ทอ.โวยหั่นงบช็อป‘F-35’ หวั่นปี75-77ไทยสุ่มเสี่ยง

กองทัพอากาศอยู่ไม่ได้  โฆษก ทอ.แจงยิบถึงการตัดงบของ กมธ. ชี้จะทำให้เป้าจัดหา F-35 A ล่าช้าไปอีก 2 ปี ซ้ำร้ายจะทำให้ช่วงปี 2575-2577 ไทยจะขาดขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศ “ยุทธพงศ์” บอกตัดแค่ 10% ปีหน้าก็เสนอใหม่ได้ไม่เสียหาย!

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ (ทอ.) ได้ชี้แจงถึงผลกระทบจากการเลื่อนโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน หลังจากอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียนตัดงบประมาณจัดซื้อเครื่องบิน F-35 A ว่าปัจจุบัน ทอ.มีเครื่องบินขับไล่โจมตี 5 ฝูงบิน แต่จําเป็นต้องทยอยปลดประจําการอากาศยานประเภทเครื่องบินขับไล่โจมตีจาก 5 ฝูงบิน เหลือ 2 ฝูงบิน ในปี พ.ศ.2575 โดย ทอ.ได้วางแผนจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี 1 ฝูงบิน เพื่อมาทดแทน 3 ฝูงบินที่ได้ทยอยปลดประจําการ เพื่อให้ดํารงขีดความสามารถในการปฏิบัติการบินรบในอากาศและโจมตีทางอากาศต่อไปเป็นเวลาอย่างน้อยอีก 40 ปี

“ปัจจุบันมีการขยายอิทธิพลจากชาติมหาอํานาจสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น รวมถึงปัญหาการเมือง และความมั่นคงภายในแต่ละประเทศ ทําให้หลายประเทศในภูมิภาคสะสมกําลังทางทหาร โดยเฉพาะกําลังทางอากาศที่มีขีดความสามารถสูงในการปฏิบัติการทางทหาร อาทิ เมียนมา, มาเลเซีย และเวียดนาม โดยจัดหาเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง เช่น เครื่องบินแบบ Su-27 และ Su-30 แต่อันดับของกําลังทางอากาศของไทยปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 5 ในอาเซียน ทอ.จึงจําเป็นต้องจัดเตรียมกําลังให้มีขีดความสามารถและศักย์กําลังรบทัดเทียมกับประเทศรอบบ้าน” พล.อ.ต.ประภาสกล่าว

พล.อ.ต.ประภาสกล่าวอีกว่า ในการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนสมรรถนะสูงยุคที่ 5 คือ เครื่องบิน F-35 ราคาปัจจุบันลดลงต่ำกว่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงในการปฏิบัติการ ในปัจจุบันยังลดลงถึง 50% นับจากปี ค.ศ.2015 ซึ่งเครื่องบินขับไล่โจมตียุคที่ 5 สามารถปฏิบัติภารกิจทดแทนทดแทนเครื่องบินขับไล่โจมตียุคที่ 4.5 ได้ในอัตรา 1:3 และแทนเครื่องบินขับไล่โจมตียุคที่ 3-4 ได้ในอัตราส่วน 1:6

โฆษก ทอ.ยืนยันว่า เครื่องบินแบบ F-35 A มีขีดความสามารถและคุณสมบัติตรงตามความต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตีและระบบที่เกี่ยวข้องที่ ทอ.ได้กําหนดไว้ โดยเฉพาะด้านระบบอาวุธที่สําคัญ ซึ่งมีประจําการอยู่ใน ทอ. ได้แก่ GP Bomb Mk 80 Series, GBU-10 Series, GBU-12 Series และ AIM-120 Series นอกจากนี้ F-35 A ยังติดตั้งปืนใหญ่อากาศขนาด 25 มิลลิเมตร และสามารถติดตั้งใช้งานระบบอาวุธที่ทันสมัย มีความแม่นยําสูง ทั้งระบบอาวุธนําวิถีอากาศ-อากาศ, อากาศ-พื้น, อากาศ-ผิวน้ำ เช่น AIM-9X, JDAM, AGM-158 JASSM เป็นต้น ซึ่ง ทอ.จะได้พิจารณาจัดหาเข้าประจําการตามกรอบงบประมาณ ที่เอื้ออํานวยต่อไป

สําหรับการดําเนินการที่ผ่านมาของโครงการจัดหานั้น ทอ.ได้ส่งหนังสือ Letter of Request (Price and Availability : P&A) ให้ JUSTMAGTHAI เมื่อ 28 ธ.ค.2564 เพื่อเข้ากระบวนการ ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการขออนุมัติจากหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา โดยมีระยะเวลา P&A ทั้งสิ้นประมาณ 12 เดือน คาดการณ์ว่าจะได้รับคําตอบภายในการขอ P&A ภายใน ม.ค.2566 ถ้าหากได้รับการอนุมัติการขาย พร้อมทั้งทราบเวลาการจัดหา รวมถึงราคายุทโธปกรณ์ ทอ.จึงสามารถดําเนินการในเรื่อง Letter Of Offer And Acceptance (LOA) กับทางการสหรัฐแล้วเสร็จใน มิ.ย.2566 ซึ่งจะส่งผลให้ ทอ.ลงนามในหนังสือ LOA และสามารถผูกพันงบประมาณได้เรียบร้อยใน ส.ค.2566 ซึ่งการดําเนินการในการจัดทําหนังสือ LOA กับทางการสหรัฐ

“ทอ.ต้องทราบงบประมาณที่จะได้รับในโครงการจัดหา ถึงจะทําการตกลงกับสหรัฐได้ในจํานวนอากาศยานและส่วนสนับสนุนอื่นๆ แต่หาก ทอ.ไม่ได้รับงบประมาณในปี 2566 ก็ไม่สามารถจัดทําหนังสือ LOA กับทางการสหรัฐได้ และหาก ทอ.ต้องการเครื่องบิน F-35 ในปี 2567 จะทําให้ต้องรอคิวการพิจารณาสายการผลิต และไม่สามารถเริ่มกระบวนการจัดหาได้ทันเยอรมนี กรีซ  และสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งมีแผนสั่งจองการผลิตในปี 2565-2566 หาก ทอ.สั่งจองล่าช้า ต้องต่อคิวจากทั้ง 3 ประเทศ ทำให้ความพร้อมปฏิบัติการของเครื่องบิน F-35 ครบฝูงจะเลื่อนออกไปเป็นปี 2577 ซึ่งในห้วงเวลาระหว่างปี 2575-2577 ส่งผลให้ไทยขาดขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศ” พล.อ.ต.ประภาสระบุ

พล.อ.ต.ประภาสกล่าวว่า ทอ.ได้กําหนดความต้องการระยะ 10 ปี (2563-2573) ตามที่ระบุในสมุดปกขาว พ.ศ.2563 ปรับปรุงแผนการจัดหาเครื่องบิน และขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจให้ได้ในปี 2575 โดยระยะที่ 1 ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (2566-2569) 2 เครื่อง วงเงินงบประมาณ 7,382 ล้านบาท, ระยะที่ 2 ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (2569-2571) 4 เครื่อง วงเงินกว่า 14,628 ล้านบาท และระยะที่ 3 ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (2572-2575 ) 6 เครื่อง วงเงินกว่า 21,924 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินกว่า 43,935 ล้านบาท

  ขณะที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานอนุ กรม.ครุภัณฑ์ฯ กล่าวถึงการตัดงบของ ทอ.ในโครงการจัดหาเครื่องบินโจมตีระยะที่ 1 จำนวน 738 ล้านบาท ว่าเป็นงบเพียง 10% ของราคาเครื่องบิน 2 ลำ และการอนุมัติขายเครื่องบินรบ F-35 A ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสภาคองเกรสสหรัฐ ซึ่งขั้นตอนการอนุมัติต้องใช้เวลาถึง 20 เดือน ยืนยันว่าไม่ได้ช้า ปีหน้าในงบประมาณ 2567 หากของบใหม่ก็ยังทัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง