คึก!เขย่าเก้าอี้‘บิ๊กตู่’ ขีดเส้นห้ามอยู่หลัง23ส.ค./พีระพันธุ์นั่งคุม‘รทสช.’

สิงหา.ลุ้นระทึกปม 8 ปีนายกฯ เริ่มระอุ "พรรคธรรมนัส" ร่วมเคลื่อนไหวกับองค์กรต่างๆ จี้ฝ่ายค้านเร่งยื่นศาล รธน.ตีความให้ได้ข้อยุติก่อน 23 ส.ค. "99 พลเมือง" ชี้ "ประยุทธ์" ขาดความชอบธรรม หากไม่ลาออกจะเกิดความขัดแย้งรุนแรง "ธีระชัย-จตุพร-ทนายนกเขา" ร่วมเขย่าหลังเที่ยงคืน 23 ส.ค. ถ้ายังอยู่ก็เป็น "นายกฯ เถื่อน" ปชช.แจ้งความได้ทั่วประเทศ ขู่นำ ปชช.ใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงทันที "พีระพันธุ์" ตอบรับนั่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ "เอกณัฏ" เลขาธิการฯ ยันไม่ใช่สาขา พปชร. "ประดิษฐ์" แจงร่วม ภท. มั่นใจเป็นรัฐบาลอีก เผยพรรคใหม่เกิดยาก

เมื่อวันอาทิตย์ นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล  รองหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย และทีมกฎหมายพรรค เปิดเผยว่า วาระ 8 ปีในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชัดเจนว่าดำรงตำแหน่งครบ 2 สมัย เป็นเวลา 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ตามที่นักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ระบุถึงมาตรา 158 และ 264 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมทั้งเหตุผลต่างๆ ตามที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.การคลัง ได้ให้เหตุผลไว้ในจดหมายเปิดผนึกฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ในคำปรารภอันเป็นส่วนสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังได้ระบุถึงนายกฯตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ อย่างน้อย 4 แห่งสืบทอดต่อเนื่องกันมา ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ครบวาระ 8 ปีในไม่กี่วันข้างหน้า

"ฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่วางหลักโครงสร้างการปกครองประเทศ หวังว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะพิจารณาตัวบทกฎหมายเคร่งครัด ไม่ใช้สีข้างเข้าถู เเละไม่เลือกปฏิบัติเพราะรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัด หากมีการใช้หลักศรีธนญชัยในกรณี พล.อ.ประยุทธ์อีก  นักกฎหมายคงต้องสังคายนาวิธีการตีความกันใหม่ เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยึดหลักการปกครองเเละเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคำปรารภในการวินิจฉัยให้มีมาตรฐานเเละสังคมยอมรับด้วย และในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคเศรษฐกิจไทย ขอร่วมขับเคลื่อนกับภาคต่างๆ ของสังคมในเรื่องนี้" นายวิชิตกล่าว

ขณะเดียวกัน 99 พลเมือง อาทิ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นางพะเยาว์ อัคฮาด ประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อและผู้เสียหายในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553, นายปรีดา เตียสุวรรณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม, นายวสันต์ สิทธิเขตต์ เครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย, นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, นายเมธา มาสขาว นักพัฒนาเอกชน, นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์  ปัญญาชนสยาม, รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ  กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น ออกแถลงการณ์ระบุว่า ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เสียสละลาออกจากตำแหน่งก่อนวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม 

"หากนายกฯ ยังต้องการต่ออายุออกไปอีก โดยการตีความรัฐธรรมนูญบิดเบือนเข้าข้างตนเอง จะทำให้ท่านมีมลทินมัวหมองไปตลอดชีวิต และขัดกับคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมืองอย่างร้ายแรง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรมและธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ จนเกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมืองจากความแตกแยกสามัคคีที่เกิดขึ้นในหมู่ทหาร ข้าราชการ  และประชาชน ซึ่งได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ" แถลงการณ์ระบุ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) หรือทนายนกเขา กล่าวในรายการ “Exclusive Talk” ตอน “8 ปีประยุทธ์ทำไมต้องไป” ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ประชาชนคนไทย (ปท.)” โดยมีนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.การคลัง ร่วมอภิปรายด้วย โดยนายธีระชัยกล่าวว่า การนับ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเอากฎหมายวางไว้ก่อน ปี 2562 การเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ยอมให้เอาชื่อตนเองเข้าไปเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ โดยที่ยังไม่ได้ลาออกจากหัวหน้า คสช. กติกาของกฎหมายสากล เปิดล็อกคนที่กลุ่มอำนาจรัฐไม่สามารถที่จะมาเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ฉะนั้นการเลือกตั้งปี 2562 ตัดทิ้งได้เลย

ขู่แจ้งความ'บิ๊กตู่'ทั่วปท.

อดีต รมว.การคลังกล่าวว่า พอเลยวันที่ 23 ส.ค.65 ไปแล้ว หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งต่อ ก็จะมีความเสี่ยง ทั้งตัว พล.อ.ประยุทธ์เอง ทั้งคณะรัฐมนตรี และบุคคลที่รัฐมนตรีแต่ละคนแต่งตั้ง อาทิ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ข้าราชการการเมือง ซึ่งเป็นกลไกรัฐ มีพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. มาตรา 171 ที่ระบุว่า ถ้าปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่ทำให้คนอื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหน้าที่ ทั้งที่ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ และเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและสำหรับผู้อื่น  จะต้องจำคุก 1-10 ปี และปรับ 2000- 20,000 บาท สิทธิที่มิควรได้คือ รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง สิทธิต่างๆ ทั้งหมดนี้มีความเสี่ยง

"เลยเที่ยงคืน 23 ส.ค.ไปแล้ว ประชาชนที่เห็นว่ามีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. และที่มีการฝ่าฝืน ประมวลกฎหมายอาญา สามารถแจ้งความได้ทั่วประเทศ ทุกคนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งคนที่ถูกแต่งตั้ง" นายธีระชัยกล่าว

 ด้านนายจตุพรกล่าวว่า เมื่อวันใช้รัฐธรรมนูญ 60 ถ้าให้เป็นความสิ้นสุดลง และถ้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ นายกฯต้องสิ้นไป แต่ปรากฏว่ากลับดำรงตำแหน่งต่อ และรัฐธรรมนูญมาตรา 264  ก็รับรองการเป็นนายกฯ, ครม.ทั้งหมดจนกระทั่งปี 2562 ก็รับรองความต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นนายกฯ ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แสดงว่าเป็นนายกฯ ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพราะถ้าไม่นับก็ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินเมื่อคราวที่ครบตำแหน่ง

 “สภาพเศรษฐกิจและวิกฤตของบ้านเมืองหนักอยู่แล้ว แต่กรณี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งกว่าการเอาฟืนใส่กองไฟ  เพราะฉะนั้นหลังเที่ยงคืนวันที่ 23 ส.ค.อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่รู้ หากดื้อดึงต่อไป เชื่อว่าวิกฤตรออยู่ กรณีเลือดตกยางออกที่หลายคนคาดการณ์กัน แต่เราไม่อยากให้เกิด เพราะฉะนั้นอยู่ที่สามัญสำนึกของพล.อ.ประยุทธ์เองรู้ดีที่สุด" นายจตุพร กล่าว

ด้านนายนิติธรกล่าวว่า "พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่หรือไม่ ผมไม่สนใจ แต่จะบอกประชาชนทุกคนว่า หลังเที่ยงคืนวันที่ 23 ส.ค. อำนาจอธิปไตยที่ไปใช้ในการเลือกตั้งกลับคืนสู่ประชาชนทันที และประชาชนสามารถใช้อำนาจอธิปไตยในขณะนั้น เข้าบริหารจัดการบ้านเมืองได้ทันที ถ้าคุณอยู่คุณก็เป็นนายกฯ เถื่อน บรรดาคณะรัฐมนตรีก็เถื่อน คณะกรรมการต่างๆ ที่ไปตั้งไว้ก็เถื่อนหมด มันอัตโนมัติเหมือนกัน โดยไม่ต้องมีใครตีความ แต่ต้องรู้ตัว"

นายนิติธรกล่าวว่า ตนเชื่อในอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ตนจะพาพี่น้องประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงทันที เชื่อว่าประชาชนไม่เอาแล้ว จะยึดอำนาจโดยทหาร โดยกลไกทางกฎหมาย ยึดอำนาจหลังจากการเลือกตั้งพฤษภา ไม่เอาแล้ว เพราะฉะนั้นต่อไปถ้าจะมีการยึด ต้องประชาชนเท่านั้น เพียงแต่ใช้อำนาจอธิปไตยของตนเองทางตรงเท่านั้น เชื่อว่าถ้าผู้นำและประชาชนทุกคนมีสติ บ้านเมืองก็จะไม่โกลาหล

'พีระพันธุ์'นั่งหัวหน้า รทสช.

มีความเคลื่อนไหวของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่จะจัดประชุมใหญ่พรรค วันพุธที่ 3 สิงหาคม ที่สโมสรราชพฤกษ์ ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมีระเบียบวาระการประชุมคือ เปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค การเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ การเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรค ไฮไลต์สำคัญที่แวดวงการเมืองจับจ้องกันก็คือการที่จะมีการเปิดตัวแกนนำพรรคตัวจริง และการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่จะมาเป็นแกนนำพรรค ซึ่งก่อนหน้านี้มีชื่อปรากฏตามสื่อ เช่น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. อดีตโฆษก กปปส., นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช และอดีต รมว.สาธารณสุข, นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง อดีตเลขาธิการพรรครวมพลังประชาชาติไทย เป็นต้น

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์, นายเอกณัฏ, นายวิทยา และนายดวงฤทธิ์ จะเดินทางไปร่วมประชุมพรรควันที่ 3 สิงหาคมนี้แน่นอน ส่วนผลการประชุมจะมีการเลือกนายพีระพันธุ์ให้เป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่ ต้องรอดูผลการโหวตในวันดังกล่าว แต่เบื้องต้นนายพีระพันธุ์จะเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนเลขาธิการพรรคคือนายเอกณัฏ ส่วนที่ทำการพรรค ปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่ที่ซอยอารีย์ ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย และมีเจ้าหน้าที่พรรค เข้าไปทำงานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่การเลือกตั้ง

มีรายงานว่า สำหรับกลุ่ม ส.ส.-นักการเมืองหลายคนที่มีการพูดคุยกับกลุ่มของ นายพีระพันธุ์ หลายคนต่างมีสัญญาใจว่าจะมาร่วมงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย แต่ขอให้ถึงเวลาที่เหมาะสม มีสัญญาณการเลือกตั้งที่ชัดเจน ก็พร้อมจะมาร่วมงาน ลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ

ด้านนายพีระพันธุ์กล่าวว่า เราไม่ใช่พรรคการเมืองที่จะมาทะเลาะแย่งตำแหน่ง เราจะไม่ใช่พรรคการเมืองที่มาแสวงหาสถานะทางการเมืองให้กับตัวเอง เราจะทะเลาะกับความลำบาก ความไม่เท่าเทียมของประชาชน เราจะทะเลาะกับโอกาสที่ประชาชนเข้าไม่ถึง มีความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย สร้างสังคมใหม่ให้กับบ้านเมือง และชื่อพรรคก็ตรงกับแนวคิดทางการเมืองของเรา ยืนยันไม่ใช่พรรคสาขาของพลังประชารัฐอย่างแน่นอน ตนทำพรรคการเมืองนี้เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองคือเป้าหมาย ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ ใครมีแนวทางเดียวกับเราร่วมงานกันได้ทั้งนั้น โดยตั้งเป้าส่ง ส.ส.ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อครบหมด

"คนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคก็ต้องพร้อมเป็นนายกฯ ถ้าไม่พร้อมจะเป็นหัวหน้าพรรคได้อย่างไร แต่ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนจะให้โอกาสใคร ส่วนเรามีความพร้อมที่จะทำงานทางการเมืองในทุกตำแหน่ง และถ้าให้โอกาสประชาชนจะไม่ผิดหวัง วันไหนถ้าผมมีอำนาจหน้าที่ ผมจะจัดการนักการเมืองทุจริตให้หมด เล่นงานหมดทุกคน ไม่เชื่อก็คอยดูไปว่าผมพูดจริงหรือไม่ อยู่ตรงไหนที่ผมสามารถทำได้ผมทำหมด ไม่เคยกลัวเลย นี่คือรวมไทยสร้างชาติ" นายพีระพันธุ์ กล่าว

ที่ จ.พิจิตร นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีต รมช.การคลัง และ ส.ส.พิจิตร 4 สมัย ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่มาร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทยว่า คาดเดาว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง พรรคภูมิใจไทยน่าจะมีส่วนร่วมเข้าไปบริหารประเทศได้อีก จากนโยบายของพรรคที่ทำได้จริง ซึ่งมีเพียงไม่กี่พรรคที่ทำได้ อะไรที่สัญญาไว้กับชาวบ้านแล้วทำได้ คนในพื้นที่จะได้ประโยชน์ ถ้าทำไม่ได้จะเสียเครดิตและเสียหายในระยะยาว ซึ่งพรรคภูมิใจไทยทำจริง ทำได้ และทำดี การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะประสบความสำเร็จได้น้อย จึงคิดว่าพรรคภูมิใจไทยผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 10 ปี คิดว่าเป็นพรรคที่ชาวพิจิตรน่าจะเลือกให้มาพัฒนาบ้านเมืองได้

ปชช.ชอบ'บิ๊กตู่'ตามด้วย'อุ๊งอุิ๊ง'

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นอย่างไร และนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเป็นใครก็ยังไม่รู้ แต่พรรคชาติไทยพัฒนาและตนขอจองกระทรวงทรัพยากรฯ เพราะตนรักงานนี้มาก เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพยากรของชาติมา 3 ปีกว่า และก็ยังอยากเป็นตลอดไป

ที่ห้องประชุมวิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี พร้อมผู้บริหารพรรค ได้เดินทางมาเป็นประธานประชุมใหญ่สามัญ สาขาพรรคไทยภักดี ประจำ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีนายถาวร เสนเนียม อดีต รมช.คมนาคมและ รมช.มหาดไทย เดินทางมาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษให้สมาชิกพรรคได้ฟังเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองในอนาคตอีกด้วย

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง พรรคการเมืองไหนยอดนิยม กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,137 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-30 กรกฎาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา พบว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 26.9 จี้ติดตามมาไม่ห่างกันนักคือร้อยละ 22.3 จะเลือกพรรคพลังประชารัฐ อันดับสามคือพรรคภูมิใจไทย ได้ร้อยละ 14.2, อันดับสี่คือพรรคก้าวไกล ได้ร้อยละ 6.9 เบียดกันมากับพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้อยละ 6.8 ส่วนพรรคอื่นๆ กระจายกันไปคือ พรรคเสรีรวมไทยได้ร้อยละ 2.4, พรรคกล้า ร้อยละ 2.4,  พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 2.3, พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.9, พรรคสร้างอนาคตไทย ร้อยละ 1.6, พรรคไทยภักดีร้อยละ 1.4 ที่น่าสังเกตคือ พรรครวมไทยสร้างชาติได้เพียงร้อยละ 0.4 และพรรคเศรษฐกิจไทยได้เพียงร้อยละ 0.3 ที่เหลือร้อยละ 10.2 ระบุอื่นๆ

ที่น่าพิจารณาคือ อันดับนักการเมืองระดับคู่แข่งนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนชอบ อันดับแรกได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 26.2, อันดับสอง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้ร้อยละ 19.6,  อันดับสาม นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 14.4, อันดับสี่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 7.0, อันดับห้า นายกรณ์ จาติกวณิช ร้อยละ 4.7, อันดับหก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ร้อยละ 4.2, อันดับเจ็ด  นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ร้อยละ 3.5,  อันดับแปด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ร้อยละ 3.0, อันดับเก้า นายวราวุธ ศิลปอาชา ร้อยละ 2.8 และสุดท้ายร้อยละ 14.6 ระบุอื่นๆ เช่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายอุตตม สาวนายน และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ตามลำดับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง