พท.ขู่ฟ้องป.ป.ช.โหวตหาร500

“เพื่อไทย” เล่นมุกใหม่ ขู่ฟ้อง ป.ป.ช. ใครโหวตหนุนหาร 500 เข้าข่ายถูกครอบงำแทรกแซง ปชป.โต้เป็นเอกสิทธิ์ เชื่อไม่มีใครกังวล วีระกรปูดแนวคิดบัตรใบเดียวมาจากคนรอบข้างลุงตู่ นิด้าโพลเผยสำรวจศึกอภิปราย 42.43% เชื่อข้อมูลฝ่ายค้าน ชาวบ้าน 75% มอง “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ตอบไม่ตรงคำถาม

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ก.ค. ยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องสูตรคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ ว่าจะหาร 100 หรือหาร 500 โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งว่า เคยชี้แจงหลายครั้งแล้วว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ไม่ได้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีที่จะไปสั่งการอะไรได้ ซึ่งคนที่วิจารณ์นายกฯ เพียงเพราะหวังป้ายสีให้รัฐบาลเสียหาย ไม่ได้สนใจข้อเท็จจริง ขอแค่ให้ได้พูดเอามัน ควรต้องพิจารณาตัวเองว่าเล่นการเมืองแบบมีจริยธรรมหรือไม่

ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ..... กล่าวว่า ในการประชุม 3 ส.ค. จะมีการพิจารณาใน 2 มาตราที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ใช้จำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ย ส.ส.พึงมี ซึ่ง ส.ส.พรรคจะงดออกเสียง เนื่องจากว่าการแก้ไขดังกล่าวพรรคไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่แรก แต่พรรคจะร่วมประชุมเพื่อให้การพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวแล้วเสร็จตามกำหนดเวลา

  นายสมคิดกล่าวว่า พรรคเตรียมให้ฝ่ายกฎหมายยกร่างคำร้องส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้พิจารณากรณีที่สมาชิกรัฐสภาจงใจฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส. เพราะก่อนหน้านั้นมีกระบวนการที่ทำให้การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มีพฤติกรรมที่ฝ่ายบริหารแทรกแซงการทำงาน

 “หลังจากร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.โหวตวาระสามแล้ว พรรคจะจัดประชุม ส.ส. และจะขอให้ ส.ส.ร่วมลงลายมือชื่อเพื่อส่งคำร้องไปยัง ป.ป.ช.ให้พิจารณา” นายสมคิดกล่าว

ขณะที่นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์  ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะ กมธ. กล่าวในเรื่องนี้ว่า พรรค พท.ทำได้ แต่ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อยและผู้ลงมติสนับสนุนให้ใช้ 500 คนหาค่าเฉลี่ย ไม่กังวลและเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาคนอื่นไม่กังวลเช่นเดียวกัน เนื่องจากการลงมติเรื่องดังกล่าวเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง และการลงมติดังกล่าวเป็นอิสระ  ไม่มีการชี้นำ

“เข้าใจว่านายสมคิดเป็น กมธ.ฝั่งที่สนับสนุนสูตรคำนวณด้วย 100 มาตลอด เมื่อมีการแก้ไขโดยมติของรัฐสภาอาจไม่สบายใจและไม่พอใจ จึงหาเหตุยื่นร้องเรียน ผมยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกระบนการทางรัฐสภา และผม ฐานะผู้สงวนคำแปรญัตติให้แก้ไขสูตรคำนวณ ส.ส. ไม่มีหนักใจเรื่องนี้ พร้อมชี้แจง เพราะการลงมติเป็นไปตามกระบวนการ เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.และ ส.ว.” นายอัครเดชกล่าว

ด้านนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกระแสข่าวย้อนกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวว่า อาจพูดกัน แต่เป็นไปไม่ได้ โดยอาจเป็นคนรอบตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เป็นพวกทหารมองว่าแก้แบบนี้พรรค พปชร.น่าจะได้ประโยชน์ แต่พวกเขาอาจลืมไปว่าสภาสมัยนี้มาจากประชาชน จะสั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้ และรัฐธรรมนูญเพิ่งจะแก้เสร็จยังไม่ทันใช้ อยู่ๆ จะมาแก้กลับอย่างนี้ จะบอกกับประชาชนอย่างไร ฉะนั้นเลิกคิดเลิกวิจารณ์กันได้แล้ว ข่าวคือข่าว ที่สำคัญต่อให้ทำไทม์ไลน์มันไม่ได้ไม่ทันเลือกตั้ง

วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เผยผลสำรวจประชาชน 1,312 ตัวอย่าง ในเรื่องรัฐบาล-ฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยพบว่า 69.28% ไม่ได้ติดตามการอภิปรายเลย, 18.98% ระบุติดตามบ้างเล็กน้อย, 9% ติดตามเป็นระยะๆ และ 2.74% ติดตามตลอดเวลา และเมื่อถามผู้ที่ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จำนวน 403 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อมูลของฝ่ายค้านในภาพรวม พบว่า 42.43% ระบุว่าชัดเจนมาก, 34.25% ค่อนข้างชัดเจน, 15.63% ไม่ค่อยชัดเจน และ 7.69% ไม่ชัดเจนเลย  

เมื่อถามผู้ที่ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจถึงความชัดเจนในการตอบคำถามของรัฐบาลในการอภิปราย พบว่า 1.พล.อ.ประยุทธ์ 75.68% ระบุว่าตอบไม่ชัดเจน, 21.34% ตอบชัดเจน 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ 75.44% ตอบไม่ชัดเจน, 15.63% ตอบได้ชัดเจน 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข 57.07% ตอบไม่ชัดเจน, 25.56% ตอบได้ชัดเจน 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ 52.36% ตอบไม่ชัดเจน, 17.62% ตอบได้ชัดเจน 5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 45.16% ตอบไม่ชัดเจน, 17.37% ตอบได้ชัดเจน 6.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม 47.64% ตอบไม่ชัดเจน,   14.39% ตอบได้ชัดเจน 7.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ 44.91% ตอบไม่ชัดเจน ,14.15% ตอบได้ชัดเจน 8.นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ 44.42% ตอบไม่ชัดเจน,  14.89% ตอบได้ชัดเจน 9.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง 44.91% ตอบไม่ชัดเจน, 13.40% ตอบได้ชัดเจน 10. นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย 42.93% ตอบไม่ชัดเจน และ 12.41% ระบุว่าตอบได้ชัดเจน และ 11.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน 42.43% ตอบไม่ชัดเจน และ 16.13% ตอบได้ชัดเจน

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยโพสต์เฟซบุ๊กว่า ในวันที่ 1 ส.ค.2565 เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ไต่สวนสอบสวนเอาผิดนักการเมืองหลายคนที่กินกล้วยตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 ประกอบมาตรา 92 (3) จากกรณีการโหวตในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ขณะที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ในวันที่ 1 ส.ค. เวลา 10.00 น.จะไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง และนายสันติ ในฐานะกรรมการที่ราชพัสดุ และกรรมการคัดเลือก ต่อกรณีประมูลโครงการบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักตะวันออก (อีอีซี) ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบอย่างร้ายแรง และผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) เพราะไม่เปิดให้เกิดการแข่งขันในโครงการท่อส่งน้ำอีอีซีอย่างเป็นธรรม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุยสอบนายกฯตัวจริง

"นายกรัฐมนตรี" อวยพรปีใหม่ 2568 ขอให้ปชช.มีความสุข ปราศจากอุปสรรค และเป็นปีแห่งโอกาสของทุกคน