ปลดล็อกเอกชน หาเชื้อ‘ฝีดาษลิง’ โควิดป่วยหนักพุ่ง

ยอดเสียชีวิต ผู้ป่วยปอดอักเสบจากโควิด-19 พุ่ง นายกฯ ห่วงแนะประชาชนเร่งฉีดวัคซีน กำชับเจ้าหน้าที่กวดขันการเดินทางเข้า-ออกประเทศ เฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร "อนุทิน" นำร่องฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันโควิด สำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ "สาธิต" เซ็นปลดล็อกให้แล็บเอกชนตรวจหาเชื้อฝีดาษลิงได้

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานสถานการณ์โควิด-19 พบยอดผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสามวันที่ผ่านมา ขอความร่วมมือจากประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนตามที่สาธารณสุขกำหนด หมั่นสังเกตอาการของตนเองและคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด หากพบมีอาการน่าสงสัยให้เข้าพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อลดอัตราการการเสียชีวิต โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมาย กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการควบคุม ป้องกัน ดูแล รักษาสุขภาพประชาชนเป็นหลัก ขอประชาชนเชื่อมั่นในแนวทางของสาธารณสุข

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 2,747 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,747 ราย และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 0 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม จำนวน 2,358,733 ราย ผู้ที่กำลังรักษาตัว 24,219 ราย มีผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,099 ราย ผู้ที่หายป่วยสะสมจำนวน 2,358,197 ราย ผู้เสียชีวิต 34 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 911 ราย

นายธนกรกล่าวว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกำชับกระทรวงสาธารณสุขรายงานความคืบหน้าผลกรณีโรคฝีดาษวานรที่ภูเก็ต เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประเทศและประชาชน ขอยืนยันว่ายังไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิงเพิ่ม โดยขณะนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตยืนยันยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิงในจังหวัดภูเก็ตเพิ่ม ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อได้ผ่านการตรวจสอบแล้วไม่พบเชื้อ ซึ่งกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงที่ทางจังหวัดเฝ้าระวังอยู่ทั้งหมด 33 คน ทุกคนยังปกติ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการจัดนำร่องฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Long Acting Antibody (LAAB) ในการป้องกันโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกันเป็นวันแรก โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วม

นายอนุทินกล่าวว่า จากการคาดประมาณ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ จำนวนกว่า 500,000 ราย ขณะนี้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ Long Acting Antibody (LAAB) ในการป้องกันโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน ลอตแรกจำนวน 7 พันโดส เข้ามาถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา จากที่สั่งซื้อไป 2.5 แสนโดส ซึ่งที่เหลือจะทยอยจัดส่งเข้ามาจนครบภายในปีนี้ สำหรับล็อตแรกจะกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อฉีดให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิ ตามข้อมูลผู้ป่วยที่มีการรวบรวมจัดส่งเข้ามา ซึ่งแต่ละจังหวัดจะดำเนินการกระจายต่อไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ให้สามารถเข้ารับบริการได้สะดวกที่สุด

 “สำหรับประชาชนทั่วไปย้ำว่า ขอให้เข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด โดยสามารถฉีดได้ทุก 3-4 เดือน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สามารถต่อสู้กับเชื้อโควิดได้ เนื่องจากขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ซึ่งจากการศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าหลบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าสายพันธุ์ BA.2 จึงยังต้องมาฉีดวัคซีนร่วมกับการเข้มมาตรการป้องกันการติดเชื้อคือ เว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก และตรวจ ATK เมื่อมีอาการหรือมีความเสี่ยง” นายอนุทินกล่าว

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการให้วัคซีนโควิด- 19 เพื่อลดความรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด-19 เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนก.พ.2564 โดยกว่า 1 ปี 5 เดือนที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้เร่งให้บริการวัคซีนโควิด-19 แก่ประชากรทุกกลุ่มเป้าหมาย ขณะนี้ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 141 ล้านโดส แต่มีประชาชนบางกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เช่น กลุ่มผู้ป่วยฟอกไต กลุ่มผู้ป่วยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ปลูกถ่ายไขกระดูก หรือกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการป่วยหนักหรือเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด-19 จึงได้จัดหาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว LAAB เพื่อนำมาฉีดก่อนการสัมผัสโรคโควิดให้กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดส่ง LAAB สู่ทุกพื้นที่เพื่อให้บริการได้โดยเร็วที่สุด

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำประกาศเพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเพื่อปลดล็อกให้ห้องแล็บระดับ 2 หรือแล็บทั่วไปสามารถตรวจหาเชื้อได้โรคฝีดาษวานรได้โดยเพิ่มมาตรการความปลอดภัย หรือเรียกว่าระดับ 2+ (สองบวก) ว่า เหตุผลที่แล็บทั่วไปยังไม่สามารถตรวจเชื้อฝีดาษวานรได้ เป็นไปเพื่อคงให้อยู่ในมาตรฐาน เพราะเชื้อฝีดาษวานรมีความเฉพาะเจาะจง และต้องใช้เทคนิคมากขึ้น แต่ในช่วงบ่ายวัน ที่ 27 ก.ค. ตนจะเซ็นยกระดับให้แล็บระดับ 2 สามารถตรวจหาเชื้อฝีดาษวานรได้ และยืนยันว่าขณะนี้ไทยยังพบผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการเพียงรายเดียวคือ ชายชาวไนจีเรีย ส่วนชายชาวไทยที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น จะต้องรอผลการยืนยันก่อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับที่ตนจะลงนามประกาศฉบับนี้ ให้แล็บทั่วไปสามารถตรวจหาเชื้อฝีดาษวานรได้ เพราะสมัยก่อนแล็บที่ตรวจได้จะมีแค่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และแล็บของกรมวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อเราสามารถรับรองให้เอกชนเยอะขึ้น ก็จะสามารถตรวจเชื้อได้เยอะ และตรวจพบได้มากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งัดกม.กดดันนายกฯ พปชร.อ้างข้อบังคับพรรค ทวงใบกรอกประวัติ‘ป๊อด’

"อุ๊งอิ๊ง" ยังเล่นบทเตมีย์ใบ้ "หมอมิ้ง" ขึงขังไม่ขีดเส้นตายรายชื่อ รมต. แต่ถ้าไม่ส่งก็ถือว่าไม่ส่ง พลิ้วไม่รู้หนังสือ