบรื่นเรียบร้อยโดยมี 2 ทาง คือ 1.เป็นไปตามวาระ และ 2.แต่ถ้าเป็นไปตามวาระ อาจจะมีสมาชิกหรือสังคมบางส่วนคิดว่า กฎหมายลูกที่อยู่ในความสนใจของสังคมจะเสร็จทันหรือไม่ ทำไมไม่เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งที่ประชุมหารือกันแล้วเห็นว่าควรจะเป็นไปตามวาระ แต่ก็ขอให้สมาชิกกระชับเวลาในการอภิปรายกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้นำกฎหมายลูกขึ้นมาพิจารณาได้เร็ว ทั้งนี้นายชวนได้กำหนดให้ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 9-10 ส.ค. ดังนั้นถ้ากฎหมายลูกไม่เสร็จก็สามารถพิจารณาต่อได้
ยื่น กกต.ฟัน ส.ส.กินกล้วย
“ยืนยันว่ากฎหมายลูก ส.ส. แม้จะเพิ่มเข้ามาใหม่ 2 มาตราก็สามารถเสร็จทันสมัยประชุมนี้ ส่วนที่ กมธ.เสียงข้างน้อยสงวนความเห็นนั้น ก็ต้องติดตามการอภิปรายในที่ประชุม ซึ่งเห็นว่าไม่มีอะไรที่ต้องกังวล” นายสุทินกล่าว
ด้านนายนิโรธกล่าวว่า ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เห็นพ้องกันว่าให้พิจารณาไปตามวาระการประชุม โดยมั่นใจว่าร่างกฎหมายลูกจะพิจารณาเสร็จทันสมัยประชุมนี้อย่างแน่นอน
ขณะที่นายชินวรณ์เปิดเผยว่า หากเลื่อนกฎหมายลูกขึ้นมาพิจารณาก่อนอาจถูกกล่าวหาจากประชาชน ว่านำเรื่องการเมืองมาพูดกันมากเกินไป หากยังมีฝ่ายที่ยังติดใจว่าควรจะเลื่อนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พิจารณาก่อน ก็สามารถขอที่ประชุมรัฐสภาเลื่อนเพื่อของดใช้ข้อบังคับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าที่ประชุมจะเห็นด้วยหรือไม่
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย มายื่นคำร้องต่อ กกต.กรณีที่มีกระแสข่าวพรรคเล็กรับเงินก่อนที่จะมีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยนายศรีสุวรรณกล่าวว่า วันนี้เตรียมหลักฐานทั้งหมด 8 หน้า ประกอบด้วยหลักฐานการโอนเงินไปยังหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคเล็กจำนวน 4 พรรค รวม 5 คน รวมถึงสลิปการโอนเงินไปยังบุคคลปลายทางตั้งแต่เดือน มี.ค.63 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นชื่อของหัวหน้าพรรคการเมืองเล็กๆ รวมทั้งหัวหน้ากลุ่มการเมืองด้วย โดยจ่ายกันเป็นรายเดือน เดือนละ 100,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
นายศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า ตนยังนำบทสัมภาษณ์ของ ส.ส.บางคนที่ยอมรับว่ารับเงิน นำไปใช้เพื่อลงพื้นที่ดูแลชาวบ้านในเขตเลือกตั้ง จะถือเป็นรายได้หรือรายรับของพรรคการเมืองตาม ม.62(5) และ/หรือ (7) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2561 หรือไม่ และ/หรือมีการจัดทำและลงรายการทางบัญชีรายรับ-รายจ่ายของพรรคการเมืองตาม ม.59 หรือไม่ ฯลฯ แต่หากไม่ใช่ก็อาจถือได้ว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทันที ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตาม ม.72 ประกอบ ม.126 ของกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเท่าใดก็ได้ขึ้นอยู่กับศาลกำหนด
นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.28 ประกอบ ม.92(3) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2561 ซึ่งมีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้อีกด้วย ทั้งนี้ถ้ารวบรวมหลักฐานครบก็จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพิ่มเติม คาดว่าระยะเวลาในการตรวจสอบไม่ควรจะเกิน 3 เดือน เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ตนได้เคยไปยื่นต่อ ป.ป.ช.ในเรื่องจริยธรรมของ ส.ส. กรณีที่มีการรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาท ซึ่งศาลฎีกามีโทษสามารถตัดสิทธิทางการเมืองอย่างน้อย 10 ปี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หมูเด้ง’เหตุการณ์ที่สุดปี67
สวนดุสิตโพลจัดอันดับ "หมูเด้ง" เหตุการณ์แห่งปี "อิ๊งค์" ที่สุดนักการเมืองหญิง
ลุยสอบนายกฯตัวจริง
"นายกรัฐมนตรี" อวยพรปีใหม่ 2568 ขอให้ปชช.มีความสุข ปราศจากอุปสรรค และเป็นปีแห่งโอกาสของทุกคน
มีสติรู้คิดไม่ประมาท ‘ในหลวง’พระราชทานพรปีใหม่คนไทย
"ในหลวง" พระราชทานพรปีใหม่ ให้คนไทยตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ยังไม่พ้นปีเก่าดับ143ศพ เชียงใหม่แชมป์คดีเมาขับ
เข้าสู่วันที่ 3 รณรงค์ขับขี่ปลอดภัย ตายพุ่งก่อนฉลองปีใหม่ 143 ศพ
สลดทิ้งท้าย67 ไฟไหม้-ฝ้าถล่ม เสียชีวิต8ราย
ปิดท้ายปีงูใหญ่ยังดุ สลดไฟไหม้ รร.ย่านบางลำพู คร่าชีวิตต่างชาติ 3 ราย
บ่นเรือดำนํ้า‘เนื้อไม่ได้กิน’
"ภูมิธรรม" ขอยืดเวลา 6 เดือน รอคำตอบเยอรมนีขายตรงเครื่องยนต์ให้ไทย