พปชร.ชิ่งบัตรใบเดียวพท.ซัดน่าอาย

เอวัง! บัตรเลือกตั้งใบเดียว  พลังประชารัฐปฏิเสธลั่น ไกลเกินไป ยังไม่มีใครหยิบมาพูดอย่างเป็นทางการ โวบัตรกี่ใบก็ได้มั่นใจชนะ ขณะที่เพื่อไทยด่าแหลก ละอายบ้าง เห็น ส.ว.และนักการเมืองบางคนเจ้าหลักการ แต่ทุกคนกลืนน้ำลายแล้วทำในสิ่งที่ถูกสั่งการมา

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประธานคณะกรรมการพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าว ส.ส.ซีกรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ยังไม่มีใครหยิบเรื่องนี้มาพูดกันอย่างเป็นทางการ และส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไกลเกินกว่าจะพูดคุยกัน

"เพราะตอนนี้บัตรเลือกตั้งสองใบ ฝ่ายนิติบัญญัติกำลังพิจารณาเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ต้องเดินไปตามนั้น การจะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ จึงมองว่าไกลเกินกว่าจะพูดกัน และส่วนตัวมองว่าพรรคพลังประชารัฐจะบัตรเลือกตั้งแบบไหนก็ได้ เพราะเรามั่นใจในฐานเสียงของพรรค" ประธานวิปรัฐบาลกล่าว

ด้านนายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า คำว่าพรรคพลังประชารัฐ นาย ก. นาย ข. คนที่อยู่ภาคไหนก็เป็นพรรคพลังประชารัฐ ทุกคนต่างมีมุมมองว่าการเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียวหรือสองใบ มันจะได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์บนพื้นฐานความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความคิดเห็นที่ออกมาเป็นทัศนคติส่วนบุคคล ก็ต้องเคารพความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่ละคนที่สะท้อนความเห็นออกมาถือว่ายังไม่ใช่ความเห็นทางการของพรรค

"ความคิดเห็นอย่างเป็นทางการของพรรคยังไม่ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน เพราะพรรคมีกลไกที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆ แล้วค่อยออกมาเปิดเผย สำหรับเนื้อหาว่าจะสนับสนุน หนึ่งใบหรือสองใบหากจะเกิดขึ้น พรรคต้องพิจารณาบนหลักการที่เป็นไปตามระบบประชาธิปไตยอันปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ" นายรงค์ระบุ

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กมธ.ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมมาตราในร่าง พ.ร.บ. ให้สอดคล้องกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มติรัฐสภาเห็นชอบให้ใช้จำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ยแทนจำนวน 100 คนเสร็จแล้ว ว่า กมธ.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาแล้ว และได้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว อยู่ในวาระที่ 3 แต่เนื่องจากว่ามีร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... ค้างการพิจารณาอยู่ ที่เหลือการพิจารณาอยู่หลายมาตรา ซึ่งอาจจะต้องปรับให้อภิปรายกันให้น้อย เพื่อพิจารณาให้เสร็จในวันที่ 2 ส.ค. และจะขอเสียงข้างมากของรัฐสภาขอเลื่อนวาระร่าง พ.ร.บ.มาพิจารณาต่อ และคิดว่าใช้เวลาไม่นาน เพราะเหลือเพียง 9 มาตรา และมีปัญหาไม่กี่มาตรา คาดว่าจะเสร็จทันในวันที่ 3 ส.ค.นี้

เสร็จใน 15 สิงหา

เมื่อถามว่า จะพิจารณาทันกรอบเวลา 180 วัน ที่จะครบในวันที่ 15 ส.ค.หรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า "ทันแน่นอน ถ้าเสร็จวันนั้น วาระ 3 ก็ตามนั้นเลย เพราะเหลือการพิจารณาเพียง 9 มาตรา เชื่อว่าวันเดียวเสร็จคือวันที่ 3 ส.ค. จึงไม่ติดกรอบ 180 วันอีกแล้ว จากนั้นประธานรัฐสภาจะส่งไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือหน่วยไหนก็แล้วแต่"

ถามว่า กังวลว่าจะมีเกมสกัดยื้อเวลาทำให้พิจารณาไม่ทันกรอบหรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า ไม่มี เพราะผู้ที่สกัดได้มีเพียง นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธาน กมธ. และตน ที่เป็นเลขาฯ กมธ. ซึ่งเป็นผู้ตั้งใจเป็นอย่างยิ่งว่า จะต้องทำงานให้เสร็จ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับหาร 500 คือเราต้องส่งให้ขึ้นฝั่งให้ได้ และต้องไปข้างหน้า ส่วนจะข้ามฝั่งไปอีกฝั่งได้หรือไม่ เราไม่รู้ และเชื่อว่าจะไม่ต้องไปยึดร่างของ ครม.ที่เสนอมาเป็นสูตรหาร 100

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ว่า จะใช้บัตรใบเดียวหรือไม่อยู่ที่คนมีอำนาจ บ้านเมืองนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แต่เรายืนอยู่ในหลักการว่าเราไม่เห็นด้วย พรรคพท.ไม่ได้สนใจว่าจะบัตรกี่ใบ แต่อะไรที่ถูกต้องและเสียงส่วนมากว่าอย่างไรเราก็ไปตามนั้น ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งฝ่ายคุมอำนาจบอกว่าตัวเองจะเสียเปรียบ ให้คิดใหม่ พรุ่งนี้คิดออกมาแล้วบอกมันไม่ดี เอาใหม่ ทั้งนี้ ก็อยากฝากบอกผู้มีอำนาจไปคิดให้ละเอียดว่าจะทำอย่างไร จะกีดกันอย่างไร จะขัดขวางอย่างไร ไปคิดให้ละเอียดแล้วทำทีเดียว อย่าทำหลายครั้ง สงสารพี่น้องประชาชนที่เขาติดตาม

ถามย้ำว่า บัตรเลือกตั้งใบเดียวสำหรับพรรค พท. มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร นายสมคิดกล่าวว่า ข้อดีคือนับคะแนนโดยตรงได้ แต่ข้อเสียคือพี่น้องประชาชนไม่มีทางเลือก ซึ่งหากกลับไปเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียวก็เท่ากับว่าท่านปิดโอกาสประชาชนอีกครั้ง ตนไม่เห็นด้วย แต่ใครอยากทำเราก็ห้ามเขาไม่ได้ เพราะเขามีอำนาจ มีเสียงข้างมาก เขาทำอะไรก็ได้ บ้านเมืองเราไร้กติกา สร้างความเสื่อมเสียให้รัฐสภาเปล่าๆ

ไม่คิดละอายก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

เมื่อถามถึงสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่อาจจะพลิกกลับไปหาร 100 มองว่ามีนัยทางการเมืองอย่างไร นายสมคิด ตอบว่า จะหาร 100 หรือ 500 ก็ไม่เสียเปรียบและได้เปรียบเท่าไหร่ แต่หลักการคือกฎหมายเสียหาย เป็นการสกัดพรรคพท.แน่นอน คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ต้องการจะเอาเปรียบ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะหารอะไร พรรค พท.เราก็ไม่ได้ซีเรียส หารอะไรเราก็พร้อมสู้ ไม่ว่าจะหาร 100 หาร 500 หรือหาร 1,000 คุณออกกฎหมายมาถ้าประชาชนไม่เลือกก็ไม่มีประโยชน์ พวกที่เขาคิดเขาคิดกันอย่างไร

"ฉะนั้นพวกเราจึงไม่ได้ใส่ใจว่าจะหารเท่าไหร่ เราก็เฉยๆ เพียงแต่เราอายที่หลักการกฎหมายหรือหลักการแก้ไขกฎหมายในสภาถูกย่ำยีจนไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นคนที่คิดทำเรื่องเช่นนี้หากไม่คิดละอายก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เห็น ส.ว.และนักการเมืองบางคนเจ้าหลักการ แต่ทุกคนกลืนน้ำลายแล้วทำในสิ่งที่ถูกสั่งการมา" นายสมคิดกล่าว

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะรอง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่.…) พ.ศ. … ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอบัตรเลือกตั้งใบเดียวว่า แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่อยากจะเอาเปรียบในการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้คิดที่จะทำกติกาเลือกตั้งให้เป็นธรรม โดยฝ่ายที่มีอำนาจ ซึ่งตอนเริ่มแรกเปลี่ยนจากบัตรเลือกตั้งใบเดียว เพื่อมาเป็นบัตร 2 ใบ และใช้สูตรคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 คือไม่ต้องการให้พรรคขนาดกลางเติบโต หรืออาจจะกลัวพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่งมาก จึงได้มีการสกัดตรงจุดนี้ แต่เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ เป็น ส.ส.เขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ก็กลัวพรรคฝ่ายค้านอีกพรรคหนึ่งที่อาจจะใหญ่มากขึ้น และพรรครัฐบาลก็แตกออกไปเป็นพรรคขนาดกลาง ก็กลัวว่าจะสู้ไม่ได้ในการเลือกตั้งจึงเปลี่ยนมาเป็นหาร 500 เพื่อให้พรรคขนาดกลางของรัฐบาลจะอยู่ได้ แต่ช่วงหลังไม่ทราบว่าคิดอย่างไร ที่ว่าอยากจะกลับมาเปลี่ยนเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว

 “ถ้า 3 ป.เห็นว่าจะทำ ก็อาจจะใช้วิธีเดิม คือ ซ้ายหัน ขวาหัน ซึ่งเดิมเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีตรรกะ” นายธีรัจชัยกล่าว

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร   โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราช​บัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.) ​ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ.… แสดงความเห็นว่ารัฐสภามีวันประชุมร่วมเหลือ 4 วัน คือวันที่ 2, 3, 9   และ 10 ส.ค. เพื่อพิจารณาวาระสองรายมาตราต่อ ตั้งแต่มาตรา 24/1 ถึงมาตรา 32 รวม 9 มาตรา โดยมีมาตราสำคัญคือ 24/1 การคำนวณ ส.ส.บัญชีแบบหาร 500   กรณีเลือกตั้งไม่เสร็จ และมาตรา 26 การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรณีเลือกตั้ง ส.ส.เขตใหม่ด้วยเหตุทุจริตเลือกตั้งภายใน 1 ปี

ใช้บัตร 2 ใบแน่นอน

ถ้าไม่เลื่อนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แทนร่าง พ.ร.บ.กำหนดเวลาในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่รู้จะเลื่อนได้หรือไม่ แล้วดำเนินการอภิปรายตามลำดับวาระลากยาวกัน 4 วันแล้วไม่จบ    ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ก็จบแบบเรียบร้อยโรงเรียนประยุทธ์ กลับไปหาร 100 โดยไม่เหนื่อย แต่สภาจะเสียศักดิ์ศรีครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดคือ ไม่สามารถพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จภายใน 180 วัน ตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญดูหน้าว่าจะมีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบบ้าง

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า "กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือ?" ระบุว่า มีความเห็นเยอะว่า รัฐสภาจะกลับไปใช้การเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัตรใบเดียวอีกหรือ? ถ้าจะอธิบายก็ต้องเขียนเยอะ และเข้าใจยาก เอาง่ายๆ สั้นๆ ถ้ารัฐสภาจะกลับไป-กลับมาไม่มีหลักการ วิธีการเริ่มแรก คือสมาชิกรัฐสภา "ต้องคว่ำ" ร่างกฎหมายเลือกตั้งที่จะพิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า แต่เชื่อเถอะไม่กล้าคว่ำ ด้วยเหตุผล 2 ข้อ

 1.เวลาของรัฐสภามีไม่พอที่จะแก้รัฐธรรมนูญ และแก้กฎหมายเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

 2.พรรคการเมืองบางพรรคที่อ้างว่า เข้าเป็นรัฐบาล เพราะต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย จะกลายเป็นการแหกตาประชาชน และจะเป็นการฆ่าตัวตายกลางสภา

กล่าวโดยสรุป จะใช้บัตร 2 ใบในการเลือกตั้งแน่นอน แต่จะหาร 500 หรือหาร 100 ให้สมาชิกหายเมากัญชาก่อนค่อยถาม อย่าเพิ่งถามตอนเมากัญชา

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สุดท้ายก็ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นตอนนี้ยังไม่ถึงกระบวนการนั้น ยังอยู่ในวาระ 2 วาระ 3 ก็ต้องดูว่ารัฐบาลจะมีความคิดเห็นอย่างไร และเสร็จแล้วก็ต้องไปที่ศาล รธน. ฉะนั้นถ้าศาล รธน.ตัดสินออกมาอย่างไร นั่นก็น่าที่จะเป็นคำตอบที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ

"ผมคิดว่าตอนนี้การที่จะสร้างบรรยากาศให้ทุกฝ่ายให้การยอมรับเรื่องกติกาการเลือกตั้งมีความสำคัญ เพราะเรากำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ครั้งหน้าทั่วไปอีกประมาณ 7-8 เดือนและมีความสำคัญมาก เพราะว่าปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้น พี่น้องประชาชนก็รอว่าการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ประชาชนจะได้มีแนวคิดในการที่จะเลือกตัวแทนเข้าไปแก้ไขปัญหากันอย่างไร ฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ผมถือว่าเหมือนกับเป็นทางออกในเรื่องของวิกฤตต่างๆ ของบ้านเมือง ฉะนั้นกติกาอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ถ้าเราสามารถที่จะสร้างกฎเกณฑ์สร้างกติกาที่ทุกฝ่ายรู้สึกว่าเป็นธรรม ทุกฝ่ายยอมรับการเมืองก็จะไม่เดดล็อก" นายสุวัจน์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง