ป่วยโควิดเพิ่ม เสียชีวิตลดลง สธ.รองรับได้ดี

"สธ." ชี้ผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้น​ แต่อาการหนัก-เสียชีวิตลดลง​ ระบบสาธารณสุขรองรับได้ค่อนข้างดี “อนุทิน” ตอกนักวิชาเกิน ยืนยันยาโมลนูพิราเวียร์ยังเป็นยาควบคุมพิเศษ ใช้ในภาวะฉุกเฉิน สั่งจ่ายโดยแพทย์    

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ว่ามียอดผู้ป่วยรายใหม่  (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 2,108 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,107 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 1 ราย  ผู้ป่วยสะสม 2,368,849 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม  2565) หายป่วยกลับบ้าน 2,540 ราย หายป่วยสะสม  2,369,676 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 22,710 ราย โดยมีจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 879 ราย และเสียชีวิต 19  ราย ซึ่งภาพรวมกราฟผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตยังทรงตัว โดยกรุงเทพมหานครยังเป็นพื้นที่ที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดจำนวน 1,566  ราย

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  แถลงรายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า รายงานสถานการณ์วันที่ 1 ส.ค.65 ประเทศไทยมีผู้ป่วยอาการปอดอักเสบ 879 รายที่รักษาในโรงพยาบาล​ และผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 457 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจาก 2 วันที่แล้ว ส่วนผู้เสียชีวิต 19 รายก็ลดลงต่อเนื่อง จากที่เคยพบวันละ 30 รายติดต่อกัน​ สอดคล้องกับภาพรวมโควิด-19 ทั่วโลกที่สัปดาห์นี้เริ่มคงที่ แต่ด้วยระบบการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ บางประเทศไม่ได้ตรวจผู้ติดเชื้อทุกคนแล้ว

ดังนั้น การติดตามข้อมูลตัวเลขรายใหม่ต้องแปลผลด้วยความระวัง แต่ตัวเลขที่ติดตามสถานการณ์ได้ดีคือผู้เสียชีวิต ซึ่งแนวโน้มของไทยค่อนข้างคงที่และมีแนวโน้มลดลง  ทั้งนี้ผู้ป่วยที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ยังค่อนข้างมาก  สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานจากระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 201,554 ราย อย่างไรก็ตามผู้เสียชีวิต 19 รายใหม่ ยังเป็นกลุ่ม 608 ทั้งหมด โดยเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แม้แต่เข็มแรกมีถึง 9 ราย  คิดเป็นร้อยละ 47 ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 32 และรับเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) แต่นานมากกว่า 3 เดือนอีก 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 21

 “ด้วยเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ  BA.5 เป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในรอบนี้ ส่วนใหญ่ดื้อต่อวัคซีน ฉะนั้นการฉีดเข็มกระตุ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งต่อไปนี้การฉีดเข็ม 3, 4  หรือ 5 เราจะเรียกว่าเข็มกระตุ้น หากฉีดเข็มสุดท้ายนานเกิน  3 หรือ 4 เดือน ก็สามารถติดต่อขอรับเข็มกระตุ้นได้”

นพ.โอภาส​กล่าวถึงฉากทัศน์การระบาดโควิด-19 ว่า  ตามที่คาดการณ์ผู้ป่วยใหม่รายวัน ขณะนี้ค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์เส้นสีเขียว แปลว่าระบบสาธารณสุขรองรับได้ค่อนข้างดี หลายหน่วยงานให้ข้อมูลตรงกันว่า เตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักได้ เนื่องจากจำนวนไม่ได้เป็นตามจำนวนติดเชื้อใหม่ เพราะการฉีดวัคซีนค่อนข้างมากแล้ว จึงคาดว่าสถานการณ์จะคงที่และค่อยๆ ลดลง ฉะนั้นสถานการณ์ตอนนี้เป็นตามที่คาดการณ์ไว้ คือผู้ติดเชื้อใหม่จะเพิ่มขึ้นและเริ่มคงตัว สำหรับผู้ที่อาการหนักและเสียชีวิตก็จะมีแนวโน้มคงตัวและลดลงใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า

 “ในช่วงวันหยุดยาวมีพี่น้องที่เดินทางไปต่างจังหวัดเยอะ จึงต้องติดตามสถานการณ์ในต่างจังหวัดว่าจะมีการระบาดเพิ่มขึ้นหรือไม่ ฉะนั้นขอให้ประชาชนดำเนินตามมาตรการ 2U คือ Universal Prevention and Universal Vaccination  คือป้องกันตัวเองสูงสุดและการฉีดวัคซีน”

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวเพิ่มเติม​ว่า สำหรับแนวทางการใช้ภูมิคุ้มกันโควิด-19 สำเร็จรูป (LAAB) บางคนอยากเรียกว่ายามากกว่าวัคซีน ข้อดีคือฉีดเข้าร่างกายเพื่อสร้างภูมิต่อเชื้อโรคโดยตรง อยู่ได้นานถึง 6 เดือน ฉะนั้นประโยชน์ของ LAAB เหมาะกับผู้ที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไม่ดี โดย 1 กล่องจะมียา 2 ขวด ฉีดพร้อมกันทีเดียวบริเวณสะโพก ข้อบ่งใช้เพื่อป้องกันติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี  และเปิดกว้างไว้สำหรับแพทย์ใช้ดุลยพินิจในการให้ยาแก่ผู้ป่วยบางกรณี เบื้องต้นใช้ในผู้อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป น้ำหนักมากกว่า 40 กิโลกรัมขึ้นไป โดยมีเป้าหมายใน 1.กลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกเลือด 2.ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้รับยากดภูมิ อย่างไรก็ตามการให้ยาดังกล่าวให้ขึ้นกับดุลพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งยาจะถึงพื้นที่อย่างช้าในสัปดาห์นี้  7,000 โดส โดยตามกำหนดผู้ผลิตจะส่งมอบยา 2.5 แสนโดสภายใน 2 เดือน ส่วนกลางก็จะกระจายตามระยะ ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สามารถติดต่อแพทย์ที่ดูแลการป่วยเพื่อรับยาได้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ภาพยาโมลนูพิราเวียร์ โดยอ้างว่าต้องพึ่งพาตัวเองเรื่องยา ทำให้มีคนสอบถามถึงที่มาของยาว่า ยาทุกชนิดต้องมีการนำเข้าและได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.  โดยยาโมลนูพิราเวียร์ยังเป็นยาควบคุมพิเศษ และใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการจ่ายยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งการจ่ายยาจะทำตามข้อบ่งชี้ การซื้อหายาเองจากอินเทอร์เน็ตจะมั่นใจได้อย่างไร ว่ายาที่ได้มานั้นไม่ได้โดนหลอกลวงและถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีลิขสิทธิ์ถูกต้องหรือไม่

นายอนุทินกล่าวว่า การจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด และการจัดซื้อยาทุกอย่างต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ และได้รับอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามเรื่องการซื้อยาในลักษณะนี้ผิดกฎหมายอยู่ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาตรวจสอบ ยืนยันไม่ได้ปิดกั้นการเข้าถึงยาและจำกัดแค่รัฐ  แต่เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง น.ส.ทวิดา  กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงว่า ยาที่มีอยู่ในศูนย์พยาบาลและกระทรวงสาธารณสุขยังมีเพียงพอและรับมือได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขมีการวิเคราะห์จำนวนการใช้ยาล่วงหน้า 3-5 วันอยู่แล้ว โดยตอนนี้ศูนย์กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดให้บริการในวันเสาร์ด้วย ทั้งเรื่องการรับวัคซีนหรือยา โรงพยาบาลได้เพิ่มวิธีการส่งผลตรวจออนไลน์เพื่อรับยา และลดการเดินทางมาที่โรงพยาบาล เราต้องกำชับให้กระทรวงสาธารณสุขติดตามผู้ป่วย 608 ที่มีอาการน้อย และเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน

น.ส.ทวิดายังกล่าวถึงสถานการณ์การรับมือกับโรคฝีดาษลิงของ กทม.ว่า กทม.มีประเด็นหลักอยู่ 3 ข้อ คือ 1.สอบสวนโรคต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ที่สัมผัสและมีความเสี่ยงทั้ง  17 ราย ที่มีความเสี่ยงอยู่ในแวดล้อมผู้ป่วย รวมถึงชาวต่างชาติ 1 ราย โดยมีการตรวจสอบโรคแล้วผลเป็นลบ ซึ่งยืนยันผลว่าไม่มีการติดเชื้อ โดยศูนย์บริการสาธารณสุขและสำนักอนามัยได้เข้าทำความสะอาดฆ่าเชื้อบ้านพักและบริเวณโดยรอบแล้ว พร้อมทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ว่าต้องจะปฏิบัติตัวอย่างไร สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างไร ส่วนชาวต่างชาติอีก 1 รายกำลังตามตัวอยู่ว่ามีการติดเชื้อหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุยสอบนายกฯตัวจริง

"นายกรัฐมนตรี" อวยพรปีใหม่ 2568 ขอให้ปชช.มีความสุข ปราศจากอุปสรรค และเป็นปีแห่งโอกาสของทุกคน