พท.ลุ้น ล้ม ‘กม.ลูก’ ฝันกลับไปหาร100

บิ๊กเพื่อไทยยืนยัน กม.ลูก เสร็จทัน 180 วัน หากไม่เสร็จเป็นความผิดสภาถูกด่าไป และต้องกลับไปใช้แบบหาร 100 เหน็บฝ่ายรัฐบาล คุยเล่นๆ ดีแล้วอย่าทำจริง ลั่นพร้อมสู้ทุกรูปแบบ ด้าน “นิกร” เผยไม่ว่าสูตรหาปาร์ตี้ลิสต์ไหนผ่านก็ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (วิสามัญ) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ.… ให้สัมภาษณ์กรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า มั่นใจว่าจะเสร็จทันภายใน 180 วัน คงไม่มีอะไรมาดึงไว้ ช้าสุดวันที่ 3 ส.ค.ก็คงจะเสร็จ เพราะเหลืออีกแค่ 5-6 มาตรา ซึ่งหากไม่ทันภายในกรอบเวลา ก็จะเป็นความผิดของสภา แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งหากไม่ทันสภาก็จะต้องถูกด่าไป และก็จะกลับไปร่างเดิมคือหารด้วย 100

เมื่อถามถึงกระแสเรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งฝ่ายรัฐบาลบอกว่าเป็นการแค่พูดคุยกัน ไม่ได้คิดแก้ไขอย่างจริงจัง แต่หากสุดท้ายถ้ามีการกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวจริงๆ พรรค พท.จะมีแนวทางสู้อย่างไร นายสมคิด กล่าวว่า คุยกันเล่นๆ ดีแล้ว อย่าทำจริงเลย ซึ่งการเตรียมการเช่นนี้หากเราไม่ออกมาโวยวาย เขาก็จะทำฉะนั้น ต้องยึดถือกติกาหน่อย อย่าคิดว่าอยากทำ อยากได้อะไรก็จะได้ดั่งใจ ฝากไปยังฝ่ายผู้มีอำนาจ ว่าการจะย้อนกลับไปจุดเดิมเป็นการย้อนกลับที่แย่มาก เพราะถือว่าการดำเนินการเสร็จไปแล้ว หากเสร็จแล้วจะย้อนกลับมาก็คงย้อนยาก เรามาไกลแล้ว อย่างไรก็ตาม พรรค พท.ก็พร้อมที่จะสู้ทุกรูปแบบ

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะเลขานุการ กมธ. ให้สัมภาษณ์ว่า เชื่อว่าร่างกฎหมายจะผ่านการเห็นชอบ แต่ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภา หลังจากนั้นก็จะต้องใช้มาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญ คือทางรัฐสภาจะส่งไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย กกต.จะต้องให้ความเห็นกลับมา

เขากล่าวว่า ในการพิจารณาส่วนนี้มีประเด็นคือ ตัวแทน กกต.ที่เป็น กมธ.ที่กมธ.เสียงข้างน้อยซึ่งเห็นด้วยกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 เขาขอให้ช่วยดู แต่ใน กมธ.เห็นว่าไม่ควรใช้ในนาม กกต. เพราะ กกต.ยังต้องให้ความเห็นกลับมา มันจะเป็นการผูกพันองค์กร จึงให้เป็นความเห็นในนาม กมธ.และในนามบุคคลเท่านั้น ซึ่งก็คงจะไม่มีปัญหากับ กกต. ทั้งนี้ กกต.จะต้องพิจารณาว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือมีปัญหาในการปฏิบัติหรือไม่ภายใน 10 วัน ซึ่ง กกต.ไม่น่าจะชี้ว่าขัด เพราะไม่ใช่หน้าที่ แต่ในประเด็นว่าขัดหรือแย้งหรือไม่นั้น กกต.จะเป็นการให้ความเห็นกลับมา แต่ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่แก้หรือเพิ่มเป็นหลัก

"ผมเห็นว่ามีปัญหาในเชิงปฏิบัติอย่างแน่นอน เพราะมันเป็นคนละอย่างแล้วจับมารวมกัน ซึ่งจะมีปัญหาหลังการเลือกตั้งเกี่ยวกับเรื่องใบแดงหรือการทุจริต ก็จะยุ่งวุ่นวายกัน โดยสภาจะไม่นิ่ง ไม่ลงตัวและมีปัญหาต่างๆ รวมถึงกรณีการมีที่นั่งส่วนเกิน หรือ Overhang ที่จะกลายเป็นว่าได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ 200-300 ซึ่งมันจะเกิดขึ้นแน่"

นายนิกรยังกล่าวว่า กกต.อาจจะแย้งกลับมา ซึ่งหากแย้งกลับมาว่ามีปัญหาเชิงปฏิบัติ สภามีทางเลือก 2 ทางคือ 1.ต้องกลับไปแก้ให้ไม่มีปัญหาคือ การกลับไปใช้สูตรหารด้วย 100 และต้องกลับมาแก้มาตราที่เคยแก้ไว้อีกครั้ง ซึ่งหากเสร็จแล้วก็จะส่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยในส่วนนี้จะมีเวลา 5 วัน ซึ่งก็เชื่อว่าฝ่ายที่เห็นด้วยกับการหารด้วย 500 เขาจะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญแน่ และ 2.หากเสียงข้างมากของรัฐสภายืนตามเดิมคือหารด้วย 500 ก็ต้องลงคะแนนยืนยัน ซึ่งหากที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบกับการหาร 500 ก็จะเจอ 2 ด่านคือ พรรคเพื่อไทย (พท.) เท่าที่ทราบคือเขาจะร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดหรือแย้ง และอีกทีมคือคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธาน ที่เห็นว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นการยื่นแยกกับทางพรรค พท.

“ไม่ว่าอย่างไรทั้งสองทางก็จะต้องถึงศาลรัฐธรรมนูญแน่ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญชี้กลับมา โดยอาจจะบอกว่าขัดหรือไม่ขัด หากไม่ขัดก็สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและบังคับใช้ได้เลย แต่หากชี้ว่าขัด ก็จะต้องตกออกทั้งฉบับหรือนำมาแก้เฉพาะช่วยที่มีปัญหา ซึ่งเมื่อแก้แล้วก็สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้” นายนิกรกล่าว.

 

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุยสอบนายกฯตัวจริง

"นายกรัฐมนตรี" อวยพรปีใหม่ 2568 ขอให้ปชช.มีความสุข ปราศจากอุปสรรค และเป็นปีแห่งโอกาสของทุกคน