อย่าตื่น ‘ฝีดาษลิง’ สธ.ยืนยันไม่ดุ!

"สธ." ย้ำตื่นตัวแต่อย่าตื่นตระหนก เผยโรคฝีดาษลิงติดจากสัมผัสใกล้ชิด ส่วนใหญ่หายได้เองใน 4 สัปดาห์  อาการไม่รุนแรงรักษาตามอาการ แต่ถ้าอาการรุนแรง มีความพร้อมในการรักษา

เมื่อวันที่​ 30 กรกฎาคม 2565 นายสมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากการที่กรมควบคุมโรคลงพื้นที่สอบสวนผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ 2 ของประเทศไทย อาศัยในกรุงเทพมหานคร พบว่าเป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 47 ปี ประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายต่างชาติ โดยผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามตัวประมาณ 1 สัปดาห์ก่อน พบมีตุ่มหนองที่ตามตัวและอวัยวะเพศ ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ     ส่วนผู้สัมผัสร่วม 10 ราย กรมควบคุมโรคได้มอบให้ทีมสอบสวนโรคติดตามผู้สัมผัสอย่างใกล้ชิด 

ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานรหรือโรคฝีดาษลิง  เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส (POX Virus) กลุ่มเดียวกับโรคไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.ค.65) ผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 20,849 ราย พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 74 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 4,639 ราย, สเปน 4,001 ราย, เยอรมนี 2,459 ราย, สหราชอาณาจักร 2,367 ราย และฝรั่งเศส 978 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายเกือบทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิต 5 ราย ซึ่งอยู่ในแอฟริกาทั้งหมด ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากไข้ทรพิษพบว่ามากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วย 

ด้าน พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การติดต่อและการแพร่กระจายของโรค พบว่าส่วนมากติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากตุ่มหนอง สะเก็ดแผล (Contact) ของผู้ป่วย ถ้าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะประชิด เช่น กินข้าวหรืออยู่ห้องเดียวกัน หรืออาศัยนอนด้วยกัน การแพร่กระจายอาจติดต่อทางฝอยละออง (Droplet) ได้ ไวรัสฝีดาษลิง มีเปลือกหุ้ม ธรรมชาติเป็นไวรัสที่ไม่แข็งแรง โดนสบู่ล้างก็ตาย แต่เชื้อจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหรือไม่ ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ จริงๆ ไวรัสตัวนี้ไม่ได้ติดง่าย แต่ก็ไม่ยาก หากใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก็มีโอกาส  แต่ถ้าล้างมือบ่อยๆ ป้องกันตัวเอง สวมหน้ากาก จะลดโอกาสการสัมผัสเชื้อ  ระยะฟักตัวของโรคขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยทั่วไปที่ระยะฟักตัวอยู่ ระหว่าง 7-21 วัน แต่บางรายก็มีระยะฟักตัวนานกว่านั้น

 อาการที่พบในผู้ป่วยฝีดาษวานร นอกจากมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองโตแล้ว มีรายงานการศึกษาใน วารสารทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยจะมีผื่นหรือแผลตามผิวหนองหรือเยื่อบุในอวัยวะต่างๆ ผื่น ตุ่ม หรือแผลนั้นเกิดที่อวัยวะเพศ 56.3%, บริเวณทวารหนัก 41.6% ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (86%) จะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือปวดกล้ามเนื้อ โดยอาการเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนมีผื่นหรือหลังผื่นขึ้นก็ได้ มีผู้ป่วยบางส่วนที่มีผื่นโดยไม่มีอาการร่วมอื่นๆ เลย

อาการผิดปกติอื่นที่พบคือ ปวดทวารหนัก เจ็บคอ แผลในช่องปาก และองคชาตบวม มีผู้ป่วยถึงหนึ่งในสามที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย อาการหายได้เองภายในระยะ 2-4 สัปดาห์ การรักษาเน้นการรักษาแบบประคับประคอง เป็นการรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ ให้ยาลดไข้ ส่วนยารักษาเฉพาะ ยังไม่มียารักษาเฉพาะ มียาที่ใช้รักษาผู้ป่วยไข้ทรพิษ ในต่างประเทศนำมาศึกษาวิจัยในการดูแลผู้ป่วยฝีดาษวานรที่มีอาการรุนแรง 

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้ร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากสมาคมโรคผิวหนัง  สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กและผู้ใหญ่ ราชวิทยาลัย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หารือถึงแนวทางการรักษาพยาบาลโรคฝีดาษลิง เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรืออีโอซี (EOC) ระดับกระทรวง เพื่อพิจารณาอนุมัติในวันจันทร์ที่ 1 ส.ค.นี้ ดังนั้นฝีดาษวานรไม่ติดต่อง่าย ​ต้องสัมผัสใกล้ชิด ส่วนใหญ่หายได้เอง รักษาตามอาการของโรค อย่าตื่นตระหนก.

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง